Social :



ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ศาลที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

04 ส.ค. 59 18:20
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ศาลที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ศาลที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง

ศาลที่ประดิษฐานองค์พระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 




ตามโบราณราชประเพณีของการสร้างเมือง จะต้องมีการสร้างศาลหลักเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางทางจิตใจของบ้านเมือง เมืองที่มีศาลหลักเมืองจึงมักจะเป็นเมืองที่มีอายุเก่าแก่ ดังเช่นที่เมืองพระประแดงหรือเมืองนครเขื่อนขันธ์แห่งนี้เป็นเมืองที่มีการฝังอาถรรพ์ปักหลักเมืองตามธรรมเนียมการสร้างเมือง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเมืองเก่าแก่ที่ตั้งขึ้นตามโบราณราชประเพณี ในปัจจุบันจุดที่ฝังอาถรรพ์ปักหลักเมืองนครเขื่อนขันธ์นั้นอยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง ซึ่งได้มีการประดิษฐานองค์พระพิฆเนศบนเสาหลักเมืองตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และถือกันว่าองค์พระพิฆเนศคือส่วนหนึ่งของเสาหลักเมืองอีกด้วย นับว่าเป็นพระพิฆเนศองค์เดียวในประเทศไทยที่มีฐานะเป็นหลักเมืองของบ้านเมือง

 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดงแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองพระประแดง ถนนนครเขื่อนขันธ์ ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ตามตำนานเล่าขานกันว่า ศาลหลักเมืองพระประแดงมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์โดยได้ฝังอาถรรพ์ปักหลักเมืองเมื่อวันศุกร์ เดือน ๗ แรม ๑๐ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๕๘ และทรงตั้งสมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง

Lif
เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์ ต่อมาได้สร้างศาลประจำเมืองขึ้นบริเวณตรงที่ฝังอาถรรพ์ปักหลักเมือง ประกอบกับคำว่า เจ่ง ในภาษามอญ แปลเป็นไทยว่า ช้าง จึงได้อัญเชิญองค์พระพิฆเนศประดิษฐานไว้บนเสาหลักเมืองด้วย โดยศาลหลักเมืองนี้เป็นชื่อที่เรียกกันในภายหลัง

 

ลักษณะโดยทั่วไปของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดง แม้จะมีการผสมผสานศิลปะหลากหลายทั้งไทย จีน มอญ โดยสะท้อนให้เห็นจากลวดลายและสิ่งของที่ประดับตกแต่งศาล ทว่าอิทธิพลของศิลปะจีนมีความเด่นชัดเป็นอย่างมาก รวมถึงบรรยากาศก็เป็นอย่างศาลจีนด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดงแห่งนี้ดูแลโดยชาวจีน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชาวจีนเริ่มเข้ามาดูแลศาลในช่วงเวลาใด

 

ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองพระประแดงประดิษฐานองค์พระพิฆเนศศิลาประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัวภายในบุษบกเหนือเสาหลักเมือง ซึ่งชาวเมืองพระประแดงเชื่อกันว่าคือองค์พระพิฆเนศปางประทานพร โดยมีลักษณะทางประติมานวิทยา คือ ประทับนั่งขัดสมาธิ มีสี่พระกร พระหัตถ์ขวาบนถือตรีศูล พระหัตถ์ขวาล่างถืองาหัก พระหัตถ์ซ้ายบนถือปาศะหรือบ่วงบาศก์ พระหัตถ์ซ้ายล่างถือถ้วยขนมโมทกะ พระวรกายอวบอ้วน ไม่ปรากฏเครื่องทรงหรือศิราภรณ์ ถือกันว่าองค์พระพิฆเนศนี้คือส่วนหนึ่งของเสาหลักเมือง โดยเสาหลักเมืองจะอยู่ลึกลงไปในชั้นใต้ดินของศาล มีลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ทาด้วยสีแดง และคงผ่านการบูรณะมาหลายครั้งเช่นเดียวกับตัวศาลเอง

 

 

ล้อมกรอบ

ภายในศาลยังประดิษฐานพระพุทธรูปและองค์เทพต่างๆ อีกทั้งยังปรากฏหัวจระเข้จำนวนหนึ่งซึ่งได้กลายสภาพเป็นหิน ตามตำนานเล่าว่า ในช่วงที่ทำพิธีฝังอาถรรพ์ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดน่าอัศจรรย์ขึ้น คือมีจระเข้ว่ายทวนแม่น้ำเจ้าพระยามาบริเวณใกล้ปริมณฑลแล้วขาดใจตายตรงริมฝั่ง ชาวบ้านเชื่อกันว่าจระเข้เหล่านี้ถวายชีวิตบูชาหลักเมือง จึงตัดหัวจระเข้ขึ้นไว้บนศาลหลักเมือง 

โพสต์โดย : ครองแครง