Social :



มติครม.อนุมัติงบฯปี64เยียวยาโควิด 12,576ลบ.

06 พ.ค. 64 09:05
มติครม.อนุมัติงบฯปี64เยียวยาโควิด 12,576ลบ.

มติครม.อนุมัติงบฯปี64เยียวยาโควิด 12,576ลบ.

ครม.อนุมัติงบฯปี64 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท



น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะการระบาดระลอก เม.ย.64 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ทันเวลา ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศ




ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดทั่วโลกที่ยังคงมีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับประเทศไทยได้จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมีระบบการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ หรือ State Quarantine สถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด หรือโรงพยาบาลทางเลือก พบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่มาจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในสถานบันเทิง, ครอบครัว, สถานที่ทำงาน, ชุมชน และสถานศึกษา ทำให้ประเทศยังมีความเสี่ยงสูงที่จะพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น มีการแพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ และมีบางจังหวัดเกิดการติดเชื้อใหม่ในพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่: กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) ระยะการระบาดระลอกเม.ย.64 ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อลดการติดเชื้อใหม่ให้ไม่เกินศักยภาพที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรในประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม และกลุ่มเปราะบางหรือด้อยโอกาส ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ให้กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระยะการระบาดระลอก เม.ย.64 จำนวนเงินทั้งสิ้น 12,576 ล้านบาท ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณา

 

ครม.รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เดือน มี.ค. 64 ตาม สศช.เสนอ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เดือน มี.ค.64 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ในส่วนของความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทางคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 64 และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอำนวยการ, ระดับอำนวยการปฏิบัติการ และระดับปฏิบัติการ และได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดและกรุงเทพมหานคร

ส่วนความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศนั้นอยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การรายงานความคืบหน้าของเรื่องและประเด็นปฏิรูปตามแผนการปฏิรูปประเทศ, การรายงานประเด็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของรัฐสภา และสาระสำคัญของแผนการปฏิรูปประเทศ

 

ครม.รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับหน่วยบริการจำนวน 140,369.81 ล้านบาท จากงบประมาณ 140,533.42 คิดเป็นร้อยละ 99.88 ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการจำนวน 47.60 ล้านคน จากเป้าหมาย 47.68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.85 มีหน่วยบริการขึ้นทะเบียนจำนวน 12,245 แห่ง

สำหรับผลงานบริการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ได้ให้บริการพื้นฐานในงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น บริการสุขภาพทั่วไป โดยในส่วนของการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมีผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากช่วงเดือนมี.ค.-มิ.ย.63 รัฐบาลประกาศมาตรการเว้นระยะทางสังคมจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนงานบริการเฉพาะกลุ่ม นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีผลงานการใช้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังมีผลงานการใช้บริการต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนความท้าทายในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ ได้แก่ ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงจากการระบาดของโควิด-19 , ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุน หากเศรษฐกิจถดถอยและชะลอตัว

นอกจากนี้ยังมีรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.62 ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยพบว่า มีสินทรัพย์ 18,958.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 3,609.29 หนี้สิน 14,380.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,468.98 ล้านบาท

 

ครม.รับทราบความก้าวหน้าการดดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง พื้นที่ 17 จังหวัด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือปี 2564 โดยสถานการณ์ในภาพรวมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-18 เม.ย.64 พบจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 17 จังหวัด
MulticollaC
ภาคเหนือจำนวน 58,769 จุด ลดลงจากปี 2563 ที่พบจุดความร้อนสะสมจำนวน 122,687 จุดในช่วงเวลาเดียวกัน หรือลดลงร้อยละ 52 โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนสูงสุดได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 11,376 จุด, เชียงใหม่ 7,620 จุด, ตาก 7,253 จุด, ลำปาง 5,716 จุดและเพชรบูรณ์ 4,355 จุด

ซึ่งจากการที่พบจุดความร้อนจำนวนมากในเดือน ม.ค.-เม.ย.64 ทำให้จังหวัดภาคเหนือที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก ทั้งนี้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้เร่งดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 มาตรการ จัดทำ และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่งพื้นที่ภาคเหนือปี 2564 ระดับจังหวัด มีการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและจัดประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการรับมือสถานการณ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการสถานการณ์

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร ประกอบด้วย โครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเก็บขนเชื้อเพลิงจากป่าออกมาใช้ประโยชน์ เป็นการลดการเกิดไฟป่า และได้พัฒนาแอปพลิเคชันบริหารการเผาในที่โล่ง (Burn Check) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบการใช้งาน และยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันส่วนหน้าในจังหวัดเชียงใหม่

 

ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยในช่วงเดือน ก.ค.64 นี้ โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเปิด ก่อนที่จะเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งค่าโดยสารของรถไฟชานเมืองสายสีแดงจะเริ่มต้นที่ 12 บาท และสูงสุดที่ราคา 42 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกที่สุดในการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้า

ทั้งนี้ในอนาคตโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง จะต่อขยายเส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางรางยกระดับจากกรุงเทพฯไปสู่ปริมณฑล ด้วยส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ประกอบด้วย โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายระบบรางทุกรูปแบบ ทั้งรถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง สู่ทุกภูมิภาคของประเทศ และพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อ 2,325 ไร่ จะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด 9 แปลง โดยมี 5 แปลงที่มีความพร้อมและไม่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ

ขณะที่สถานีหัวลำโพง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ปรับลดจำนวนขบวนรถจาก 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยเมื่อดำเนินการช่วงต่อขยายเสร็จแล้ว จะทำให้ขบวนรถทั้งหมดวิ่งเข้าสู่สถานีบางซื่อได้ 100% ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางในเมืองได้เป็นอย่างดี



ครม.รับทราบการดำเนินการตั้งรพ.สนามที่อิมแพค เมืองทองธานี สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือ มีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินแล้วว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น

ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไป และHospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโรงพยาบาลสนาม ณ อิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จากที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อวางแผนนั้น ซึ่งดังกล่าวจะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง หลังจากนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆเพื่อติดตั้งสัญญาณอินเตอร์เน็ตต่อไป

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่าขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ด ในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลางอีก 1 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือนพ.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศอีกด้วย

 


ขอบคุณเจ้าของข้อมูล:innnews

โพสต์โดย : monnyboy