Social :



@วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

12 ต.ค. 60 10:10
@วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

@วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

วัดไตรมิตรวิทยาราม


 สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง (ใกล้หัวลำโพง) เดิมชื่อว่า "วัดสามจีน" ภายในวัดมีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์หนึ่ง เมื่อคราวเปลี่ยนที่ตั้ง ปูนที่หุ้มอยู่ได้กะเทาะออก เห็นภายในเป็นพระพุทธรูปทองคำ ลักษณะองค์พระเป็นศิลปะสุโขทัยจึงได้ถวายพระนามว่า "พระสุโขทัยไตรมิตร" เป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีส่วนผสมของทองคำสูงมาก เรียกว่า "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา" มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว สูง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว

ประวัติความเป็นมา
 นับว่าเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๖๖๑ ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐

 ตราประจำวัด คือ ภาพเทวดา ๓ องค์ นั่งประชุมกันบนบัลลังค์เมฆ พื้นหลังสีดำ ด้านนอกขอบทอง ด้านบนมีพุทธสุภาษิตประจำวัดคือ " อติโรจติ ปญฺญาย สมฺมาสมฺพุทฺธสาวโก " แปลว่า "สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเจริญรุ่งเรืองด้วยปัญญา" และด้านล่างคือชื่อวัด

 วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมมีชื่อว่า วัดสามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่าวัดสามจีน เดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนอยู่ในคลองบางอ้อด้านตรงข้ามกับเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่าอยู่ที่บางขุนพรหม บางที่ก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม คือ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยาราม

 เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยเหตุว่ามีชาวจีน ๓ คนได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า “วัดสามจีน”

ประวัติพระพุทธรูปทองคำ
 นับตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน ปรากฏร่องรอยหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย มรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม สะท้อนให้เห็นความรุ่งโรจน์แห่งอารยธรรมไทยแต่ครั้งโบราณกาล ดังที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งทรงตรวจสอบค้นคว้าด้านโบราณคดีเกี่ยวกับ “สุโขทัย” ความว่า

 "ชาติไทยเรา ไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า ‘อันซิวิไลซ์' ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว เพราะฉะนั้น ควรที่จะรู้สึกอายแก่ใจว่า ในกาลปัจจุบันนี้ อย่าว่าแต่จะสู้ผู้อื่น แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรของเราเองก็ไม่ได้ ฝีมือช่าง หรือความอุตสาหะของคนครั้งพระร่วงดีกว่าคนสมัยนี้ปานใด ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้ว บางทีพอรู้สึก หรือเดาได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าอ่านแล้ว คงจะเห็นความเพียรของคนเราเพียงไร.."

  พระราชนิพนธ์ชิ้นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงดงามรุ่งเรืองในอดีตโดยเฉพาะ “สุโขทัย” อาณาจักรไทย ที่ครอบคลุมดินแดนดอนเหนือในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ร่องรอยแห่งความเจริญดังกล่าว นอกจากจะพบได้จากซากเมือง และวัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งศิลปวัตถุอันตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่สร้างขึ้นอย่างประณีตด้วยศิลปะชั้นสูงแล้ว ความยิ่งใหญ่แห่งอารยธรรมในอดีต ยังพบเห็นได้ชัดเจนจาก “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์สมัยสุโขทัย อันเป็นมรดกแห่งอารยธรรมที่ตกทอดเป็นประจักษ์พยานถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งอารยธรรมของสยามประเทศ

  “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือที่มีนามซึ่งปรากฏตามพระราชทินนาม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๙) ว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระวิหารแห่งวัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย คือ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางเหนือพระชานุ ปลายพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูงจากฐานถึงพระเกตุเมาฬี ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๕ ตันครึ่ง แต่เดิมพระุพุทธรูปทองคำนี้อยู่ในองค์พระพุทธรูปปูนปั้นทับอีกชั้นหนึ่ง กว่าจะได้เห็นเป็นองค์ทองคำแบบในทุกวันนี้มีประวัติยาวนานหาอ่านได้ใน http://www.wattraimitr-withayaram.com

 พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็น “พระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) ได้ทำการประเมินค่าอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ (พ.ศ. ๒๕๓๓) และบันทึกไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าเฉพาะเนื้อทองคำสูงถึง ๒๑.๑ ล้านปอนด์ แล้วบันทึกลงเป็นข้อความว่า

 Highest intrinsic value is the 15th-century gold Buddah in Wat Trimitr Temple in Bangkok, Thailand. It is 3-04 m 10 ft tall and weighs an estimated 51/2 tonnes. At the April 1990 price of $ 227 per fine ounce, its intrinsic worth was $ 21.1 million. The gold under the plaster exterior was found only in 1954.

ข้อความที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ กินเนสบุ๊ก ออฟ เดอะ เวิร์ด เรคคอร์ด

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok 

พระมหามณฑปพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

     พระมหามณฑปพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร เริ่มต้นการเดินทางสู่วัดไตรมิตรวิทยารามใช้เส้นทางพระราม ๔ ตรงมาถึงหัวลำโพงผ่านแยกไฟแดงข้ามสะพานแล้วเบี่ยงซ้ายเข้าถนนมิตรภาพไทย-จีน เป็นทางวันเวย์เดินรถทางเดียวชิดขวาเตรียมเลี้ยวขวาเข้าวัด วัดไตรมิตรวิทยารามอยู่ขวามือ เข้ามาในวัดวนหาที่จอดรถซึ่งมีลานกว้างหน้าพระมหามณฑป หน้าพระอุโบสถ ด้านข้างพระอุโบสถ โรงเรียนสอนภาษาจีน ปกติหากเดินทางมาในวันหยุดสุดสัปดาห์รถจะเต็มลานจอดรถ แต่เมื่อหาที่ว่างได้แล้วก็เดินเข้าพระอุโบสถสักการะองค์พระประธาน จะเห็นพระมหามณฑปซึ่งอยู่เยื้องด้านหน้าพระอุโบสถในมุมนี้

พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

     พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา เป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยความร่วมมือของกรมศิลปากร สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเยาวราช และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สร้างจากหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ จุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร (พระพุทธรูปทองคำ) มีทั้งหมด ๔ ชั้น เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท ส.บุญมีฤทธิ์วิศวกรรม เมื่อเดือนตุลาคม ปี ๕๐ มีระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ ๒ ปี

      มณฑปหลวงพ่อทองคำ เป็นอีกคำเรียกหนึ่งของพระมหามณฑปพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ด้านหน้าตรงของพระมหามณฑปที่สร้างสูงทั้งหมด 4 ชั้น นักท่องเที่ยวจะได้ขึ้นไปชมพระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรวิทยารามที่ชั้น 4 ส่วนชั้น 3 เป็นนิทรรศการประวัติการสร้างพระพุทธรูปทองคำ การค้นพบพระพุทธรูปทองคำใต้พระพุทธรูปปูนปั้นโดยบังเอิญ ส่วนชั้น 2 เป็นนิทรรศการ ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช ซึ่งเดี๋ยวเราจะพาเข้าไปชมอย่างละเอียดอีกครั้งครับ

พระพุทธทศพลญาณ พระประธานวัดไตรมิตรวิทยาราม

     พระพุทธทศพลญาณ พระประธานวัดไตรมิตรวิทยาราม ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง มีพระนามว่า "พระพุทธทศพลญาณ" มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบว่าพระประธานวัดสามจีนใต้มีพุทธลักษณะงดงาม ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตร ให้ประจักษ์แก่พระเนตรว่างามสมคำเล่าลือกันหรือไม่ แม้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ก็ยังได้มาชมพระประธานของวัดสามจีนเสมอเมื่อทรงว่างจากพระภารกิจ

