Social :



อาชีพเสริมปลูกดาวเรือง 2 เดือนเก็บขายได้ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท

14 เม.ย. 61 08:04
อาชีพเสริมปลูกดาวเรือง 2 เดือนเก็บขายได้ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท

อาชีพเสริมปลูกดาวเรือง 2 เดือนเก็บขายได้ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท

อาชีพเสริมปลูกดาวเรือง 2 เดือนเก็บขายได้ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท


คุณบุญเรือง เพชรนา อยู่บ้านเลขที่ 37/1 หมู่ที่ 8 ตำบลบางไผ่ อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร โทร. (089) 641-0466, (085) 400-0571 เป็นเกษตรกรผู้สนใจและเริ่มปลูกดาวเรืองมาได้เพียง 1 ปี บอกเล่าถึงประสบการณ์และความรู้ในการปลูกดาวเรืองเพื่อตัดดอกจำหน่ายว่า เริ่มจากตนเองปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่ว แต่มีเกษตรกรซึ่งเป็นญาติกันปลูกดอกดาวเรืองมาก่อน จึงเกิดความสนใจที่จะทดลองปลูก เพราะเห็นว่าพอขายได้และใช้เวลาปลูกไม่นานนัก เพียง 2 เดือน ก็สามารถตัดดอกจำหน่ายสร้างรายได้ ไร่ละ 2-3 หมื่นบาท



จึงตัดสินใจทดลองปลูกดาวเรือง ทั้งๆ ที่ไม่เคยปลูกมาก่อน ขาดประสบการณ์และความรู้ เพียงแค่สอบถามความรู้จากเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกมาก่อนตนเอง ผลที่ออกมาก็พอมีดอกให้ได้เก็บ แต่ดอกมีขนาดเล็ก อาจจะด้วยการดูแลและสายพันธุ์ดาวเรืองที่นำมาปลูกประกอบกัน

แต่ที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องของตลาดรับซื้อ ซึ่งถ้าเราหาตลาดเอง มักจะเกิดปัญหาในการรับซื้อที่ไม่แน่นอน รับซื้อดอกไม่ต่อเนื่อง ให้ราคาที่ต่ำ ทำให้ผลผลิตคือดอกดาวเรืองไม่ได้เก็บขายตามเป้าหมายทำให้เสียโอกาสเสียเวลา


คุณบุญเรือง เพชรนา เล่าว่า จนมาเข้ากลุ่มกับ กองบิน 64 อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เรืออากาศโทณัฐศิษย์ ทองบุญชู ผู้ดูแลโครงการปลูกดอกดาวเรือง ของกองบิน 64 โทร. (086) 929-5334 ที่ประสบผลสำเร็จจากการทำโครงการเกษตรในกองบิน 64 โดยเฉพาะการปลูกดอกดาวเรืองตัดดอก

ซึ่งปัจจุบันก็ขยายโอกาสเปิดรับสมาชิกที่เป็นเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยรับซื้อดอกดาวเรืองจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง และยังดูแลให้ความรู้เรื่องการปลูกดูแลรักษาดาวเรืองให้กับเกษตรกรมือใหม่เป็นอย่างดี ทำให้ตนเองมั่นใจเรื่องการตลาดมากขึ้น มีการรับซื้อถึงที่ รับซื้อดอกดาวเรืองทุกเกรด ทุกขนาด จากเกษตรกร ตั้งแต่มีดแรกจนถึงมีดสุดท้าย เพียงแต่เกษตรกรทำดอกได้สวยไม่มีโรคแมลงทำลายก็จะรับซื้อทั้งหมด


ทำให้ คุณบุญเรือง จากที่ปลูกดาวเรืองไว้ 4,000 ต้น ก็เตรียมเพาะกล้าปลูกเพิ่มอีก 4,000 ต้น รวมเป็น 8,000 ต้น

คุณบุญเรือง อธิบายต่อว่า การปลูกดาวเรืองเพื่อตัดดอกขายนั้น เมื่อมีตลาดรองรับแล้ว เกษตรกรต้องมีความละเอียด หมั่นสังเกตโรคและแมลงศัตรู และรู้วิธีแก้ไขโรค-แมลง หรือเตรียมการป้องกันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูกกันทีเดียว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องของโรคเชื้อราทั้งทางดินและทางใบ



การเพาะเมล็ด

และดูแลต้นกล้าดาวเรือง

วัสดุเพาะเมล็ดที่แนะนำคือ “พีสมอสส์” ที่หาซื้อได้ตามร้านอุปกรณ์เกษตร หรือร้านจำหน่ายสารเคมี ซึ่งนิยมนำมาเพาะกล้าพืชต่างๆ เนื่องจากพีสมอสส์มีธาตุอาหารที่เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตในช่วงแรกของต้นกล้า และขุยมะพร้าวร่อนซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี

โดยใช้พีสมอสส์ 2 ส่วน ผสมกับขุยมะพร้าวร่อน 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุลงถาดหลุมรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ ให้มีความชื้นหมาดๆ คือใช้มือกำวัสดุเพาะ ถ้ากำแล้วเป็นก้อนเป็นอันใช้ได้ หรือจะใช้พีสมอสส์เดี่ยวๆ ก็ได้ เช่นเดียวกับคุณบุญเรือง ใช้พีสมอสส์ล้วนๆ ในการเพาะเมล็ดดาวเรือง เพราะได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ และประกอบกับไม่ได้เพาะเมล็ดจำนวนมากๆ เหมือนสวนใหญ่ๆ ที่ต้องใช้ขุยมะพร้าวมาเป็นส่วนผสมในการลดต้นทุนวัสดุปลูก

เมื่อนำวัสดุปลูกใส่ในถาดเพาะ จะเลือกใช้ถาดเพาะแบบ 200 หลุม ใส่วัสดุเพาะจนเต็มหลุม เกษตรกรบางท่านอาจจะใช้ไม้จิ้มทำหลุมแล้วนำเมล็ดดาวเรืองวางเรียงลงหลุมแนวนอน แต่วิธีการทำหลุมเพื่อหยอดเมล็ดของคุณบุญเรือง จะใช้วิธีการเรียงซ้อนกันของถาดเพาะ ซึ่งก้นแหลมๆ ของถาดเพาะจะกดวัสดุปลูกเป็นหลุมได้อย่างพอดี จากนั้นก็นำเอาเมล็ดมาหยอด วางเมล็ดแนวนอน หลุมละ 1 เมล็ด แล้วใช้พีสมอสส์กลบเมล็ด ปาดให้วัสดุเพาะเสมอ

จากนั้นก็จะรดน้ำ การรดน้ำจะใช้กระบอกฉีดน้ำพ่น เพราะมีหัวฝอยขนาดเล็ก ไม่ควรใช้น้ำจากสายยางหรือบัวรดน้ำที่มีรูขนาดใหญ่รดน้ำ

แต่เทคนิคเพิ่มเติมคือ การใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อคลุมถาดเพาะเอาไว้ เพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ ซึ่งจะส่งผลให้การงอกของเมล็ดดอกดาวเรืองดีและขึ้นอย่างสม่ำเสมอ

หลังจากนั้น 2-3 วัน เป็นช่วงที่เมล็ดพัฒนาการงอกให้ต้นกล้าได้รับการพรางแสง ประมาณ 80% เมื่อต้นกล้ามีใบเลี้ยงบานเต็มที่ ให้มีการพรางแสง ประมาณ 50% เป็นเวลา 2-3 วัน จากนั้นเมื่อต้นกล้าพัฒนาใบจริงขึ้นมา 1 คู่ จึงสามารถให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดปกติโดยไม่มีการพรางแสง

เมื่อต้นกล้าอายุได้ ประมาณ 13-15 วัน หลังจากวันเพาะ หรือให้สังเกตว่าต้นกล้ามีใบจริง ประมาณ 1-2 คู่ หรือรากเจริญเต็มหลุมหรือลำต้นมีสีแดง จึงสามารถย้ายปลูกลงแปลงได้

ในช่วงนี้เกษตรกรควรเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งหากต้นกล้าที่เพาะมีความสมบูรณ์แข็งแรงดี การเจริญเติบโตหลังจากลงแปลงก็จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การย้ายกล้าในกรณีที่ต้นกล้ามีอายุมากเกินไป หรือเกิน 18-20 วัน จะทำให้ระบบรากแพร่กระจายได้ช้า การเจริญเติบโตก็ช้าไปด้วย และในบางที่การเพาะเมล็ดในช่วงฤดูหนาวเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงฤดูหนาวเมล็ดดาวเรืองมักจะงอกช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกสายพันธุ์ สาเหตุอาจเนื่องมาจากว่าความหนาวเย็นไปทำให้การเจริญเติบโตของเมล็ดช้าลง ทำให้การงอกของเมล็ดช้ากว่าฤดูกาลปกติ 1-2 วัน

ดังนั้น เพื่อให้การงอกของเมล็ดเร็วขึ้น จึงแนะนำให้เกษตรกรใช้ผ้าคลุมแปลงเพาะ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่แปลงเพาะ หรือโดยการแช่เมล็ด ด้วยสารละลายโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) ก่อนที่จะเพาะ เนื่องจากสารละลายโพแทสเซียมไนเตรต มีคุณสมบัติในการแก้การฟักตัวของเมล็ดพืชได้


การเตรียมแปลง

Lif
วัสดุปรับปรุงดินมีดังนี้ โดโลไมท์ ใส่เพื่อปรับปรุงค่าความเป็นกรด-ด่าง ในดิน ซึ่งค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมกับการปลูกดาวเรือง จะอยู่ในระดับ 6.5-6.8 อัตรา 0.5 ตัน ต่อไร่ แกลบดิบ ใส่เพื่อให้ดินร่วนซุย เหมาะสำหรับแหล่งที่เป็นดินเหนียวไม่ร่วนซุย ระบายน้ำไม่ดี อัตรา 2 ตัน ต่อไร่ และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตัน ต่อไร่

การขึ้นแปลงปลูกดอกดาวเรือง ความสูงของแปลง 25-30 เซนติเมตร สำหรับแปลงปลูกที่ปลูกแบบยกแปลงและให้น้ำตามร่องน้ำ ส่วนการปลูกบนที่ดอน อาจไม่จำเป็นต้องขึ้นแปลง ขึ้นอยู่กับช่วงฤดู ลักษณะดิน ลักษณะพื้นที่

ความกว้างของแปลงปลูก 80-100 เซนติเมตร สำหรับหลังแปลงหากวัดจากฐานแปลง ประมาณ 110-120 เซนติเมตร ระยะระหว่างแปลง ประมาณ 40-50 เซนติเมตร หรือตามความเหมาะสม เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว

ในบางพื้นที่หรือบางสวนมีการใช้พลาสติกคลุมแปลง เพื่อลดปัญหาวัชพืชในแปลงปลูก แล้วเจาะรูบนพลาสติก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร หรือไม่ปูพลาสติกคลุมแปลง ก็จะต้องมีการฉีดยาคลุมหญ้าพ่นสารกำจัดวัชพืชแบบควบคุมก่อนงอกด้วยสารอะลาคลอร์ ในช่วงระหว่าง 2-3 วัน ก่อนการย้ายปลูก

ในช่วงพ่นสารกำจัดวัชพืชดินต้องมีความชื้นเพียงพอ เพื่อสารเคมีกระจายคลุมเมล็ดวัชพืชได้อย่างทั่วถึงโดยไม่ถูกดูดซับด้วยอนุภาคดิน

ส่วนปุ๋ยรองพื้น ให้ 15-15-15 และ 15-0-0 ผสมกัน ในอัตรา 1:1 ใช้ในปริมาณที่ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมลงในแปลง หรือรองก้นหลุม


การย้ายกล้าดาวเรืองปลูก

ไม่ควรย้ายกล้าดาวเรืองไปปลูกในขณะที่ต้นกล้ามีอายุมากจนเกินไป เพราะการย้ายกล้าที่มีอายุมากทำให้ระบบรากของพืชแผ่กระจายได้ช้า เนื่องจากระบบรากแก่เกินไป

ดังนั้น การย้ายกล้าในขณะที่รากของพืชยังไม่แก่เกินไป จะทำให้ระบบรากของพืชมีการพัฒนาได้ดีกว่า การหาอาหารของรากพืชก็เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

โดยอายุของต้นกล้าไม่ควรเกิน 20 วัน แนะนำให้ย้ายปลูกในช่วงบ่ายหรือเย็นเป็นต้นไป เนื่องจากต้นกล้าสามารถตั้งตัวได้ดีกว่าการย้ายปลูกตั้งแต่ช่วงเช้า

อย่างปลูกช่วงเย็น คุณบุญเรือง จะให้น้ำไว้ก่อนช่วงเช้าเพื่อให้ดินพอมีความชื้น ระยะปลูกจะใช้ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถว ประมาณ 1-1.2 เมตร แล้วแต่ฤดูกาล ช่วงหน้าหนาวและหน้าร้อนแนะนำให้ปลูกแถวคู่ จะช่วยในการเก็บความชื้นในดิน ส่วนหน้าฝนแนะนำให้ปลูกแถวเดี่ยว ซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดโรคได้ดี

แต่ถ้าระยะห่างในการปลูกดอกดาวเรืองในหน้าหนาว ควรอยู่ที่ 40 เซนติเมตร ซึ่งแตกต่างจากฤดูกาลอื่น และการปลูกเป็นแถวคู่จะให้ผลดีกว่าการปลูกแถวเดี่ยว เพราะในช่วงฤดูหนาวความชื้นในดินและอากาศมีน้อย

