Social :



Unseen ทะเลหมอก @ “บ้านถ้ำผึ้ง”

20 พ.ค. 59 17:20
Unseen ทะเลหมอก @ “บ้านถ้ำผึ้ง”

Unseen ทะเลหมอก @ “บ้านถ้ำผึ้ง”

 

Unseen ทะเลหมอก @ “บ้านถ้ำผึ้ง”

สัมผัสชุมชนคนรักษ์ป่า ชมวิถีแห่งการพึ่งพาธรรมชาติ 

 

“ความสุข” จินตนาการแรกที่เรานึกถึงทุกครั้งเมื่อเอ่ยถึง “การท่องเที่ยว” ยิ่งถ้าหากเป็นสถานที่ที่เราเคยใฝ่ฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปให้เห็นกับตาด้วยแล้ว ความสุขในการท่องเที่ยวยิ่งจะเพิ่มอย่างเท่าทวี ซึ่งในทริปที่ผ่านมานี้ การเดินทางไปท่องทั่วสุราษฎร์ธานี จังหวัดที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายและเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวในฝันของใครต่อใคร เหมือนกับว่าเราได้ชาร์จแบตให้สมองและหัวใจที่เหนื่อยล้าจากหน้าที่การงานกลับมาอิ่มเต็ม

 

อย่างไรก็ตามทริปตามฝันดังกล่าวคงไม่มีทางสมบูรณ์แบบได้หากเราขาดการสนับสนุนข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยว หน่วยงานที่พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว การเดินทาง และที่พัก เรียกได้ว่าทุกครั้งที่ต่อสาย จะแอ่วเหนือหรือล่องใต้...อุ่นใจได้เลย

 

ซึ่งหลังโทร.ไปสอบถามข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยว นี้นี่เอง เราก็ได้เดินทางไปรับไอแดดและความสดชื่นของลมทะเลฝั่งอ่าวไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งเดินทางไปชื่นชมความงดงามของ เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน แหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์อันงดงามจนได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น “กุ้ยหลินเมืองไทย” เราได้รับคำแนะนำให้ลองไปสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่อยู่ไม่ไกล นั่นก็คือ “บ้านถ้ำผึ้ง” ชุมชนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการรักษาป่าชุมชนจนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว อีกทั้งชุมชนแห่งนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานโดยกรมการท่องเที่ยว มั่นใจได้เลยว่า เราจะได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่และการเข้าพักในแบบโฮมสเตย์ที่แสนประทับใจอย่างแน่นอน

 

และเพียงคืนแรกที่เรามาถึงบ้านถ้ำผึ้ง การต้อนรับของ “ผู้ใหญ่บุญทัน บุญชูดำ” และภรรยา เจ้าของโฮมสเตย์ที่เราเข้าพักก็สร้างความประทับใจให้กับแขกทางไกลอย่างเราเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมที่นอนหมอนมุ้ง ข้าวปลาอาหาร ตลอดจนการพูดคุยถามไถ่สารทุกข์ ทำให้ผู้เข้าพักสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นและจริงใจ เหมือนกับได้มาบ้านญาติผู้ใหญ่ของตัวเองเลยทีเดียว

   

 

 

ทางขึ้นจุดชมวิว แม้ไม่สะดวกสบาย แต่ท้าทายและภูมิใจเมื่อขึ้นไปถึง

 

การพูดคุยกับเจ้าบ้าน ทำให้เราทราบว่า บ้านถ้ำผึ้ง มีชื่อที่มาจากภูเขาลูกหนึ่งซึ่งมีถ้ำและผึ้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น สวนยางพารา สวนปาล์ม สวนกาแฟ และสวนผลไม้ ด้วยความที่ชาวบ้านถ้ำผึ้งเป็นหมู่บ้านที่ให้ความสำคัญกับการรักษาป่าชุมชน เมื่อรวมกับธรรมชาติและขุนเขาที่โอบล้อมหมู่บ้าน ทำให้บ้านถ้ำผึ้งเป็นชุมชนเงียบสงบท่ามกลางวิถีธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ ทั้งหมดที่กล่าวมา เราสามารถขึ้นไปรับชมความงามได้ที่จุดชมวิวบนภูเขาบางคุย และถ้าหากโชคดี เราจะได้ชม “ทะเลหมอก” ที่หาชมได้เพียงไม่กี่แห่งในภาคใต้อีกด้วย  

 

 


ทิวทัศน์งามตา ค่อยๆ เผยออกมาหลังทะเลหมอกจาง

 

