Social :



ความเชื่อและการนับถือผีของชาวล้านนา...

22 ส.ค. 59 22:08
ความเชื่อและการนับถือผีของชาวล้านนา...

ความเชื่อและการนับถือผีของชาวล้านนา...

ผี คืออะไร ได้มีผู้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายประการ เป็นต้นว่า หมายถึงวิญญาณของคนที่ล่วงลับไปแล้วที่แลเห็นไม่ได้ในเวลาปกติหรือเป้นสิ่งที่ปกติจะมองไม่เห็น คนถือหรือเข้าใจเอาว่ามีฤทธิ์อำนาจเหนือคน อาจให้คุณหรือโทษแก่คน ทำให้คนนับถือหรือเกรงกลัวและเป็นสิ่งใดก็ตามที่ปกติไม่สามารถจะมองเห็นตัวได้ แต่เราถือเข้าใจเอาว่ามีฤทธิ์และอำนาจอยู่เหนือคน อาจให้ดีหรือร้าย คือให้คุณหรือให้โทษแก่เราได้สิ่งเหล่านี้เราเกรงกลัวและบางทีก็นับถือด้วย

การนับถือผีและผีของชาวล้านนา

การนับถือผีนั้น คงสืบเนื่องมาจากลัทธิบูชาบรรพบุรุษ (Ancestor worship) ซึ่งความเชื่อนี้เจริญเติบโตมากจากลัทธิที่เชื่อถืออำนาจเหนือธรรมชาติ (Animism) อันเป็นต้นกำเนิดของลัทธิประเพณีหลายๆอย่างและเป็นที่มาของศาสนาบางประเภทด้วย คติความเชื่อเกี่ยวกับผีเป็นความเชื่อของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นพัฒนาการของความเชื่อระดับหนึ่งของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างและสภาพของสังคม ในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีมากขึ้นจะละทิ้งหรือลดหย่อนความเชื่อเกี่ยวกับผีลงไป จะหันมานับถือพระเจ้าซึ่งก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นตัว มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือมนุษย์เหนือธรรมชาติเหมือนผี แต่เรียกชื่อและมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปเท่านั้น ไม่ได้มุ่งสนองความต้องการในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่จะพยายามแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เสนอความคิดความเชื่อเกี่ยวกับชาติหน้าที่เป็นเหตุเป็นผล มีหลักปรัชญาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นับเป็นพัฒนาการความเชื่อระดับหนึ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาระดับสูงของมนุษย๋ ซึ่งนักมานุษยวิทยากำหนดให้ความเชื่อในลักษณะนี้เป็นศาสนาของสังคมสมัยประวัติศาสตร์ และให้การนับถือผีเป็นศาสนาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากคติความเชื่อในการนับถือผีเป็นความเชื่อพื้นฐานที่เก่าแก่ดั้งเดิม ดังนั้นจึงยังคงเหลือความเชื่อดังกล่าวนี้อยู่ในจารีตประเพณีและพฤติกรรมของมนุษย์ในแทบทุกสังคมไม่มากก็น้อย และดูเหมือนว่าคติความเชื่อในการนับถือผีนี้จะเป็นลักษณะร่วมของกลุ่มชาติไต-ไท เพราะไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ ไทยวนหรือชาวล้านนา ต่างก็นับถือผีทั้งนั้น การนับถือผีของชาวล้านนา สำหรับชาวล้านนาแล้วความเชื่อในการนับถือผีคงจะเป็นความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่มาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามา ทั้งนี้ในโลกทัศน์ของชาวล้านนานั้นมีความเข้าใจว่าโลกมนุษย์กับโลกของผีนั้นซ้อนทับกันอยู่และมีความเกี่ยวข้องกัน โดยเชื่อว่าผีนั้นมีจำนวนมากมายในทุกหนทุกแห่งทั้งในเมือง