*ที่มา ข้อมูลจากเว็บไซต์วัดไตรมิตรวิทยาราม

พระอุโบสถวัดไตรมิตรวิทยาราม

     พระอุโบสถวัดไตรมิตรวิทยาราม หลังจากที่ได้สักการะองค์พระประธานในพระอุโบสถเรียบร้อยแล้วก็เป็นเวลาที่จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อทองคำบนพระมหามณฑป เมื่อขึ้นไปบนชั้น 2 ของพระมหามณฑปจะเห็นพระอุโบสถได้ทั้งหลัง

ประวัติความเป็นมาของพระอุโบสถ
     พระอุโบสถหลังเดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน รูปทรงเป็นแบบไทยผสมศิลปะจีน หลังคาลดสามชั้นมีเสาหารโดยรอบ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีหน้าบัน ประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ เป็นรูปดอกพุดตาน ซุ้มประตูหน้าต่างประดับปูนปั้น ลายดอกพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางถวายเนตร พระพุทธรูปองค์นี้ มีศิลป์การครองจีวรเป็นแบบห่มหนีบ (มังกร) ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน เป็นรูปภาพอดีตพระพุทธเจ้าโดยรอบ เหนือขอบหน้าต่างตอนบนระหว่างหน้าต่างและประตูเป็นรูปทศชาติ กล่าวกันว่าจิตรกรรมภายในพระอุโบสถวัดสามจีนใต้กับวัดดวงแขมีลักษณะเช่นเดียวกัน

      ต่อมาเมื่อเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลูกระเบิดได้ลงในที่ไม่ไกลจากพระอุโบสถเท่าไรนัก แรงสั่นสะเทือนของอำนาจระเบิด ทำให้พระอุโบสถทั้งหลังยากต่อการบูรณปฏิสังขรณ์ ตกอยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายได้ จึงได้ทำการรื้อลงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากที่ได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แล้ว

      พระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ เป็นพระอุโบสถที่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ การก่อสร้างเป็นเฟอร์โรคอนกรีต ทรงจตุรมุข หลังคาสามชั้น มีชานรอบพระอุโบสถ บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ และพระอุโบสถหลังใหม่นี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตรประกอบการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓

พระมหามณฑปพระพุทธรูปทองคำชั้น 3

     พระมหามณฑปพระพุทธรูปทองคำชั้น 3 บริเวณชั้น 3 ของพระมหามณฑปนี้ได้จัดสร้างให้เป็นห้องสำหรับแสดงนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำทั้งชั้น เรื่องราวที่น่าสนใจกระบวนการสร้างพระพุทธรูป (การหล่อพระ) เนื้อทองที่ใช้ในการเททองสร้างพระพุทธรูปทองคำ การอัญเชิญเคลื่อนย้ายองค์พระจากวัดพระยาไกร เหตุการณ์เชือกขาดพระพุทธรูปตกกระแทกพื้นจนปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก จนเป็นหลวงพ่อทองคำในทุกวันนี้ ที่มาของพระนามหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร และอื่นๆ อีกมากมาย

     ประตูทางเข้า-ออกห้องนิทรรศการให้เข้าทางเดียวออกทางเดียวกัน มีถุงสีแดงสำหรับใส่รองเท้าและถือเข้าไปมีห้องจำหน่ายของที่ระลึกวัตถุมงคลของวัดไตรมิตรวิทยาราม เอาไว้จะพาเข้าไปดูกันให้ละเอียดครับ

งานศิลปะนูนสูงพระแม่ธรณีบีบมวยผม

      งานศิลปะนูนสูงพระแม่ธรณีบีบมวยผม บริเวณด้านข้างบันไดทางขึ้นพระมหามณฑปพระมหาสุวรรณปฏิมากร มีงานศิลปะนูนสูงรูปพระพุทธประวัติเมื่อพญามารยกกำลังพลหมู่มารมาผจญขัดขวางสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระแม่ธรณีบีบมวยผม จนเกิดน้ำจำนวนมากไหลพัดพญามารและหมู่มารทั้งหมดพ่ายแพ้ไป งานนูนสูงนี้มีอยู่ทั้งสองข้างของบันได

ป้ายชื่อพระมหามณฑป

     ป้ายชื่อพระมหามณฑป เดินขึ้นจากชั้นที่ 3 เป็นทางขึ้นชั้น 4 มีป้ายชื่อพระมหามณฑปสีทองสวยงามบนหินอ่อน

มณฑปพระพุทธรูปทองคำ

     มณฑปพระพุทธรูปทองคำ ในที่สุดก็มาถึงชั้นที่ 4 เป็นชั้นบนสุดมีการก่อสร้างมณฑปไว้ตรงกลาง มีศาลาราย 4 มุม บันไดทางขึ้นซึ่งมีอยู่ 2 ด้านแบ่งเป็นทางขึ้นและทางลงพระมหามณฑปนี้สร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังประดับลวดลายด้วยสีทองตัดกันอย่างสวยงาม เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรพระพุทธรูปทองคำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ที่บันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค

      มณฑปหลังนี้มีทางขึ้นลง 3 ทาง คือด้านหน้า และด้านซ้าย-ขวา ส่วนด้านหลังปิดทึบ มีทางลาดสำหรับรถเข็นผู้สูงอายุและคนพิการ ภายในสามารถบันทึกภาพได้ยกเว้นกล้องวีดีโอ และห้ามใช้แฟลชครับ

มณฑปหลวงพ่อทองคำ

     มณฑปหลวงพ่อทองคำ ภ่าพด้านข้างและมุมของมณฑป ที่สร้างอย่างงดงามสมกับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำล้ำค่า

พระพุทธรูปทองคำ

     พระพุทธรูปทองคำ เมื่อเดินชมภายนอกกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็เข้ามาภายใน การถ่ายภาพพระพุทธรูปทองคำหรือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร สามารถทำได้ตามปกติยกเว้นการถ่ายภาพวีดีโอครับ หลวงพ่อทองคำประดิษฐานบนฐานสูงกลางมณฑป ซึ่งตกแต่งด้วยสีทองเป็นหลัก เพดานและซุ้มประตูทั้ง 3 สร้างอย่างสวยงามพื้นที่ด้านหน้าองค์พระไม่กว้างมากนักเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาชมและกราบไหว้พระพุทธรูปทองคำในแต่ละวัน หลายคนก็พยายามที่จะถ่ายรูปองค์พระบริเวณตรงกลางของพื้นที่ รอสักพักใหญ่ๆ จะมีจังหวะที่เราจะบันทึกภาพได้

     วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2498 นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้มาชมพระพุทธรูปทองคำที่วัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อพิจารณาแล้วจึงระบุว่าเนื้อทองคำที่สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เป็น "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา" ซึ่งมีค่าสูงยิ่งคำเรียกเนื้อทองดังเกล่าเรียกตามมาตรฐานของทองคำแบบไทยเดิม ที่กำหนดเรียกชนิดทองคำเป็นเนื้อต่างๆ เทียบกับมูลค่าของเงิน ทองคำชนิดที่มีความบริสุทธิ์สูงสุดคือ ทองเนื้อเก้า หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 9 บาท ส่วน "ขา" หมายถึง 1 สลึง ดังนั้น "ทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา" จึงหมายถึงทองคำชนิดที่หนัก 1 บาท มีค่าเท่ากับเงิน 7 บาท 2 สลึง แต่ค่าของเงินเมื่อเทียบกับทองย่อมผันแปรไปตามยุคสมัย ต่อมาคำเรียกทองคำเนื้อต่างๆ นี้ จึงไม่ได้แสดงถึงราคาเมื่อเทียบกับเงิน เป็นเพียงแต่ค่าความบริสุทธิ์ของเนื้อทองคำเท่านั้น ทั้งนี้ ทองคำบริสุทธิ์อย่างทองเนื้อเก้าจะมีความอ่อนตัวมาก ไม่สามารถหล่อเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ได้ โดยทั่วไปการหล่อพระพุทธรูปทองต้องใช้ทองเนื้อรองลงมา จึงจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ซึ่งทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขาที่ใช้สร้างพระพุทธรูปมหาสุวรรณปฏิมากร ก็จัดเป็นทองคำที่มีความบริสุทธิ์สูง จึงเปล่งประกายความสุกปลั่งออกมาอย่างงดงาม

     ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2499 ข่าวการค้นพบพระพุทธรูปทองคำขนาดใหญ่ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน หนังสือพิมพิ์ต่างๆ พากันเสนอข่าวอย่างครึกโครม จนกลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาขณะนั้นใกล้จะถึงงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือกึ่งพุทธกาล ข่าวที่เผยแพร่ออกไปทำให้ประชาชนหลั่งไหลมาชมและสักการะพระพุทธรูปทองคำกันอย่างล้นหลาม ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และพระพุทธรูปองค์นี้ก็ได้มีนามเรียกขานอีกนามว่า "หลวงพ่อทองคำ"

     หนังสือกินเนสบุ๊ค ทำการประเมินค่าและบันทึกว่าพระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็น"วัตถุศักดิ์สิทธิ์" ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก (The sacred object with the highest intrinsic value) โดยมีมูลค่าเนื้อทองคำถึง 21.1 ล้านปอนด์ (พ.ศ. 2546 บันทึกอีกครั้งว่ามีมูลค่า 37.1 ล้านปอนด์)

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ประวัติหลวงพ่อทองคำ

      ประวัติที่แน่ชัดของพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรสืบทราบย้อนไปได้เพียงว่าประดิษฐานอยู่ที่วัดพระยาไกร กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ พ.ศ.2367-2394) โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและที่ไหน แต่จากลักษณะทางศิลปะขององค์พระซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ อันเป็นรูปแบบพระพุทธรูปที่งดงามสมบูรณ์ที่สุดในศิลปะสุโขทัย ซึ่งเกิดขึ้น ณ กรุงสุโขทัยในสมัยที่เป็นราชธานีเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรน่าจะสร้างขึ้นที่กรุงสุโขทัยในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงที่กรุงสุโขทัยมีความมั่งคั่งร่ำรวยและพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ดังปรากฏข้อความในศิลาจากรึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" และด้วยความใหญ่โตขององค์พระที่สร้างด้วยทองคำล้ำค่า ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยน่าจะเป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น

      พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว (313 เซนติเมตร) สูง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว (398 เซนติเมตร) หนักประมาณ 5-5 ตัน อิริยาบถปางมารวิชัย กล่าวคือ ประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี ลักษณะพุทธศิลป์เป็นแบบพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ซึ่งถือว่างดงามที่สุดในศิลปะไทย ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปหมวดนี้คือ

    วงพระพักตร์เป็นรูปไข่

    ขมวดพระเกศาเป็นรูปก้นหอยเวียนขวา หรือทักษินาวรรต

    พระเกตุมาลา (รัศมี) เป็นรูปเปลวเพลิง

    พระขนงโก่งงดงาม โค้งบรรจบกันที่ดั้งพระนาสิก

    พระนาสิกโด่ง ปลายพระนาสิกค่อนข้างงุ้ม

    พระโอษฐ์เรียวงาม ดูคล้ายแย้มพระสรวล

    ครองจีวรห่มเฉียง พาดสังฆาฏิบนพระอังสาซ้าย ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ปลายแฉกเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ

    ประทับบนฐานหน้ากระดาน


     ภายหลังจากการสร้างพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรด้วยทองคำแล้ว ต่อมาในสมัยหนึ่งกลับมีการพอกปูนทับและลงรักปิดทอง จนดูเหมือนพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไป ซึ่งน่าจะเป็นการอำพรางมิให้ผู้ใดทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำล้ำค่า เพื่อให้รอดพ้นจากข้าศึกศัตรู สาเหตุของการพอกปูนทับนี้มีผู้สันนิษฐานไว้ต่างกันคือ

    ชาวกรุงสุโขทัยอาจเป็นผู้พอกอำพรางองค์พระพุทธรูปทองคำไว้ ในครั้งที่กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลงและถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยารุกรานเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตามข้อสันนิษฐานนี้พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรน่าจะยังคงประดิษฐานอยู่ที่เมืองสุโขทัยสืบมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

    ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาอาจอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำลงมาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ครั้งที่ผนวกรวมกรุงสุโขทัยไว้ในอำนาจได้เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 แล้วต่อมาจึงพอกปูนอำพรางองค์พระในคราวที่พม่ายกทัพมาโจมตี ก่อนที่จะเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310


      ทั้งนี้ความคิดเห็นส่วนตัวแล้วข้อสันนิษฐานที่ 2 น่าเชื่อมากกว่าเพราะจากพระพุทธศิลปะองค์พระพุทธรูปปูนปั้นชั้นนอก ส่วนพระพักตร์ปูนปั้น พระพักตร์ของพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรในครั้งที่ยังมีปูนพอกทับอยู่ มีลักษณะเป็นศิลปะอยุธยา กล่าวคือ พระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยม พระนาสิกโก่งปลายงุ้ม ปลายพระนาสิกค่อนข้างใหญ่ ริมฝีพระโอษฐ์หนาอิ่ม
Lif

มณฑปพระพุทธรูปทองคำ

      มณฑปพระพุทธรูปทองคำ ด้านข้างของพระมหามณฑปพระพุทธรูปทองคำ โดยมากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไปออกันอยู่ที่ประตูทางขึ้นมณฑปด้านหน้า เคล็ดลับที่จะได้เข้าสักการะหลวงพ่อทองคำให้เร็วขึ้นคือมาใช้ประตูด้านข้างกันบ้างครับ

นิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ

     นิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ หลังจากไหว้พระพุทธรูปทองคำแล้วเดินลงมาที่ชั้น 3 เข้าชมนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ เพื่อศึกษาหาความรู้ประวัติความเป็นมา ขั้นตอนการสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อทองคำหรือหลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร ก่อนเข้ามาให้ถอดรองเท้าใส่ถุงสีแดงที่ทางวัดเตรียมไว้ให้ตรงทางเข้า ถือรองเท้าเข้ามาด้วย แล้วทำการลงทะเบียนการเข้าชมก่อน จากนั้นเดินเข้ามาห้องแรกเป็นวีดีทัศน์พระพุทธรูปทองคำแต่ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปิดซ่อมแซม เดินทะลุเข้าห้องถัดไปได้เลยครับ

นิทรรศการการสร้างพระพุทธรูปทองคำ

     นิทรรศการการสร้างพระพุทธรูปทองคำ ในห้องนิทรรศการนี้ได้อธิบายเรื่องราวการสร้างพระพุทธรูปด้วยการเททองหล่อพระ นำเสนอเรื่องราวขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ศึกษาหาความรู้อย่างละเอียดตั้งแต่การสร้างแม่พิมพ์หล่อพระจากดินเพื่อสร้างพระแกนใน เททองและตกแต่งองค์พระ การลงรักเพื่อโบกปูนทับพระพุทธรูปทองคำ

