Social :



วิธีการปลูก และดูแล ฝ้าย

20 พ.ย. 61 11:11
วิธีการปลูก และดูแล ฝ้าย

วิธีการปลูก และดูแล ฝ้าย

วิธีการปลูก  และดูแล  ฝ้าย

ฝ้าย   เป็นพืชที่มีความสำคัญเนื่องจากวัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้า  จำเป็นต้องมีเส้นใยฝ้ายรวมอยู่ด้วย แม้การผลิตเส้นใยประดิษฐ์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใดก็ตาม  เสื้อผ้าที่ผลิตจากฝ้าย หรือส่วนผสมของฝ้ายยังคงเป็นที่นิยม  เพราะสวมใส่สบาย  ให้ความอบอุ่นพอเหมาะ  ซึมซับเหงื่อและถ่ายเทอากาศดีกว่าเสื้อผ้าจากใยประดิษฐ์  ฝ้ายเส้นใยสั้นเป็นฝ้ายพื้นเมือง มีปุยหยาบ  และมีความยาวของเส้นใยต่ำกว่า  1  นิ้ว  เป็นวัตถุดิบที่สำคัญ  ต่องานหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้าน  ประเทศไทยต้องการใช้  ปุยฝ้ายเส้นใยสั้นประมาณ  6,000  ตันต่อปี  สำหรับฝ้ายเส้นใยยาวปานกลาง  และเส้นใยยาว  ที่ใช้ใน อุตสาหกรรมสิ่งทอ  เป็นพันธุ์ฝ้าย  ที่นำเข้าจากต่างประเทศ  มีความต้องการปุยฝ้าย  ประมาณ  350,000  ตันต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยใช้ฝ้ายสูงเป็นอันดับ  9  ของโลก


ปัญหาของพืช ข้อจำกัด และโอกาส 
- ฝ้ายเป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานจัดการดูแลรักษาและมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าพืชไร่อื่นๆ  ทำให้มีความเสี่ยงสูง 
- ฝ้ายมีแมลงศัตรูหลายชนิดเข้าทำลายอย่างรุนแรง  เช่น  หนอนเจาะสมอฝ้าย  เพลี้ยจั๊กจั่นฝ้าย และเพลี้ยอ่อนฝ้าย  ซึ่งนอกจากทำความเสียหายแล้วยังเป็นพาหะของเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคใบหงิกฝ้ายด้วย  จำเป็นต้องป้องกันกำจัดแมลงศัตรูเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันเวลา 


การเตรียมดิน 
- ไถด้วยผาลสาม  1  ครั้ง  ลึก  20-30  เซนติเมตร  ตากดิน  2-3  สัปดาห์  พรวนด้วยผาลเจ็ด  1  ครั้ง  ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอแล้วคราดเก็บเศษซาก  ราก  เหง้า  หัวและไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง 
- การปลูกในพื้นที่มากกว่า  25  ไร่  ควรปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ  เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานด้วยเครื่องจักรกลการเกษตร 

การวิเคราะห์ดิน 
ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า  5.5  ให้หว่านปูนขาวอัตรา  100-200  กิโลกรัมต่อไร่  พรวนดินกลบ  แล้วปล่อยให้ฝนตกอย่างน้อย  1  ครั้ง  ก่อนปลูก 
ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า  1.0  เปอร์เซ็นต์  ให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายดีแล้ว  อัตรา  500-1,000  กิโลกรัมต่อไร่  แล้วพรวนกลบ 


วิธีการปลูก 
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ 
- ถ้าปลูกฝ้ายเป็นพืชแรก ควรปลูกในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 125-150 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 50 เซนติเมตร 
- ถ้าปลูกฝ้ายเป็นพืชที่สอง ควรปลูกอย่างช้าประมาณปลายเดือนกรกฎาคม-กลางสิงหาคม โดยใช้ระยะระหว่างแถว 50-80 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร 
ใช้ไม้ปลายแหลมทำหลุมลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด กลบดินหนาประมาณ 3 เซนติเมตรถ้าดินมีความชื้นสูง และหนาประมาณ 5 เซนติเมตรถ้าดินมีความชื้นต่ำ 
- ฝ้ายอายุประมาณ 3 สัปดาห์ ถอนแยกให้เหลือ 2 ต้นต่อหลุม และเมื่ออายุประมาณ 4 สัปดาห์ ถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม ถ้าสามารถป้องกันการทำลายของโรคใบหงิกได้ดี อาจจะถอนแยกให้เหลือ 1 ต้นต่อหลุม เมื่อฝ้ายอายุ 3 สัปดาห์ 