หมู่บ้าน ทุ่งนา แม่น้ำ เหมืองฝาย ป่า ภูเขา และในบ้านเรือน จะมีผีปกปักรักษาอยู่ ดังสะท้อนให้เห็นในคำส่งผีฉบับปั๊บสาของเก่าจากอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ได้กล่าวให้เห็นว่า “ ดูราผี สัพพะว่าผีทั้งหลาย อันอยู่ในนารกขงเขต ประเทศป่าไม้และแดนดิน สายสมินเขื่อนถ้ำ ทุกท่าน้ำล่าขึมขำ ทั้งผียำและผีโป่ง ผีเสื้อโท่งและผีเสื้อนา ผีตายโหงและผีตายห่า ผีป่าผีบ้าน ผีเมืองคน ผีตายกลางป่า ไม้ป่าไพรสณฑ์ดงใหญ่ มีทั้งผีเสื้อไร่และผีเสื้อสวน มีทั้งผีหัวหลวง พวงเป็นหมู่และเป็นขุม… ” ผีนั้นมีทั้งที่ให้คุณและให้โทษแก่มนุษย์ เป็นทั้งมิตรกับมนุษย์
ในขณะเดียวกัน ก็สามารถจะดลบันดาลให้เกิดภยันอันตรายแก่มนุษย์ได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นผีประเภททรงคุณธรรม มีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในแง่คอยให้การปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษาและอำนวยคุณความดีให้แก่มนุษย์ด้วยมหิทธานุภาพของผีเอง ถ้าในความสัมพันธ์นั้นมนุย์กระทำดีต่อผีแต่ในขณะเดียวกันมนุษย์อาจได้รับโชคร้ายหรือสูญเสียผลประโยชน์ได้ ถ้าหากปฏิบัติตนไม่ถูกไม่ควรอันเป็นเหตุขัดใจผีหรือไม่ถูกใจ กล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าผีนั้นมีทั้งผีดีและผีร้าย ผีดีนั้นตามปกติมีใจเป็นกลางๆ ไม่ให้ดีให้ร้ายแก่ใคร เว้นไว้แต่จะทำให้โกรธ แต่เดิมเรียกว่า “ผีฟ้า” ภายหลังเรียกว่า “เทวดา” เพราะได้คำนี้มาจากอินเดีย ยังมีอีกพวกหนึ่งจะเป็นผีดีหรือผีฟ้าก็ไม่เชิง เป็นผีร้ายก็ไม่เชิง เป็นพวกอยู่ในอากาศ อยู่ตามป่าเขาก็มี ในถ้ำในน้ำหรือบนต้นไม้ก็มี ผีพวกนี้บางทีเราเรียกว่า “เทวดา” บางทีก็เรียก “ผี” เป็นจำพวกผีเทวดา เป็นผีที่เจ้าที่เจ้าทางต่างๆ เช่น เจ้าป่า เจ้าเขา ฯลฯ จัดเป็นเทวดาชั้นต่ำเพราะไม่ได้อยู่บนฟ้า ผีชนิดนี้จัดเข้าอยู่ในพวกผีธรรมชาติ อีกพวกหนึ่งเดิมเป็นคนครั้นตายไปก้ไม่ไปไหนยังสิงสถิตอยู่ตามบ้านเรือน เป็นผีญาติผู้ใหญ่ของครอบครัวเรียกว่า ผีบรรพบุรุษ อีกพวกหนึ่งเดิมเป็นคนเหมือนกันแต่มักเป็นคนเก่งกล้าสามารถ เป็นคนมีบุญคุณใหญ่หลวงแก่หมู่บ้าน หรือเป็นคนดุร้ายเป็นที่เกรงกลัวแก่ใครๆ เมื่อตายไปคนก็ยังนับถือและเกรงกลัวอยู่ ผีพวกนี้เรียกว่า ผีวีรบุรุษ สำหรับผีพวกสุดท้ายเป็นผีร้าย ผีเลว หรือผีสามัญ ซึ่งจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่มีชื่อยกย่องเป็นอย่างอื่น ผีพวกนี้เกะกะระรานเป็นพาลไม่ให้ดีแก่ใคร คนจึงกลัวกันมากกว่าผีอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ในวิถีชีวิตของชาวล้านนาจึงมีส่วนสัมพันธ์กับผีเป็นอย่างมากซึ่งแสดงออกมาในลักษณะของการให้การเคารพบูชา ยำเกรง และขอที่พึ่งพิง