ขั้นตอนการสร้างพระพุทธรูปโลหะสมัยโบราณ
     การปั้นขึ้นหุ่นพระแกนใน การปั้นหุ่นพระซึ่งจะเป็นแกนในของแม่พิมพ์ โดยใช้ดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ ปั้นให้เป็นก้อนกลมรีวางดินก้อนแรกตรงตำแหน่งศูนย์กลางด้านหน้าแล้ววางดินก้อนต่อๆ ไปเรียงสูงขึ้นให้ได้ความสูงที่กำหนด ยึดด้วยไม้ยึด อัดดินให้แน่น ตกแต่งรูปร่างองค์พระ ทาผิวด้วยดินมอม (ขี้เถ้าผสมน้ำโคลนของดินเหนียว) เพื่อให้ผิวของหุ่นเรียบละเอียดไม่หลุดร่วง ช่วยให้ทองวิ่งได้สะดวกในขั้นตอนการเททอง

     การเข้าขี้ผึ้ง และการตัดแบ่งหุ่นพระแกนใน เมื่อได้หุ่นพระแกนในแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเข้าขี้ผึ้ง ซึ่งต้องใช้เทือก (ขี้ผึ้งที่เคี่ยวกับน้ำมันยางจนเหนียวเหมือนกาว) ทาให้ทั่วหุ่นพระแกนใน แล้วจึงนำแผ่นขี้ผึ้งมาติดหุ้มหุ่นพระให้ทั่วทั้งองค์ จากนั้นตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ของพระพุทธรูปให้สมบูรณ์บนเนื้อขี้ผึ้ง (ลักษณะบนขี้ผึ้งจะไปปรากฏบนเนื้อทองในภายหลัง) สำหรับการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่เมื่อเข้าขี้ผึ้งเรียบร้อยแล้วต้องตัดแบ่งหุ่นพระออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำแม่พิมพ์สำหรับหล่อแต่ละส่วนแยกจากกัน (หากหล่อเป็นชิ้นเดียวที่มีขนาดใหญ่จะเกิดปัญหาเททองให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ยาก) พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร มีการแยกหล่อเป็น 9 ส่วน

      การทำแม่พิมพ์ การทำแม่พิมพ์สำหรับหล่อพระพุทธรูป เริ่มจากการติดสายชนวนซึ่งทำด้วยขี้ผึ้งเข้ากับจุดต่างๆ ของหุ่นพระที่เข้าขี้ผึ้งแล้ว เพื่อเป็นเส้นทางนำร่องให้ทองไหลไปยังส่วนต่างๆ ได้สะดวก รวมทั้งทำทางให้ขี้ผึ้งไหลออกเรียกว่า กระบวน จากนั้นจึงตอกทอยซึ่งเป็นแท่งเหล็กขนาดเล็กลงบนหุ่นพระโดยรอบ เพื่อเป็นตัวยึดไม่ให้หุ่นคลอนหรือล้มชิดติดกับโครงดินของแม่พิมพ์ที่จะพอกหุ้มต่อไป

     การพอกดินชั้นแรกเรียกว่าทับดินนวล ใช้น้ำขี้วัวผสมดินอ่อนทาทับผิวขี้ผึ้งให้ทั่ว 3-4 ครั้ง ดินนวลซึ่งมีเนื้อละเอียดนี้จะทำให้รายละเอียดบนผิวขี้ผึ้งปรากฏคมชัดบนองค์พระที่หล่อออกมา เมื่อดินนวลแห้งแล้วจึงเข้าดินอ่อน โดยใช้ดินอ่อนผสมทรายแปะทับบนดินนวล ต่อด้วยการเข้าดินแก่ โดยใช้ดินเหนียวผสมน้ำขี้วัวและทรายพอกทับดินอ่อนอีกชั้น แล้วจึงรัดปลอก ซึ่งในสมัยโบราณใช้ไม้ไผ่ตัดเป็นโครงตาข่ายรัดรอบแม่พิมพ์จนแน่นหนา จากนั้นพอกดินแก่ทับอีกครั้ง

การหล่อพระพุทธรูปทองคำ

     การหล่อพระพุทธรูปทองคำ นอกเหนือจากการนำข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือยาวๆ มาแสดงให้อ่านหาความรู้ สิ่งที่พิเศษมากที่จะได้เห็นในนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำนี้ก็คือหุ่นโมเดลจำลองขั้นตอนต่างๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีความรู้ในการหล่อพระได้เห็นภาพแบบสมจริงที่สุด

     การหล่อ เมื่อแม่พิมพ์แห้งดีแล้ว ช่างจะคว่ำแม่พิมพ์ลงและอัดดินแก่ตรงฐานโดยเหลือขอบขี้ผึ้งไว้บางแห่ง แล้วนำสายชนวนมาต่อกับชั้นขี้ผึ้งเพื่อทำช่องสำหรับเททองเรียกว่าปากจอก รวมทั้งทำช่องให้อากาศไหลออกจากแม่พิมพ์ จากนั้นจึงสุมไฟเผาแม่พิมพ์เพื่อสำรอกขี้ผึ้งให้ละลายไหลออกมาทางกระบวนจนหมด และเผาต่อจนแม่พิมพ์สุกในชั้นนี้ภายในแม่พิมพ์จะเกิดช่องว่างเป็นรูปร่างพระพุทธรูปตามแบบที่เข้าขี้ผึ้งไว้ก่อนจะเททองลงไปต้องอุดช่องกระบวนให้เรียบร้อย
     ในการหล่อพระพุทธรูป ช่างจะใช้ทองประมาณ 10 เท่าของขี้ผึ้ง เมื่อหลอมทองจนได้ที่แล้วจึงนำมาเมลงในแม่พิมพ์ การเททองจะต้องทำอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง มิฉะนั้นทองที่เทลงไปก่อนจะเย็นตัวแข็ง ไม่ติดเป็นเนื้อเดียวกันกับทองที่เทตามมาทีหลัง

     การตกแต่งและประกอบองค์พระ หลังจากเททองเสร็จ ปล่อยให้เย็น และทุบแม่พิมพ์ที่เป็นดินออกจนหมด จะได้ชิ้นส่วนพระพุทธรูปซึ่งช่างต้องนำมาตัดสายชนวนและถอนทอยออก จากนั้นอุดรูทอยและขัดแต่งผิวให้เรียบร้อย แล้วจึงนำชิ้นส่วนต่างๆ มาสวมประกอบกันเป็นพระพุทธรูปที่สมบูรณ์

การอัญเชิญพระพุทธรูปมายังวัดไตรมิตรวิทยาราม

     การอัญเชิญพระพุทธรูปมายังวัดไตรมิตรวิทยาราม นิทรรศการแสดงจำลองเหตุการณ์การอัญเชิญพระพุทธรูปด้วยหุ่นที่สมจริงจังเมื่อดูแล้วรู้สึกเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ เหตุการณ์ในช่วงนั้นตามบันทึกกล่าวไว้ว่า

     สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่ พระมหากษัตริย์ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองและการพระศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดในกรุงเทพมหานครมากมายหลายแห่ง และอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทิ้งร้างอยู่ตามหัวเมืองทางเหนือลงมาประดิษฐานตามวัดต่างๆ ในพระนครเป็นจำนวนมากนับพันองค์ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปโบราณไม่ให้สูญหาย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ถือปฏิบัติด้วย ซึ่งพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรก็คงได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระยาไกร ในครั้งที่พระยาไกรโกษาสร้างวัดนี้ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

