Social :



@พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

17 ต.ค. 60 07:00
@พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

@พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์


ภาพอัพเดตล่าสุดของ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์:
 เปิดงานอย่างเป็นทางการแล้ว......

งาน "อนุสรณ์ดอนเจดีย์ ประจำปี 2560"
18 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2560
บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์
จ.สุพรรณบุรี

     นับว่าเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ประจำปีของชาวจังหวัดสุพรรณบุรี ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันแห่งชัยชนะในพระมหาวีรกรรมยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไฮไลท์ของงานในทุกปี คือการแสดงแสง สี เสียงที่ยิ่งใหญ่

สนใจรายละเอียดดูเพิ่มเติมได้ที่
http://www.tiewpakklang.com/news/suphanburi/16153/

#สอบถามรายละเอียดข้อมูลท่องเที่ยว ได้ที่ :-ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี
(จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม)
เลขที่ 91 ถนนพระพันวษา ตำบลท่าพี่เลี้ยง
อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 72000
โทรศัพท์ : 0 3552 5864 , 0 3552 5867 , 0 3552 5880
เบอร์โทรสาร : 0 3552 5863
แฟนเพจ : TAT_suphanburi


     สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 322 (สุพรรณบุรี-ดอนเจดีย์) ประกอบด้วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และ องค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่าเมื่อเดือนมกราคมในปี พ.ศ.2135 และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลมใหญ่ สูง 66 เมตร ฐานกว้างด้านละ 36 เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงและเปิดพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 25 มกราคม ของทุกปี

 ต่อมาทางราชบัณฑิตได้คำนวณแล้วพบว่าวันทางจันทรคติที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี คือวันจันทร์เดือน 2 แรม 2 ค่ำ จุลศักราช 954 ตรงกับวันที่ 18 มกราคม จึงเปลี่ยนวันดังกล่าวเป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และถือเป็นวันกองทัพไทย พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ทุกปี เลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมไปสักการะบูชาอยู่เสมอ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สุพรรณบุรี โทร. 0 3553 6030
http://www.tourismthailand.org/suphanburi

ลานจอดรถหน้าพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

     บริเวณลานจอดรถหน้าพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ การเดินทางมายังพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ในวันนี้ ก็ใช้เส้นทางปกติที่นิยมใช้กันมาก เป็นเส้นทางสายหลักจากตัวเมืองสุพรรณตรงมายังอำเภอดอนเจดีย์ (ทางหลวงหมายเลข 322) และผ่านด้านหน้าพระบรมราชานุสรณ์ เลี้ยวขวาเข้ามา ก็จะถึงลานจอดรถที่กว้างใหญ่ มีศาลา 2 หลังอยู่ด้านซ้ายและขวา หลังหนึ่งด้านซ้ายมือคือศาลาเสนาณรงค์ ส่วนด้านขวามือคือศาลาสถิตยุทธการ ภายในเป็นร้านค้าขายของหลายอย่าง นอกศาลาก็ยังมีร้านค้ามาเปิดเรียงรายกัน มีทั้งอาหารเครื่องดื่ม ของฝาก ของที่ระลึก ฯลฯ

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

     พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จากลานจอดรถมองตรงเข้าไปตรงกลาง เราก็จะเห็นเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวสูงตระหง่านอยู่เบื้องหน้า เจดีย์สีขาวสูงใหญ่นี้เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ หลังจากที่ค้นพบพระสถูปเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้ เมื่อ 400 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ค้นพบพระสถูปเจดีย์นั้นได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จนเหลือเพียงซากส่วนฐานและสูงขึ้นมาเพียง 6 เมตร เศษ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการกอบกู้เอกราชด้วยการกระทำยุทธหัตถี ทำให้ประเทศไทยได้เป็นปึกแผ่นมั่นคงมีเอกราชมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ทัวร์ออนไทยดอทคอม จะนำเอาบทความพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่งทรงกระทำยุทธหัตถีชนะ ทรงโปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์ ย่อแล้วมาแบ่งเป็นส่วนๆ ให้ได้อ่านกันต่อจากการบรรยายภาพ บทความนี้เรียบเรียงโดย นายบุญมี หมื่นราม ซึ่งมีจำหน่ายที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ดังนี้