หลังพักผ่อนในบ้านที่แสนอุ่นสบาย เราตื่นมารับแสงแรกของวันใหม่ท่ามกลางไอหมอกและอากาศอันบริสุทธิ์ จนอดไม่ได้ที่จะออกมาเดินทอดน่องสูดกลิ่นอายความสดชื่นด้วยความเพลิดเพลินไปตามถนนสายเล็กๆ ที่เงียบสงบ จนกระทั่ง “ลุงสุริยา” ไกด์ประจำหมู่บ้านผู้รอบรู้และลูกชายเดินทางมารับตอน 6.30 น. ตามนัดหมายในโปรแกรมท่องเที่ยวบ้านถ้ำผึ้งที่ผู้ใหญ่บุญทันจัดไว้ให้ ก็เริ่มต้นขึ้น...

 

รถขับเคลื่อนสี่ล้อพาเราลัดเลาะไปตามสวนของชาวบ้านจนถึงทางขึ้นจุดชมวิว จากนั้นก็เป็นการเดินเท้าขึ้นไปตามบันไดเล็กๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นทางเดินอันคดเคี้ยวไปตามช่องหิน แม้ทางเดินขึ้นไปยังจุดสูงสุดของภูเขาจะค่อนข้างลำบาก แต่กลับสร้างความสนุกสนานและท้าทายให้กับเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถขึ้นมาถึงจุดชมวิว พร้อมๆ กับการจับตัวของหมอกหนาที่กำลังจะกลายเป็นทะเลหมอก ทิวเทือกเขากว้างไกลที่ค่อยๆ เผยออกมาทีละน้อยๆ แดดสีทองที่ค่อยๆ ทอแสงจับขอบฟ้า ความเหนื่อยล้าทั้งหมดก็หายไปทันที แต่ทว่าเราไม่สามารถคาดเดาธรรมชาติได้ ทะเลหมอกที่บ้านถ้ำผึ้งในวันที่เราไปสัมผัสนั้นเกิดขึ้นและสลายตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การได้ขึ้นไปสูดอากาศอันบริสุทธิ์และชมความสวยงามของทิวทัศน์รอบๆ หมู่บ้าน ที่สามารถมองได้ไกลถึงอุทยานแห่งชาติเขาสก เท่านี้ก็คุ้มค่าแล้ว

 

 


ต้นไม้เขียวขจีรอบๆ บึงมหัศจรรย์น้ำดันทรายดูด ช่วยให้สถานที่แห่งนี้ร่มรื่นยิ่งขึ้น

 

จากจุดชมวิว เราเดินทางต่อมายัง “บึงมหัศจรรย์น้ำดันทรายดูด” หรือ “บ่อน้ำพุเย็น” ที่ตรงก้นบึงจะมีลักษณะคล้ายกับมีแรงดันทำให้ทรายบริเวณนั้นถูกดันขึ้นมาตลอดเวลา หากมีการปรบมือหรือทำให้เกิดการสั่นสะเทือนจะยิ่งมีแรงดันเพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีพบว่า บ่อน้ำพุเย็นแห่งนี้เกิดขึ้นเพราะแผ่นดินไหวที่ทำให้ภูเขายุบตัวไปทับทางไหลของน้ำใต้ดิน จนทำให้มีน้ำใต้ดินดันขึ้นมาตลอดทั้งปี และจากการนำน้ำไปตรวจสอบก็พบว่าน้ำที่ไหลออกมานี้เป็นน้ำแร่ที่มีความบริสุทธิ์พร้อมสำหรับนำไปผ่านกรรมวิธีเพื่อทำเป็นน้ำดื่มได้ทันที

 

 


พืชผักมากมายในป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน ที่ชาวบ้านทุกคนกินใช้ร่วมกัน

 

ซึ่งชาวบ้านถ้ำผึ้งทุกคนมีความเข้าใจตรงกันว่า บึงมหัศจรรย์น้ำดันทรายดูดเป็นสมบัติที่พวกเขาต้องเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลาน พวกเขาต้องร่วมกันรักษาระบบนิเวศของบ่อน้ำพุเย็นแห่งนี้ไว้ ชาวบ้านถ้ำผึ้งทุกคนจึงช่วยกันทำให้บริเวณพื้นที่แห่งนี้กลายเป็น “ป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน” หนึ่งในป่าชุมชนที่ทุกคนร่วมกันสร้าง ร่วมกันดูแลรักษา และทุกคนก็ได้ใช้ประโยชน์จากป่าร่วมกัน นั่นก็คือการเก็บพืชผักต่างๆ เช่น ผักเหลียง หน่อไม้ และเห็ด ไปประกอบอาหาร ที่เราได้อิ่มอร่อยจากฝีมือภรรยาของผู้ใหญ่บุญทัน ก็ได้วัตถุดิบมาจากป่าอันอุดมสมบูรณ์และปลอดสารพิษผืนนี้เช่นกัน

