Social :



ความรู้เรื่อง เปรต จากพระไตรปิฎก

10 ม.ค. 60 21:01
ความรู้เรื่อง เปรต จากพระไตรปิฎก

ความรู้เรื่อง เปรต จากพระไตรปิฎก

ความรู้เรื่อง "เปรต" จากพระไตรปิฎก

เปรตคือสัตว์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยมารดาบิดา (โอปปาติกะ)   ท่านว่าเปรตเกิดจากคนเราในสมัยที่เป็นมนุษย์ ชอบประกอบอกุศลกรรมเป็นอาจิณ หลังจากที่ได้ตายไปแล้ว และไปอุบัติเป็น สัตว์นรกเสวยทุกข์เวทนาเป็นเวลานานแสนนาน พอหมดอายุขัยจากนรกแล้ว ด้วยเศษอกุศลกรรมที่ยังเหลืออยู่ก็จะส่งผลให้ไปอุบัติเป็นชีวิตใหม่อีกรูปแบบหนึ่งเพื่อ เสวยทุกขเวทนาบนโลกมนุษย์ มีชื่อเรียกว่า "เปรตวิสัย" 

ในพระไตรปิฎกกล่าวว่าเปรตเหล่านี้มีรูปร่างและลักษณะการเสวยทุกข์เวทนาจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กรรม (การกระทำ) ของแต่ละบุคคล เช่น เปรตบางตนเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เคยประกอบอาชีพฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นอาจิณ หลังจากหมดอายุขัยในนรกแล้วก็ไปอุบัติเป็นเปรตที่มีรูปร่างเป็นก้อนเนื้อให้นกกาจิกแทะกลางอากาศ เปรตบางตนมีรูปร่างสวยงามแต่กลิ่นปากเน่าเหม็นคละคลุ้ง เพราะในสมัยมีชีวิตอยู่แม้จะประกอบกุศลกรรมบ้าง (ทำให้ร่างกายสวยงาม) แต่ปากคอระรานชอบด่าว่าผู้ทรงศีล เลยเกิดมาเป็นเปรตรูปร่างสวยงามแต่ปากเหม็น เป็นต้น สรุปคือ รูปร่างของเปรตแต่ละตัวล้วนแตกต่างกันไปตามอำนาจปรุงแต่งของกรรมที่ตนทำไว้นั่นเอง หาใช่มีแต่เปรตตัวสูงเท่าต้นตาล ปากเท่ารูเข็ม อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้นไม่ 

ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวของเหล่าสาวกทั้งบรรพชิตและฆราวาสมากมายที่ได้พบเห็นเปรตและมีโอกาสได้สนทนาด้วย   ในการสนทนาส่วนใหญ่เปรตก็มักจะเล่าถึงเหตุผลของการที่ตนเองต้องมาเกิดเป็นเปรตรับทุกข์ทรมาน และมีสภาพที่น่าสมเพชเวทนาเช่นนี้ ว่าเกิดจากในสมัยที่ตนเป็นมนุษย์ได้กระทำกรรมชั่วอะไรไว้บ้าง และในตอนท้ายของการสนทนา เปรตก็มักจะขอร้องให้มนุษย์ที่ตนสนทนาด้วยให้ช่วยทำบุญให้ทาน อุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตบ้าง เมื่อเปรตเหล่านี้ได้รับการอุทิศส่วนกุศลจากมนุษย์แล้ว ชีวิตของตนก็พ้นจากความทุกข์เวทนาจากเศษกรรมที่ยังเหลืออยู่ มีความปีติยินดี ไปอุบัติเป็นสัตว์โอปปาติกะขนิดใหม่ที่ดีขึ้นเช่น เทวดา เป็นต้น 

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์เองก็ทรงไม่สนับสนุนให้ชาวพุทธไปเที่ยววุ่นวายกับเรื่อง"เปรต" ให้เสียเวลา  
เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของประสบการณ์เฉพาะตน ที่ไม่สามารถจะนำไปยืนยันหรือพิสูจน์ให้ทุก ๆ คนได้เห็นตามได้ อีกทั้งการที่ไปวุ่นวายเรื่องเหล่านี้ยังเป็นการเสียเวลาไม่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรมให้พ้นทุกข์อีกด้วย ยกตัวอย่าง กรณีท่านพระมหาโมคคัลลานะที่เล่าให้เพื่อนภิกษุฟังว่าตนมองเห็นเปรตที่เขาคิชฌกูฏ เพียงเท่านั้นเอง บรรดาเพื่อนพระภิกษุหลายรูปที่ไม่สามารถเห็นตามได้ ต่างก็เพ่งโทษพระมหาโมคคัลลานะว่ากล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม (อวดคุณวิเศษว่าตนมีตาวิเศษสามารถมองเห็นเปรตได้อะไรทำนองนี้ ) จนพระพุทธองค์ต้องมาช่วยตรัสรับรองความบริสุทธิ์ใจของพระมหาโมคคัลลานะว่า สิ่งที่พระมหาโมคคัลลานะท่านได้เล่าให้ฟังนั้น เป็นสิ่งที่ท่านได้เห็นมากับตาจริง ๆ ท่านไม่มีเจตนาที่จะอวดฤทธิ์แต่อย่างใด จึงไม่ต้องอาบัติ 

