Social :



รวยด้วยการขายสะเดา พร้อมวิธีปลูกสะเดา

26 มี.ค. 61 17:03
รวยด้วยการขายสะเดา พร้อมวิธีปลูกสะเดา

รวยด้วยการขายสะเดา พร้อมวิธีปลูกสะเดา

รวยด้วยการขายสะเดา พร้อมวิธีปลูกสะเดา


บทความนี้ก็ว่าด้วยเรื่องวิธีรวยด้วยการขายสะเดา ก็เป็นอีกหนึ่งพืชที่สร้างรายได้ ขายได้เรื่อยๆ ถ้าใครสนใจจะขายสะเดาก็ลองอ่านบทความนี้ดูก่อนนะครับ

จากเมล็ดสะเดาสู่การปลูกพืชอย่างยั่งยืน

สะเดาเป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรไทยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ และเป็นพืชที่เคยได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เพื่อป้องกันกำจัดแมลงเพื่อทดแทนการใช้สารเคมี แต่เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความความเข้าใจในการใช้สารสกัดจากสะเดาที่ถูกต้อง อีกทั้งการใช้เมล็ดสะเดาเป็นวัตถุดิบในการสกัดสารยังไม่ได้มาตรฐานทำให้การใช้สารสกัดจากสะเดาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เกษตรกรจึงขาดความเชื่อมั่นในการใช้สารสกัดธรรมชาติ อย่างไรก็ดีปัจจุบันนี้สารสกัดจากสะเดายังคงได้รับความสนใจอยู่มากเนื่องจากกระแสการบริโภคที่เปลี่ยนเป็นการบริโภคเพื่อสุขภาพอนามัย การผลิตพืชอาหารเลี้ยงประชากรจึงต้องใส่ใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น เคหการเกษตรจึงขอนำเสนอเรื่องราวของสะเดาเพื่อเป็นข้อมูลเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้สารสกัดสะเดาอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างยั่งยืนในอนาคต

สิ่งสำคัญที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ การปรุงแต่งสารสกัดสะเดาโดยใช้สารสกัดสะเดาผสมกับขิง ข่า ตะไคร้หอม เพราะเข้าใจว่าจะได้ผลดี แต่การทำอย่างนั้นกลับทำให้สารอะซาดิแรคตินออกฤทธิ์ป้องกันกำจัดแมลงได้น้อยลง

สะเดาในประเทศไทย

สะเดาที่ปลูกในบ้านเรามีอยู่ 3 ชนิดได้แก่

สะเดาไทย


สะเดาไทย เป็นชนิดที่ปลูกง่ายและโตเร็วจึงมีปลูกอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและนิยมนำยอดและดอกมารับประทาน สะเดาไทยจะมีการเจริญเติบโตในพื้นที่แห้งแล้งและไม่ชอบดินที่มีน้ำท่วมขัง

สะเดาอินเดีย


สะเดาอินเดีย มักพบมากบริเวณชายทะเลและภาคเหนือ ซึ่งมีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายกับสะเดาไทยและมีขนาดต้นตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับเล็ก

สะเดาเทียม


สะเดาเทียมหรือสะเดาช้าง นั้นเป็นชนิดที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ตั้งแต่ จ.ชุมพร, สุราษฎร์ธานีลงไปจนถึงสงขลาและพัทลุง เพราะสะเดาพันธุ์นี้สามารถจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูงประมาณ 1,600-2,000 มิลลิเมตรต่อปี และชอบดินร่วนปนทรายมีการระบายน้ำดี สะเดาเทียมเป็นไม้ยืนต้นชนิดไม่ผลัดใบและจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม


สะเดาได้ชื่อว่าเป็นไม้เอนกประสงค์เพราะทุกส่วนของสะเดาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก ผล ลำต้น กิ่งไปจนถึงราก ซึ่งลักษณะการใช้ประโยชน์โดยทั่วไปของสะเดาแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การใช้ประโยชน์จากลำต้นและการใช้ประโยชน์จากส่วนที่ไม่ใช่ลำต้น สำหรับส่วนของลำต้นจะนิยมเป็นไม้ก่อสร้างบ้านเรือนเนื่องจากไม้สะเดา มีการบิดแตกหรือหกตัวน้อย มีความคงทนสูง ขัดชักเงาได้ดี จึงนิยมใช้ทำไม้ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และไม้เผาถ่าย ส่วนการใช้ประโยชน์จากส่วนอื่นนอกจากลำต้นได้แก่ ใบสะเดานิยมนำมาลวกจิ้มน้ำพริกเพื่อบำรุง สุขภาพให้แข็งแรง กิ่งสะเดาสามารถใช้ทำแปรงสีฟันได้ นอกจากนี้สะเดายังมีประโยชน์ในการปลูกเป็นไม้บังแดดหรือใช้จัดสวนได้อีกด้วย

สำหรับประโยชน์ของสะเดาในด้านเกษตร คือ การใช้สารสกัดจากสะเดาในการป้องกันกำจัดแมลง ซึ่งทุกส่วนของสะเดามีสารที่มีคุณสมบัติทางยามากกว่า 60 ชนิด โดยมีสารอะซาดิแรคติน (Azadirachtin : aza) เป็นสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลงที่พบมากในส่วนของเมล็ดสะเดา โดยผลจากการศึกษาพบว่าเมล็ดของสะเดาอินเดียเป็นพันธุ์ที่มีสารอะซาดิแรคตินสูงกว่าทุกพันธุ์โดยมีปริมาณสาร 4.7-4.8 มิลลิลิตรต่อกรัม เนื้อเมล็ด ส่วนเมล็ดสะเดาไทยมีสารอะซาดิแรคตินอยู่ 0.5-4.6 มิลลิลิตรต่อกรัม จะสังเกตได้ว่าปริมาณสารอะซาดิแรคตินของสะเดาไทยมีปริมาณแตกต่างกันมากเนื่องจากสะเดาไทยเป็นพันธุ์ที่มีความหลากหลายสูงจึงมีความแตกต่างทางพันธุกรรมมาก ส่วนสะเดาช้างมีปริมาณสารอะซาดิแรคตินในเมล็ด 0.3-3.57 มิลลิลิตรต่อกรัม สารอะซาดิแรคตินนี้เป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายจึงเป็นข้อจำกัดของสารสกัดจากสะเดา

สารอะซาดิแรคตินนี้จะมีผลต่อแมลงหลายลักษณะ เช่น ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนที่แมลงใช้ในการลอกคราบ ทำให้ระบบกระเพาะอาหารของแมลงทำงานได้น้อยลงแมลงจึงไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ เป็นสารไล่แมลง ยับยั้งการวางไข่จึงทำให้ประชากรของแมลงลดลงในที่สุด

สารสกัดจากสะเดากับการป้องกันกำจัดแมลง

สารสกัดจากสะเดาสามารถใช้ป้องกันกำจัดแมลงได้มากกว่า 200 ชนิด โดยส่วนใหญ่จะได้ผลมากกับแมลงประเภทปากกัดกินใบมากกว่าแมลงปากดูด เนื่องจากสารสกัดจากสะเดาจะได้ผลกับแมลงที่สัมผัสหรือกินสารนี้เข้าไปแต่แมลงปากดูดจะใช้ปากเจาะท่อน้ำท่ออาหารของพืชจึงมีโอกาสได้รับสารอะซาดิแรคตินของสะเดาได้น้อยมาก จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดสะเดาในการป้องกันกำจัดแมลงพบว่า สารสกัดจากสะเดาใช้ได้ผลดีกับหนอนต่างๆ เช่น หนอนหนังเหนียว หนอนใยผัก หนอนชอนใบ หนอนม้วนใบ หนอนบุ้ง หนอนแก้ว หนอนหัวกะโหลกและเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไกแจ้ ดังนั้นในการใช้สารสกัดสะเดาเพื่อกำจัดแมลงเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้อนพ่นสลับกับสารเคมีสังเคราะห์ยกเว้นแต่ในบางพื้นที่ที่หนอนใยผักมีความต้านทานต่อสารเคมีสังเคราะห์จึงควรใช้สารสกัดจากสะเดาพ่นสลับกับสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง

ส่วนแมลงพวกหนอนเจาะต่างๆ และแมลงวันทอง เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง สามารถใช้สารสกัดสะเดากำจักได้ผลปานกลาง ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดควรพ่นสารเคมีกำจัดแมลง 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นจึงใช้สารสกัดสะเดาต่อไป

สารสกัดสะเดาจะใช้ไม่ได้ผลกับแมลงพวกด้วงปีกแข็ง หมัดกระโดด มวนแดง มวนเขียว จึงอาจเลือกใช้พืชสมุนไพรชนิดอื่นหรือสารป้องกันกำจัดแมลงเข้ามาช่วย สารสกัดสะเดาสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางกับพืชหลายชนิด เช่น พืชตระกูลส้ม มะม่วง พืชผักตระกูลกะหล่ำ อย่างไรก็ตามสะเดาสามารถใช้ได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ปลูกและระยะเวลาที่แมลงระบาดด้วย หากใช้สะเดาในพื้นที่ปลูกที่มีแมลงระบาดด้วย หากใช้สะเดาในพื้นที่ปลูกที่มีแมลงระบาดหนักในช่วงนั้นการใช้สะเดาเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้ผลจึงควรใช้สารเคมีพ่น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อลดการระบาดของแมลงในระดับหนึ่งก่อน ต่อจากนั้นจะใช้สารสกัดสะเดาพ่นหรือถ้าแมลงบางชนิดที่สะเดาใช้ได้ผลไม่ดีนักผู้ปลูกอาจทำการใช้สารเคมีพ่นสลับกับสารสกัดจากสะเดาด้วยก็ได้เพราะการใช้สะเดาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลเสมอไป แต่การใช้สารเคมีก็ควรเลือกชนิดของสารที่ไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติด้วย

วิธีการเก็บเมล็ดให้สารอะซาดิแรคตินคงคุณภาพ
MulticollaC

คุณภาพเมล็ดสะเดาจะมีผลโดยตรงต่อปริมาณของสารอะซาดิแรคตินซึ่งสูญสลายได้ง่าย ดังนั้นวิธีเก็บและการเก็บรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก จากการศึกษาของกรมวิชาการเกษตรพบว่าเมล็ดสะเดาในระยะสุกจะมีปริมาณสารอะซาดิแรคตินสูงกว่าเมล็ดในผลอ่อน การเก็บเมล็ดสะเดาจึงควรเลือกเก็บผลที่มีสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียวและไม่ควรเก็บเมล็ดสะเดาที่ร่วงอยู่ใต้ต้นเพราะเมล็ดที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกบนพื้นดินจะมีโอกาสเกิดเชื้อราเข้าทำลายได้ง่ายทำให้สารอะซาดิแรคตินมีประสิทธิภาพต่ำ สำหรับการเก็บเมล็ดสะเดาไว้ใช้เองควรจะนำเมล็ดตากแดดประมาณ 2-3 อาทิตย์ต่อจากนั้นจึงนำมาผึ่งในที่ร่ม 2-4 สัปดาห์จนเมล็ดแห้งสนิทจึงนำไปเก็บไว้ในตาข่ายที่โปร่งแสง แต่สำหรับการเก็บเมล็ดเพื่อนไไปผลิตเป็นการค้าจะต้องทำการแยกเนื้อออกจากเมล็ดก่อนแล้วจึงนำเมล็ดไปตากแดดผึ่งลม ซึ่งโรงงานบางแห่งจะนำเมล็ดเข้าเครื่องอบแห้งโดยใช้อุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง จนเหลือความชื้น 10% จึงเก็บใส่ถุงตาข่ายและเก็บไว้ในห้องเย็น การเก็บเมล็ดสะเดาสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี โดยจะต้องเก็บให้ห่างจากอุณหภูมิและความชื้นสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สารอะซาดิแรคตินเสื่อมสภาพได้ง่าย สำหรับการเก็บในรูปสะเดาผงจะมีการสูญสลายได้ง่ายมากกว่าการเก็บเมล็ด เนื่องจากการเก็บในรูปแบบผงจะมีโอกาสที่สารอะซาดิแรคตินสัมผัสกับความชื้นอากาศและแสงได้มากจึงเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้สารอะซาดิแรคตินเสื่อมสภาพได้ง่าย

การสกัดสารจากสะเดาแบบง่ายๆ ทำเองได้

การสกัดสารจากสะเดาสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายและสามารถทำใช้เองในสวนได้คือ การสกัดด้วยน้ำโดยนำผงสะเดาแห้ง 1 กิโลกรัม แช่น้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาน้ำที่สกัดได้ผสมกับสารจับใบพ่นให้กับต้นพืชแต่เนื่องจากสารสกัดสะเดาสลายตัวได้ง่ายจึงเก็บไว้ใช้ได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น การสกัดสะเดาด้วยวิธีนี้จึงเหมาะสำหรับการสกัดเพื่อใช้งานทันที ดังนั้นเกษตรกรจึงควรวางแผนการปลูกพืชเพื่อเตรียมสารสกัดจากสะเดาให้เพียงพอสำหรับการปลูกพืชในฤดูนั้น

รูปแบบการสกัดสะเดาทางอุตสาหกรรม

การสกัดสะเดาอีกวิธีหนึ่งเป็นการสกัดด้วยสารเคมีโดยนำเมล็ดสะเดาที่กระเทาะเปลือกออกแล้วมาบดละเอียดเพื่อนำมาสกัดน้ำมันออกโดยใช้เฮกเซนเป็นตัวสกัด หลังจากนั้นจะทำการสกัดสารอะซาดิแรคตินโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวสกัดซึ่งการสกัดโดยทั่วไปจะใช้เมทธิลแอลกอฮอล์ คุณภาพของสารสกัดที่ได้อาจจะด้อยกว่าการใช้เอทธิลแอลกอฮอล์บ้างเล็กน้อย แต่คุ้มค่ามากกว่าเพราะเอทธิลแอลกอฮอล์มีราคาแพงเนื่องจากถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสุราจึงมีอัตราภาษีศุลกากรสูง ทำให้ราคาสูงตามไปด้วย ดังนั้นในการสกัดสารจากสะเดาจึงเลือกใช้เอทธิลแอลกอฮอล์ซึ่งราคาไม่แพงและหาซื้อได้ไม่ยากหลังจากผ่านกรรมวิธีการสกัดสารอะซาดิแรคตินแล้วจะถูกนำมาเติมสารปรุงแต่งเพื่อให้เหมาะสมในการใช้งาน

สารสกัดสะเดาไม่ได้มีการผลิตใช้กันแต่เฉพาะในบ้านเราเท่านั้น ต่างประเทศก็มีเหมือนกันซึ่งเขาได้มีการศึกษาวิจัยกันมานานร่วม 20 ปีมาแล้วจนสามารถผลิตเป็นการค้าในชื่อว่า “ไตรแอ็ด” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนกับองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา (EPA) พร้อมกับจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นผู้ที่สนใจคิดจะผลิตสารสกัดเป็นการค้าก็จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรด้วย