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นมหาราชองค์ที่ 2 ของชาติไทยเรา เริ่มตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้วยทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เข้มแข็ง ไม่เคยรบแพ้สงครามใดๆ เลย จนทรงนำเอกราชมาพระราชทานแก่ชาวไทยได้สมพระราชประสงค์ พระเกียรติจึงเกริกก้องอยู่จนทุกวันนี้
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นโอรสของพระมหาธรรมราชาธิราช และพระวิสุทธิกษัตรีย์ ซึ่งทรงเป็นพระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิ์ และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ผู้สิ้นพระชนม์บนคอช้างในสงครามหงษาวดี พระองค์ประสูติเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2098 ที่เมืองพิษณุโลก เพราะพระราชบิดาทรงครองเมืองเหนืออยู่เวลานั้น ถึง พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองเมืองหงษาวดีกษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาคราวขอช้างเผือก ชนะเมืองเหนือแล้วขอเอาสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นราชบุตรบุญธรรม เมื่อพระชันษาได้ 9 พรรษา พระองค์ต้องอยู่ในกรุงหงษาวดีถึง 6 ปี จึงทรงตรัสภาษาพม่า มอญ ได้เป็นอย่างดี ครั้งถึง พ.ศ. 2112 พระมหินทราธิราช กรุงศรีอยุธยา กับพระมหาธรรมราชาเมืองพิษณุโลก เกิดวิวาทกันขึ้น พระเจ้าบุเรงนองจึงยกทัพมาช่วยพระมหาธรรมราชา เมื่อชนะพระมหินทราธิราชแล้ว ก็ราชาภิเษกให้พระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยา ในเวลาที่พระเจ้าบุเรงนองพักอยู่จัดการปกครองในกรุงศรีอยุธาครั้งนี้ ได้ขอพระสุพรรณกัลยา พระธิดาองค์ใหม่ของพระมหาธรรมราชาเป็นชายา แล้วจึงได้อนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาอยู่ช่วยราชการพระบิดาในกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นทรงมีพระชันษา 15 พรรษา พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ในระหว่างเมืองไทยและหงษาวดีอย่างถี่ถ้วน ปรากฏต่อมาว่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นนักรบที่เข้มแข็ง ปราบกองทัพในสงครามต่างๆ ได้ราบคาบทุกครั้ง ครั้นพระเจ้าบุเรงนองทิวงคตแล้ว พระเจ้านันทบุเรงราชโอรสได้ครองเมืองแทน เกิดวิวาทกับพระเจ้าอังวะ และพม่าไทยใหญ่ แล้วมีคำสั่งให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าล้านช้าง และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยายกกองทัพไปช่วยรบ เพื่อจะดูท่าทีว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู พระเจ้านันทบุเรงระแวงสมเด็จพระนเรศวรอยู่ว่าจะแข็งเมืองเช่นเดียวกับพระเจ้าอังวะ จึงสั่งให้พระมหาอุปราชาคอยอยู่ในหงษาวดี แล้วให้คิดกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสีย ทางฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็มีพระประสงค์อยู่ธรรมดาที่จะกลับเป็นอิสระจึงเดินทัพไปช่วยอย่างช้าๆ เพื่อดูว่าใครจะแพ้ใครจะชนะแก่กัน เสด็จไปถึงเมืองแครงชายแดนเมืองมอญ เมื่อเดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ พ.ศ. 2127 เมื่อทรงพักผ่อนแล้วก็เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถระคันฉ่องที่ได้ทรงคุ้นเคยกันมาก่อน พระมหาเถระคันฉ่องกราบทูลให้ทรงทราบว่า เขาลวงให้เสด็จมาเพื่อจะทำร้าย แล้วให้พระยาเกียรติ พระยาราม ผู้ได้รับคำสั่งมาลอบปลงพระชนม์นั้นให้รับสารภาพเสีย

พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์

     พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ก่อนที่เราจะเข้าไปด้านในเราก็มาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีกันก่อนครับ เดินเข้าไปที่ด้านหน้าตรงๆ เลยแบบนี้เลย

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     พระนเรศวรจึงทรงเรียกประชุมนายทัพนายกอง เจ้าเมืองกรมการและนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นสักขีพยานที่พลับพลา แล้วทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า “ตั้งแต่วันนี้ไปกรุงศรีอยุธยาขาดทางไม่ตรีกับกรุงหงษาวดีแล้ว” โปรดให้พวกมอญที่มาเข้ากับไทยช่วยกันแยกย้ายไปตามพวกไทยที่ถูกพระเจ้าหงษาวดีจับมาเป็นเชลย ได้ประมาณหมื่นเศษ แล้วทรงพาพวกไทยและมอญเหล่านี้ รวมทั้งพระมหาเถระคันฉ่อง และพระยาเกียรติ พระยาราม ออกจากเมืองแครง เมื่อเดือน 6 แรม 3 ค่ำ ปี พ.ศ. 2127 กลับมาเมืองไทยทางแม่น้ำสะโคง และเข้าเมืองไทยทางด่านเจดีย์สามองค์
พระเจ้านันทบุเรงก็ตั้งพระทัยจะปราบเมืองไทยเป็นตัวอย่างให้อยู่ในอำนาจเช่นแต่ครั้งพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าผู้ชนะสิบทิศให้จงได้ แต่ยกทัพมาครั้งใดก็ถูกพระนเรศวรตีแตกกลับไปทุกครั้ง ถึง พ.ศ. 2135 พระเจ้าหงษาวดีนันทบุเรงทรงทราบข่าวว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชสมบัติ พระองค์จึงทรงตรัสปรึกษาขุนนางทั้งปวงว่า “กรุงศรีอยุธยาผลัดเปลี่ยนกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวร และพระเอกาทศรถ พระพี่น้องทั้งสองอาจรบพุ่งชิงความเป็นใหญ่กัน ควรส่งทัพไปเมืองไทยเป็นการเตือนสงครามเอาเปรียบไว้ก่อน ถ้าเหตุการณ์เมืองไทยไม่ปกติสุข ก็ให้โจมตีทันที”
     พระเจ้าหงษาวดีจึงตรัสแก่พระมหาอุปราชาให้เตรียมทัพร่วมกับพระมหาราชเจ้านครเชียงใหม่เป็นทัพใหญ่ห้าแสน พระมหาอุปราชาก็ตรวจเตรียมรี้พลและมีพระราชกำหนดไปถึงเมืองเชียงใหม่ ให้จัดทัพทั้ง 4 เหล่ายกมาหงษาวดี นอกจากนี้ยังรับสั่งให้บรรดาหัวเมืองขึ้นทั้งมวลส่งทัพมาช่วยรบ เมื่อทัพต่างๆ มาถึงหงษาวดีพร้อมกันแล้วก็เตรียมจัดทัพหลวงเพื่อจะยกไปในเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น เสด็จไปทรงพระคชาธาร ชื่อพัทธกอ ทรงเคลื่อนทัพซึ่งมีรี้พลห้าแสน พระมหาอุปราชาทรงนำทัพผ่านป่าและเขามาอย่างช้าๆ เดินทางเฉพาะเวลาเช้าและเวลาเย็น พอแดดร้อนก็หยุดพักเพื่อให้รี้พล ช้าง ม้า ร่าเริงและกล้าหาญผ่านเมืองต่างๆ ดังนี้
     1.หงษาวดี , 2.ด่านเจดีย์ 3 องค์ , 3.ทรงตั้งค่ายที่ตำบลไทรโยค ทรงปรึกษาแผนการที่จะเข้าตีเมืองกาญจนบุรี , 4.ลำน้ำกระเพิน พระยาจิตตองคุมพลสร้างสะพานเรือกข้าม , 5.ประทับแรมที่เมืองกาญจนบุรี 1 คืน , 6.ตำบลตระพังตรุ ตั้งค่ายทัพแบบดาวล้อมเดือนตรงชัยภูมินาคนาม , 7.ตำบลโคกเผาข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ปะทะกับทัพหน้าของไทย ประมาณ 7 นาฬิกา

