Social :



ผ่านมา 5 ปี!!! เด็กถูกลืมในรถกี่คน แก้ไขอย่างไรดี?

23 พ.ค. 59 13:08
ผ่านมา 5 ปี!!! เด็กถูกลืมในรถกี่คน แก้ไขอย่างไรดี?

ผ่านมา 5 ปี!!! เด็กถูกลืมในรถกี่คน แก้ไขอย่างไรดี?


ผ่านมา 5 ปี!!! เด็กถูกลืมในรถกี่คน แก้ไขอย่างไรดี?

  “เด็กถูกลืมไว้ในรถ” ยังคงเป็นปัญหาที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง และต่างสร้างความสลดใจให้กับทุกฝ่ายอยู่ไม่น้อย เพราะคงไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งล้วนมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก

  กรมควบคุมโรค ได้เผยถึงข้อมูลจากการเฝ้าระวังข่าวจากสื่อของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ว่าในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2555-2559) พบเด็กถูกลืมในรถถึง 13 ครั้ง เสียชีวิต 6 ราย ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิตเป็นชาย 4 ราย หญิง 2 ราย ราย  โดยเด็กที่เสียชีวิตถูกลืมทิ้งไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียน 5 ราย และรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ราย ทั้งหมดถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป  นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่เสียชีวิต จำนวน 4 รายนอนหลับอยู่บนรถขณะรถกำลังไปส่งที่โรงเรียน 

ส่วนเด็กที่ช่วยไว้ได้ทัน 7 คน ทั้งหมดผู้ปกครองไม่ได้ลืม แต่ตั้งใจทิ้งเด็กไว้ในรถเอง เพราะคิดว่าลงไปทำธุระไม่นาน (โดยติดเครื่องยนต์และเปิดแอร์ทิ้งไว้) ซึ่งทั้งหมดเป็นเด็กอายุ 3-4 ปี  ที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่เต็มที่ 


        นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้เปิดภาคเรียนตามปกติ ทั้งนี้ นอกจากผู้ปกครองและครูอาจารย์ต้องดูแลสุขภาพของเด็กและความพร้อมต่อการเรียนแล้ว ยังต้องใส่ใจและป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กในระดับอนุบาลและในศูนย์เด็กเล็ก เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่นหรือของเล่นต่างๆ การเล่นกับเพื่อน ที่สำคัญคือการลืมเด็กไว้ในรถ ทั้งรถรับ-ส่งเด็กนักเรียน และรถของผู้ปกครองเอง   

          นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการทดสอบกรณีเด็กติดในรถ(จอดรถกลางแดด) ของศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าเด็กส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 5 นาที อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้, 10 นาที ร่างกายจะยิ่งแย่ และ 30 นาที  เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวมตามมา จากนั้นอาจหยุดหายใจ อวัยวะทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน และอาจเสียชีวิตได้  

ในโอกาสนี้ ขอแนะนำผู้ปกครอง พนักงานขับรถรับ-ส่งนักเรียน และครูอาจารย์  ให้เตือนตนเองใน 3 ข้อควรจำ
Lif
เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ ดังนี้ “นับ ตรวจตรา อย่าประมาท” นับ : นับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง, ตรวจตรา : ก่อนล็อคประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ,อย่าประมาท : อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงเวลาสั้นๆ  ที่สำคัญหากพบเห็นเด็กถูกลืมไว้ในรถ ขอให้เรียกหาเจ้าของรถ เพื่อให้เปิดรถโดยเร็ว หากไม่พบเจ้าของรถขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือ และโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422   


 

ขณะที่แนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กติดอยู่ในรถอีกด้านหนึ่งนั้น ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษ า เปิดเผยถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือเด็กติดในรถยนต์ ผลงานของนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งได้ประดิษฐ์คิดค้นมาแล้วประมาณ 3 ปี และนำไปทดลองใช้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ถ้ามีสถานศึกษาหรือเจ้าของรถตู้ที่ต้องให้บริการรับ – ส่ง เด็กนักเรียนมาติดต่อก็พร้อมติดตั้งให้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 ชิ้นด้วยกัน คือ เครื่องป้องกันเด็กติดในรถ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง เครื่องควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ (ชีวิตที่ถูกลืม) วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม และเครื่องทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำ วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี

สำหรับเครื่องป้องกันเด็กติดในรถ ของวิทยาลัยเทคนิคลำปาง เป็นเครื่องที่เหมาะกับการติดตั้งในรถตู้เพื่อแจ้งเตือนว่าภายในรถยังมีคนตกค้างอยู่ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตประมาณ 30 วินาทีจะมีลำโพงไซเรนดังจากตัวรถ ประตูรถจะเปิดอัตโนมัติ และส่งเอสเอ็มเอสไปยังโทรศัพท์อีก 5 หมายเลข พร้อมแจ้งพิกัดสถานที่ของตัวรถ ส่วนชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรถยนต์ ของวิทยาลัยเทคนิคนครปฐม หรือเรียกกันติดปากว่าชีวิตที่ถูกลืม จะใช้อุปกรณ์ชุดควบคุมก๊าซคาร์บอนฯ ในรถยนต์ ซึ่งเครื่องจะทำงานอัตโนมัติเมื่อพบว่ามีผู้ติดอยู่ในรถและมีค่าคาร์บอนฯ มากกว่า 1,000 ppm. ซึ่งเป็นค่าที่ทำให้ผู้ติดอยู่ในรถรู้สึกอึดอัด และเครื่องทำลายกระจกรถยนต์ กรณีรถยนต์ตกน้ำหรือมีผู้ติดอยู่ในรถ ของวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี อุปกรณ์ทำลายกระจกนี้จะติดตั้งไว้ในรถสามารถยิงทำลายกระจกรถยนต์แบบ Tempered ซึ่งเป็นกระจกด้านข้างและด้านหลังของรถยนต์ทั่วไป เมื่อกระจกถูกทำลายจะแตกตัวแบบเมล็ดข้าวโพด หากตกน้ำจะมีอุปกรณ์เสริมเพื่อขอความช่วยเหลือและจะมีสัญญาณแสดงตำแหน่งที่รถจมอยู่

 
  ถึงเวลาแล้ว! ที่ผู้ใหญ่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน หันมาใส่ใจและดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ 5 ปีที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่แบบนี้อีกต่อไป แต่ควรให้ 5 ปีนั้น กลายเป็น “บทเรียนราคาแพง” ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา “เด็กถูกลืมไว้ในรถ”  อีก


อ้างอิงข้อมูลจาก
- สำนักโรคไม่ติดต่อ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
- เว็บไซต์รัฐบาลไทย
เรียบเรียงโดย Topicza.com

โพสต์โดย : หัวโต

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด