Social :



@อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ขอนแก่น

06 ธ.ค. 60 22:12
@อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ขอนแก่น

@อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ขอนแก่น

อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

           ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2538 ครอบคลุมพื้นที่ 333 ตารางกิโลเมตร โดยมีที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ริมทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่นเชิงเขาภูพานคำ เขตอำเภอโนนสัง มี

จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ 2 แห่ง คือ ภูพานคำและภูเก้า

ภูพานคำ เป็นทิวเขาด้านตะวันออกของลุ่มน้ำพอง และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตอนบนมีทัศนียภาพที่สวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะพักแรมโดยเต็นท์ หรือที่บ้านพักของอุทยานฯ หรือที่ศาลาพักแรมของกรมประชาสงเคราะห์ บริเวณทะเลสาบท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ภูพานคำนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและเป็นแหล่งตกปลาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดด้วย

ภูเก้า ประกอบด้วยภูเขา 9 ลูก คือ ภูฝาง ภูขุมปูน ภูหัน ภูเมย ภูค้อหม้อ ภูชั้น ภูเพราะ ภูลวก และภูวัด ภูทั้ง 9 ลูกนี้มีความสลับซับซ้อนมาก ประกอบด้วยป่าไม้ สัตว์ป่านานาชนิด ถ้ำ น้ำตก ลานหินลาด และหินลักษณะแปลกๆ คล้ายปราสาทถ้ำพลาไฮ มีภาพเขียนรูปฝ่ามือ และภาพแกะสลักของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และศาลาบนยอดหินที่เรียกว่า หอสวรรค์ สามารถชมวิวได้ นอกจากนี้บริเวณภูเก้ายังมีวัดพระพุทธบาทภูเก้า ซึ่งปรากฏรอยเท้าคน และสุนัขขนาดใหญ่สลักบนหิน อันเกี่ยวโยงกับนิทานพื้นบ้านเรื่อง พระสุพรหมวิโมขา กับหมาเก้าหาง และตามผนังถ้ำบริเวณวัดยังมีภาพเขียนสี ภาพสลักสมัยก่อนประวัติศาสตร์

 เส้นทางการเดินทาง ไปยังอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สามารถเดินทางไปได้ 2 ทาง คือ

เส้นทางที่ 1 ตามเส้นทางสายขอนแก่น-เขื่อนอุบลรัตน์ จากตัวเมืองขอนแก่นถึงตลาดอำเภออุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ต่อด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางสายเขื่อนอุบลรัตน์-โนนสัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 จากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 3146 สายหนองบัวลำภู-โนนสัง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านโสกจาน จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่เส้นทางสายบ้านโสกจาน-เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร

สถานที่พักติดต่อได้ที่สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บางเขน กรุงเทพฯ
 โทร. 0 3561 3930-1 ต่อ 734–735, 0 3579 5734, 0 3579 3773 หรือ www.dnp.go.th

     ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ททท.สำนักงานเลย โทร. 0 4281 2812,0 4281 1405
http://www.tourismthailand.org/loei

เข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

     เข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ขับรถจากเขื่อนอุบลรัตน์เพียงประมาณ 20 นาที ก็จะเห็นป้ายบอกเขนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำอยู่ซ้ายมือ ทำด้วยหินศิลาแลงถัดจากป้ายนี้ไปอีกหน่อยจะเห็นป้ายบอกเขตขอนแก่นหนองบัวลำภูซึ่งอยู่ในช่องเขาขาด เป็นช่องว่างระหว่างเขามีถนนตัดผ่านกลาง

เส้นทางขอนแก่น-หนองบัวลำภู

     เส้นทางขอนแก่น-หนองบัวลำภู พื้นที่บางส่วนของจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีที่แบ่งออกมาเป็นจังหวัดใหม่ของไทยหนองบัวลำภูมีเส้นทางสายเล็กๆ เชื่อมต่อถึงกัน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่โต และทุ่งนา ทำให้ทิวทัศน์ยามฤดูหนาวมีสีออกเหลืองแดง

ศาลเจ้าปู่หลุบ

     ศาลเจ้าปู่หลุบ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้าที่เจ้าทางประจำทางโค้งซึ่งพบเห็นได้หลายแห่งในบริเวณที่มีทางโค้งอันตรายและมีประวัติการเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง สำหรับช่องเขาขาดรอยต่อระหว่างจังหวัดขอนแก่นกับหนองบัวลำภู เป็นทางโค้งที่ตัดผ่านช่องแคบๆ ระหว่างเขาเรียกว่าโค้งตาบอดด้วยเส้นทาง 2 เลนสวนกันในอดีตที่ผ่านมาคงเกิดอุบัติเหตุมากมายหลายครั้งผู้ที่ใช้เส้นทางนี้สัญจรไปมาจะกดแตรเสียงดังเพื่อเป็นการให้การเคารพเจ้าที่เจ้าทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง

ทางโค้งช่องเขาขาด

     ทางโค้งช่องเขาขาด จุดที่เป็นทางโค้งอันตรายระหว่างขอนแก่น-หนองบัวลำภู ที่ตัดผ่านช่องเขาแคบๆ และเป็นโค้งหักศอกและมีศาลเจ้าปู่หลุบอยู่ตรงหัวโค้งพอดี

จุดชมวิวช่องเขาขาด

     จุดชมวิวช่องเขาขาด ผ่านจากหัวโค้งอันตรายออกมาจะเห็นป้ายจุดชมวิวช่องเขาขาดพอดี ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาก็จะชะลอรถเข้าจอดตรงป้ายนี้ (ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของอุบัติเหตุ) ปัจจุบันสถานที่นี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ทิวทัศน์ที่มองเห็นเบื้องหน้าคือทะเลสาบหรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่หลายตำบล จุดชมวิวสวยๆ จึงเกิดขึ้นมากมายริมถนนสายเล็กๆ สายนี้ไปอีกหลายกิโลเมตร

วิวสวยช่องเขาขาด

     วิวสวยช่องเขาขาด ยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและข้อมูลจากร้านกาแฟซึ่งมีอยู่ร้านเดียวในบริเวณนี้บอกว่าต่อจากนี้ไปจะมีโครงการปรับปรุงพื้นที่สำหรับดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ช่องเขาขาด

Lif
(วิวทะเลสาบหรืออ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เหมาะในการชมพระอาทิตย์ตก) ซึ่งเป็นโครงการที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าในปัจจุบัน

ทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ

     ทางเข้าที่ทำการอุทยานฯ ถนนอุบลรัตน์-โนนสัง ไปอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อได้ถึงจังหวัดหนองบัวลำภู ถนนสายเล็กๆ สองเลนเลียบเขาผ่านทุ่งนาห่างจากช่องเขาขาดไปเพียงไม่ไกลก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ สองข้างทางแม้ว่าจะมีต้นไม้ปกคลุมแต่ก็เป็นต้นไม้ขนาดเล็กจึงไม่ได้เกิดความร่มรื่นอย่างที่ภูเขาในภาคเหนือ อากาศที่นี่กลางวันจะร้อนมาก ส่วนกลางคืนก็จะอากาศเย็นถึงหนาวมาก ขึ้นอยู่กับฤดูกาล มาจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ มีทางแยกเล็กๆ ให้จอดชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแล้วจะมีทางลาดชันลงสู่ที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งมีการสร้างศาลาริมน้ำหลายแห่งเป็นจุดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

ลานจอดรถอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

     ลานจอดรถอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จอดรถไว้ตรงนี้แล้วหลังจากนั้นก็เป็นการเดินสำรวจสถานที่รอบๆ อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ซึ่งเป็นทางเดินศึกษาธรรมชาติแบบเลียบริมน้ำ ระยะทางประมาณ 450 เมตร

ศาลาริมน้ำ

     ศาลาริมน้ำ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ มีอยู่หลายหลังหลายแบบ มีลานกางเต็นท์ และบ้านพักบริการ

แหลมสำราญ

     แหลมสำราญ ลานกางเต็นท์ 2 บนแหลทสำราญเป็นจุดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก กลางคืนสามารถนั่งล้อมรอบกองไฟ ยามเช้ามีไอหมอกลอยเหนือผิวน้ำสวยงามน่าชม

ห้องน้ำแหลมสำราญ

     ห้องน้ำแหลมสำราญ นอกจากมาเที่ยวชมวิวในเวลากลางวันแล้ว แหลมสำราญยังเป็นสถานที่สำหรับกางเต็นท์พักแรม ที่มีลานกว้างกางเต็นท์ได้มากในฤดูแล้ง เมื่อถึงฤดูฝนมีน้ำเหนือเขื่อนอุบลรัตน์มาก อาจจะมองไม่เห็นแหลมสำราญ

แหลมสำราญ

     แหลมสำราญ บริเวณลานกว้างสำหรับกางเต็นท์ริมน้ำที่แหลมสำราญ น่าเสียดายจังที่ทริปนี้ไม่ได้ลองค้างคืนที่นี่ดูจะได้เอาบรรยากาศยามเช้ามาฝากให้ดูด้วย

ใบไผ่แห้ง

     ใบไผ่แห้ง เป็นพืชที่พบเห็นได้มากในอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำต้นไผ่เล็กๆ มีใบสีเหลืองแห้งสนิททำให้เราเข้าใจว่าทำไมไฟป่าจึงเกิดขึ้นได้ง่ายนัก เพราะใบไม้หลายชนิดในป่าแห้งสนิทแบบนี้นี่เอง

นั่งรอบกองไฟ

     นั่งรอบกองไฟ ใกล้ๆ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ มีม้านั่งทำล้อมกองไฟไว้สำหรับทำกิจกรรมเป็นหมู่คณะเวลากลางคืน เมื่อถึงฤดูกาลเข้าค่ายของลูกเสือ-เนตรนารี จึงมีลูกเสือจากหลายโรงเรียนเลือกมาเข้าค่ายที่นี่เป็นประจำทุกปี