 

 

MulticollaC

ต้นตะเคียนหินเติบโตสูงใหญ่ เพราะชาวบ้านถ้ำผึ้งช่วยกันอนุรักษ์ไว้อย่างดี + ว่านค้างคาว หรือดอกไม้สีดำ พืชหายากที่พบได้เพียงบางพื้นที่ในประเทศไทย

 

 

สถานที่ต่อไปที่ลุงสุริยาพาเราไปชมคือ ถ้ำน้ำลอด ถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ที่มีลำธารยาวกว่า 100 เมตร ไหลผ่านถ้ำจากปากทางเข้าถ้ำทะลุไปจนถึงอีกด้าน ซึ่งเราก็สามารถเดินทะลุปากถ้ำทั้งสองด้านได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยและมีค้างคาวฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ เราใช้เวลาสำรวจภายในถ้ำและบริเวณรอบๆ ถ้ำอยู่สักพัก ก็ไปพบเข้ากับ “ว่านค้างคาว” หรือดอกไม้สีดำ พืชหายากที่พบได้เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย

 

น่าเสียดายที่ท้องฟ้าไม่เป็นใจ ฝนที่โปรยปรายทำให้เราพลาดชมถ้ำประวัติศาสตร์สมรภูมิ น้ำตกธารพฤกษา หรือน้ำตกบางคุย รวมถึงการเดินสำรวจป่าต้นน้ำบนเนื้อที่กว่า 300 ไร่ ที่มี “น้ำผุด” ไหลออกมาจากร่องหินใต้ภูเขาหล่อเลี้ยงชาวบ้านถ้ำผึ้งจากรุ่นสู่รุ่น  

 

 

 


อาหารพื้นบ้านและการต้อนรับที่อบอุ่น

 

 

อย่างไรก็ตาม เช้าวันรุ่งขึ้น นับเป็นความโชคดีที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการ “ปลูกป่าและพัฒนาหมู่บ้าน หนึ่งในกิจกรรมสำคัญประจำปีที่ชาวบ้านทุกคนตั้งแต่เด็กเล็กถึงผู้ใหญ่จะมาช่วยกันเก็บขยะ ตัดหญ้า แต่งกิ่งไม้ข้างทาง ซ่อมถนน และปลูกต้นไม้ในป่าต้นน้ำ จากการที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเข้มแข็งสามัคคี และความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนรักษ์ป่าแห่งนี้อย่างชัดเจน

 

 


 

 

หลังร่วมปลูกต้นไม้กับชาวบ้าน เราเดินทางออกจากบ้านถ้ำผึ้งด้วยหัวใจอิ่มเอม 2 วัน 2 คืน ในชุมชนแห่งนี้ เราได้ทั้งมิตรภาพ ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ และความภาคภูมิใจ อีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า เราหวังจะกลับมาดูต้นไม้ที่เราปลูก ในระหว่างนี้มั่นใจได้เลยว่า ชาวบ้านถ้ำผึ้งจะดูแลรักษาต้นไม้ของเราและต้นไม้ทุกต้นให้เติบโตงดงามด้วยความเต็มใจ

 

 

 


พลังความสามัคคีของชาวบ้านถ้ำผึ้งที่พร้อมใจกันออกมาปลูกป่าและพัฒนาหมู่บ้าน

 

 

 

เคล็ดไม่ลับ

 

การไปท่องเที่ยวชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และการปีนเขาขึ้นไปยังจุดชมวิวเพื่อชมทะเลหมอกเป็นไฮไลต์สำคัญแล้ว นอกจากหัวใจที่ต้องเต็มร้อย “กางเกงขาสั้น” กับ “รองเท้าผ้าใบ” จะช่วยให้เราเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในบ้านถ้ำผึ้งได้อย่างสนุกสนานและคล่องตัวยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

โฮมสเตย์บ้านถ้ำผึ้ง

ตั้งอยู่ : หมู่ที่ 5 ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี

สนใจติดต่อ : นายบุญทัน บุญชูดำ (ผู้ใหญ่บ้านและประธานป่าชุมชน) โทร. 089 290 9420

 

 

 

 



ที่มา: นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ฉบับที่ 162 สิงหาคม 2557

โพสต์โดย : ครองแครง