ข้อดีและข้อเสียของสารสกัดสะเดา

สารสกัดจากสะเดาเป็นสารธรรมชาติจึงไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และไม่มีสารตกค้างในธรรมชาติเนื่องจากสารสกัดจากสะเดามีการสลายตัวค่อนข้างเร็วเพียง 5-7 วัน จะเกิดการสลายตัวหมด ซึ่งเป็นผลดีทำให้แมลงไม่สามารถสร้างความต้านทานได้ทัน โอกาสที่แมลงจะเกิดการดื้อยาจึงน้อยกว่าการใช้สารเคมี ข้อดีที่สำคัญคือ สารสกัดจากสะเดาไม่ทำลายศัตรูธรรมชาติ เช่น ตัวห้ำ ตัวเบียนและแมลงผสมเกสาร ทำให้ระบบนิเวศน์ไม่ถูกทำลาย นอกจากนี้การใช้สารสกัดจากสะเดาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะช่วยให้ระบบนิเวศน์สมดุลทำให้การพ่นสารสกัดสะเดาจะเริ่มห่างมากขึ้นต่างจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่ยิ่งใช้มากยิ่งเกิดปัญหาแมลงระบาดหนักมากขึ้น อย่างไรก็ตามการพ่นสารสกัดสะเดาในบางครั้งอาจไม่ทำให้แมลงตายในทันทีเนื่องจากแมลงอาจได้รับสารที่มีความเข้มข้นไม่มากพอทำให้แมลงไม่ตาย แต่เมื่อแมลงโตเต็มวัยแมลงเพศเมียจะสร้างไข่ได้น้อยและฟักไข่ได้น้อยลง ทำให้ประชากรแมลงลดปริมาณลงในที่สุด

แม้การใช้สารสกัดจากสะเดาจะมีข้อดีหลายประการแต่ต้องไม่ลืมว่าสารสกัดจากสะเดาไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถกำจัดแมลงได้ทุกชนิด เพราะจากที่กล่าวมาแล้วว่าสารสกัดจากสะเดาใช้ได้ผลดีกับแมลงบางกลุ่มเท่านั้นและมีแมลงบางกลุ่มที่ใช้ไม่ได้ผล ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องศึกษาคุณสมบัติของสารสกัดสะเดาให้ละเอียดก่อน เริ่มต้นใช้และเนื่องจากสะเดามีการสลายตัวเร็วทำให้ต้องพ่นสารบ่อยครั้ง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมสมดุลย์แล้วระยะการพ่นสารสะเดาก็จะเริ่มห่างมากขึ้น

กากสะเดา วัสดุใช้ทำปุ๋ยได้ดี

กากสะเดาเป็นวัสดุที่ได้จากขบวนการสกัดสารจากสะเดาโดยส่วนของกากจะสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยบำรุงดิน ซึ่งการศึกษาคุณสมบัติของกากสะเดาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพบว่ากากสะเดามีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน 5.18% ฟอสฟอรัส 0.46% โปแตสเซียม 0.88% และทำการทดสอบประสิทธิภาพของกากสะเดากับข้าว มันเทศและผักคะน้า โดยทำการทดลองที่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม พบว่าการใช้กากสะเดาในอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ดีและผลผลิตที่ได้ก็ดีด้วย นอกจากนี้กากสะเดายังยับยั้งการเจริญของเชื้อ Penicillium citrinum แต่ไม่มีผลในการป้องกันกำจัดแมลง




ปลูกสะเดาไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับท่านที่สนใจคิดจะปลูกสะเดาคงต้องบอกว่าการปลูกสะเดาไม่ใช่เรื่องยากเพราะสะเดาเป็นไม้ที่ปลูกง่าย โตเร็ว วิธีการปลูกก็ไม่ยุ่งยากนักเพียงแต่ผู้ปลูกจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์เป็นหลักว่าต้องการปลูกสะเดาเป็นพืชหลัก พืชรอง หรือต้องการปลูกสะเดาเป็นพืชหลัก พืชรองหรือต้องการปลูกเป็นไม้กันลม เพื่อกำหนดระยะปลูกให้เหมาะสม ระยะปลูกสะเดาที่กรมวิชาการเกษตรได้แนะนำไว้คือ 2×4 เมตร ซึ่งสามารถปรับระยะให้ห่างหรือถี่ตามความต้องการ โดยในช่วงแรกอาจจะปลูกระยะถี่ 1×2 เมตร หลังจากนั้น 3 ปี จึงทำการตัดสางต้น (ตัดต้นเว้นต้น) เพื่อปรับระยะปลูกให้ห่างมากขึ้น สำหรับการปลูกสะเดาไว้เก็บเมล็ดเพื่อทำสารกำจัดแมลงควรใช้ระยะห่างเพื่อให้สะเดาสามารถเจริญเติบโตเร็วและติดผลมากเพราะการปลูกสะเดาในระยะถี่จะทำให้สะเดามีการเจริญเติบโตทางด้านความสูงมากกว่าการขยายทางด้านกว้าง การปลูกระยะถี่จึงเหมาะกับการปลูกไว้เพื่อขายลำต้นเป็นไม้ก่อสร้างบ้านเรือน

ส่วนเรื่องของการดูแลรักษานั้นเพียงแต่ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอสักปีละ 2 ครั้งก็พอ ซึ่งสะเดานั้นไม่จำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่มากเหมือนพืชชนิดอื่น แต่ในช่วงที่เป็นต้นกล้ามักจะมีแมลงมากัดกินใบจะต้องกำจัดแมลงด้วยการพ่นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม

สำหรับวิธีการขยายพันธุ์สะเดานั้น สามารถเลือกได้หลายวิธีเพราะสะเดาขยายพันธุ์ได้ง่ายทั้งวิธีการเพราะเมล็ด ติดตา ต่อกิ่ง ปักชำ แต่ส่วนใหญ่มักจะนิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดมากว่าเพราะสะดวกรวดเร็วได้จำนวนต้นมากและมีระบบรากแก้วทนแล้งได้ดีกว่า

การให้ผลผลิตของสะเดา

โดยธรรมชาติแล้วสะเดาจะมีการติดผลเพียงปีละหนเท่านั้น ซึ่งสะเดาที่ปลูกด้วยการเพาะเมล็ดจะเริ่มติดผลเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป แต่สะเดาที่ขยายพันธุ์ด้วยการติดตาต่อกิ่งจะเริ่มติดผลเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุสูงขึ้น สะเดาที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปจะมีผลผลิตประมาณ 10-50 กิโลกรัมต่อต้น แยกเป็นส่วนของเมล็ดได้ 5-8 กิโลกรัมต่อต้น ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยหลายประการประกอบกัน

สะเดาแนวสวน ยั่งยืนในอนาคต

ปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมีการนำเข้าสารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดแมลงมีมูลค่าไม่น้อย การใช้สารสกัดสะเดาจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทำให้ลดการใช้สารเคมีและยังช่วยให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง การปลูกสะเดาร่วมกับพืชปลูกจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการปลูกพืชและทำสวนในยุคนี้เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์ในการป้องกันแมลงแล้วส่วนอื่นของสะเดายังสามารถสร้างรายได้ได้อีกด้วย หรือถ้าใครคิดอยากจะปลูกสะเดาเป็นพืชเดี่ยวเพื่อผลิตสารสกัดสะเดาเป็นการค้าก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับปลูกสะเดา การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อใช้พื้นที่ปลูกร่วมกันแล้วผลิตสารสกัดสะเดาก็น่าจะเป็นวิธีที่แก้ปัญหาตรงนี้ได้ ทั้งนี้การใช้สารสกัดสะเดาให้ได้ผลนั้นเกษตรกรควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการใช้ก่อนเพราะสารสกัดธรรมชาติมีจุดอ่อนในเรื่องของการสลายตัวได้ง่าย จึงต้องศึกษาวิธีใช้ให้เข้าใจเพื่อให้สารสกัดสะเดามีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงได้มากที่สุด

โพสต์โดย : Ao