     พระยาไกรโกษาผู้สร้างวัดพระยาไกรนี้มีผู้สันนิษฐานว่าคือเจ้าสัวบุญมา ข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎีกราชเศรษฐี เมื่อสร้างวัดแล้วได้ถวายเป็นพระอารามหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดโชตนาราม" แต่ผู้คนนิยมเรียกว่าวัดพระยาไกรเนื่องจากต่อมาท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระไกรโกษา รับราชการในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 วัดพระยาไกรกลายเป็นวัดร้าง บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กของประเทศเดนมาร์กได้เช่าพื้นที่วัดจากทางราชการเพื่อใช้เป็นที่ตั้งโรงเลื่อยจักร ต่อมาภายหลังสิ่งก่อสร้างของวัดชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง จึงบัญชาให้วัดไผ่เงินโชตนารามกับวัดไตรมิตรวิทยาราม (ขณะนั้นชื่อวัดสามจีนใต้) ซึ่งเป็นวัดใต้การปกครองของท่าน ไปอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่ของวัดพระยาไกรซึ่งเหลืออยู่ 2 องค์มารักษา วัดไผ่เงินโชตนารามได้อัญเชิญพระพุทธรูปในพระอุโบสถไปก่อน วัดไตรมิตรวิทยารามจึงอัญเชิญพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารมาเมื่อ พ.ศ. 2478

     การอัญเชิญพระพุทธรูปขนาดใหญ่จากวัดพระยาไกรสู่วัดไตรมิตรวิทยารามเมื่อพ.ศ. 2478 เป็นไปอย่างราบรื่น บริษัทอีสต์เอเชียติ๊กได้จัดสรรรถบรรทุกให้ 1 คัน เคลื่อนย้ายองค์พระมาตามถนนเจริญกรุง โดยเชิญรูปพระอริยสาวกที่อยู่ในพระวิหารมาด้วยกันคือ พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร บนรถต้องมีคนถือไม้ง่ามไว้คอยค้ำสายไฟฟ้าและสายรถรางให้พ้นพระเกตุมาลาเป็นระยะ ในตอนนั้นมีชาวบ้านแถบวัดพระยาไกรส่วนหนึ่งพากันเดินตามมาส่ง และระหว่างทางมีคนสนใจมุงดูกันมากเมื่อถึงวัดไตรมิตรวิทยารามได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ข้างพระเจดีย์เป็นการชั่วคราวโดยทางวัดสร้างเพิงสังกะสีกันแดดกันฝนถวาย เนื่องจากสถานที่อื่นในวัดมีสภาพทรุดโทรม กำลังรอการบูรณะปรับปรุง ระหว่างนั้นชาวบ้านนิยมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อวัดพระยาไกร" และมีวัดอื่นมาขอไปประดิษฐานที่วัดของตนหลายครั้งแต่ก็เปลี่ยนใจทุกครั้ง พระพุทธรูปองค์นี้จึงยังคงอยู่ ณ วัดไตรมิตรวิทยารามสืบมา

การสร้างพระวิหารวัดไตรมิตรวิทยาราม

    การสร้างพระวิหารวัดไตรมิตรวิทยาราม วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมชื่อวัดสามจีนใต้ สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2374 มีตำนานเล่าว่าชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมาภายหลังสภาพภายในวัดชำรุดทรุดโทรมลงมากจึงเริ่มดำเนินการบูรณะปรับปรุงตั้งแต่ พ.ศ. 2480 โดยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมทั้งหมดแล้วสร้างขึ้นใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามเมื่อ พ.ศ.2482 จากนั้นต่อมา พ.ศ.2487 ทางวัดจึงเริ่มก่อสร้างพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากวัดพระยาไกร เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นปูชนียวัตถุอันควรแก่การสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน พระวิหารที่สร้างขึ้นนี้มี 2 ชั้น ชั้นบนตรงกลางเป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเมื่อการก่อสร้างพระวิหารใกล้เสร็จ วัดไตรมิตรวิทยารามจึงประกอบพิธีอัญเชิญ "หลวงพ่อวัดพระยาไกร" ขึ้นประดิษฐานบนพระวิหารเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ต้องอาศัยแรงงานคนซึ่งรวมถึงพระภิกษุสามเณร โดยใช้ท่อนไม้กลมหลายๆ ท่อน รองใต้องค์พระ แล้วค่อยๆ ชักลากจากเพิงสังกะสีข้างพระเจดีย์มาจนถึงหน้าพระวิหาร จากนั้นใช้เชือกโอบรอบองค์พระและสอดใต้ฐาน รวบเชือกเป็นสาแหรกขึ้นไปเบื้องพระเศียร ติดรอกและขอ แล้วกว้านยกองค์พระขึ้นสู่ชั้นบนของพระวิหาร เริ่มตั้งแต่เวลาเพล กระทั้งพลบค่ำก็ยังทำการไม่สำเร็จ ครั้งสุดท้ายยกองค์พระได้สูงประมาณ 1 ฝ่ามือ เชือกก็ขาดสะบั้นเพราะทานน้ำหนักไม่ไหว องค์พระจึงตกกระทบกับพื้นเสียงดังสนั่น โดยขณะนั้นกำลังมีลมพายุฟ้าคะนอง ครั้นแล้วฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ทำให้การดำเนินการในวันนั้นต้องยุติลง วันรุ่งขึ้นเมื่อทางวัดตรวจดูองค์พระจึงได้พบรอยแตกกระเทาะของปูน และเห็นว่ามีรักอยู่ใต้ปูนอีกชั้นหนึ่ง เมื่อลองแกะรักนั้นออกก็พบผิวทองคำสุกอร่าม จึงทราบว่ามีพระพุทธรูปทองคำอยู่ภายใน จากนั้นเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ทางวัดจึงได้สำรอกดินที่ใต้ฐานพระพุทธรูปออกเพื่อให้นำหนักน้อยลง ซึ่งทำให้พบว่าองค์พระสามารถถอดออกเป็นส่วนๆ ได้ จึงถอดบางส่วนออกจากกัน แล้วสกัดปูนและรักที่หุ้มอยู่ออก จากนั้นนำส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูป ขึ้นไปประกอบใหม่บนพระวิหาร รวมแล้วใช้เวลาหลายเดือนจึงเสร็จสมบูรณ์ และด้วยเหตุที่พระพุทธรูปทองคำองค์นี้เป็นศิลปะสุโขทัย จึงได้ตั้งนามในขณะนั้นว่า "หลวงพ่อสุโขทัยไตรมิตร"

     ขั้นตอนการพอกปูนและลงรักปิดทอง ในครั้งที่วัดไตรมิตรวิทยารามทำการสกัดปูนที่หุ้มองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรออก เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้พบวิธีการของช่างโบราณในการพอกปูนหุ้มพระพุทธรูปองค์นี้ ขั้นแรกช่างได้ลงรักไปบนผิวองค์พระทองคำก่อนที่จะพอกปูนทับลงไป สันนิษฐานว่าเพื่อให้ปูนยึดเกาะองค์พระได้ดี อีกทั้งรักจะช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อทองคำถูกความเค็มของปูนกัดกร่อน เนื่องจากปูนสมัยโบราณทำจากหินปูนหรือเปลือกหอยทะเลนำมาเผาไฟ ซึ่งมักมีความเค็มอยู่มาก

     ปูนที่ใช้ในการพอกและปั้นพระพุทธรูปต้องมีความเหนียว คงตัวอยู่ได้ขณะปั้น และจับตัวแข็งแกร่งเมื่อแห้งสนิท โดยทั่วไปช่างโบราณนิยมใช้ปูนขาวกับทรายละเอียดตำรวมกับวัสดุเส้นใย เช่น กระดาษฟาง และผสมกาวหนังสัตว์กับน้ำตาลอ้อยเข้าไปด้วย หลังจากพอกและปั้นปูนเสร็จแล้วจึงลงรักปิดทองทับอีกชั้นเพื่อความสวยงามตามแบบแผนการสร้างพระพุทธรูปทั่วไป