พระบรมราชานุสาวรีย์ยุทธหัตถี

พระบรมราชานุสาวรีย์ยุทธหัตถี พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     พระนเรศวรทรงเตรียมทัพ เมื่อทรงทราบข่าวศึก สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสว่าพระองค์เตรียมช้าง ม้า รี้พล จะยกไปตีเมืองละแวก บัดนี้ทัพหงษาวดียกมาชิงรบก่อน ควรที่จะยกไปต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะ แล้วมีพระราชกำหนดออกไปให้พระอัมรินทร์ลือชัยเจ้าเมืองราชบุรีเกณฑ์พลห้าร้อยไปตั้งซุ่มอยู่ ถ้าข้าศึกข้ามสะพานลำน้ำกระเพินแล้วให้ตัดสะพานเรือกและเอาไฟเผาทำลายเสีย เมื่อรับสั่งดังนั้นแล้วมินานก็มีใบบอกจากเมืองสิงห์บุรี สรรค์บุรี สุพรรณบุรี และวิเศษไชยชาญแจ้งข่าวศึกมาตามลำดับ

     สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถทรงมีดำริว่าจะออกรับศึกที่นอกเมือง มีพระราชโองการให้ทัพหัวเมืองตรี จัตวา หัวเมืองปักษ์ใต้ 23 หัวเมือง รวมรี้พลห้าหมื่นเป็นทัพหน้าให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นแม่ทัพ พระราชฤทธานนท์ เป็นปลัดทัพยกไปขัดรับหน้าข้าศึกอยู่ ณ ตำบลหนองสาหร่าย ตีข้าศึกไม่แตกและต้านไม่ไหว พระองค์จะเสด็จยกทัพมาร่วมรบตามหลัง
สมเด็จพระนเรศวรตรัสให้โหราฤกษ์ พระโหราธิบดีหลวงญาณโยค และหลวงโลกทีปคำนวณพระฤกษ์ถวายว่า วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือนยี่ เวลา 08.30 น. เป็นฤกษ์มงคล ทรงเคลื่อนพยุหายาตราเข้าโขลนทวารพระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่กองทัพ เสด็จทางชลมารคไปประทับแรมอยู่ที่ตำบลปากโมก

พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร

     พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร อาคารหลังหนึ่งอยู่ด้านข้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นที่สำหรับให้ประชาชนเข้าไปสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งก็มีประชาชนเดินทางมาถวายสักการะกันไม่ได้ขาด

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     สมเด็จพระนเรศวรทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิตครั้งแรก เมื่อประทับแรมที่ปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกจนยามสาม จึงเสด็จเข้าที่บรรทม พระองค์ทรงสุบินเป็นศุภนิมิตว่า พระองค์ได้ทอดพระเนตร น้ำไหลบ่าท่วมทุ่งสูงทางทิศตะวันตกเป็นแนวยาวสุดสายตา พระองค์ทรงลุยกระแสน้ำอันเชี่ยวและกว้างใหญ่นั้น และมีจระเข้ตัวใหญ่ตัวหนึ่งทะยานเข้าโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงเกิดต่อสู้กันขึ้น พระองค์ทรงใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป
ศุภนิมิตบังเกิดแก่สมเด็จพระนเรศวร ครั้งที่ 2 พอใกล้ฤกษ์ยกทัพสมเด็จพระนเรศวร และพระเอกาทศรถเสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่งคอยพิชัยฤกษ์อยู่ ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรืองงามขนาดผลส้มเกลี้ยงลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้หมุนเวียนรอบกองทัพเป็นทักษิณาวรรต 3 รอบ แล้วลอยวนเวียนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองทรงปีติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงพระสรรเสริญและนมัสการอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้น บันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก
จากตำบลปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างเจ้าพระยาไชยานุภาพ สมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักร เสด็จเคลื่อนพลมาทางบ้านสระแก้ว และบ้านสระเหล้า ถึงตำบลหนองสาหร่ายประมาณ 15.00 น. ทรงตั้งค่ายเป็นรูปดอกบัวตรงชัยภูมิครุฑนาม ก็เพื่อข่มกำลังข้าศึกซึ่งตั้งอยู่ในชัยภูมิแบบนาคนาม

