Social :



ย้อนดูคำพิพากษา ‘ซานติก้าผับ’ จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา ‘ผู้บริหาร-กรรมการฯ’

06 ส.ค. 65 13:08
ย้อนดูคำพิพากษา ‘ซานติก้าผับ’ จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา ‘ผู้บริหาร-กรรมการฯ’

ย้อนดูคำพิพากษา ‘ซานติก้าผับ’ จำคุก 3 ปีไม่รอลงอาญา ‘ผู้บริหาร-กรรมการฯ’

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ผับ Mountain B อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จนมีมีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บสาหัสกว่า 30 ราย โดยพบต้นเพลิงเริ่มไหม้บริเวณหลังคา ก่อนจะลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งอาคาร ประกอบกับช่องระบายอากาศและทางออกด้านหน้าเปิดอยู่เพียงประตูเดียว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกมาได้ทันนั้น ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ย้อนกลับไปในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 ม.ค. 2552 “ซานติก้าผับ” ย่านเอกมัย ได้มีการจัดงานรื่นเริงเพื่อชมการแสดงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ภายในตัวอาคารมากกว่า 1,000 คน ต่อมาพบว่าอยู่ในช่วงการแสดงดนตรี มีการจุดพลุไฟหน้าเวที จนเกิดไฟลุกไหม้บนเพดาน ก่อนจะลุกลามอย่างรวดเร็วในตัวอาคาร ทำให้ผู้คนด้านในพยายามวิ่งหนีตายออกมา ทั้งนี้มีพยานยืนยันว่า ช่วงที่หนีเอาตัวรอดมาได้นั้น พบว่าทางเข้าออกที่คับแค ทำให้ถูกไฟคลอก เสียชีวิตทั้งหมด 67 คน บาดเจ็บสาหัส 32 คน และบาดเจ็บอีก 71 คน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มรคำพิพากษษดังนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8565 – 8566/2558 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายวิสุขเสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003)จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1,นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ จำเลยที่ 2 , นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิงจำเลยที่ 3,นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด จำเลยที่ 4,นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟจำเลยที่ 5,บริษัท โพกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ ซานติก้าผับจำเลยที่ 6 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 จำเลยที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 7 คนละ 3 ปี ให้ปรับจำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาทหากจำเลยที่ 6 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นนอกจากนี้และคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยก กับให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 4-8 จำนวน 5,120,000 บาท

โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ทุกข้อหานอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ฎีกา

ศาลฎีกาได้ประชุมตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้ววินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ 6 และที่ 7 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาตรวจดูภาพวิดีโอจากแผ่นดีวีดี คำให้การพยาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากดอกไม้เพลิงของจำเลยที่ 7 ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ากลองชุดดังที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่าจำเลยที่ 7 กระทำโดยประมาท ศาลฎีกาไม่กล่าวซ้ำอีก จำเลยที่ 7 มีความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษมา ส่วนจำเลยที่ 6 แม้จะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีสภาพบุคคลเหมือนบุคคลธรรมดาก็ตามแต่เมื่อจำเลยที่ 6 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการจัดระบบแสง สี เสียง ภาพ ประกอบการแสดง… เวทีการแสดงต่าง ๆ … ตามวัตถุประสงค์ท้ายหนังสือรับรอง การที่จำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 6 รับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงในการทำฉากเอฟเฟกต์ในร้านเกิดเหตุตามขอบแห่งวัตถุประสงค์ ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญา แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษทางอาญาด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 6 และที่7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225, 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น

Lif
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียนตั้งบริษัทไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจากจำเลยที่ 1 ไป ก็ตาม แต่ตามคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทคนหนึ่งปรากฏว่าแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว แต่ในการประชุมผู้ถือหุ้นจะมีจำเลยที่ 1 นั่งเป็นประธานในที่ประชุม โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง

มีข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 1 ไม่จัดให้มีไฟฉุกเฉินภายในร้านให้เพียงพอ ปล่อยให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกินกว่าความสามารถที่จุคนได้ไม่เกิน 500 คน และประตูเข้าออกที่สามารถรองรับคนเข้าออกได้เพียงประมาณ 500 คน ตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน ที่โจทก์กล่าวมาว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ร้านเกิดเหตุซึ่งเป็นสถานบันเทิงเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในข้อ 2 และข้อ 7 ที่กำหนดให้สถานบริการต้องมีแสงสว่างจากระบบไฟฟ้าฉุกเฉินเพียงพอที่จะมองเห็นช่องทางหนีไฟได้ชัดเจนขณะเพลิงไหม้ โดยมิพักต้องคำนึงว่าสถานบริการนั้นมีพื้นที่มากน้อยเท่าใด หาใช่ว่าสถานบริการต้องมีพื้นที่เกินกว่า 2,000 ตารางเมตร จึงจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับนี้ ดังคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายช่างโยธาของสำนักงานเขตวัฒนาแต่อย่างใดไม่ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับไฟฉุกเฉิน บ่งบอกว่าภายในร้านเกิดเหตุไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ สอดคล้องกับหลักฐานในที่เกิดเหตุ ระบุว่าตรวจไม่พบระบบแสงสว่างฉุกเฉินในส่วนพื้นที่ชุมนุมคน ยิ่งกว่านั้นจำนวนคนที่อยู่ในร้านเกิดเหตุในช่วงที่ใกล้เวลานับถอยหลังเข้าสู่วันปีใหม่นั้น คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่อยู่ในร้านเกิดเหตุเกี่ยวกับเรื่องนี้ เบิกความว่า คนในร้านยืนเบียดเสียดกัน การจะออกไปดูการจุดพลุนอกร้านทำได้ยาก มีคนอยู่ในร้านประมาณ 900 ถึง 1,000 คน เดินเบียดเสียดกันเพราะคนแน่นมาก ทุกคนยืนกันหมดเนื่องจากไม่มีที่นั่ง มีแต่โต๊ะวางเครื่องดื่ม ตามคำเบิกความของนายเมธาพัฒน์ซึ่งเป็นช่างถ่ายวิดีโอของร้านเกิดเหตุว่า มีคนอยู่ที่ในร้านประมาณ 1,000 คน ตามคำเบิกความของนายนฤพัฒน์ว่ามีคนในร้านเกิดเหตุประมาณ 1,000 คน คนเบียดเสียดต้องยืนกัน การที่มีคนตายถึง 67 คน เป็นผลมาจากการที่เบียดเสียดหาทางออกไม่พบอันเนื่องจากไม่มีไฟฉุกเฉินบอกทาง และมีคนอยู่ในร้านเกิดเหตุอัดแน่นกันอย่างมากมายเกินกว่าที่ประตูทางออกจะรองรับให้ทันแก่การหนีไฟได้ ตามวิสัยและพฤติการณ์ของวิญญูชนที่ทำธุรกิจสถานบันเทิงเยี่ยงจำเลยที่ 1 ย่อมตระหนักได้ดีว่าการจัดให้คนมาชุมนุมเพื่อการรื่นเริงในสถานที่อันจำกัด หากมีอัคคีภัยเกิดขึ้น การระบายคนออกไปได้รวดเร็วและมากเท่าใด โดยมีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟ ย่อมทำให้คนที่มาชุมนุมหนีไฟออกมาได้อย่างปลอดภัยมากเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่จักต้องจัดให้มีไฟฉุกเฉินบอกทางหนีไฟในร้านเกิดเหตุและต้องไม่ยอมให้แขกที่มาเที่ยวเข้าไปในร้านเกิดเหตุในลักษณะที่ยืนเบียดเสียดอัดแน่นกันอยู่ภายในร้าน ทั้งที่ประตูเข้าออกทางด้านหน้าร้านซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียวมีความกว้างเพียง 2.30 เมตร เกินกว่าที่ประตูนั้นจะรองรับในการระบายคนให้ทันแก่เหตุการณ์ได้ การที่จำเลยที่ 1 งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันอันเป็นผลทำให้แขกที่มาเที่ยวในร้านเกิดเหตุหนีไฟออกมาไม่ได้เพราะติดค้างอยู่ด้านในถึงแก่ความตายเพราะเหตุถูกไฟคลอกและขาดอากาศหายใจ รวมทั้งแขกที่มาเที่ยวบางส่วนนับร้อยคนแม้จะหนีไฟออกมาได้ก็ยังได้รับบาดเจ็บถึงอันตรายสาหัส จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทร่วมด้วยนอกเหนือจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 6 และที่ 7 จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ตาม ม.291ที่เป็นบทหนักสุด

ส่วนนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯจำเลยที่ 7 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 3 ปีตาม ม.291และ ปรับบ.โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่6 เป็นเงิน 20,000 บาท และให้บริษัท จำเลยที่6 กับนายบุญชู จำเลยที่7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 5,120,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทั้งนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 58 ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว นายวิสุข หรือเสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1 และนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯจำเลยที่ 7 ได้ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกคนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา

ขอบคุณที่มา        ข่าวเดลินิวส์

โพสต์โดย : ปลายน้ำ