Social :



เปิดตัวมันหวานเกาหลีใต้ ราคากิโลกรัมละ 200 บาท

16 เม.ย. 61 20:04
เปิดตัวมันหวานเกาหลีใต้ ราคากิโลกรัมละ 200 บาท

เปิดตัวมันหวานเกาหลีใต้ ราคากิโลกรัมละ 200 บาท


เปิดตัวมันหวานเกาหลีใต้ ราคากิโลกรัมละ 200 บาท



เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าในปัจจุบันนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่ปลูกมันเทศและมีการส่งออกมากที่สุดในโลก เฉพาะในปี 2552 เพียงปีเดียวจีนสามารถผลิตมันเทศได้ปริมาณมากถึง 80 ล้านตันหรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมันเทศทั่วโลก เมื่อย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการปลูกมันเทศของจีนทราบว่าได้มีพ่อค้าฝรั่งนำพันธุ์มันเทศมาปลูกในสมัยราชวงศ์ชิงตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-17 หรือประมาณ 300-400 ปีที่ผ่านมา




และในช่วงเวลานั้น มันเทศ นับเป็นอาหารหลักของคนจีนที่ยากจนและมีพื้นที่ปลูกมากทางตอนใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันมันเทศได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ก้าวหน้าไปมากและมีการขยายพื้นที่ปลูกในหลายประเทศทั่วโลกและมันเทศไม่ใช่พืชหัวของคนยากจนอีกต่อไป นอกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาสายพันธุ์มันเทศจนเป็นพืชหัวที่มีราคาแพงกว่าผลไม้หลายชนิดได้แก่ ญี่ปุ่น, ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น



แต่สำหรับคนไทยจะรู้จักมันเทศจากประเทศญี่ปุ่นที่มีการนำเข้ามาขายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆในกรุงเทพมหานคร ในราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท โดยเรียกกันคุ้นปากว่ามันหวานญี่ปุ่นที่มีเนื้อสีเหลือง

การปลูกมันเทศได้มีการจัดแบ่งกลุ่มมันเทศออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเพื่อการบริโภคสด ลักษณะเด่นของมันเทศในกลุ่มนี้เนื้อจะมีรสชาติหวานกว่าทุกกลุ่ม เนื้อมีความละเอียดเนียนไม่มีเสี้ยน คุณภาพของเนื้อมีความนุ่มฟูและไม่แข็งเกินไป กลุ่มที่มีรสชาติไม่หวานเกินไป มันเทศในกลุ่มนี้มักจะมีการนำไปแปรรูปเป็นอาหารคาวหวานโดยการนำไปเชื่อมหรือนำไปแปรรูปเป็นน้ำมันเทศพร้อมดื่มและมันเทศกลุ่มสุดท้าย คือ มันเทศเพื่ออุตสาหกรรม



แปรรูปโดยเฉพาะ มันเทศในกลุ่มนี้มักจะมีการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งชนิดต่างๆ เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว, เส้นหมี่เตี๊ยว ฯลฯ (ผู้เขียนได้เคยไปดูงานที่ไต้หวันและได้ซื้อเส้นหมี่เตี๊ยวที่ผลิตจากแป้งมันเทศนำมาผัดมีรสชาติอร่อยมากเส้นมีความเหนียวนุ่มกว่าเส้นหมี่เตี๊ยวของไทยที่ผลิตจากข้าว)


สายพันธุ์มันเทศทั่วโลกจะมีประเภทของเนื้อ 4 สี  ถ้าจะแบ่งกลุ่มของสายพันธุ์มันเทศโดยใช้สีของเนื้อเป็นตัวพิจารณาแล้วจะแบ่งออกได้ 4 กลุ่มใหญ่ คือ เนื้อสีส้ม, เนื้อสีเหลือง, เนื้อสีม่วง และเนื้อสีขาว เป็นต้น หรือบางสายพันธุ์อาจจะมีลักษณะของ 2 สีอยู่ในพันธุ์เดียวกันก็มีอย่างกรณีของมันต่อเผือกของไทยจะมีเนื้อสีม่วงปนสีขาว แต่เมื่อได้ลงในรายละเอียดของมันเทศในแต่ละกลุ่มสีแล้วยังสามารถจำแนกได้อีกหลายสายพันธุ์



อย่างกรณีของมันเทศเนื้อสีเหลืองของญี่ปุ่นนั้น จะแบ่งได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 สายพันธุ์และสายพันธุ์ที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคมากที่สุดในขณะนี้คือพันธุ์ KO KEI เบอร์ 14 และพันธุ์ BENI AZUMA เป็นต้น

