Social :



จะทำอย่างไร ไม่ให้พลาดเป้าหมายการเงิน (อีกปี)

23 เม.ย. 61 06:00
จะทำอย่างไร ไม่ให้พลาดเป้าหมายการเงิน (อีกปี)

จะทำอย่างไร ไม่ให้พลาดเป้าหมายการเงิน (อีกปี)

จะทำอย่างไร ไม่ให้พลาดเป้าหมายการเงิน (อีกปี)



          หลายคนตั้งเป้าหมายเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงขึ้น มีเวลาให้กับครอบครัวหรือคนที่เรารักมากขึ้น รวมถึงการจัดการเรื่องการเงินให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้เงินให้น้อยลง ออมเงินให้มากขึ้น หรือวางแผนการเงินได้ดีกว่าเดิม แต่น้อยคนนักที่สามารถทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ โดยเฉพาะเป้าหมายทางการเงิน สาเหตุคืออะไร และจะทำอย่างไรไม่ให้เราพลาดเป้าหมายการเงินอีก มาดูว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาปณิธานของตัวเองได้ เป็นเพราะอะไร  

1. ตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป 
          
          เมื่อตั้งเป้าหมาย คนเรามักจะตั้งอะไรที่ใหญ่โต พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น ปกติเป็นคนชอบช้อปปิ้ง ก็หักดิบว่าปีนี้จะไม่ช้อปปิ้งซื้อของที่ไม่จำเป็น แน่นอนว่าโอกาสสำเร็จย่อมมีไม่สูง เพราะความชื่นชอบนั้นถูกทำเป็นเวลานานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วข้ามคืนหรือเปลี่ยนวิธีคิดเดิม ๆ จึงทำได้ยาก และสุดท้ายก็ตบะแตกอยู่ดี

2. ตั้งเป้าหมายคลุมเครือไม่ชัดเจน

          บางคนตั้งเป้าหมายแค่ปีนี้จะใช้จ่ายให้น้อย ประหยัดให้มาก แต่เมื่อเป้าหมายไม่ชัดเจนและไม่มีอะไรมาใช้เป็นตัววัดนอกจากความรู้สึก จึงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

3. ผลลัพธ์ที่เห็นไม่เป็นอย่างที่หวัง 

          หลายคนมักคาดหวังว่าเมื่อทำตามแผนที่ตั้งไว้ ชีวิตจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประหยัดเงินอยู่ไม่กี่เดือน แต่หวังว่าเงินในบัญชีจะมีเยอะ ๆ สุดท้ายพอทำไปสักพัก ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นชัดเจนก็เลิกล้มความตั้งใจ


เมื่อรู้สาเหตุแห่งความล้มเหลวแล้ว K-Expert ขอนำเสนอวิธีรักษาเป้าหมายทางการเงินให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเพียง 5 ขั้นตอน

1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและจับต้องได้มากที่สุด

          อย่าคิดเพียงว่าปีนี้จะออมเงินให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะออมเงินเดือนละเท่าไร นานแค่ไหน เริ่มเมื่อไร และที่สำคัญต้องรู้ว่า "ออมเงินเพื่ออะไร" แน่นอนใคร ๆ ก็รู้ว่าการออมเงินเป็นสิ่งที่ดี แต่การไม่รู้จุดประสงค์ของสิ่งที่ทำ จะทำให้อยู่กับเป้าหมายได้ไม่ยาว ดังนั้น หากยังไม่รู้ว่าออมเงินเพื่ออะไร ลองนึกถึงจุดประสงค์ต่าง ๆ เหล่านี้

          - ออมเพื่อลดหนี้ : หากมีหนี้คงค้างอยู่ จะดีแค่ไหนถ้าสามารถเก็บเงินสักก้อนไปปิดหนี้ หรือถ้ามีหนี้ก้อนใหญ่ไม่สามารถปิดได้ การโปะหนี้ หรือเพิ่มยอดผ่อนแต่ละเดือน ก็ช่วยลดเวลาผ่อน และประหยัดดอกเบี้ยไปได้เยอะ เมื่อหมดหนี้ จะทำให้มีอิสระและมีกำลังที่จะออมเงินเพิ่มอีกเยอะ

          - ออมเพื่อฝันชิ้นใหญ่ : หากตั้งเป้าหมายที่ค่อนข้างใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ ลงทุนทำธุรกิจ หรือ เก็บเงินเพื่อชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ เป้าหมายเหล่านี้ อาจทำให้สำเร็จไม่ได้ใน 1 ปี ต้องใช้เวลาสักหน่อย เมื่อต้องการมีเงินก้อนใหญ่เอาไว้ทำตามความฝัน การเริ่มต้นออมวันนี้จึงสำคัญ

          - ออมเพื่อฝันชิ้นเล็ก : บางคนอาจยังไม่ได้คิดการใหญ่ แต่มีสิ่งของที่อยากได้ หรือเป้าหมายที่อยากทำ การเก็บเงินเพื่อซื้อของหรือทำเป้าหมายที่ต้องการ ย่อมดีกว่าการเริ่มต้นด้วยสินเชื่อพร้อมใช้แล้วมาตามผ่อนทีหลัง