ในบรรดาผีดี จะมีลำดับขั้นตอนตามอำนาจและหน้าที่ในอาณาเขตของตนภพแห่งผีนี้สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมของชาวนาในภาคเหนือ โดยที่แต่ละหมู่บ้านตำบล และเมือง จะมีวิญญาณคุ้มครองอยู่เป็นประจำ ในหมู่บ้านก็จะมีเจ้า (ผีวิญญาณ) คุ้มครองหมู่บ้าน ไร่นา (ผีเจ้านาย) และเจ้าคุ้มครองตัวหมู่บ้านโดยเฉพาะ (ผีเจ้าบ้าน) อยู่เป็นวิญญาณสูงสุดเจ้าคุ้ครองเฉพาะหมู่บ้านจะมีอำนาจเหนือหมู่บ้านและไม่ครอบคลุมบริเวณเนื้อที่นา ข้างล่างสุดของลำดับขั้นก็จะเป็นผีวิญญาณของเครื่องใช้ประจำบ้านต่างๆ เช่น เตาและหม้อนึ่ง ในระหว่างกลางก็มีผีวิญญาณ เช่น ผีวิญญาณประจำทางเดิน ประจำวัด และประจำเรือน นอกเหนือไกลออกไปจากหมู่บ้านและไร่นา มีผีวิญญาณเอนกอนันต์ที่คุ้มครองบริเวณที่ต่างๆนานัปการ ที่สำคัญที่สุดคือ ผีเจ้าป่า ผีเจ้าเขา ผีวิญญาณประจำข้าวที่เรียกกันว่า เจ้าแม่โพสพ วิญญาณประจำแผ่นดินที่เรียกว่า เจ้าแม่ธรณี ผีวิญญาณที่อยู่ในลำดับสูงมักจะเป็นวิญญาณประเภทเจ้าหรือเทวบุตรเทวดา ผีวิญญาณที่คุ้มครองตัวหมู่บ้านอยู่ในลำดับต่ำสุดจะถูกเรียกว่า เจ้า ผีของชาวล้านนา ผีสำคัญๆที่ชาวล้านนาให้การนับถือมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีชื่อเรียกและการทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับผู้คนค่อนข้างสับสน ทั้งนี้คงสืบเนื่องมาจากการเรียกชื่อและมีรายละเอียดของประเพณีพิธีกรรมที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมา อันเป็นเวลาของการฟื้นฟูบ้านเมืองซึ่งได้มีการกวาดต้อนและการอพยพของชนกลุ่มต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาเป็นจำนวนมาก ทำให้คติการนับถือผีของกลุ่มชนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของล้านนา โดยเฉพาะในช่วงเวลานับร้อยๆ
MulticollaC
ปีที่ผ่านมาได้มีการหล่อหลอมรวมกันของกลุ่มคนเหล่านี้จนกลายมาเป็นชาวล้านนาในทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้ประเพณีพิธีกรรมในคติความเชื่อเหล่านั้นปะปนกันจนยากที่จะสืบสาวถึงที่มาดั้งเดิมได้ รวมทั้งในระดับสังคมเมืองที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก็ได้มีผลให้คติในการนับถือผีมีการเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนไปตามสภาพสังคม ทำให้มีชื่อเรียกขานของผีและประเภทของผีที่มาเกี่ยวข้องกับคนสับสนมากขึ้นแต่อย่างไรก็ตามได้มีผู้ศึกษาเรื่องราวของการนับถือผีล้านนาไว้ ทำให้อาจอธิบายเรื่องราวการนับถือผีของชาวล้านนาได้อยู่บ้าง ผีที่เกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตของชาวล้านนานั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่เพื่อให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมของคติการนับถือผี ตลอดจนประเพณีและบทบาทที่มีต่อชาวล้านนาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
อาจจำแนกกลุ่มของผีที่มีอยู่ในคติความเชื่อของชาวล้านนาในทุกวันนี้ออกได้เป็น ๕ กลุ่มใหญ่ๆ คือ
๑. ผีบรรพบุรุษ ๒. ผีอารักษ์หรือผีอะฮัก ๓. ผีเจ้านาย ๔. ผีครู ๕. ผีทั่วๆไป
ซึ่งในที่นี้จะได้แยกกล่าวในรายละเอียดของผีในแต่ละประเภทต่อไป
๑. ผีบรรพบุรุษ