ผู้เขียนได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูร้อนเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงและได้รายละเอียดเกี่ยวกับมันเหลืองญี่ปุ่นเพิ่มเติมหลายประการโดยเฉพาะการซื้อขายมันเทศเพื่อการบริโภคของคนญี่ปุ่นนอกจากจะหาซื้อได้ในซุปเปอร์มาเก็ตแล้ว ถ้ามีการระบุสายพันธุ์หรือเป็นสายพันธุ์ที่หายากจะต้องมีการสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต และจะต้องสั่งซื้ออย่างน้อย 5 กิโลกรัม

โดยทางบริษัทจัดจำหน่ายจะส่งมันเทศไปให้ผู้บริโภคถึงบ้านภายในเวลา 2-3 วัน โดยบรรจุกล่องที่มีน้ำหนัก 5 กิโลกรัม และข้างกล่องจะบ่งบอกขนาดของหัวมันเทศเป็น 7 ขนาด คือ S2S, 2S, S, M, L, 2Lและ3L ในแต่ละกล่องจะบรรจุเพียงขนาดเดียวเท่านั้น เหตุผลที่มีความ

จำเป็นจะต้องแบ่งหัวมันเทศขายเป็นขนาดต่างๆ กันเนื่องจาก ในการปลูกมันเทศเมื่อได้ผลผลิตนั้นจะมีขนาดของหัวเทศใหญ่, กลางและเล็กแตกต่างกันไปทั้งๆ ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกัน

ในการไปดูงานญี่ปุ่นในครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรมีความต้องการต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์มันเทศเพื่อการบริโภคสด ซึ่งปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้ทำการรวบรวมสายพันธุ์มันเทศเพื่อการบริโภคสดจากต่างประเทศหลายสายพันธุ์ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย,สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา, ไต้หวัน, ญี่ปุ่นและล่าสุด คือ “เกาหลีใต้” โดยเฉพาะมันเทศจากเกาหลีใต้ที่มีเนื้อสีเหลืองและสีเหลืองส้มมีรสชาติอร่อยมาก ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจะเปิดตัวและนำผลผลิตจำหน่ายสู่ผู้บริโภคในเร็ววันนี้


ที่ผ่านมามีพ่อค้าส่งออกได้มีการติดต่อและมีความต้องการผลผลิตมันเทศญี่ปุ่นเนื้อสีเหลืองโดยระบุสายพันธุ์มาและได้มีการทดลองส่งตัวอย่างมาให้ทางผู้เขียนได้ทดลองรับประทาน เป็นมันเทศเนื้อสีเหลืองที่มีรสชาติอร่อยมากคือมีความหวานมาก เนื้อนุ่มฟูละเอียดไม่มีเสี้ยน

ในที่สุดผู้เขียนก็ได้คำตอบว่าในการปลูกมันเทศให้ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะมีการบำรุงรักษา และให้น้ำที่เหมาะสมแล้ว สายพันธุ์ที่นำมาปลูกมีความสำคัญมาก กล่าวคือก่อนที่จะนำหัวมันเทศในแต่ละสายพันธุ์มาเพาะขยายพันธุ์ ควรตรวจสอบด้วยการนำหัวมันเทศนั้นมานึ่ง, เผา หรือต้มเพื่อทดลองรับประทานก่อนตัดสินใจปลูก

ในการไปดูงานญี่ปุ่นของผู้เขียนในครั้งหลังสุดนี้ ได้สายพันธุ์มันเทศเนื้อสีเหลือง ที่จัดได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดสายพันธุ์หนึ่งและนิยมบริโภคกันมากในประเทศญี่ปุ่น โดยมีลักษณะของผิวเปลือกสีแดง, เนื้อมีสีเหลืองและมีรสชาติหวานมีกลิ่นหอมเหมือนกับเนื้อเกาลัด ขณะนี้ยังอยู่ในการทดลองปลูกและจะนำมาเผยแพร่ให้เกษตรกรและผู้สนในในโอกาสต่อไป
        
