Social :



การเลี้ยงหอย

13 มี.ค. 61 18:03
การเลี้ยงหอย

การเลี้ยงหอย


การเลี้ยงหอย


หอยเป็นสัตว์ที่อยู่ในไฟลัมมอลลัสกา(mollusca) เปลือกหอยเป็นสาร ประกอบหินปูน มีส่วนเท้า ( foot ) ช่วยในการเคลื่อนที่ ฝังตัว และจับ อาหาร อวัยวะภายในอยู่ทางด้านหลังของลำตัว หอยส่วนใหญ่จะมีช่อง ปากและทวารหนักอยู่ใกล้กัน หอยที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยเสียบ หอยมุก หอยนางรม หอยตะโกรม ฯลฯ

ข้อควรระวังในการเลี้ยงหอย

เนื่องจากหอยเป็นสัตว์ที่กินอาหารโดยการกรอง จึงทำให้มันสามารถสะสมสารมีพิษต่างๆ ดังนี้

1 . พิษจากสารเคมี ที่โรงงานใกล้เคียงปล่อยลงสู่ทะเลหรือจากการที่น้ำฝนชะล้างสารพิษลงสู่ทะเล เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมี่ยมและสารประกอบโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง

2. เจือโรคต่างๆ เช่น อหิวาต์ ไทฟอยด์ ตับอักเสบ ท้องร่วง

3. พิษจากไดโนแฟลกเจลเลท โปรโตซัวพวกไดโนแฟลกเจลเลทสกุล Gonyaulax และ Protogonyaulax ซึ่งมักจะเจริญเติบโตขยายจำนวนอย่างมากมายเมื่อมีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเล ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ขี้ปลาวาฬ” (red tide) ไดโนแฟลกเจลเลทพวกนี้จะสร้างสารพิษเรียกพิษชนิดนี้ว่า PSP (paralytic shellfish poisoning )ซึ่งมักจะผ่านเข้าไปทางซี่กรองของหอยและเข้าไปสะสมอยู่ในตัวหอย เมื่อมนุษย์บริโภคหอยที่มีสารพิษนี้สะสมอยู่เข้าไปก็จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ทางราชการในบางประเทศจะต้องประกาศเตือนและสั่งห้ามประชาชนบริโภคเนื้อหอย และสัตว์น้ำจากแหล่งที่มีการระบาดของไดโนแฟลกเจลเลทพวกนี้ทุกครั้งที่พบปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น พิษอีกชนิดหนึ่งคือเชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง (DSP) เกิดจากไดโนแฟลก เจลเลทชนิดหนึ่งที่หอยกินเข้าไป

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้หลายประเทศจึงออกกฎหมายเพื่อหามาตรการป้อง กันอันตรายจากพิษภัยที่เกิดจากรับประทานหอย ด้วยการบังคับให้ผู้เลี้ยงต้องล้างและฆ่าเชื้อโรคหอยก่อนที่จะส่งออกจำหน่ายด้วยแสงยูวี คลอรีน หรือโอโซน ซึ่งต้องใช้เวลา 1-3 วัน ในประเทศสเปนที่มีการจำหน่ายหอยแมลงภู่มาก ผู้ขายจะต้องประทับตราว่าได้ทำการฆ่าเชื้อโรคแล้ว จึงจะส่งออกไปจำหน่ายได้




การเลี้ยงหอยแมลงภู่
หอยแมลงภู่ (mussels ) มีหลายชนิดๆ ที่เลี้ยงและรับประทานในประเทศ ไทย หอยแมลงภู่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mytilus smaragdinus มีเปลือกยาวเรียวรูปไข่ เปลือกหนามีสีเขียว คล้ายแมลงภู่ เปลือกด้านในมีสีขาวแวววาว นำมาทำเป็นเครื่องประดับได้ดี เนื้อรับประทานในรูปสด และตากแห้ง พบกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในอ่าวไทย ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ชุมพร และนครศรีธรรมราช ที่ระดับนํ้าลึก 3-10 เมตร หอยแมลงภู่ในอ่าวไทยเริ่มมีไข่ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ในฤดูผสมพันธุ์ตัวเมียจะมีสีแดงคล้ายอิฐ ส่วนตัวผู้จะมีสีขาวครีม แม่หอยตัวหนึ่งจะออกไข่ได้ครั้งละ 1-2 ล้านฟอง สถานที่เลี้ยงควรเป็นบริเวณที่ไม่มีคลื่นลมแรง ห่างไกลจากแหล่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยนํ้าเสียออกสู่ทะเลโดยตรง

วิธีการเลี้ยง
การเลี้ยงหอยแมลงภู่ทำได้หลายวิธี เช่น

1.1 ปักหลักล่อ เป็นวิธีที่เลี้ยงในแถบประเทศไทย ฟิลลิปปินส์ โดยใช้ไม้
ไผ่ ไม้รวก ไม้โกงกาง ฯลฯ ขนาดเส้นผ่าศูนยกลาง 4-6 มิลลิเมตร ยาว 4-6 เมตร ปักล่อไว้ในระดับนํ้าลึก 4-6 เมตร ช่วงเดือน มีนาคม – พฤศจิกายน เพราะเป็นระยะที่ลูกหอยเกิด ปักเป็นแถวขนานกัน แต่ละแถวห่างกันประมาณ 4 เมตร ระยะห่างระหว่างหลัก ประมาณ 50 เซนติเมตร ลูกหอยจากธรรมชาติจะมาเกาะที่หลัก ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 7-9 เดือน ก็สามารถถอนหลักจับหอยมาจำหน่ายได้

1.2 เลี้ยงด้วยเชือกแขวน ใช้เสาปักห่างกันเป็นระยะๆ ละ 3 เมตร ผูกเชือกขึงระหว่างเสาแต่ละต้นสูงจากพื้นทะเล 2 เมตรจากนั้นนำเชือกถ่วงด้วยก้อนหิน เพื่อมิให้เชือกลอย หลังจากขึงเชือก 2 เดือน จะมีลูกหอยมาเกาะและเจริญเติบโตที่เชือกนี้

1.3 เลี้ยงด้วยถุงไนลอน โดยนำลูกหอยจากธรรมชาติมาใส่ในถุงอวนขนาดตา 1 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร มัดหัวท้ายถุงแล้วหุ้มด้วยตาข่ายไนลอนขนาด 3-4 เมตร ตาห่าง 7-10 เซนติเมตร แขวนไว้บนแพขนาด 150 ตารางเมตร ตารางเมตรละ 4 พวง ภายใน 8 เดือน หอยจะโตได้ขนาด 7 เซนติเมตร แต่ละพวงจะได้ผลผลิตประมาณ 30 กิโลกรัม

ศัตรูของหอยแมลงภู่ได้แก่ ปลาดาว ปู ปลากะเบน ต้องคอยระวังอย่าให้ นํ้าขุ่นเกินไป เพราะตะกอนจะจับตามเหงือกทำให้หอยตายได้ เมื่อเก็บหอยออกจากที่เลี้ยงแล้ว ต้องทำความสะอาดด้วยโซเดียมไอโปคลอไรท์ 3 มิลลิกรัมต่อนํ้าทะเล 1 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วเติม โซเดียมโธโอซัลเฟตลงไปเพื่อขจัดคลอรีนแช่ไว้ 24 ชั่วโมง หอยจะคายสิ่งปฏิกูลออกมาเพื่อให้ได้หอยที่สะอาดเป็นที่พอใจของนักบริโภค




การเลี้ยงหอยนางรม
หอยนางรม อาจเป็นหอยชนิดแรกที่มนุษย์เริ่มเลี้ยงก่อนพวกสัตว์ไม่มี กระดูกสันหลังอื่นๆ ชาวบ้านในมลรัฐแมสสาจูเซท ของสหรัฐอเมริกานิยมบริโภคหอยนางรมที่ได้จากการเพาะเลี้ยงถึงร้อยละ 90 เช่นเดียวกับแถบประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับในประเทศไทยจะมีแหล่งเลี้ยงหอยนางรมมากที่สุดที่อ่างศิลา และแถบภาคใต้ ในหลายจังหวัด เช่นที่จังหวัดสุราษฎรธานี มีการเลี้ยงหอยนางรมขนาดใหญ่ที่เรียกว่า หอยตะโกรม

หอยนางรมที่นิยมเลี้ยงกันมีสามสกุลคือ Cassostrea Ostrea และ Saccostrea มีหลายชนิด หอยนางรมพันธุ์เล็กที่เลี้ยงทางภาคตะวันออกของไทยคือ Saccostrea commercialis ส่วนหอยตะโกรมที่เลี้ยงกันทางภาคใต้คือ Crassostrea belcheri และหอยตะโกรมกรามดำ Crassostrea lugubris

