Social :



การปลูกผักหวานป่า

01 มี.ค. 61 16:03
การปลูกผักหวานป่า

การปลูกผักหวานป่า

การปลูกผักหวานป่า

ผักหวานป่า จัดเป็นผักป่าชนิดหนึ่งที่นิยมปลูก และเก็บยอดมารับประทานมาก โดยเฉพาะคนอีสาน และภาคเหนือ เพราะยอดมีความกรอบ และให้รสหวานมัน มีราคาจำหน่ายสูงถึงกิดลกรัมละ 200-250 บาท


ผักหวานป่าตามธรรมชาติจะเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลางที่เติบโตใต้ไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่สูงกว่า ดังนั้น ผักชนิดนี้จึงชอบพื้นที่ที่มีแสงรำไร พื้นที่ที่มีแสงส่องไม่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะใต้ร่มไม้อื่นที่ใหญ่กว่า ดังนั้น การปลูกผักหวานป่า หากเลียนแบบธรรมชาติจะได้ผลดี คือ ปลูกแซมกับไม้ชนิดอื่นที่สามารถให้ร่มเงาได้ ทั้งนี้ การปลูกผักหวานป่าสามารถปลูกจากต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด การปักชำราก และการตอนกิ่ง ซึ่งปัจจุบันนิยมทั้งการเพาะเมล็ดมากที่สุด เพาะการตอนกิ่งจะแตกรากได้ยาก ถึงแม้จะใช้ฮอร์โมนเร่งรากก็ตาม และการเพาะเมล็ดจะทำได้เร็วกกว่า และทำให้ได้ต้นที่แตกกิ่งมากกว่าวิธีอื่น


พันธุ์ผักหวานป่า
พันธุ์ผักหวานป่ายังไม่มีการศึกษาข้อมูลที่ชัดเจนนัก แต่จากการสังเกตพบว่า ผักหวานป่าที่พบในไทยจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ผักหวานป่ายอดเหลือง ชาวอีสานเรียกว่า ผักหวานโคก มักมีลำต้นเตี้ย แตกกิ่งน้อย ใบมีขนาดเล็ก แต่กว้าง ต้นเติบโตช้า และยอดสั้น
2. ผักหวานป่ายอดเขียว ชาวอีสานเรียกว่า ผักหวานดง มักแตกทรงพุ่มใหญ่ แตกกิ่งมาก ใบมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ และค่อนข้างเรียว ลำต้นมีการเติบโตเร็ว ยอดยาวมากกว่าพันธุ์ยอดเหลือง

การเตรียมวัสดุเพาะ
วัสดุที่ใช้เพาะกล้าเมล็ดต่อหรือใช้เพาะชำ ควรเตรียมด้วยการนำดินมาผสมกับปุ๋ยคอก หรือวัสดุอินทรีย์ อาทิ แกลบดำ และขุ๋ยมะพร้าว โดยใช้อัตราส่วนดินกับปุ๋ยคอก และวัสดุอื่นๆที่ 1:2:1 คลุก และหมักทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้น บรรจุใส่ถุงเพาะขนาด 4×4 นิ้ว เตรียมไว้สำหรับย้ายกล้าเพาะ

ส่วนการเพาะเมล็ดจะใช้ทรายผสมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วน 2:1 ซึ่งเตรียมเป็นแปลงเพาะขนาดเล็ก กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ซึ่งอาจใช้วิธีวางอิฐล้อมเป็นสี่เหลี่ยม แล้วแต่ปริมาณการเพาะ โดยนำทรายที่ผสมกับปุ๋ยคอกมาเกลี่ยใส่แปลงเพาะ สูงประมาณ 2-3 นิ้ว

การเพาะเมล็ด
เมล็ดที่ใช้เพาะจะต้องเป็นเมล็ดที่สุกจัด ผลมีสีเหลืองเข้ม หรือ เป็นเมล็ดที่ร่วงจากต้นแล้ว และเมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วให้นำเมล็ดใส่ถุงพลาสติก แล้วนำเข้าตู้เย็นพักไว้ก่อน 1-2 เดือน แต่ไม่ควรมากกว่า 2 เดือน แล้วค่อยนำมาเพาะเมล็ด เพราะการเก็บเมล็ดจะเป็นการพักตัวของเมล็ด ทำให้อัตราการงอกเพิ่มขึ้น