แม้พระพุทธองค์เองก็ตรัสว่า ท่านก็เคยได้เห็นเปรตเช่นเดียวกัน แต่การที่ท่านไม่ได้เล่าให้ใครฟัง ก็เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความแคลงใจสงสัยสำหรับผู้ที่ไม่มีความเชื่อ  อันจะก่อให้เกิดผลเสีย คือ ทำให้เขาไม่ศรัทธาในสาระสำคัญในพุทธศาสนาอีกต่อไป ผู้นั้นจะเสียประโยชน์หมดโอกาสไปเปล่า ๆ ดังจะขอยกพระพุทธดำรัสดังกล่าวมาอ้างดังต่อไปนี้ 

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาลก่อนเราก็ได้เห็นสัตว์ (เปรต) นั้น แต่เราไม่ได้พยากรณ์ (นำมาบอกเล่า หรือ พูดคุย ) 
ถ้าเราพยากรณ์สัตว์นั้น และคนอื่นไม่เชื่อเรา ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลเพื่อทุกข์ แก่เขาเหล่านั้น 
MulticollaC
สิ้นกาลนาน.... 
( วินัย เล่ม ๑ ข้อ ๒๙๕ หน้า ๔๒๗ บรรทัดที่ ๒๒-๒๔) 

สรุปแล้ว เรื่อง "เปรต" ควรเป็นเรื่องที่พอรู้ไว้ให้เป็นความรู้รอบตัว  โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเที่ยวตามพิสูจน์หาความจริงแต่อย่างใด (เพราะอาจจะทำให้ถูกหลอกลวงจากผู้ที่ไม่ปรารถนาดี ) ควรสนใจเฉพาะคำสอนที่เป็นสาระในพุทธศาสนาจะเป็นการปลอดภัยที่สุด 

สำหรับผู้ที่มีความเชื่อเรื่องนี้ ก็ให้ยึดหลักการที่ท่านแนะนำไว้ให้แม่น ๆ ว่า หน้าที่ของชาวพุทธคือศึกษาพัฒนาตนเอง  ส่วนเรื่อง เปรต หรือ ผีสางนางไม้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรเสียเวลาไปเที่ยวพิสูจน์ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถึงแม้ท่านจะสามารถพิสูจน์เห็น"เปรต"มาได้ด้วยตนเองแล้ว (ด้วยการฝึกฝนจิตตนเองหรือด้วยเหตุปัจจัยอันใดก็แล้วแต่) แต่คนสมัยใหม่ที่เขาเชื่อเรื่องของเหตุผล เขาก็จะด่วนสรุปทันทีว่าท่านเป็นคนงมงาย แม้ว่าท่านจะนั่งยันนอนยันว่าเห็นมากับตาสักเท่าไรก็ตามที 

แม้พระพุทธองค์ท่านยังรู้ขอบเขต ไม่เน้นสอนเรื่องเหล่านี้ คงเพียงแค่กล่าวผ่าน ๆ รับรองว่าสิ่งเหล่านี้มีจริงเท่านั้น  เพราะถ้าหากขืนไปเน้นพูดถึงเรื่องนี้มาก ๆ ผู้คนก็จะพาหลงทิศหลงทางจากหลักธรรมได้ง่ายๆ (เพราะมัวแต่ไปตระเวนตามล่าเปรตสุดขอบฟ้า) ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็จะคิดดูหมิ่นดูแคลนพุทธศาสนา กล่าวหาว่าสอนแต่เรื่องงมงายไปเลย จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าไปยุ่งกับมันมาก ๆ จะก่อให้เกิดผลเสียต่อพระพุทธศาสนาในระยะยาว (พุทธศาสนาในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เสื่อมขนาดหนัก ก็เพราะเน้นสอน เรื่องอิทธิปาฎิหาริย์ ผีสางเทวดา นั่นเอง ท่านสามารถศึกษาบรรยากาศของพุทธศาสนาในสมัยนั้นได้ จากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ) 

สมมุติว่าวันดีคืนดีท่านเกิดไปเดินเจอเปรตตัวจริงที่ไหนเข้า ท่านก็รู้หลักการจากพระไตรปิฎกแล้วว่าควรปฏิบัติอย่างไร  นั่นคือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรต ให้ท่านถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย 

อันที่จริงไม่ใช่เพียงแต่ เปรต อย่างเดียวเท่านั้นที่ต้องการบุญกุศลจากมนุษย์  แม้เทวดาทั้งหลายก็ยังต้องการบุญกุศลจากมนุษย์เช่นเดียวกัน เพราะสัตว์เหล่านี้หมดโอกาสที่จะได้ทำบุญกุศลแล้ว มนุษย์คือสัตว์ชนิดเดียวที่มีโอกาสประกอบคุณงามความดีได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์จึงไม่ควรสยบยอมอยู่ใต้อำนาจผีสางเทวดา เที่ยวไปหมอบคลานกราบไหว้ผีสางเทวดา เพื่อขอพึ่งพาอาศัย ให้เป็นที่น่าอนาถใจ 

มนุษย์ควรมีศักดิ์ศรีของตนเอง ควรพัฒนาตนเองให้ประเสริฐ ให้ผีสางเทวดามากราบไหว้  ทำตัวให้เป็นที่พึ่งของเจ้าพ่อเจ้าแม่ยังจะดีเสียกว่าไปพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ นี้ถ้าหากคนไทยสามารถปฎิวัติความคิดของตนเองเช่นนี้ ประเทศไทยก็จะได้พ้นจากอำนาจผีสางเทวดาเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่ครองเมืองกันมานาน พุทธศาสนาของเราจะได้รุ่งเรืองกันเสียที 


ที่มาจาก  www.bbznet.com

โพสต์โดย : nampuengeiei9760