เนื่องจากชาวล้านนา ในทุกวันนี้สืบทอดมาจากบรรพชนหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ดังนั้นจึงมีผีที่มีชื่อเรียก และประเพณีพิธีกรรมที่อยู่ในประเภทผีบรรพบุรุษอยู่หลายกลุ่ม แต่โดยทั่วไปแล้วชาวล้านนาจะรู้จักและยอมรับว่าบรรพบุรุษของตนเองเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจาก ปู่แสนย่าแสนไส้ หรือบางทีก็เรียก ปู่แถนย่าแถน ทั้งนี้ในโลกทัศน์ของชาวล้านนาเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนนับตั้งแต่ปู่แถนย่าแถนเป็นต้นมาจนถึง ปู่ ย่า ตา ทวด หรือบิดามารดาของตนนั้น เวลาตายไปแล้วก็ตายไปเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนดวงวิญญาณอันเป็นหลักใหญ่ของชีวิตนั้นมิได้หายสาบสูญไปไหน หากแต่มีความอาลัยอาวรณ์ผูกพันอยู่กับพวกเขาตลอดไป คอยติดต่อสัมพันธ์อยู่กับลูกหลาน สิงสถิตอยู่บริเวณที่ที่ลูกหลานอาศัยอยู่ เช่นอยู่ตามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ วิญญาณบรรพบุรุษเหล่านี้แสดงบทบาทในฐานะเป็นผู้พิทักษ์รักษาปกป้องคุ้มครองลูกหลานภายในครอบครัวและภายในชุมชน คอยสอดส่องความเป็นอยู่และควบคุมความประพฤติของลูกหลานอีกด้วย ผีบรรพบุรุษที่เกี่ยวข้องกับชาวล้านนาในทุกวันนี้จะมีชื่อเรียกและระดับของการควบคุมดูแลลูกหลานอยู่ในสังคมหลายอย่าง ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการเป็นผีบรรพบุรุษของกลุ่มชนที่แตกต่างกันทางเชื้อสายเผ่าพันธุ์ดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นในที่นี้จะได้แยกกล่าวในรายละเอียดของผีต่างๆที่จัดอยู่ในกลุ่มผีบรรพบุรุษที่อยู่ในสังคมของชาวล้านนาตามลำดับดังนี้
๑.๑ ผีปู่ย่า
ผีปู่ย่า เป็นผีหรือวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นผีประจำตระกูลที่มีการนับถืออยู่ในวงศ์ญาติเดียวกัน โดยจะมีบทบาทและหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในกลุ่มเครือญาติ ทำให้มีการแก้ไขปัญหาหรือยุติข้อขัดแย้งในหมู่เครือญาติได้ การนับถือผีปู่ย่านั้นจะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการสืบเชื้อสายและการนับถือเครือญาติ เรียกว่าเป็นกลุ่มผีเดียวกัน ซึ่งเป็นการสืบทอดทางสายมารดา ดังนั้นการนับถือผีปู่ย่าจะมีการถ่ายทอดผ่านทางผู้หญิงเท่านั้น เชื่อกันว่าคติการนับถือผีปู่ย่านั้นจะเป็นแบบแผนวัฒนธรรมของชาวล้านนามาแต่โบราณ แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ได้พบว่า นอกเหนือจากชาวล้านนาและไทลื้อที่สิบสองพันนาที่มีการนับถือผีปู่ย่าด้วยแล้ว ยังมีชาติพันธุ์เผ่าไทอีก ๗ เผ่า คือ เผ่าไทหย่า ไทยั้ง ไทจุ่ง ไทลาย ไทเหนือ ไทดำ และไทน้ำ ล้วนมีการนับถือผีปู่ย่าด้วยกันทั้งสิ้น ตระกูลหรือญาติที่เป็นผีเดียวกันกลุ่มหนึ่งๆ จะมีหอตั้งผีอยู่ที่บ้านต้นตระกูลหรือบ้านเก๊าผีตั้งอยู่บริเวณหัวนอนหรือที่แจ่งมุมของเขตรั้วบ้าน แต่บางบ้านอาจไม่มีหอผีจะมีแต่หิ้งผีปู่ย่าตั้งไว้ภายในบ้านที่หัวนอนในห้องของเจ้าของบ้าน มีเก๊าผีคือ ผู้หญิงที่มีอาวุโสเป็นผู้สืบทอดประกอบพิธีกรรมบูชาเซ่นสรวงและมักจะเป็น ม้าขี่ หรือ ร่างทรง ด้วย
ในการนับถือผีปู่ย่า นอกจากจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บ้านผีเก๊าดังกล่าวมาแล้ว แต่ในการปฏิบัติบูชากลุ่มคนที่อยู่ในสายผีเดียวกันในทุกหลังคาเรือนจะต้องมีหิ้งผีปู่ย่าอยู่ในทุกบ้าน หิ้งผีปู่ย่านั้นนิยมจัดตั้งไว้บนหัวนอนเจ้าของบ้านโดยสูงจากพื้นบ้านประมาณสองเมตร ถือเป็นของสูง เด็กๆจะไปเล่นเกะกะใกล้ไม่ได้ ผู้อาวุโสหรือพ่อแม่เท่านั้นที่จะเกี่ยวข้องกับผีปู่ย่าได้ ในครอบครัวที่เคร่งครัดจะจัดสำรับกับข้าวด้วยอาหารคาวหวานอย่างละเล็กละน้อย พร้อมกับคนโทน้ำเซ่นไหว้ทุกวัน เพราะเชื่อว่าหากเลี้ยงไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว ผีปู่ย่าจะอดอยาก อาจจะทำโทษให้ครอบครัวเดือดร้อนต่างๆนานา เป็นต้นว่าเด็กเล็กจะเจ็บป่วย แต่หากปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจะช่วยคุ้มครองและดลบันดาลให้เกิดโชคลาภต่างๆได้ ผีปู่ย่าที่อยู่ในเรือนเหล่านั้นบางครั้งก็จะถูกเรียกว่าเป็น ผีเรือน หรือ ผีเฮือน เพราะช่วยให้ความคุ้มครองบ้านเรือนและลูกหลานที่อยู่ในเรือนด้วย แต่บางครั้งความหมายของคำว่าผีเรือนของชนบางกลุ่มก็หมายถึงวิญญาณของพ่อแม่ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดีจากการศึกษาของผู้เขียนได้พบว่าความหมายของผีเรือนในบางท้องที่ในภาคเหนือนั้นหมายถึงผีหลายๆ ตัวที่อยู่ในเรือนและทำหน้าที่ต่างๆ กันซึ่งในจำนวนนี้จะมีผีพ่อของเจ้าของเรือนอยู่ด้วย โดยมีผีปู่ย่าหรือผีวงศ์ซึ่งเป็นผีประจำตระกูลเป็นหัวหน้าใหญ่สุดอยู่บนเรือน อย่างไรก็ดีผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษของบางสายตระกูลที่เป็นผู้นำทางสังคม เช่น หัวหน้าหมู่บ้าน เจ้าเมือง หรือกษัตริย์ นอกจากจะได้รับการนับถืออยู่ในกลุ่มวงศ์ตระกูลแล้ว ยังได้รับการนับถือบูชาจากชาวบ้านชาวเมืองอีกด้วย ดังนั้นผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษของผู้นำทางสังคมจึงมีฐานะเป็นทั้งผีประจำตระกูลและผีของชุมชนด้วย ซึ่งในส่วนที่มีบทบาทต่อชุมชนนั้นจะมีชื่อเรียกว่า ผีเสื้อบ้าน หรือ ผีเสื้อเมือง และจะมีบทบาททางสังคมเพิ่มขึ้น เพราะนอกเหนือจากการที่จะต้องดูแลลูกหลานในวงศ์ตระกูลแล้ว ยังจะต้องดูแลชาวบ้านหรือชาวเมืองอีกด้วย ซึ่งบทบาทเช่นนี้มีลักษณะเหมือนบทบาทของหัวหน้าหมู่บ้าน เจ้าเมือง หรือกษัตริย์ จะเห็นได้ว่าบทบาทของผีปู่ย่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในสังคมหลายระดับ นับตั้งแต่ระดับครัวเรือน เครือญาติวงศ์หรือสายผีเดียวกัน และระดับชุมชน ในกรณีที่ผีปู่ย่าหรือผีบรรพบุรุษของผู้นำทางสังคมทำหน้าที่เป็นผีเสื้อบ้านหรือผีเสื้อเมือง จึงทำหน้าที่ที่อาจจัดอยู่ในประเภทเป็นผีอารักษ์หรือผีเจ้านาย ดัง ในด้านประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ย่านั้นโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่นับถือผีปู่ย่าจะต้องมีการเซ่นไหว้หรือที่เรียกว่า เลี้ยงผี ในโอกาสต่างๆ เป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผีปู่ย่าจะช่วยคุ้มครองลูกหลาน ไม่ว่าจะไปทำกิจกรรมใดๆ เช่น เดินทางไกล แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ค้าขาย มีคนมาพักในบ้าน เจ็บป่วยได้ไข้ ฯลฯ จะต้องบอกกล่าวให้ทราบ และบนบานขอร้องให้ช่วยคุ้มครอง ดังนั้นจึงต้องมีการเลี้ยงผีเพื่อเป็นการสักการะวิญญาณของบรรพบุรุษ เป็นการขอขมา แสดงความขอบคุณที่ได้ช่วยคุ้มครองปกปักรักษา และอำนวยอวยผลให้เกิดความสำเร็จในการทำมาหากินในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ขอขอบคุณข้อมูล www.nectec.or.th
โพสต์โดย : nampuengeiei9760