Social :



อุตุฯ แจ้งเตือน ‘ภาคใต้ฝนตกหนัก’ ทั่วไทยเตรียมรับมืออากาศหนาวสุดรอบ 3 ปี กทม.-ปริมณฑล 14 องศา

07 พ.ย. 59 08:25
อุตุฯ แจ้งเตือน ‘ภาคใต้ฝนตกหนัก’ ทั่วไทยเตรียมรับมืออากาศหนาวสุดรอบ 3 ปี กทม.-ปริมณฑล 14 องศา

อุตุฯ แจ้งเตือน ‘ภาคใต้ฝนตกหนัก’ ทั่วไทยเตรียมรับมืออากาศหนาวสุดรอบ 3 ปี กทม.-ปริมณฑล 14 องศา

อุตุฯ แจ้งเตือน ภาคใต้ฝนตกหนัก ’ 

ทั่วไทยเตรียมรับมืออากาศหนาวสุดรอบ 3 ปี กทม.-ปริมณฑล 14 องศา

 

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา
" อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย"  
ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2559

 

หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศกัมพูชา ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริเวณภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แต่ยังคงทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า

 

อนึ่ง บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่ง ได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง ของประเทศไทยในช่วงวันที่ 7-11 พ.ย. 2559 ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมแรงเกิดขึ้นในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 3- 5 องศาเซลเซียส โดยจะเริ่มมีผลกระทบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จะมีผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

 

สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. 2559 ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง คลื่นบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2- 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง สำหรับชาวเรือขอให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

       

ประกาศ ณ วันที่ 7 พ.ย. พ.ศ. 2559 เวลา 05.00 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไป ในวันที่ 7 พ.ย. พ.ศ. 2559 เวลา 11.00 น.

 

กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้คาดหมายลักษณะอากาศในรอบ 3 เดือน ว่า ช่วงเดือน พ.ย. 2559 - ม.ค. 2560 อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยจะลดลง และมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้นเป็นลำดับ อุณหภูมิเฉลี่ยโดยทั่วไปจะต่ำกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยบริเวณประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.จะลดลงเหลือประมาณ 18- 20

Lif
องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดของประเทศประมาณ 6- 7 องศาเซลเซียส บริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประมาณ 14- 15 องศาเซลเซียส บริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

สำหรับปริมาณและการกระจายของฝนประเทศไทยตอนบนจะลดลงเกือบทั่วไป เนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว เดือน พ.ย. ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด กับมีอากาศหนาวเย็นมากขึ้น โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศเย็นเกือบทั่วไป กับมีอากาศหนาวหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 19- 21 องศาเซลเซียส

 

ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกมีอากาศเย็นหลายพื้นที่ โดยเฉพาะตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 22- 24 องศาเซลเซียส สำหรับคลื่นลมในทะเลภาคตะวันออกจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ โดยจะมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง

 

จากนั้นในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. อากาศจะหนาวเย็นมากขึ้นอีก โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีอากาศหนาวเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวจัดบางแห่งทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 15- 17 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศเย็นทั่วไป กับมีอากาศหนาวในบางวัน โดยเฉพาะตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยประมาณ 20- 22 องศาเซลเซียส คลื่นลมในทะเลภาคตะวันออกจะมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร สำหรับยอดดอย ยอดภู รวมทั้งบริเวณเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อาจเกิดน้ำค้างแข็งได้ในบางวัน และอาจมีหมอกหนาได้หลายพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.นี้ นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของลำห้วยแม่ประจันต์ จ.เพชรบุรี ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์เป็นปริมาณมาก ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำออกจากอ่างเป็น 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำท่าบริเวณท้ายอ่างไหลลงมาสมทบ ทำให้ปริมาณน้ำไหลถึงด้านเหนือเขื่อนเพชรเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรจาก 197 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1 เมตร แต่ไม่ล้นตลิ่ง และตั้งแต่ อ.บ้านลาด ถึง อ.เมืองเพชรบุรี สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 50 เซนติเมตร ส่วนบริเวณด้านท้าย อ.เมือง ไปจนถึง อ.บ้านแหลม ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่ง และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้แจ้งเตือนไปยัง จ.เพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เฝ้าระวังและเพิ่มการป้องกันตลิ่งในบริเวณที่ลุ่มต่ำริมลำห้วยแม่ประจันต์ ได้แก่ พื้นที่ อ.หนองหญ้าปล้อง อ.บ้านลาด อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายาง รวมไปถึงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเพชรบุรีด้วย ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมถึง ยกสิ่งของและทรัพย์สินไว้บนที่สูง พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด


topicza.com


โพสต์โดย : ครองแครง