การเตรียมเมล็ดก่อนเพาะให้นำผลมาแกะลอกเปลือก และเนื้อออกจนเหลือเมล็ด จากนั้น นำไปตากแห้ง 3-5 วัน ก่อนใช้กระดาษทรายหรือหินทรายขัดเปลือกเมล็ดให้บาง แต่ระวังอย่าขัดจนถึงเนื้อเมล็ดด้านใน จากนั้น นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 1 คืน หลังจากนั้น นำเมล็ดปักลงแปลงเพาะที่เรียมไว้ แล้วเกลี่ยดินให้คลุมเมล็ด ก่อนจะรดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น รดน้ำทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน เมล็ดจะแตกหน่อให้เห็น จากนั้น ขุดเมล็ดลงเพาะต่อในถุงเพาะชำ หรือให้ขุดเมล็ดหลังเพาะแล้วประมาณ 20-25 วัน ซึ่งเป็นระยะที่เมล็ดแทงรากออกแล้ว

ทั้งนี้ อาจเพาะเมล็ดลงในถุงเพาะชำได้โดยตรงก็ได้ โดยไม่ต้องมาเพาะในแปลงเพาะก่อน แต่วิธีนี้อาจทำให้ให้เสียถุงเพาะเปล่า เพราะบางเมล็ดไม่มีการงอก แต่หากใช้วิธีเพาะเมล็ดในแปลงก่อนจะช่วยให้สามารถเลือกเมล็ดที่งอกมาเพาะในถุงเพาะได้ทั้งหมด และสามารถเลือกเฉพาะเมล็ดที่งอกโดยสมบูรณ์ได้


การดูแลต้นกล้า
หลังจากย้ายเมล็ดมาเพาะในถุงเพาะแล้วหรือเมล็ดงอกในถุงเพาะแล้ว ให้รดน้ำเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งเมื่อผ่านไปประมาณ 2-3 เดือน กล้าผักหวานป่าจะสูงได้ประมาณ 5-12 เซนติเมตร และหลังจากช่วงนี้แล้วต้นจะเติบโตได้ช้า ซึ่งอายุกล้าประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถย้ายลงแปลงปลูกได้

การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
สำหรับการปลูกผักหวานป่าในแปลงแบบปลูกแซมกับไม้อื่น ควรไถพื้นที่ว่างในแปลงทิ้งไว้ก่อน 5-7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ส่วนการปลูกในแปลงเดี่ยวให้ไถพรวนดินก่อนเช่นกัน

ให้ขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง
MulticollaC
และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวที่ 2×2 เมตร จะได้ 400 ต้น/ไร่ หรือ 1.5×3 เมตร จะได้ประมาณ 356 ต้น/ไร่ หรือ 3×3 เมตร จะได้ประมาณ 267 ต้น/ไร่ แล้วตากหลุมไว้ 5-7 วัน จากนั้น นำปุ๋ยคอกโรยก้นหลุม 3-5 กำมือ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ พร้อมคลุกผสมให้เข้ากัน

วิธีการปลูก
การปลูกผักหวานป่าควรลงแปลงปลูกในต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยกล้าผักหวานป่าที่ใช้ปลูกจะต้องมีอายุประมาณ 3-4 เดือน หรือต้นสูงประมาณ 15-25 เซนติเมตร ก่อนปลูกให้ฉีกถุงเพาะออก แล้วนำต้นกล้าลงหลุม พร้อมกลบดินให้สูงเหนือพื้นประมาณ 5 เซนติเมตร ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ
ผักหวานป่าหากปลูกตั้งแต่ต้นฤดูฝนจะไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพียงปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติก็สามารถตั้งต้นได้ แต่หากถึงหน้าแล้ง ควรรดน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง/อาทิตย์ จนกว่าจะถึงหน้าฝนค่อยปล่อยตามธรรมชาติ

