Social :



ผลิตยุงเป็นหมันส่งออกทั่วโลก

04 พ.ค. 59 08:37
ผลิตยุงเป็นหมันส่งออกทั่วโลก

ผลิตยุงเป็นหมันส่งออกทั่วโลก

ความสำเร็จของประเทศไทย...มหิดล..เพาะพันธ์ุยุงลายเป็นหมันได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก

“มหิดล” เตรียมปล่อยยุงลายเป็นหมันออกสู่ธรรมชาติ ประเดิมที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ในปลาย เดือน พ.ค.นี้ หวังช่วยลดประชากรยุงลาย สกัด 4 โรคร้าย “ไข้เลือดออก-ชิกุนคุนยา-ซิกา-ไข้เหลือง” ถ้าสำเร็จเป็นรูปธรรม เล็งสร้างโรงงาน ผลิตยุงเป็นหมันส่งออกทั่วโลก มั่นใจไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

นพ.อุดมกล่าวในการประชุมว่า ผู้บริหารจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประเทศออสเตรีย และผู้เชี่ยวชาญในด้านการควบคุมยุงจากประเทศสวีเดน ได้เดินทางมาร่วมประชุมปรึกษาหารือด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการทำหมันยุงลายในไทยให้เป็นรูปธรรม โดยปัจจุบันโครงการนำร่องเพื่อทำหมันยุงลายในไทยได้รับทุนสนับสนุนจาก ม.มหิดล ไอเออีเอ ประเทศออสเตรีย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีอาร์ซี) ประเทศแคนาดา โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมในการลดความเสี่ยงต่อโรคโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสวนยางพาราหรืออยู่ใกล้สวนยางพารา ซึ่งเป็นแหล่งที่มียุงพาหะนำโรค นอกจากนี้ ทบวงการปรมาณูฯยังมีความสนใจที่จะให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลการทำหมันยุงลายไปในแหล่งท่องเที่ยวในไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อช่วยลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกและกลับไปแพร่เชื้อในประเทศของตนเองด้วย ทั้งนี้ การลดความเสี่ยงต่อโรคที่มียุงเป็นพาหะในแหล่งท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มรายได้ของประเทศจากการท่องเที่ยว โครงการต่อยอดเพื่อทำหมันยุงลายในแหล่งท่องเที่ยวนี้ มีแผนที่จะดำเนินการในพื้นที่วิจัยของ ม.มหิดล ที่เคยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหลายหน่วยงานในต่างประเทศ ได้แก่ ไอดีอาร์ซี และซีด้า ประเทศแคนาดา และออสเอด ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น ในเบื้องต้นนี้ทบวงการปรมาณูฯได้บริจาคเครื่องมือที่จะใช้ในการฉายรังสีเพื่อทำหมันยุงให้กับไทย ซึ่งมีมูลค่ารวมการติดตั้งประมาณ 35 ล้านบาท

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นางปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ได้พัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสไข้ชิกุนคุนยาได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ สกัดได้จากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน หากปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่พัฒนาแล้วออกสู่ธรรมชาติ ยุงลายบ้านตัวผู้เหล่านี้จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติ ทำให้ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน และลดจำนวนยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกลงได้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงด้วย

การทำหมันยุงลายแนวใหม่นี้จะทำถึง 2 ขั้นตอนเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยนำยุงลายบ้านตัวผู้สายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วมาฉายรังสีปริมาณอ่อนก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อทำให้ยุงตัวดังกล่าวเป็นหมัน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ ถึงแม้จะผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วเหมือนกันก็ตาม นอกจากนี้หากยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วหลุดออกไปในธรรมชาติ ก็จะไม่สามารถนำเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไข้ชิกุนคุนยาสู่คนได้ การทำหมันยุงทั้ง 2 ขั้นตอนนี้จะไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกปล่อยสู่ธรรมชาติจะตายภายใน 2-3

Lif
สัปดาห์ และไม่แพร่พันธุ์ต่อ เนื่องจากเป็นหมัน

อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวด้วยว่า วิธีการทำหมันยุงดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศใด โดยเฉพาะกับยุงลายบ้าน ขณะนี้ ม.มหิดล อยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ ซึ่งเฉพาะยุงลายบ้านตัวผู้ที่กินแต่น้ำหวานและไม่กินเลือดเท่านั้น ที่จะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปฉายรังสีในปริมาณอ่อนก่อนปล่อยในธรรมชาติ โดยการทำหมันยุง 2 ขั้นตอน ยังไม่มีใครทำมาก่อน จึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก หลายๆประเทศยอมรับเทคนิคนี้ และเห็นว่าไทยมีศักยภาพและอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการทำเรื่องนี้ ถ้าสำเร็จเป็นรูปธรรมก็จะมีการผลิตยุงจำนวนมากเพื่อปล่อยทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังจะมีการสร้างโรงงานผลิตยุงลายที่เป็นหมันส่งออกไปยังประเทศอื่นๆด้วย

นางปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล ในฐานะผู้วิจัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการศึกษาการทำหมันยุงลายเหมือนกัน เช่นที่ประเทศบราซิล จะใช้วิธีการตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) หรือประเทศจีน ใช้วิธีการใส่เชื้อแบคทีเรียเข้าไปอย่างเดียว แต่ประเทศไทยใช้การทำหมัน 2 ขั้นตอน คือการใส่เชื้อแบคทีเรียโวบาเกีย และฉายรังสีเพื่อทำหมันในตัวยุงลาย และยุงตัวผู้ก่อนจะปล่อยในพื้นที่นำร่อง ที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โดยจะเริ่มปล่อยประมาณปลายเดือน พ.ค. นี้ โดยจะปล่อยยุงที่ผ่านกระบวนการทั้ง 2 ขั้นตอนในอัตรา 5-10 เท่าของยุงลายบ้านในพื้นที่ซึ่งเคยสำรวจเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วและพบว่าแต่ละบ้านจะมียุงลายประมาณ 5 ตัวในบ้าน 1 หลัง ทั้งนี้หลังจากปล่อยยุงไปแล้วจะมีการประเมินผลหลังจากนี้อีก 6 เดือน เมื่อมีการขยายผลแล้วอนาคตก็จะสามารถทำโรงงานผลิตยุงตัวผู้ที่เป็นหมันได้ และถ้าทำได้จะช่วยลด 4 โรคที่นำโดยยุงลาย คือ ไข้เลือดออก ซิกา ชิคุณกุนยา และไข้เหลือง

ขณะที่นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยเคยประสบความสำเร็จในการทำหมันแมลงวันทอง ทำให้ลดประชากรแมลงวันทองได้มาก แต่ตอนนี้จะเอามาใช้ทำหมันยุงลายบ้าน ซึ่งทั่วโลกให้ความสนใจมาก ส่วนที่ประชาชนกังวลว่าทำไมยุงเพิ่มขึ้นนั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงยุงตัวผู้ที่ไม่กินเลือดคน แต่จะกินน้ำหวาน ดังนั้นประชาชนไม่ต้องกังวล และมั่นใจได้ว่ายุงที่ปล่อยไปจะไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างแน่นอน

โพสต์โดย : sitbn

ข่าวอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ดูทั้งหมด