     การลงรักชั้นนอก ใช้รักที่ผสมสมุก (ผงถ่าน) จนข้น ทาให้ทั่วองค์พระ ทิ้งไว้จนแห้งแล้วชโลมรักน้ำเกลี้ยง (รักแบบใส) จากนั้นจึงทำการบ่มรัก โดยใช้ไม้ไผ่ทำกระโจมครอบองค์พระใช้ผ้าชุบน้ำคลุมไว้ จนกระทั่งรักแห้งหมาดๆ แล้วจึงปิดทองคำเปลวการปิดทองไม่ให้มีตะเข็บหรือรอยต่อ จะต้องปิดทองเรียงกันโดยให้ขอบแผ่นทองทับเกยกันทุกแผ่น ใช้นิ้วกดทับแผ่นทองให้เรียบสนิท สำหรับส่วนที่เป็นซอกเล็กๆ ใช้กิ่งไม้กดแผ่นทองจนเต็ม

นิทรรศการศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช

     นิทรรศการศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช หลังจากได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาในนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำในพระมหามณฑปพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรอย่างเต็มอิ่มจุใจแล้ว ต่อจากนั้นก็เดินลงมาทั้ชั้น 2 ของพระมหามณฑป เข้าชมนิทรรศการเกี่ยวกับเยาวราชกันต่อ

     ขั้นตอนในการเข้าชมนิทรรศการทั้งสองเหมือนกันคือถอดรองเท้าใส่ถุงแดงแล้วถือเข้ามาลงทะเบียนจากนั้นก็เข้าไปที่ประตูทางเข้า ซึ่งทางเดินภายในจะพาเราออกมายังทางออกเอง

ประวัติศาสตร์อันยาวน่านของชาวไทยเชื้อสายจีน

     ประวัติศาสตร์อันยาวน่านของชาวไทยเชื้อสายจีน หลังจากที่เดินเข้ามาภายในห้องนิทรรศการจะมีห้องวีดีทัศน์ให้นั่งชมภาพเคลื่อนไหวประกอบเรื่องราวแต่ก็ปิดปรับปรุงเหมือนกันกับชั้น 3 เดินเข้ามาอีกห้องเป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของการเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยของชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายในเมืองไทยจนมาเป็นเยาวราชในทุกวันนี้

ท้องเรือสำเภาหัวแดง

     ท้องเรือสำเภาหัวแดง นิทรรศการประวัติศาสตร์เยาวราชได้จำลองเรือสำเภาหัวแดงโดยมีสินค้าบรรทุกมาในท้องเรือ บนเพดานมีจอภาพแสดงเรื่องราวเหตุการณ์ที่เรือสำเภาโดนลมพายุพัดโหมกระหน่ำ เสียงผู้ชายชาวจีนที่ขึ้นเรือสำเภามาหวังทำมาหากินในประเทศไทยร้องเอะอะโวยวายอลหม่าน ความรู้สึกของผู้เข้าชมนิทรรศการได้เข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

     จังหวัดเฉาโจวหรือแต้จิ๋ว ทางเหนือของมณฑลกวางตุ้ง เป็นย่านที่มีการค้าสำเภากับไทยมากที่สุดในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ท่าเรือสำคัญคือท่าจางหลินที่อำเภอเถ่งไท้ ซึ่งมีเรือสินค้าไทยจีนแล่นค้าขายกันเป็นประจำ เรือของจีนที่ออกจากท่าจางหลินจะทาสีหัวเรือเป็นสีแดง เรียกว่า สำเภาหัวแดง นอกจากสินค้าแล้ว เรือเหล่านี้ยังพาชาวจีนจำนวนมากมาหางานทำในเมืองไทย คำบอกเล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ และคำชวนจากญาติพี่น้องที่เคยมา ทำให้ชายหนุ่มจากหมู่บ้านยากจนของแต้จิ๋วและจังหวัดใกล้เคียง ก้าวขึ้นเรือสำเภาหัวแดงด้วยความหวังเต็มเปี่ยม ในช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงหนือพัดลงมาทางใต้ พาเรือสู่เมืองไทย ใต้ท้องเรือเหล่านี้บรรทุกสินค้าจนเต็ม
     ที่อยู่ของผู้โดยสารคือดาดฟ้าเรือ แต่ละคนมีของติดตัวมาไม่กี่ชิ้น ที่สำคัญคือเสื่อ หมอนไม้ไผ่สาน หมวกฟาง และไหน้ำ ส่วนอาหารหลักคือขนมเข่งซึ่งเก็บได้นาน และฟักเขียวซึ่งกินแทนน้ำได้อีกทั้งเป็นชูชีพหากเรือแตก การเดินทางจากจางหลิน ถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาราว 1 เดือน ระหว่างนั้นผู้โดยสารทำอะไรไม่ได้นัก นอกจากภาวนาขอเทพเจ้าคุ้มครองให้เดินทางปลอดภัย รอดพ้นจากอันตรายกลางท้องทะเล ที่มีทั้งพายุคลื่นลมและความอดอยากหรือโรคภัยไข้เจ็บซึ่งอาจเกิดขึ้นในเรือ

ตุ๊กตาจีน

     ตุ๊กตาจีน ตุ๊กตาหินเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราได้พบเห็นอยู่หลายที่หลายแห่งในวัดสำคัญๆ ที่สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะที่วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหาร ซึ่งวางตุ๊กตาหินจีนอยู่รอบพระอุโบสถ ตุ๊กตาจีนรอบๆ พระอุโบสถเรียกรวมกันว่า อับเฉา ตุ๊กตาเหล่านี้เข้ามาในเมืองไทยในฐานะหินถ่วงท้องเรือสำเภาครับ

เรือสำเภาหัวแดง

     เรือสำเภาหัวแดง เรือสำเภาจากเมืองจีนมาถึงกรุงเทพฯ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน จุดที่เรือต่างชาติเข้ามาใกล้พระนครได้มากที่สุดคือย่านสำเพ็ง ซึ่งอยู่ติดกำแพงพระนครด้านทิศใต้ ในเม่น้ำย่านนี้มีเรือสินค้าจอดเปิดตลาดบนดาดฟ้าเรือกันคึกคัก สินค้าส่วนหนึ่งถูกลำเลียงไปยังร้านค้าต่างๆ ในสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านตลาดใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนและร้านรวงของชาวจีนตั้งอยู่หนาแน่น ส่วนตามริมแม่น้ำก็มีเรือนแพของพ่อค้าจีนอยู่เรียงราย ผู้โดยสารชาวจีนจำนวนมากก้าวลงจากเรือที่นี่ คนจีนใหม่ที่เพิ่งมาเมืองไทยครั้งแรกจะมีญาติพี่น้องหรือคนจากหมู่บ้านเดียวกันคอยช่วยเหลือในการตั้งต้นชีวิตบนแผ่นดินใหม่ หลายคนได้งานทำอยู่ที่สำเพ็งเริ่มจากรับจ้างเป็นกรรมกรแบกหาม หรือขายของหาบเร่ แล้วจึงขยับขยายสู่อาชีพ อื่นๆ