พื้นที่การเลี้ยงหอยนางรมในประเทศไทยในปี 2528 มีมากถึง 6,053 ไร่ได้ผลผลิต 5,241 ตัน มีมูลค่าถึง 53,135,000 บาท (สถิติกรมประมง,2531) ซึ่งคาดว่าในปัจจุบัน เนื้อที่การเลี้ยงหอยนางรมคงจะเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

หอยนางรมเจริญได้ดีในนํ้ากร่อยมากกว่าในนํ้าทะเลล้วนๆ เป็นพวกที่กิน อาหารโดยใช้ซี่กรอง(filter feeder) ชอบขึ้นเกาะในพื้นที่ที่แข็งๆ เช่นเสาหิน ก้อนหิน
MulticollaC
ฤดูผสมพันธุ์ของหอยนางรมมักเป็นช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน ช่วงที่อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นหลังฤดูหนาว ในแถบเขตร้อนหลายแห่งหอยนางรมสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อนักเลี้ยงหอย เพราะถ้ามันมัวแต่สร้างไข่และอสุจิมันจะไม่โตทำให้ได้แต่หอยตัวเล็กๆ มากเกินไป ผลผลิตจะตํ่า หอยนางรมสามารถเปลี่ยนเพศได้ ตอนเล็กๆ จะมีเพศผู้ พอ ตัวโตขึ้นจะกลายเพศเป็นตัวเมีย หอยในสกุล Crassostrea มักจะเปลี่ยนเพศหลังฤดูผสมพันธุ์ แต่หอยนางรมสกุล Ostrea จะเปลี่ยนเพศในช่วงผสมพันธุ์ หอยนางรม Crassostrea จะปล่อยไข่ลงไปในน้ำ แต่หอยนางรมสกุล Ostrea จะใช้ไซฟอนดูดเอานํ้าเชื้ออสุจิเข้าไปในตัวไปผสมกับไข่ ตรงช่องตัวใกล้เหงือก

ปัจจุบันนี้ นักวิชาการสามารถทำการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างหอยนางรมต่างชนิด ผลปรากฏว่าลูกผสมหอยนางรมนี้โตเร็วกว่าพันธุ์แท้ทำให้ได้ผลผลิตดี โดยสร้างโรงเพาะฟักที่อยู่ใกล้ทะเลที่มีนํ้าทะเลใสสะอาด เก็บรวบรวมพ่อแม่พันธุ์หอยมาขุนให้สมบูรณ์เต็มที่ด้วยสาหร่ายที่เพาะไว้จากโรงเพาะสาหร่าย ควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ สำหรับหอยนางรมแต่ละชนิด จากนั้นก็กระตุ้นด้วยอุณหภูมิของนํ้าที่สูงขึ้นและตํ่าลง เพื่อให้หอยตัวผู้และตัวเมียปล่อยนํ้าเชื้อและไข่ออกมา ไข่ฟองหนึ่งอาจถูกเชื้ออสุจิหลายตัวเข้าผสม ทำให้พัฒนาการผิดปกติ และทำให้อัตราตายสูง จากการทดลองเร็วๆ นี้พบว่าถ้าตัวเมียสามารถวางไข่ก่อนสักหนึ่งชั่งโมง จึงได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิ อัตรารอดตายจะสูงขึ้นเพราะการที่อสุจิจะเข้าผสมทีละหลายตัวจะลดจำนวนลง (Landau, 1992) หลังจากที่ไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อนหมดแล้วก็ย้ายตัวอ่อนไปยังบ่ออนุบาล อาหารที่ใช้เลี้ยงหอยนางรม คือ แพลงตอนสาหร่ายขนาดเล็กที่เพาะขึ้นเป็นพิเศษ จากการทดลองใช้อาหารสำเร็จรูปชนิดใหม่ในรูปของไมโครแคปซูล พบว่าได้ผลดีเกินคาด แม้ว่าราคาของไมโครแคปซูลยังคงแพงอยู่แต่คงมีประโยชน์และมีความจำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่สาหร่ายที่เพาะไว้เกิดตายหรือไม่พอเพียง ควรเปลี่ยนนํ้าทะเลสะอาดทุก 2-3 วัน โดยใช้สายยางดูดกรองผ่านตะแกรงกรองลูกหอยเพื่อดูดนํ้าออก จนกว่าลูกหอยจะเข้าสู่ระยะเกาะติดกับวัสดุ จึงใส่วัสดุพวกก้อนหิน แท่งเสาคอนกรีตหรือเชือกไว้ที่ก้นถังเลี้ยง จนกระทั่งหอยโตได้ขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร จึงนำไปเลี้ยงไว้ในทะเลในธรรมชาติต่อไป การเพาะฟักและอนุบาลลูกหอยนางรมเป็นเทคนิคและวิธีการพิเศษซึ่งต้องใช้ประสบการณ์สูง ในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้วิธีปักท่อนเสาหรือก้อนหินไว้ในแหล่งที่มีหอยนางรมตามธรรมชาติเป็นส่วนมาก แต่ในต่างประเทศ การเลี้ยงหอยนางรมได้พัฒนาไปมากแล้ว วัสดุที่ใช้เลี้ยงหอยนางรมนอกจากเปลือกหอย เสาซีเมนต์ เสาหินแข็งๆ เพื่อให้หอยนางรมเกาะแล้ว ยังสามารถเลี้ยงหอยนางรมไว้ในถาดที่สร้างเป็นชั้นๆ วางซ้อนกันในทะเล บางประเทศใช้รากพันธุ์ไม้เพื่อเลี้ยงหอยนางรม ที่เกาหลีและไต้หวันเลี้ยงหอยนางรมด้วยเสาไม้ไผ่ และแพเชือกที่ห้อยลงทะเล การเจริญเติบโตของหอยนางรมใช้เวลาถึงสามปีจึงจะได้ขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ
นอกจากหอยแมลงภู่และหอยนางรมแล้ว ยังมีหอยอีกหลายชนิดที่ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงกันทั่วไปเช่นหอยแครง หอยเป๋าฮื้อ(abalone) หอยมุก ซึ่งวิธีการเลี้ยง ก็แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด




การเลี้ยงหอยมุกน้ำเค็ม
หอยที่สามารถผลิตมุกที่แวววาวสวยงามมีหลายชนิด แต่ที่นำมาเลี้ยงเป็น อุตสาหกรรม เพื่อผลิตไข่มุกเม็ด และเปลือกมุกที่ทำเครื่องประดับต่างๆ มีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น

1. Pinctata fucata เป็นหอยมุกที่นิยมเพาะเลี้ยงในประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี เป็นหอยมุกที่สามารถผลิตไข่มุกเม็ดกลมที่มีคุณภาพดี ราคาแพง แม้ว่าจีนจะเริ่มเลี้ยงไข่มุกเป็นประเทศแรก แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงและการผลิตไข่มุกมากที่สุด ไข่มุกที่มีชื่อ คือ มิกิโมโต

2. Pinctata maxima เป็นหอยมุกที่เลี้ยงกันมากแถบออสเตรเลีย พม่า อิน โดนีเชีย และแถบหมู่เกาะฟิลลิบปินส์ หอยมุกชนิดนี้สามารถผลิตหอยมุกกลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดถึงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 มิลลิเมตร

3. Pinctata magaritifera เป็นหอยมุกที่รู้จักกันในนามของหอยนางรม ปากดำ (blacklip oyster) ไทยเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หอยนางรมลอย เหมาะสำหรับผลิตไข่มุกสีเข้มดำ เลี้ยงกันมากแถบตาฮิติ ฟิจิ และแถบหมู่เกาะญี่ปุ่น

4. Pteria penguin หอยนางรมปีก หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า มาเบะ (mabe) เพาะเลี้ยงกันมากในประเทศจีน และเกาหลี ใช้เพาะเลี้ยงมุกครึ่งซีก

การกระตุ้นให้หอยสร้างมุก
การเลี้ยงหอยมุกได้รับการพัฒนามาตลอดเวลา ในปัจจุปันหอยแต่ละตัว สามารถกระตุ้นให้ผลิตมุกได้มากกว่า 1 เม็ดโดยผู้เลี้ยงจะสอดใส่แกนมุกหรือที่เรียกว่า นิวเคลียสเข้าไปในบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์หรือโกแนด (gonad) ของหอยมุกทันทีหลังจากที่มันวางไข่เพื่อควบคุมมิให้หอยมุกสืบพันธุ์อีกและเพื่อยับยั้งการพัฒนาของอวัยวะสืบพันธุ์ โดยนำไปเลี้ยงในที่อุณหภูมิตํ่า หรือไม่ก็อาจยับยั้งการสืบพันธุ์ของหอยมุกโดยการนำไปเลี้ยงในกระชังแบบหนาแน่นในเขตทะเลอบอุ่น ต่อมาได้มีการพัฒนาการผลิตหอยมุกที่มีโครโมโซม 3 ชุด (3n หรือ triploid) ทำให้หอยมุกเป็นหมันจะได้เจริญเติบโตดี และผลิตมุกเร็ว

เมื่อถึงฤดูเลี้ยงหอยมุก ผู้เลี้ยงจะนำหอยมุกมาเลี้ยงในถาดวางเป็นชั้นซ้อน กันในระยะห่างกันพอสมควร นำปากคีบและอุปกรณ์เปิดปากหอยให้อ้าออก สอดใส่เนื้อเยื่อแมนเทิลของหอยมุกตัวอื่นที่ตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใส่เข้าไปในช่องโกแนด พร้อมกับแกนนิวเคลียสตามขนาดที่ต้องการ 1-5 เม็ด เนื้อเยื่อที่ใส่เข้าไปจะแบ่งเซลล์ ล้อมรอบแกนนิวเครียสทำให้เกิดเป็น “ถุงไข่มุก” (pearl sac) และจะสร้างสารมุก (nacreous) หุ้มรอบแกนนิวเคลียสทำให้ได้ไข่มุกเม็ดกลมขึ้นมา ตามจำนวนแกนที่ใส่เข้าไป แต่อาจไม่สวยทุกเม็ดต้องนำมาคัดขนาดและคุณภาพต่อไป ถ้าต้องการไข่มุกครึ่งซีก จะต้องสอดเนื้อเยื่อและแกนมุกตรงช่องระหว่างฝาหอยกับเนื้อเยื่อแมนเทิล จากนั้นนำหอยมุกที่ใส่แกนนิวเคลียสไปเลี้ยงในกระชังที่ผูกเป็นราวในบริเวณทะเลที่มีคลื่นลมสงบ ให้หอยฟื้นตัว ประมาณ 6 สัปดาห์ ก็นำหอยเหล่านี้มาตรวจดูอัตรารอดตายและฟื้นตัว เลือกตัวที่ตายออก เลี้ยงดูต่อไป หรืออาจจะย้ายไปเลี้ยงรวมกับหอยกลุ่มใหญ่ที่เลี้ยงดูก่อนแล้วก็ได้เป็นเวลา 3-4 ปี ระหว่างเลี้ยงต้องนำขึ้นเหนือนํ้าทำความสะอาดเป็นระยะๆ นํ้าที่มีคุณสมบัติดีอาจทำให้หอยมุกเจริญเติบโตดีแต่อาจไม่ทำให้ไข่มุกมีสีสวย หรือมีคุณภาพที่ดีได้

ในประเทศไทยมีฟาร์มเลี้ยงหอยมุกมานานประมาณ 20 ปีมาแล้ว
ที่เกาะคำ เกาะพยาม เกาะป่าจกจังหวัดระนอง ที่เกาะยาวไหญ่ จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และอีกหลายจังหวัดใกล้เคียงโดยมีบางบริษัทร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ไข่มุกที่ผลิตได้ในประเทศไทยมีเป็นจำนวนมากที่คุณภาพดีกว่าญี่ปุ่น แต่บางบริษัทต้องส่งไปที่บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นก่อนแล้วถึงส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศไทยในราคาที่แพงกว่าหลายเท่าเพราะถือว่าเป็นสินค้านำเข้า โดยที่ผู้ซื้อก็ไม่ทราบว่าเป็นไข่มุกที่ส่งไปจากเมืองไทย แล้วนำกลับเข้ามาอีกที
มุกที่สร้างขึ้นมามีหลายสี เช่น ขาวรุ้ง ชมพู เหลือง และสีเทาแกมดำ ซึ่งเรียกว่า ไข่มุกดำ” ไข่มุกดำมีสีเทาแกมดำ หรือน้ำเงินดำอมตะกั่ว จัดว่ามีราคาแพงที่สุด บางครั้งจะมีการฟอกด้วยไฮโดรเจนเปอออกไซด์ มีการทดลองฉีดสีเข้าไปในไข่มุก แต่การย้อมสีไข่มุกด้วยการฉีดสีเป็นวิธีการที่ยากมาก ไข่มุกมักไม่ติดสี บางครั้งผู้เลี้ยงจะใช้วิธีฉีดสีเข้าไปในเนื้อหอยระหว่างเลี้ยงมุกซึ่งก็ได้ผลไม่แน่นอน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการพัฒนาการย้อมสีไข่มุกด้วยการฉายรังสีร่วมด้วย แต่การทดลองยังไม่เป็นที่เปิดเผย และ ถือเป็นความลับของแต่ละฟาร์ม

การเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด
หอยมุกน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hyriopsis schlegeli สร้างไข่มุกที่เรียกว่าไข่มุกน้ำจืด นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศจีนและญี่ปุ่น มุกที่ผลิตออกมามีรูปร่างแปลกแตกต่างกันออกไป มักมีสีชมพู หอยมุกนํ้าจืดนี้มีอายุนานถึง 40 ปีและมีวงชีวิตที่แตกต่างจากหอยมุกทะเล เมื่อตัวผู้ปล่อยนํ้าเชื้ออสุจิลงไปในนํ้าเวลาสืบพันธุ์แล้ว นํ้าเชื้อเหล่านี้จะถูกพัดโบกเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในหอยตัวเมีย ไข่ที่ผสมแล้วจะพัฒนาไปจนกว่าจะเป็นตัวอ่อนระยะโกลซิเดียม ตัวอ่อนนี้จะถูกปล่อยลงไปในนํ้าและว่ายไปเกาะติดกับเหงือกปลาน้ำจืดนาน 2-3 สัปดาห์ จึงจะผละออกจากเหงือกปลาไป เพื่อหาแหล่งยึดเกาะกับวัตถุใต้นํ้าและเติบโตเป็นอิสระต่อไป

การกระตุ้นให้หอยสร้างมุก
ผู้เลี้ยงจะคัดเลือกหอยมุกออกเป็นสองพวก พวกที่แข็งแรงเอาไว้เลี้ยงเพื่อ กระตุ้นให้สร้างไข่มุก อีกพวกหนึ่งเก็บมาตัดเนื้อเยื่อแมนเทิลเป็นชิ้นเล็กสอดไส่เข้าพร้อมกับแกนนิวเคลียส เพื่อกระตุ้นให้หอยมุกนํ้าจืดหลั่งสารมุกมาเคลือบแกน จากนั้น นำไปเลี้ยงนาน 2-3 ปี จึงนำมาแกะเอามุกออก ถ้าผู้แกะมีความชำนาญพอ หอยมุกจะไม่ตาย สามารถเอาหอยมุกกลับไปเลี้ยงพักฟื้นให้แข็งแรงอีกเพียงไม่กี่ปีก็นำมากระตุ้น ให้สร้างมุกได้อีก

ในประเทศไทยเคยมีการทดลองเลี้ยงหอยกาบนํ้าจืด และกระตุ้นให้สร้าง ไข่มุกได้ที่จังหวัดราชบุรี แต่เนื่องจากต้องลงทุนสูงและแข่งราคากับไข่มุกน้ำจืดที่มาจาก จีน และพม่าไม่ได้จึงเลิกกิจการไป ประเทศจีนมีการเลี้ยงไข่มุกนํ้าจืดเม็ดขนาดเล็กและส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุด เดิมไข่มุกนํ้าจืดของจีนมิได้ใช้เป็นเครื่องประดับ แต่จัดเป็นสมุนไพรโดยนำมาบดละเอียดเข้าเครื่องยาจีน รักษาโรคได้หลายอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิว ชาวจีนนิยมรับประทานไข่มุกบดเป็นผงเพื่อบำรุงผิวให้สวยงาม
หอยมุกนํ้าจืดที่เลี้ยงกันมากในสหรัฐอเมริกาคือ Lampsilis claibomensis เพื่อเอาเนื้อมาทำเป็นอาหารและเอาเปลือกมาทำเครื่องประดับต่างๆ สำหรับประเทศไทยยังมีหอยอีกหลายชนิดที่สร้างสารมุกเคลือบเปลือกหอยได้สวยงามมาก ทำเป็นเครื่องประดับต่างๆ ได้แต่ยังไม่มีการทดลองเลี้ยงกันเป็นอุตสาหกรรม




ที่มา:สุภาพร  สุกสีเหลือง

โพสต์โดย : Ao