Social :



สนช.รับแล้ว! หลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ

11 พ.ย. 59 21:11
สนช.รับแล้ว! หลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ

สนช.รับแล้ว! หลักการร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบ

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. …ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนผู้ไม่สูบบุหรี่ยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ดังนั้น จึงสมควรปรับปรุงกฎหมาย และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาดังกล่าว

ทั้งนี้ มีสมาชิก สนช.อภิปรายจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับที่จะเพิ่มอายุของเยาวชนที่จะเข้าถึงบุหรี่จาก 18 ปี เป็น 20 ปี แต่สนช.บางส่วนก็อภิปรายแสดงความเป็นห่วงความสุดโต่งของบทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ โดย พล.อ.ดนัย มีชูเวท สนช. อภิปรายถามหามาตรการรองรับชาวไร่ยาสูบอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยได้เสนอให้จัดเป็นกองทุนหรือเงินทุนที่เยียวยาชาวไร่ยาสูบ หรือหาวิธีส่งเสริมให้ชาวไร่ยาสูบปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีราคาใกล้เคียงกับยาสูบด้วย ขณะที่ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ได้เสนอให้มีการศึกษามาตรการเยียวยาให้กับผู้ค้ายาสูบรายย่อย รวมทั้งผู้ผลิตยาเส้น ยามวน จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหนในร่างกฎหมายดังกล่าว

ด้าน นพ.ปิยะสกลชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมุ่งหวังเพื่อให้การคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อให้มีสุขอนามัยที่ดีขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการยาสูบ ทั้งร้านค้าปลีกแบ่งขายมวน ผู้เพาะปลูก

Lif
โดยเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการสำรวจพบว่าจะมีผลกระทบจำนวน 170,000 ไร่ หรือ 40,000 ครอบครัว ซึ่งก็ได้กำหนดมาตรการเยียวยาไว้แล้ว ขณะที่ นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการ อย่างกรณีเกษตรกรไร่ยาสูบ ครม.ได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯเพื่อหามาตรการเยียวยา ทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว ทั้งนี้ จากสถิติจำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดลงไม่มากนัก โดยลดลงช้า โอกาสที่จะส่งผลกระทบจะค่อยเป็นค่อยไปไม่ฮวบฮาบ โดยเลวร้ายสุดจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีมาตรการต่างๆ เช่น กองทุนเยียวยา การส่งเสริมปลูกพืชทดแทน โดยใช้งบประมาณไม่มาก ประมาณ 90 ล้านบาท

ด้าน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า การร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นกฎหมายสุดโต่ง แต่เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาฯทุกประการ และเราไม่ได้ร่างเข้มงวดไปจากกรอบ ส่วนข้อเสนอที่ควรให้ตัวแทนชาวไร่ยาสูบร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยนั้นถือว่าขัดต่อกรอบอนุสัญญา เนื่องจากเป็นผู้ผลิต สำหรับผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบนั้นถือว่ากระทบน้อยมาก เนื่องจากยาสูบที่บริโภคปัจจุบันนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่ซึ่งก็ไม่ได้ลดลงมากนัก ส่วนผู้ค้าปลีกก็ส่งผลกระทบน้อยมาก

ที่สุดสมาชิก สนช.จะลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 159 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจำนวน 21 คน โดยมีเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาการทำงานทั้งหมด 60 วัน

โพสต์โดย : อาจารย์ตาใส