การเดินทางได้ไปดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
Lif
วัตถุประสงค์หลักที่ได้ไปดูก็คือการปลูกสตรอเบอรี่ที่มีผลใหญ่มาก ที่สำคัญคือ ไปดูรูปแบบของการปลูกแบบสวนท่องเที่ยวคือ เปิดสวนให้นักท่องเที่ยวเดินเข้าชมแปลง, ถ่ายรูปและสามารถเก็บเกี่ยวผลสตรอเบอรี่ได้คนละ 5 ผล โดยเสียค่าเข้าชมคนละ 100 บาท ก่อนหน้านั้นไม่ทราบว่าคนเกาหลีใต้นิยมบริโภคมันเทศเหมือนกับที่ญี่ปุ่นและไต้หวัน แต่เมื่อได้เข้าไปยังซุปเปอร์มาเก็ตของห้างสรรพสินค้าชื่อดังเกาหลีใต้แห่งหนึ่งกลับพบว่ามีหัวมันเทศมาวางขายเป็นจำนวนมาก อาจจะกล่าวได้ว่ามีปริมาณมากกว่าทุกประเทศที่ผู้เขียนได้เคยไปดูงานมาก เนื่องจากเป็นการขายหัวมันเทศสดที่มีการบรรจุหีบห่ออย่างประณีต โดยบรรจุถุงหรือกล่องละ 1 กิโลกรัม

มันเทศเกาหลีใต้ที่วางขายในซุปเปอร์มาเก็ตแห่งนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ เนื้อสีเหลืองและเนื้อสีเหลืองส้มโดยบรรจุขายเป็นกล่องหรือถุงละ 1 กิโลกรัม ขายถึงผู้บริโภคในราคากิโลกรัมละ 8,600 วอน ซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วเป็นเงิน 230 บาทโดยประมาณ ถุงที่บรรจุหัวมันเทศ มีรูปของเกษตรกรผู้ผลิตติดอยู่บนถุงเป็นการรับประกันคุณภาพ

นอกจากนั้นยังมีมันเทศที่ผลิตในรูปของเกษตรอินทรีย์และขายในราคาเดียวกัน ผู้เขียนได้ซื้อมันเทศเกาหลีใต้มาทุกสายพันธุ์รวมถึงมันเทศที่ปลูกแบบอินทรีย์ด้วยและได้นำตัวอย่างการบรรจุหีบห่อมาปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการบรรจุหัวมันเทศที่ผลิตโดยแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เพื่อจำหน่ายในโอกาสต่อไป เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยผู้เขียนได้ทำการนำหัวมันเทศเกาหลีใต้มาทดลองนึ่งรับประทานผลปรากฏว่าเป็นสายพันธุ์มันเทศที่มีรสชาติอร่อยมาก และแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ คือ

“พันธุ์เกาหลีใต้ เบอร์ 1” มีลักษณะเด่นตรงที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นคือเก็บเกี่ยวมาบริโภคได้หลังจากที่ปลูกลงดินไปเพียง 90 วันหรือ 3 เดือนเท่านั้น ผิวเปลือกมีสีชมพูอมแดง เนื้อมีสีเหลืองส้ม เนื้อละเอียดเนียนไม่มีเสี้ยน รสชาติหวานอร่อย

ขณะที่อีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ “พันธุ์เกาหลีใต้ เบอร์ 2” มีลักษณะคล้ายกับมันหวานญี่ปุ่น คือผิวเปลือกมีสีแดงเข้ม เนื้อมีสีเหลืองแต่เป็นพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวนานกว่า คือ ต้องปลูกอย่างน้อย 4 เดือน เนื้อมีความนุ่มไม่แข็งและมีรสชาติหวานมาก เมื่อบริโภคแล้วเนื้อมีส่วนคล้ายกับเกาลัด

เป็นที่สังเกตว่ามันเทศเกาหลีใต้ที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะมีรสชาติไม่หวานเท่าที่ควรแล้วข้อควรระวังเป็นพิเศษคือปัญหาของการทำลายของ “ด้วงงวงมันเทศ” หรือ “เสี้ยนดิน” ซึ่งจะทำให้รสชาติของมันเทศมีรสขมและมีกลิ่นเหม็น ลักษณะของหัวมันเทศที่บรรจุในถุงและในกล่องที่เกาหลีใต้นอกจากจะมีขนาดหัวใกล้เคียงกันแล้ว หัวมันเทศจะมีดินเกาะติดอยู่โดยไม่ได้ล้างทำความสะอาดซึ่งจะเป็นข้อดีที่จะช่วยยืดอายุของหัวมันเทศให้ยาวนานขึ้น