2.
Lif
เปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นแผนย่อย ๆ 

          อย่าเพียงตั้งเป้าหมายและทำไปอย่างไร้แบบแผน เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายคืออะไร มูลค่าเท่าไร ทำไปเพื่ออะไรแล้ว ก็ให้กลับมาย่อยเป้าใหญ่ให้กลายเป็นเป้าเล็ก ๆ จากเป้ารายปีกลายเป็นเป้ารายเดือน จากเป้ารายเดือนก็ทำให้กลายเป็นรายอาทิตย์ ถ้ากลัวจะล้มเหลว ก็ทำเป้ารายวันไปเลยในทางจิตวิทยาแล้วให้ "นึกถึงเป้าหมายบ่อย ๆ" จะทำให้เราไม่ล้มเลิก และมีโอกาสทำให้เป้าหมายสำเร็จอีกด้วย

3. หาวิธีรักษาเป้าหมายอย่างอัตโนมัติ 

          ในชีวิตเรามีหลายเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งทำให้เราหลงลืมที่จะทำเป้าหมายได้ ดังนั้น การตั้งระบบออมเงินอัตโนมัติเอาไว้ย่อมช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เช่น การสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากตัดอัตโนมัติทุก ๆ เดือน เป็นวิธีออมเงินหรือลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) นอกจากนี้ หากรู้ว่าตัวเองไม่ค่อยมีวินัย ควรเลือกออมในบัญชีเงินฝากปลอดภาษี เป็นการฝากเงินเท่ากันทุกเดือนเป็นเวลา 24-36 เดือน หรือเพิ่มเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งบริษัทจะหักเงินเดือนเข้ากองทุนฯ ให้ทุกเดือน เพื่อเป็นเงินใช้จ่ายช่วงเกษียณ


4. จัดระเบียบให้กับชีวิต 

          หลายต่อหลายคนมัวแต่ยุ่งอยู่กับการทำงาน แต่ไม่เคยจัดระเบียบให้ชีวิตเลย ซึ่งเป้าหมายจะสำเร็จง่ายขึ้น ถ้าเราจัดระเบียบกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต เช่น

          - รวบรวมบัญชีเงินฝากไว้ในที่เดียวกัน ตรวจสอบบัญชีเงินฝากที่ไม่เคยทำธุรกรรมมาแรมปี ทำการปิดบัญชีที่ไม่ใช้แล้ว จะได้ไม่โดนหักค่าธรรมเนียมรักษาบัญชีไปฟรี ๆ

          - ตรวจสอบบัตรเครดิต/บัตรกดเงินสด เช็กดูว่ามีเยอะไปหรือเปล่า ตอนสมัครอาจเพราะอยากได้ของแถมหรือโปรโมชันโดนใจ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ใช้อีกเลย การปิดบัตรช่วยลดความเสี่ยงที่จะใช้เงินฟุ่มเฟือยได้ หากมีหลายใบยกเลิกไปบ้างจะดีกว่า

          - กำหนดการใช้จ่ายในแต่ละเดือน พร้อมตั้งการจ่ายบิลต่าง ๆ อัตโนมัติ การรวมค่าใช้จ่ายไว้ในที่เดียว ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมและวิเคราะห์ภาระรายจ่ายแต่ละเดือน

          - วางแผนการออมและลงทุนอย่างสมดุล อย่ามัวแต่ออมเงินเข้าบัญชีเงินฝาก หากตั้งใจเก็บระยะยาว ก็หาช่องทางในการลงทุนที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ใครที่เสียภาษี ก็สามารถลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง LTF และ RMF โดยทำแผนเสียตั้งแต่ต้นปี แล้วแจ้งฝ่ายบุคคลในบริษัทไว้เลย เพื่อบริษัทจะได้หักภาษี ณ ที่จ่ายลดลง

5. ให้รางวัลกับตัวเองระหว่างทาง 

          ความจริงข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ มีน้อยคนมากที่จะเห็นว่าเรื่องการเก็บเงินนั้นสนุก การเก็บออมไม่เห็นผลในชั่วข้ามปี ต้องใช้เวลาและความสม่ำเสมอ ดังนั้น เมื่อทำสำเร็จตามเป้าหมายย่อย ๆ แล้วควรให้รางวัลกับตัวเองตาม Check Point ที่มี จะตั้งเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสก็ว่ากันไป การให้รางวัลเป็นการสอนตัวเราให้อยากจะทำสำเร็จอีก และหลอกล่อไม่ให้เรารอคอยความสำเร็จยาวนานเกินไป

 
          เรื่องสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ก็คือ อย่าโทษตัวเองหรือเสียกำลังใจที่ในบางช่วงเกิดทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ หัวเราะให้กับตัวเองบ้าง แล้วเริ่มต้นใหม่ในวันถัดไป ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้







ขอขอบคุณที่มา:money.kapook.com

โพสต์โดย : Wizz