*หมายเหตุ เรือสำเภาหัวแดงนี้มีการสร้างไว้ที่กลางวัดยานนาวา ถนนเจริญกรุง

นิทรรศการสำเพ็งจำลอง

     นิทรรศการสำเพ็งจำลอง หลังจากที่ได้ชมท้องเรือสำเภาหัวแดงผ่านพายุฝนกระหน่ำจนในที่สุดเรือสำเภอเทียบท่าเรือที่สำเพ็ง จุดที่ใกล้พระนครมากที่สุด เดินลงมาจากเรือสำเภาจะพบการนิทรรศการนี้ซึ่งเป็นหุ่นจำลองเหมือนจริงมากคล้ายกับหุ่นขี้ผึ้ง แสดงวิถีชีวิตชาวจีนในประเทศไทยที่สำเพ็ง หลังจากที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากที่เมืองไทย ชาวจีนหลายคนประกอบอาชีพหาบเร่ขายของกิน เปิดร้านอาหารเล็กๆ ในห้องนี้มีหลายร้านแต่ละร้านมีสินค้าแตกต่างกันไปมากมายหลายอย่าง ผมเลือกเอาภาพที่ประทับใจที่สุดมาให้ชม อยากเห็นภาพทั้งหมดต้องเข้าไปศึกษาสัมผัสด้วยตัวเอง ในระหว่างการเดินชมหุ่นจำลองเหล่านี้มีเสียงประกอบเป็นภาษาจีนตะโกนขายก๋วยเตี๋ยวบ้าง ซื้อก๋วยเตี๋ยวบ้าง และอื่นๆ อีกมากมายที่ฟังไม่ออก แต่รู้สึกเหมือนกับได้เดินอยู่ในตลาดจริงๆ เลยครับ เป็นนิทรรศการการแสดงแสงเสียงประกอบได้สมจริงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย

     ภาพซ้าย: หาบจุ๋ยก๊วย ขนมถ้วยแบบจีน ทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งสุก เวลาขายตักใส่กระทงโรยหน้าด้วยกระเทียม หัวไชโป๊วสับละเอียด และปรุงรสด้วยซีอิ๊วดำ เป็นของกินเล่นที่นิยมในหมู่คนจีนเพราะอิ่มท้องและราคาถูก การหาบเร่ขายของกินแบบนี้เป็นอาชีพหนึ่งของจีนใหม่ใช้ทุนไม่มากนัก หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลของขนมจุ๋ยก๊วย ก็รู้สึกว่าอยากกินขึ้นมาทันทีแล้วเดี๋ยวออกจากวัดตั้งใจจะไปหาจุ๋ยก๊วยกินกันครับ

     ภาพขวา: ร้านข้าวต้ม เป็นหุ่นจำลองร้านข้าวต้มที่เหมือนจริงมากๆ มีเป็ดพะโล้และกุนเชียงรวมทั้งของอื่นๆ อย่างไข่เค็ม ที่ทำได้เหมือนจริงทุกชิ้นอยู่ในร้านข้าวต้ม ซึ่งอยู่ในมุมหนึ่งของห้อง บางคนเดินผ่านเข้าไปมุมนี้ถึงกับร้องว๊ายด้วยความตกใจนึกว่ามีคนจริงๆ นั่งอยู่ ภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายออกมาขายเป็นโปสการ์ดที่ระลึกของวัดไตรมิตรวิทยารามด้วยครับ

     ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นอกกำแพงพระนคร มีย่านชุมชนหนาแน่นอยู่แห่งเดียวคือสำเพ็ง ถนนสายเดียวที่อยู่นอกกำแพงพระนครก็คือ ตรอกสำเพ็ง เป็นทางเดินแคบๆ ตั้งต้นจากประตูสะพานหันออกมาเป็นระยะทางกว่า 800 เมตร มีบ้านเรือนร้านค้าของชาวจีนตั้งเรียงรายโดยตลอด นับเป็นย่านการค้าสำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ โดยเป็นแหล่งที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันอย่างคึกคัก ทั้งการกระจายสินค้าที่มาจากเมืองจีนและรวบรวมสินค้าไทยที่จะส่งออก ทั้งเป็นแหล่งค้าปลีกที่คนกรุงเทพฯ นิยมมาซื้อหาสินค้านานาชนิด ในตลาดสำเพ็งมีร้านขายของกินของใช้ทั้งสำหรับคนจีนและคนไทย และยังมีสถานเริงรมย์ เช่นโรงบ่อน และสำนักนางโลม (โคมเขียว) โรงเรียนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในย่านนี้เป็นแบบจีน ปลูกประชิดแออัดกันจึงเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง

เยาวราชจำลอง

     เยาวราชจำลอง หลังจากที่ได้เดินชมนิทรรศการมีชีวิตของสำเพ็งกันแล้วเดินต่อเข้ามาอีกหน่อยจะมีอีกห้องหนึ่งกลางห้องมีโมเดลจำลองถนนเยาวราชสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยาวราชมีความรุ่งเรืองมากจนถึงปัจจุบัน รอบๆ ห้องบนฝาผนังทำเป็นตู้กระจกแต่ละตู้มีโมเดลจำลองประกอบข้อมูลของเยาวราชหลายๆ เรื่องล้วนแต่เป็นความรู้ที่น่าศึกษาน่าสนใจ การทำเป็นโมเดลรู้สึกสัมผัสความเป็นเยาวราชในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

โมเดลเยาวราชจำลอง

     โมเดลเยาวราชจำลอง นี่เป็นภาพเพียงบางส่วนจากทั้งหมดซึ่งมีอยู่มากมายบนผนังห้องนิทรรศการประวัติศาสตร์เยาวราช ทุกๆ โมเดลมีคำบรรยายให้ความรู้ที่ดีมาก หลายอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนหลายอย่างแม้คนจีนเองก็เข้ามาชมเพื่อรำลึกถึงความหลังในสมัยนั้น

     ภาพบนซ้าย ตรอกสำเพ็ง โมเดลหุ่นจำลองที่แสดงวิถีชีวิตของชาวจีนในการเดินเลือกซื้อหาของกินในตลาดสำเพ็ง
     ภาพบนขวา กระดานข่าวสาร เป็นเรื่องราวการกระจายข่าวสารของชาวจีนโดยมีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนติดไว้บนกระดานให้เดินมาอ่าน
     ภาพล่างซ้าย ดูแลรักษา ภาพการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันของชาวจีนในสมัยนั้น
     ภาพล่างขวา ร้านจันอับ ร้านขนมแห่งชีวิต
    จันอับเป็นคำรวมเรียกขนมหวานแบบแห้งหลายชนิดของคนจีน สำหรับกินกับน้ำชา เช่น ข้าวพอง ถั่วคัด งาคัด ถั่วลิสงเคลือบ ฟักเชื่อม โดยเป็นทั้งของกินเล่นในชีวิตประจำวัน ใช้รับรองแขก เป็นของไหว้เจ้า และเป็นเครื่องประกอบในงานมงคลทุกงานตามคติของชาวจีนที่ถือว่าความหวานคือสัญลักษณ์ของความสุข อีกทั้งจันอับยังมีความหมายถึงความเจริญงอกงามเพราะทำจากเมล็ดธัญพืชหลายอย่างที่งอกได้ง่าย ในการแต่งงานของคนจีนจะต้องใช้ขนมจันอับเป็นส่วนหนึ่งในขบวนของหมั้น และนำไปมอบให้ญาติมิตรพร้อมบัตรเชิญร่วมพิธีแต่งงาน ร้านจันอับจึงมักมีบริการจัดสำรับขนมสำหรับใช้ในพิธีอย่างสวยงามด้วยเหตุที่จันอับถือเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตจีน ในย่านเยาวราชจึงมีร้านจันอับอยู่หลายร้าน เป็นกิจการในครอบครัวที่ถ่ายทอดสูตรการทำขนมจากรุ่นสู่รุ่น ร้านเหล่านี้นอกจากมีขนมจันอับหลายอย่างรวมถึงขนมเปี๊ยะแล้ว ยังมีสิงโตน้ำตาลที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย

วัดจีน

     วัดจีน ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวจีน เดิมชุมชนจีนในเมืองไทยมีเพียงศาลเจ้าเป็นที่พึ่งทางใจตามความเชื่อซึ่งมีทั้งลัทธิขงจื๊อ เต๋า และพระพุทธศาสนา ผสมผสานกัน โดยแบ่งแยกเป็นศาลของชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษา แต่ไม่มีวัดและพระสงฆ์ ชาวจีนต้องอาศัยวัดญวนหรือวัดไทยเพื่อประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีประสงฆ์จากเมืองจีนเข้ามา และได้ก่อตั้งวัดจีนแห่งแรกด้วยความศรัทธาจากชาวจีนทุกกลุ่ม เมื่อ พ.ศ. 2414 คือวัดเล่งเน่ยยี่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า "วัดมังกรกมลาวาส" อีกทั้งพระราชทานสมณศักดิ์แก่เจ้าอาวาสรูปแรก ถือเป็นจุดกำเนิดคณะสงฆ์จีนนิกายในเมืองไทย ต่อมาจึงเกิดวัดจีนขึ้นอีกหลายแห่งบริเวณลานหน้าวัดมังกรกมลาวาส ในสมัยก่อนคึกคักด้วยแผงขายของเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ สำหรับศาสนิกชนที่มาไหว้พระไหว้เจ้า ทำบุญ สะเดาะเคราะห์ ตลอดจนเสียงทายโชคชะตา นอกจากนี้ยังมีของกินของใช้ให้ซื้อกลับบ้าน นับเป็นแหล่งค้าขายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความเชื่อในวิถีชีวิตจีน

     นอกเหนือจากที่นำภาพมาให้ชมกัน นิทรรศการแห่งนี้ยังได้จำลองเรื่องราวในวิถีชีวิตของชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้อีกมาก ยกตัวอย่างเรื่องน่ารู้ๆ เช่น

     โพยก๊วน สายสัมพันธ์กับบ้านเกิด   คนจีนส่วนใหญ่เดินทางมาทำมาหากินในเมืองไทยด้วยจุดมุ่งหมายที่จะหาเงินส่งไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน การส่งจดหมายพร้อมเงินกลับบ้าน ที่เรียกว่า "โพยก๊วน" จึงเป็นภารกิจสำคัญ ซึ่งทำให้เกิดร้านโพยก๊วน จำนวนมากที่เยาวราช โดยแต่ละร้านจะให้บริการส่งเฉพาะถิ่น และมีตู้แยกโพยก๊วน ตามแซ่เพื่อนำส่งถึงบ้านผู้รับ ที่ร้านจะมีกระดาษใบเล็กให้ผู้ส่งเขียนข้อความถึงญาติพี่น้องและบอกจำนวนเงินที่ส่ง อีกทั้งมีบริการเขียนตามคำบอกสำหรับลูกค้าที่เขียนหนังสือไม่เป็น ร้านโพยก๊วน จึงเป็นสื่อความผูกพันระหว่างคนจีนกับบ้านเกิด ผู้ที่มาส่งโพยก๊วน ที่ร้านมักเป็นคนหาเช้ากินค่ำแต่ก็พยายามอดออมเงินส่งให้ครอบครัว บางรายไม่มีเงินก็สามารถกู้จากร้านส่งไปก่อนได้ แล้วค่อยใช้คืนเมื่อมารับใบตอบรับที่ส่งกลับมาจากเมืองจีน นอกจากนี้บางร้านยังจัดข้าวต้มไว้ให้กินโดยไม่ต้องเสียเงิน ส่วนลูกค้าฐานะดีนั้นร้านโพยก๊วนมีบริการรับเงินถึงบ้าน

นิทรรศการตำนานชีวิต

     นิทรรศการตำนานชีวิต ตำนานชีวิต ระยะเวลากว่า 200 ปี ที่ชุมชนสำเพ็งเยาวราชได้กำเนิดและเติบโตขึ้นบนแผ่นดินไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ชาวจีนจำนวนมากได้รับโอกาสที่ดีในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ หลายคนสามารถก่อสร้างตัวจากมือเปล่าสู่ความเป็นเจ้าสัว และเผื่อแผ่ดอกผลจากความสำเร็จของตนกลับคืนสู่สังคม หลายคนได้สร้างคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงตอบแทนให้กับประเทศไทย บุคคลเหล่านี้คือตำนานชีวิตของเยาวราช อันเป็นแบบอย่างให้เล่าขานกันสืบไป

นิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-จีน

    นิทรรศการความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นนิทรรศการแสดงพระบรมฉายาลักษณ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศจีนและเหตุการณ์สำคัญ ต่างๆ ระหว่างไทย-จีน

นิทรรศการย่านตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

     นิทรรศการย่านตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ห้องนี้เป็นห้องท้ายๆ ก่อนที่จะถึงทางออก อธิบายความเป็นเยาวราชได้เป็นอย่างดี เนื้อหาส่วนนี้อยากจะยกไปเขียนไว้ที่หัวข้อ เยาวราช เพื่อให้เหมาะสมและหน้านี้จะได้ไม่ยาวจนเกินไปครับ อย่าลืมติดตามเข้าไปอ่านเรื่องเยาวราชด้วยนะครับ

งิ้ว

     งิ้ว งิ้วเป็นการแสดงเก่าแก่ของชาวจีน มักจัดแสดงในงานบุญใหญ่ๆ โดยสร้างโรงขึ้นชั่วคราวตามสถานที่ที่ไปแสดง แต่ในยุดเฟื่องฟูของแหล่งบันเทิง บนถนนเยาวราช มีโรงงิ้วที่สร้างอย่างใหญ่โตถาวรแบบโรงภาพยนตร์ เกิดขึ้นหลายโรงตามสองฝั่งถนนสายนี้ บางโรงมีที่นั่งถึง 400 ที่ และมีที่ยืนชมได้อีก 100 ที่ ช่วงที่โรงงิ้วเยาวราชได้รับความนิยมสูงสุดคือระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2505 มีการแสดงงิ้ววันละ 2 รอบ รอบละ 3 ชั่วโมงครึ่ง เรื่องที่แสดงแต่ละเรื่องหรือแต่ละตอนจะแสดงอยู่ประมาณ 10 วัน โดยจะเพิ่มหรือลดวันตามจำนวนผู้ชม

    นอกจากความบันเทิง งิ้วยังเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดคติธรรมและความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ โดยโรงงิ้วที่เยาวราชส่วนใหญ่เป็นงิ้วแต้จิ๋วที่นิยมแสดงเรื่องในประวัติศาสตร์ซึ่งมีคติสอนใจ เมื่อจะเริ่มแสดงแต่ละเรื่องจะมีงิ้วชุดเบิกโรงที่เรียกว่า "ป่วงเซียง" เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนแสดงงิ้วเรื่อง งิ้วเบิกโรงชุดหนึ่งที่นิยมคือ "หลักก็กฮงเสี่ยง" เป็นเรื่องของ 6 แคว้น ที่จะรบกันแย่งชิงความเป็นใหญ่ แต่มีอำมาตย์ผู้ใหญ่ของจีนมาเจรจาให้ปรองดองกัน และแต่งตั้งเจ้าผู้ครองแคว้นทั้ง 6 เป็นขุนพลของจีน

    จบการนำเที่ยววัดไตรมิตรวิทยารามไว้ด้วยรูปที่ประทับใจที่สุดรูปหนึ่งก็คือรูปงิ้วนี้ละครับ เป็นรูปที่ติดอยู่บนผนังของห้องนิทรรศการ ขนาดผมถ่ายจากภาพซ้ำมาอีกทีก็ยังสวยงามมาก

ขอบคุณข้อมูลจาก
touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