Lif
พระบรมรูป

พระบรมรูป ถัดเข้ามาในอาคารนอกจากจะมีพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรแล้ว ก็จะมีพระรูปพระสุพรรณกัลยา

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     พระมหาอุปราชาสั่งให้กองลาดตระเวนออกสอบข่าวเคลื่อนทัพ นายกองลาดตระเวนพม่า คือ สมิงจะคร้าน สมิงเป่อ สมิงซายหม่อน ได้ไปพบกองทัพไทยเข้า จึงรีบกลับไปกราบทูลให้พระมหาอุปราชาทราบว่า ทัพไทยกำลังตั้งอยู่ริมหนองสาหร่ายมีรี้พลประมาณ 17-18 หมื่น พระมหาอุปราชาเห็นว่าจะได้เปรียบไทย เพราะกำลังพม่ามีมากกว่าหลายเท่า จึงรับสั่งให้เตรียมพลให้เสร็จตั้งแต่ 03.00 น. พอเวลา 05.00 น. ก็ยกทัพไปตีไทยให้แตกแล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา ครั้งได้ฤกษ์พระมหาอุปราชาทรงช้างพระที่นั่งชื่อพลายพัทธกอ เสด็จเคลื่อนพลออกจากตำบลตระพังตรุ (อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี)
ทัพหน้าของไทยปะทะกับกองทัพพม่า พระยาศรีไสยณรงค์ และพระราชฤทธานนท์ เมื่อได้รับพระบรมราชโองการให้ออกโจมตีข้าศึก จึงจัดทัพเป็นศรีเสนา คือ แบ่งเป็น 3 ทัพใหญ่ แต่ละทัพแยกออกได้ 3 กอง ทัพไทยเคลื่อนออกจากตำบลหนองสาหร่าย ถึงตำบลโคกเผาข้าว เวลา 07.00 น. ได้ปะทะกับพม่า ทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธชนิดเดียวกันเป็นคู่ๆ ด้วยความสามารถ

ศาลพระพรหม

     ศาลพระพรหม ตอนนี้ผมก็ออกจากพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ขับรถต่อเข้ามาตามถนนอีกหน่อย จนมาถึงพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีลานจอดรถขนาดใหญ่จากนั้นเดินเข้ามาเป็นบริเวณสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่นจำนวนมากใกล้ๆ กับพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางเข้าสวนจะมีศาลพระพรหม รอบๆ บริเวณสวนจะมีภาพที่สร้างเป็นภาพนูนต่ำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกระทำยุทธหัตถี และเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจุดๆ สำหรับให้ชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการขนานนาม มหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชมาพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย บริเวณทั้งหมดนี้เรียกว่า อุทยานพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     สมเด็จพระนเรศวรให้สืบข่าวการรบของทัพหน้า หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ไปทำพิธีตัดไม้ข่มนามตามไสยศาสตร์ แล้วรับสั่งให้หมื่นทิพเสนารีบไปสืบข่าว พอหมื่นทิพเสนาไปถึงทัพหน้าของไทย ได้นำขุนหมื่นผู้หนึ่งมาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวร ขุนหมื่นผู้นั้นกราบทูลว่าเมื่อเวลา 07.00 น. ทัพไทยได้ปะทะกับทัพพม่าที่ตำบลโคกเผาข้าว ทัพไทยต้องถอยร่นอยู่ตลอดเวลา เพราะทัพพม่าคราวนี้รี้พลมากมายนัก สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาแม่ทัพนายกองเกี่ยวกับอุบายแก้ไขการศึก สั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชมาตย์ รีบไปแจ้งแก่ทัพหน้าให้ล่าถอยโดยเร็วเพื่อหลอกให้ข้าศึกได้ใจ ทัพหน้าของไทยจึงรีบถอยร่น ทัพพม่าก็รุกไล่ตามจนเสียกระบวน

อุทยานพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

อุทยานพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ภาพนูนต่ำเรื่องราวทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิต

     ภาพนูนต่ำเรื่องราวทรงพระสุบินเป็นศุภนิมิต ในบริเวณอุทยานพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีภาพนูนต่ำในลักษณะเดียวกันนี้อยู่มากมายหลายภาพ ผมขอยกตัวอย่างมาให้ชมกัน 1 ภาพ เป็นเรื่องราวที่อยู่ในพระราชประวัติก่อนทรงกระทำยุทธหัตถี เป็นภาพที่แสดงเมื่อคราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระสุบินก่อนยกทัพออกศึก ว่าทรงเห็นจระเข้ขนาดใหญ่โถมเข้าจะทำร้ายพระองค์ จึงทรงใช้พระแสงดาบฟันถูกจระเข้ตาย

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     ศุภนิมิตบังเกิดแก่สมเด็จพระนเรศวร ครั้งที่ 3 ขณะสมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกยเพื่อรอพิชัยฤกษ์เคลื่อนทัพหลวง ได้บังเกิดเมฆเยือกเย็นตั้งมืดอยู่ทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) แล้วก็กลับกลายแลดูโปร่งโล่งไปเผยดวงตะวันให้ส่องสว่างจ้า สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงเคลื่อนทัพตาม "เกล็ดนาค" (ตามตำราพิชัยสงครามว่าไม่ให้เคลื่อนทัพทวนเกล็ดนาค) ในไม่ช้าก็ปะทะกับข้าศึก พอช้างพระที่นั่งทั้งสองพระองค์ได้ยินเสียงฆ้องกลองและปืนศึก ก็เริ่มคึกคะนองด้วยกำลังตกมันถลันเข้าไปในหมู่ข้าศึก ควาญไม่สามารถคัดท้ายไว้อยู่ แม่ทัพนายกองและไพร่พลตามเสด็จไม่ทัน ผู้ที่เสด็จด้วยมีแต่กลางช้างและควาญรวม 4 คน สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรข้าศึกมีกำลังมากมายไม่เป็นทัพไม่เป็นกอง จึงไสช้างพระที่นั่งเข้าชนช้างข้าศึก เหล่าข้าศึกพากันระดมยิงอาวุธมาดังห่าฝนแต่ไม่ถูกช้างทรง พระองค์ทรงเร่งช้างพระที่นั่งสอดส่องพระเนตรหาพระมหาอุปราชา

พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

     พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นอาคารที่อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ได้ดำริสร้างขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนมากมาย เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นอย่างงดงามทั้งภายนอกและภายใน ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นเป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชน และมีผู้คนจำนวนมากเดินทางมาสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรในพระตำหนัก ซึ่งเดี๋ยวเราจะเข้าไปดูกันครับ