สวนหิน

     สวนหิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ภูมิประเทศเป็นป่าโปร่งต้นไม้ขนาดเล็ก แม้ว่าจะอยู่ริมน้ำแต่ต้นไม้กลับแห้งเหี่ยวผลัดใบทิ้งเหมือนกับต้นไม้ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ พื้นที่บางส่วนเป็นหินอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำมีพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นที่ราบเชิงเขาริมน้ำ น่าพักผ่อน

ร้านค้าบ้านท่าศิลา

     ร้านค้าบ้านท่าศิลา ห่างจากอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำตรงไปทางหนองบัวลำภูอีกประมาณ 500 เมตร จะมีร้านอาหารสไตล์ชาวบ้านแท้ๆ สร้างแบบกระท่อมริมน้ำเป็นสถานที่ที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ เหมาะแก่การหามื้อกลางวันและมื้อเย็นเพราะทิวทัศน์ริมน้ำแห่งนี้เงียบสงบลมที่พัดเข้าฝั่งมีความเย็นของน้ำอยู่ เมนูอาหารแบบหนองบัวลำภูน่าลิ้มลองแต่วันที่ไปสำรวจไปคนเดียวเลยสั่งอาหารมาถ่ายรูปให้ดูไม่ได้เดี๋ยวกินไม่หมด เมนูเด่นได้แก่ปลานิลสดเผาเกลือเสิร์ฟพร้อมขนมจีนและผักหลายชนิดมีน้ำจิ้มให้ ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า แป๊ะซะ ส่วนในหลายๆ พื้นที่เรียกว่าเมี่ยงปลาเผาครับแต่รับรองว่าคนละเรื่องกันเลยกับแกงส้มแป๊ะซะที่เราเคยกิน กระท่อมริมน้ำ สร้างเป็นหลังๆ ขนาดเท่าๆ กัน เรียงกันไปตามแนวชายฝั่งแต่ละหลังนั่งได้ประมาณ 6 คน ครับร้านอาหารสไตล์นี้อาจจะมีให้เห็นได้บ่อยในพื้นที่ภาคอิสานเช่น ฝายน้ำพอง บางแสน 2 (เขื่อนอุบลรัตน์) และได้รับความนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยว ร้านค้าที่นี่มีลานจอดรถกว้างขวาง รองรับรถได้เป็นจำนวนมาก หายห่วงแต่ละด้านมีการกางผ้าขึงกันแดดไว้ให้ ถ้าเต็มจริงๆ ค่อยจอดกลางแจ้งผ่านมาทางนี้ควรแวะลองชิมดูครับ

ชมวิวพระอาทิตย์ตกสวยที่ภูเก้า-ภูพานคำ

     ชมวิวพระอาทิตย์ตกสวยที่ภูเก้า-ภูพานคำ กิจกรรมหนึ่งเดียวที่จะพลาดไม่ได้เมื่อมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ก็คือการชมวิวพระอาทิตย์ตกริมอ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบ เขื้อนอุบลรัตน์ เป็นวิวที่สวยงาม นอกจากที่ศาลาชมวิวในพื้นที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแล้ว ยังสามารถขับรถกินลมชมวิวไปเรื่อยๆ ตามเส้นทางโนนสัง-หนองบัวลำภู หรือจะขับไปรอชมพระอาทิตย์ตกที่เขื่อนอุบลรัตน์ ก็สวยไม่แพ้กัน สุดแท้แต่ว่าเราจะชอบองค์ประกอบของภาพแบบไหน หากต้องการมีเรือประมงของชาวบ้านลำเล็กๆ สักลำในภาพก็อาจจะต้องไปหาทำเลชมพระอาทิตย์ตกในหมู่บ้าน

พระอาทิตย์ตกกับกระท่อมริมน้ำ

     พระอาทิตย์ตกกับกระท่อมริมน้ำ เป็นวิวที่สวยงามสร้างความประทับใจให้เราได้ไม่รู้ลืม ทุกครั้งที่คิดถึงจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกในหนองบัวลำภู คงจะต้องคิดถึงอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำแห่งนี้ก่อนเป็นแน่

แสงสุดท้ายที่ร้านอาหาร

     แสงสุดท้ายที่ร้านอาหาร ส่วนตัวร้านและครัวจะแยกส่วนกันกับกระท่อมที่นั่งสั่งอาหารไม่ต้องกังวลเรื่องควันรบกวน กระท่อมบางหลังสร้างให้มีขนาดใหญ่กว่าหลังอื่นๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นคณะใหญ่หลายคน มีความแข็งแรงมั่นคงไม่ต้องกังวล หากมีเวลามาค้างพักแรมที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ ก็ลองมากินลม-ชมวิว พร้อมอาหารมากมายหลายอย่างให้เลือก ท่ามกลางวิวแสนสวยแบบนี้แล้วค่อยกลับไปนอนที่บ้านพักหรือลานกางเต็นท์ที่เราเตรียมไว้ในอุทยาน ลมเย็นๆ ริมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะทำให้นอนหลับสบายตลอดคืนเป็นแน่ครับ...

ขอบคุณข้อมูลจาก

touronthai.com

โพสต์โดย : ต้นน้ำ