การปลูกเป็นแถวคู่จะสามารถเก็บความชื้นในดินได้ดีกว่าการปลูกแถวเดี่ยว

แต่ในช่วงฤดูฝนแนะนำให้ปลูกแถวเดี่ยว เนื่องจากสามารถลดการเกิดโรคพืชได้ หรือบางท่านประยุกต์ใช้ระยะปลูกที่เหมาะสมให้เหมาะกับสายพันธุ์ดาวเรืองที่นำมาปลูก เช่น กลุ่มดาวเรืองต้นสูง ใช้ระยะปลูก 45x45 เซนติเมตร (55x55 เซนติเมตร สำหรับฤดูฝน) กลุ่มดาวเรืองต้นกึ่งสูง ใช้ระยะปลูก 45x45 เซนติเมตร (35x35 เซนติเมตร สำหรับฤดูหนาว) และกลุ่มดาวเรืองต้นเตี้ย ใช้ระยะปลูก 35x35 เซนติเมตร


ระบบน้ำดาวเรือง

การให้น้ำดาวเรืองตัดดอกมีหลากหลายวิธี ซึ่งมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน การเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับการปลูกดาวเรืองตัดดอก ก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่คือ คุณบุญเรือง อธิบายว่าตนเองยังเป็นมือใหม่ เลยเลือกใช้ระบบปล่อยน้ำเข้าร่องแปลงปลูก เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ให้น้ำ และถนัดการให้น้ำแบบนี้ เนื่องจากใช้กับการปลูกข้าวโพดมาก่อน

ซึ่งวิธีนี้จะทำให้น้ำไม่ค้างบนดอก เหมือนการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ และช่วยลดอุณหภูมิในดิน ทำให้ระบบรากเติบโตดี แต่จะมีปัญหากับการระบาดของโรคทางดินได้ง่าย และเป็นอุปสรรคในช่วงการเก็บเกี่ยวเนื่องจากต้องเดินบนร่องน้ำ

แต่สวนดาวเรืองใหญ่ๆ ที่เห็นจะใช้วิธีการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ และระบบน้ำหยด เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณน้ำ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะใช้น้ำน้อยกว่าการให้ตามร่อง

ข้อเด่นของการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ง่าย ช่วยลดอุณหภูมิช่วงอากาศร้อน และช่วยชะลอน้ำค้าง น้ำฝน จากดอกและใบ ลดปัญหาการเกิดโรคได้

ข้อด้อย จะมีน้ำค้างบนดอกและจะเกิดจากการระบาดโรคดอกลายหากเกษตรกรให้น้ำในช่วงเย็น

ส่วนการให้น้ำในระบบน้ำหยด ข้อเด่น สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ ประหยัดน้ำ น้ำไม่สัมผัสส่วนของใบและดอก ช่วยลดการเกิดโรคดอกลาย ใบจุด และสามารถให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำได้ ทำให้จำนวนครั้งของการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น

ข้อด้อย ระบบนี้ใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง โดยเรื่องของระบบน้ำนั้นก็ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมและปัจจัยของแต่ละคนไป


การเด็ดยอด

หลังจากปลูกลงแปลงได้ประมาณ 10-15 วัน เด็ดยอดดาวเรือง โดยให้ดาวเรืองเหลือใบจริงไว้ 3 คู่ (6 ใบ) เด็ดคู่ที่ 4 ทิ้งไป เพื่อให้ต้นดาวเรืองแตกกิ่งเป็นพุ่ม จะได้สามารถให้ดอกได้เป็นจำนวนมาก

โดยในช่วงฤดูกาลปกติ การปลูกดาวเรืองที่ไม่ได้เด็ดยอด จะทำให้ดาวเรืองสามารถออกดอกได้เร็วกว่า ต้นที่เด็ดยอด ประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาวที่เป็นช่วงวันสั้น หากไม่เด็ดยอด ก็จะทำให้ดาวเรืองออกดอกเร็วยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่ลำต้นและกิ่งก้านยังไม่มีความสมบูรณ์เท่าที่ควร เป็นสาเหตุให้ผลผลิตที่ได้มีปริมาณไม่มากเท่าที่ควร

ช่วงนี้ให้ระวังแมลงศัตรูดาวเรืองจำพวกเพลี้ยไฟไรแดง โดยจะทำลายยอดอ่อนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้ดาวเรืองชะงักการเจริญเติบโตได้

โพสต์โดย : Ao