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     สมเด็จพระนเรศวรทรงเร่งช้างพระที่นั่งสอดส่องพระเนตรหาพระมหาอุปราชา แล้วทรงมีพระราชดำรัสอันไพเราะทักทายโดยมิได้แสดงความขุ่นเคืองพระทัยแม้แต่น้อยว่า
"พระเจ้าพี่ผู้ทรงความเป็นใหญ่แห่งประเทศมอญ พระเกียรติคุณเป็นที่ครั่นคร้ามเกรงกลัว พระเดชานุภาพเลื่องลือหวาดหวั่นกันไปทั่วสิบทิศไม่มีผู้ใดกล้าสู้ฤทธิ์พากันหลบหนีสิ้น พระเจ้าพี่คือผู้ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง เป็นการไม่สมควรเลยที่พระเจ้าพี่จะประทับอยู่ในร่มไม้ ขอเชิญเสด็จออกมากระทำยุทธหัตถีร่วมกัน เพื่อแสดงเกียรติไว้ให้ปรากฏ ต่อจากเราทั้งสองจะไม่มีอีกแล้ว การรบด้วยการชนช้างจะถึงที่สุดเพียงนี้ ต่อไปจะไม่ได้พบอีก การที่กษัตริย์กระทำยุทธหัตถีกันก็คงมีแต่เราสองพี่น้องชั่วฟ้าดินสลาย ขอทูลเชิญเทวาและพรหมเสด็จมาประชุม ณ ที่นี้ เพื่อทอดพระเนตรการชนช้างตัวต่อตัว ผู้ใดเชี่ยวชาญกว่าขอทรงอวยพรส่งเสริมให้มีชัย"
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตรัสพรรณาดังนั้น พระมหาอุปราชาได้ทรงสดับก็บังเกิดขัติยมานะกล้าหาญขึ้นรีบไสช้างเข้าต่อสู้โดยเร็ว ช้างทรงของกษัตริย์ต่อสู้กันอย่างทรหด ตอนหนึ่งช้างเจ้าพระไชยานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรโถมปะทะไม่ทันตั้งหลักยั้งตัว ช้างพัทธกอของพระมหาอุปราชาได้ทีถนัดพระมหาอุปราชาเห็นเป็นโอกาสจึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรง แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดเสียทันอาวุธของข้าศึกจึงฟันถูกพระมาลาขาดไปเล็กน้อย ซึ่งทรงขนานนามว่า "พระมาลาเบี่ยง"
     ทันใดนั้นเองช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรเบนสะบัดลงล่างได้ เข้าคลุกคลีใช้งางัดคอช้างข้าศึกไว้จนหงายเลยเสียท่าตั้งถอยหลังเมื่อข้าศึกพลาดท่าในการรบเช่นนั้นพระองค์จึงเงื้อพระแสงของ้าวแสนพลพ่ายฟันลงไป ถูกบ่าขาดค่อนไปทางขวา พระอุระของพระมหาอุปราชาขาดเป็นรอยแยก พระวรกายก็เอนฟุบซบอยู่บนคอช้าง
ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา พระเอกาทศรถก็ทรงช้างเจ้าพระยาปราบไตรจักรชนกับช้างพัชเนียงของมังจาชโร พอเจ้าพระยาปราบไตรจักรลงล่างได้ที พระเอกาทศรถก็ทรงฟันมังจาชโร พระพี่เลี้ยงของพระมหาอุปราชาสิ้นชีวิตบนคอช้างเช่นกัน

พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

     พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชมความสวยงามภายนอกกันแล้วตอนนี้จะเข้าไปด้านในกันครับ เดินอ้อมมาทางด้านข้าง ก็จะเห็นพระบรมรูปอยู่ตรงทางเข้าพระตำหนัก อาคารทั้งหมดสร้างอย่างสวยงามจริงๆ

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
      สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้แม่ทัพนายกองคอยคุมรี้พลติดตามทำลายข้าศึกต่อไป ส่วนพระองค์เสด็จกลับค่ายหลวงแล้วทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่ช้างพระที่นั่งไชยานุภาพ พระราชทานนามใหม่ว่า "เจ้าพระยาปราบหงษาวดี" สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างสถูปขึ้นที่พระองค์ทำลายพระชนม์ชีพพระมหาอุปราชาศัตรูคู่ต่อสู้ของพระองค์ ณ ตำบลท่าคอย ไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏในโลก เจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นตรงที่กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 

พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ประตูเข้าสู่ภายใน

     ประตูเข้าสู่ภายใน ตอนนี้ผมก็เดินเข้ามาถึงช่องประตูพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้วครับ ผมได้พบว่าช่องประตูมี 2 ช่อง ทั้งซ้ายและขวา แล้วจะเข้าไปในห้องแรกซึ่งก็เป็นห้องเดียวกันยาวตลอดอาคาร ไม่ว่าจะเข้าประตูไหนก็ได้เหมือนกันครับ ที่ผนังระหว่างประตูทั้ง 2 ช่องก็จะมีภาพเขียนเรื่องราวสงครามยุทธหัตถี

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ต่อ)
     ถึงปีมะโรง พ.ศ.2147 พระเจ้าอังวะสีหสุธรรมราชา ยกทัพมาตีเมืองหน่าย และเมืองแสนหวี ซึ่งขึ้นอยู่กับไทย สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปต่อสู้ทางเมืองเชียงใหม่ถึงเมืองหาง ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเกิดประชวรเป็นหัวละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดพิษเสด็จสวรรคตที่พลับพลาเมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.2148 พระชันษา 50 พรรษา รวมเวลาเสวยราชสมบัติ 15 ปี

ภายในพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

     ภายในพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดินเข้ามาก็จะเห็นพระพุทธรูปอยู่ด้านซ้าย ส่วนที่ผนังทั้ง 2 ด้านเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเอกาทศรถ พระนางสุพรรณกัลยา ในพระอิริยาบถต่างๆ ตรงกลางของอาคารสร้างคล้ายๆ ฉากกั้นแบ่งให้ดูเหมือนเป็น 2 ห้อง เดี๋ยวเราก็จะเดินเข้าไปในอีกส่วนหนึ่งที่อยู่อีกด้านของฉาก ตอนนี้ก็ไหว้พระ สักการะพระบรมรูปกันก่อนครับ

ประวัติเจดีย์ยุทธหัตถี (ต่อ)
     หลังจากเหตุการณ์กระทำยุทธหัตถี กว่า 300 ปี ต่อมา ก็มีการค้นพบเจดีย์นี้ใน พ.ศ.2456 องค์เจดีย์เหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 19.5 เมตร สูงจากพื้นถึงส่วนชำรุด 6.5 เมตร รัชกาลที่ ๖ รับสั่งให้กรมศิลปากรในสมัยนั้นกะงบประมาณในการบูรณะเป็นการด่วน ตกลงเลือกแบบเจดีย์ยุทธหัตถีที่เมืองตาก อันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชชนช้างชนะเจ้าขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ค่าสร้างอยู่ในวงเงิน 192,500 บาท แต่เนื่องด้วยการเงินของประเทศขาดแคลนถึงที่สุด การบูรณะเจดีย์จึงไม่ได้ดำเนินตามพระราชประสงค์ รัฐบาลซึ่งมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งหลังสุดได้ตั้งกรรมการอนุมัติสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์ขึ้น ลงมติให้สร้างเป็นเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาอย่างที่วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนั้น ตามคำกราบทูลแนะนำของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว เช่นเดียวกับเจดีย์ยุทธหัตถี

พระสยามเทวาธิราช

     พระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน อยู่ในส่วนที่ฉากแบ่งออกเป็นห้องที่ 2 ของพระตำหนักสมเด็จพระเนรศวรมหาราช

ประวัติเจดีย์ยุทธหัตถี (ต่อ)
     การดำเนินงานบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถีเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2495 รัฐบาลมอบให้กรมศิลปากรก่อสร้างพระสถูปเจดีย์ มีฐานกว้าง 36 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอด 66 เมตร โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์องค์เดิมไว้ภายใน มีทางเข้า-ออก 4 ทาง และได้ออกแบบปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงคชาธารออกศึกประดิษฐานอยู่บนแท่น ฐานกว้าง 15.30 เมตร ยาว 25.55 เมตร สูง 9 เมตร เฉพาะพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ มีขนาดกว้าง 2.9 เมตร ยาว 5.58 เมตร สูง 7 เมตร ฐานทั้งสองติดภาพยุทธหัตถีตอนประกาศอิสรภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2502

พระพุทธรูป

พระพุทธรูป

รูปเหมือนพระบูรพาจารย์

รูปเหมือนพระบูรพาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนเจดีย์ ซึ่งมีองค์หนึ่งเป็นผู้ริเริ่มการสร้างพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งนี้

อุโบสถวัดดอนเจดีย์

     อุโบสถวัดดอนเจดีย์ หลังจากเดินชมภาพในพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแล้ว ตอนนี้ผมก็เดินออกมาเห็นพระอุโบสถที่สวยงามของวัดดอนเจดีย์ แต่ในเวลาที่ผมเดินทางไปถึงเป็นช่วงเย็นที่มีพระสงฆ์เข้ามาทำวัตรเย็น จึงไม่ได้มีโอกาสเข้าไหว้พระและชมภายในพระอุโบสถแห่งนี้ เป็นอันจบการนำเที่ยวพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ไว้เพียงเท่านี้ครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก
touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