ปัจจุบันทางแผนกฟาร์ม ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้ขยายพื้นที่ปลูกมันเทศพันธุ์เกาหลีใต้ทั้ง 2 สายพันธุ์ และเริ่มให้ผลผลิตพร้อมที่จะเปิดตัวเผยแพร่ให้เกษตรกรและผู้สนใจได้บริโภคมันเทศที่มีรสชาติอร่อยมากและขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น รสชาติและคุณภาพของมันเทศเกาหลีใต้ที่ปลูกโดยชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรมีรสชาติหวานอร่อยไม่แพ้ที่ปลูกในประเทศเกาหลีใต้

รูปแบบของการปลูกมันเทศเกาหลีใต้แบบประณีต ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้มีการประยุกต์รูปแบบการปลูกมันเทศให้ปลูกได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะฤดูฝน ต้นมันเทศเจริญเติบโตทางด้านลำต้นและใบงามเกินไป หรือที่เรียกกันว่าอาการบ้าใบ การเตรียมแปลงปลูกที่มีการยกร่องสูง 50-70 เซนติเมตร ในฤดูฝนจะช่วยในเรื่องการจัดการและมีการลงหัวได้มาก โดยมีรูปแบบปลูกดังนี้

การปลูกมันเทศในแปลงคลุมพลาสติค ไถดินด้วยผาน 3 จำนวน 1 รอบ ,ตากดินให้แห้ง 1 อาทิตย์, ไถพรวน 1 รอบ,ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 1 ตันต่อไร่และปูนขาว ใช้โลตาลี่ปั่นให้ดิน

ละเอียดทำการยกร่องแปลงเป็นสามเหลี่ยมด้วยผานคู่กว้าง 1 เมตร สูง 50-70 เซนติเมตร หลังจากนั้นวางระบบน้ำแบบน้ำหยด และคลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลง ,เจาะรูพลาสติกห่างกัน 30 เซนติเมตร, ปลูกมันเทศหลุมละ 2 ยอดต่อหลุม ข้อดีของการปลูกมันเทศในแปลงคลุมพลาสติก ทำให้มันเทศลงหัวได้ดีในช่วงฤดูฝนทำให้ปลูกมันเทศได้ตลอดปี, ควบคุมความชื้นในแปลงได้, ลดปัญหาเกี่ยวกับพืช ,ง่ายต่อการให้น้ำให้ปุ๋ย และลดปัญหาการกระแทกของน้ำฝนหรือน้ำที่ให้แบบสปริงเกอร์ ที่ทำให้แปลงต่ำลง ซึ่งมีผลอย่างมาในเรื่องของการลงหัวและคุณภาพของผลผลิต

การปลูกมันเทศแบบคลุมด้วยฟางข้าว วิธีการใกล้เคียงกับการปลูกแบบคลุมพลาสติก แต่ต่างจากการคลุมพลาสติกมาเป็นคลุมด้วยฟาง ระบบน้ำเป็นแบบน้ำหยด หรือสปริงเกอร์  ข้อดีของการคลุมด้วยฟาง ป้องกันการกระแทกของน้ำฝนหรือการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ ที่ทำให้แปลงต่ำลง ซึ่งส่งผลให้มันเทศลงหัวได้ดีขึ้น รักษาความชื้นในแปลงได้ดี (เหมาะแก่การปลูกในฤดูหนาว - ฤดูร้อน) ขณะนี้ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้มีผลผลิตหัวมันเทศเกาหลีใต้เบอร์ 1 และ เบอร์ 2 พร้อมจำหน่ายและมีบริการส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์แต่จะต้องสั่งซื้ออย่างน้อย 5 กิโลกรัม สนใจติดต่อได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร โทร. 081-8867398

พบกับ “มันเทศเกาหลีใต้” สายพันธุ์ใหม่ทั้งสองสายพันธุ์ได้ที่บู้ทของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ วันเส้นทางเศรษฐี-เทคโนโลยีชาวบ้าน 2012” วันที่ 22 – 26 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ ชั้น 4 เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์ บางแค

ล้อมกรอบ

หนังสือ “การปลูกมันหวานญี่ปุ่นในประเทศไทย” พิมพ์ 4 สี แจกฟรีพร้อมกับ หนังสือ “อาชีพเกษตรกรรม ทำง่ายรายได้งาม เล่มที่ 1- เล่มที่ 7” รวมทั้งหมด 8 เล่ม จำนวน 672 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์มูลค่ารวม 250 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถ.ศรีมาลา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000 โทร. 056-613021 , 056-650145 และ 08-1886-7398

โพสต์โดย : Ao