การกำจัดวัชพืช
ในระยะ 1 ปีแรก จำเป็นต้องคอยกำจัดวัชพืชเป็นกระจำ อย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง จนกว่าต้นจะแตกกิ่งขยายเป็นพุ่ม หลังจากนั้น ปีที่ 2 ให้กำจัดวัชพืชประมาณ 2-3 ครั้ง/ปี ร่วมกับการใส่ปุ๋ยในแต่ละครั้ง

การใส่ปุ๋ย
หลังจากการปลูกแล้ว เกษตรมักปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ จนกว่าต้นจะมีอายุประมาณ 2 ปี หรือประมาณ 1 ปี ครึ่ง หรือบางพื้นที่ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ค่อยตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับให้แตกยอด ซึ่งขึ้นอยู่กับต้นกล้าที่ปลูก หากเป็นกล้าตอนกิ่งจะเร็วกว่ากล้าเพาะเมล็ด

การใส่ปุ๋ยใน 1-2 ปีแรก จะให้ประมาณ 2 ครั้ง ด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 1 ถังเล็ก/ต้น กับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/ต้น และหลังจากปีที่ 2 ที่เริ่มบังคับให้แตกยอดจะเริ่มให้อีกครั้ง และหลังเก็บยอดอีก 1 ครั้ง

การทำให้ออกยอด และการเก็บยอดผักหวานป่า
ผักหวานป่าในแถบภาคเหนือ และอีสานจะแตกยอดในช่วงต้นฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ซึ่งเริ่มเก็บยอดจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีออกมากในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ส่วนผักหวานป่าในภาคใต้จะเริ่มแตกยอด และเก็บยอดได้ใน 2 ช่วง คือ ช่วงแรกตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน และช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม

การทำให้แตกยอดอ่อน
หลังจากปลูกกล้าผักหวานป่าได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง – 2 ปีแล้ว ให้เริ่มตัดแต่งกิ่ง โดยให้ตัดปลายกิ่งทุกกิ่งทิ้ง ซึ่งจะตัดออกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พร้อมกับรูดใบแก่บริเวณโคนกิ่งทิ้ง และเหลือใบไว้ประมาณ 3-4 ใบ หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กำมือ/ต้น และปุ๋ยเคมีสูตร 12-6-6 ประมาณ 1 กำมือ/ต้น พร้อมรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งประมาณ 7-14 วัน

ผักหวานป่าจะแตกยอดยาวพร้อมเก็บ และเก็บได้ต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน ในระหว่างการเก็บยอดนี้ หรือหากต้องการเก็บยอดจนถึงเดือนสิงหาคม สามารกระตุ้นให้แตกยอดได้ด้วยการริดใบแก่ออก พร้อมให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่หลังจากเดือนสิงหาคมแล้ว ให้หยุดการเก็บยอดจนกว่าจะถึงต้นปีหน้าค่อยเริ่มกระตุ้นให้แตกยอดอีกครั้ง

วิธีเก็บยอด
เกษตรกรมักเก็บผักหวานป่าด้วยการเด็ดด้วยมือ โดยจะเก็บยอดอ่อนที่มีความยาวตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร จากนั้น นำยอดผักหวานป่ามาคัดแยกความยาวออกเป็นมัดๆ โดยแบ่งเป็น 2 ขนาด คือ ยอดที่มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเป็นผักหวานป่าที่มียอดสั้นๆ และยอดที่มีความยาวมากกว่า 5 เซนติเมตร ทั้งนี้ ราคาจำหน่ายจะอยู่ในช่วงกิโลกรัมละ 200-250 บาท

โรค และแมลงศัตรู
ผักหวานป่าไม่ค่อยพบการเกิดโรค แต่อาจพบแมลงศัตรูที่มาคอบกัดกินยอดอ่อนบ้างอาทิ หอยทาก และหนอนผีเสื้อต่างๆ ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น เพราะอาจมีสารพิษตกค้างได้ และตามธรรมชาติผักหวานป่าเองไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคหรือแมลงกัดกินที่รุนแรงมากนัก

โพสต์โดย : Ao