การดูแลรักษา 
การให้ปุ๋ย :
- ให้ปุ๋ยเคมี  2  ครั้งๆ  ละครึ่งอัตรา ครั้งแรกรองก้นร่องพร้อมปลูก  ครั้งที่สองเมื่อฝ้ายอายุประมาณ  4  สัปดาห์  โดยโรยข้างแถว  แล้วพรวนดินกลบ 
- ให้ปุ๋ยเคมีตามชนิดและความอุดมสมบูรณ์ของดิน  คือ 
ดินเหนียวสีดำ- เป็นดินที่มีโพแทสเซียมพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของฝ้าย  ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ไม่ต่ำกว่า  10  ส่วนในล้านส่วน  ให้ปุ๋ยสูตร  21-0-0  อัตรา  30  กิโลกรัมต่อไร่  หรือสูตร  46-0-0  อัตรา  13  กิโลกรัมต่อไร่  แต่ถ้ามีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า  10  ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยสูตร  20-20-0  อัตรา  30  กิโลกรัมต่อไร่ 
ดินเหนียวสีแดง - ให้ปุ๋ยสูตร  12-24-12  อัตรา  50  กิโลกรัมต่อไร่  หรือสูตร 16-16-8 อัตรา  70  กิโลกรัมต่อไร่ 
ดินทรายหรือดินร่วนทราย
Lif
- ให้ปุ๋ยสูตร  สูตร  20-10-10  อัตรา  60  กิโลกรัมต่อไร่หรือสูตร  15-15-15  อัตรา  70  กิโลกรัมต่อไร่ 
ดินร่วนเหนียวสีน้ำตาล ถ้ามีโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ไม่ต่ำกว่า 40 ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยสูตร  20-20-0  อัตรา  30  กิโลกรัมต่อไร่  แต่ถ้ามีโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ต่ำกว่า  40  ส่วนในล้านส่วน ให้ปุ๋ยสูตร  15-15-15  อัตรา  40  กิโลกรัมต่อไร่ 

โรคที่สำคัญและการป้องกันกำจัด 
1. โรคใบหงิก  ใบมีขนาดเล็ก  ใบอ่อนมีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าปกติ  ใบยอดหงิกม้วนหรืองุ้มลง  ช่วงข้อต่อของลำต้นสั้น  ถ้าเป็นโรคตั้งแต่ระยะกล้า  ต้นจะแคระแกร็น  ไม่ให้ผลผลิต  ถ้าเกิดโรคกับต้นฝ้ายที่มีอายุมาก  ใบยอดจะเป็นพุ่ม เปราะและกรอบ   มีจำนวนสมอน้อยลง มีเพลี้ยอ่อนฝ้ายเป็นพาหะ ควรกำจัดเพลี้ยอ่อนฝ้าย 
2. โรคเหี่ยว  ทำให้เจริญเติบโตช้า ต้นแคระแกร็น ใบเหี่ยวร่วงและต้นแห้งตาย ถ้าเกิดกับต้นฝ้ายที่มีอายุมาก ใบฝ้ายจะเริ่มเหลืองเป็นจุดอยู่ในระหว่างเส้นใบ แผลขยายกว้างข?้น ตรงกลางแผลแห้ง ใบร่วง เหลือแต่ใบยอด ถ้าตัดโคนต้นที่เป็นโรค  เนื้อไม้จะมีรอยขีดสีน้ำตาลดำ  เชื้อราอยู่ในดินได้หลายปี  ควรถอนต้นฝ้ายที่เป็นโรคตั้งแต่เริ่มแสดงอาการ  เผาทำลายนอกแปลงปลูก 
3. โรคใบไหม้  ใบจุดเหลี่ยม  ก้านดำ  หรือสมอเน่า แผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ  สีของแผลจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  เกิดได้กับทุกส่วนของต้นฝ้ายและทุกระยะการเจริญเติบโต  ตั้งแต่ระยะกล้าทำให้ใบเลี้ยงแสดงอาการไหม้ ลามไปถึงยอดและตากำเนิดใบ  ในฝ้ายที่มีอายุมาก แผลจะขยายไปตามเส้นใบ  ติดต่อไปถึงก้านใบและเข้าสู่ลำต้น แผลจะมีสีน้ำตาลดำ  ถ้าเกิดกับสมอแผลจะเป็นจุดฉ่ำน้ำขยายกว้างไม่มีขอบเขต  ตรงกลางแผลยุบสีน้ำตาลดำ เมื่อมีเชื้อราชนิดอื่นเข้าทำลายซ้ำ  สมอจะเน่า  ในแหล่งที่พบการระบาดของโรคเป็นประจำ  ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารแคบแทน 


แมลงศัตรูที่สำคัญและการป้องกัน 
1. เพลี้ยจักจั่นฝ้าย  ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและยอด  ทำให้ต้นอ่อนแคระแกร็นหรือตาย  ขอบใบเป็นสีน้ำตาลถึงแดง  ใบกรอบแห้งและงุ้มลง  ต่อมาใบ  ดอกและสมอจะร่วงควรใช้สาร  อิมิดาโคลพริด  คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกและฉีดพ่น 
2. เพลี้ยอ่อนฝ้าย  อาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบอ่อนของฝ้าย ทำให้ยอดฝ้ายชะงักการเจริญเติบโต และเป็นพาหะนำโรคใบหงิก ควรใช้สาร อิมิดาโคลพริด คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกและฉีดพ่น 
3. เพลี้ยไฟฝ้าย  ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเจาะเยื่อใบฝ้ายและดูดกินน้ำเลี้ยง  ทำให้บริเวณผิวใบด้านล่างมีสีเงินหรือสีบรอนซ์  หลังจากนั้นใบจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  เหี่ยว  และร่วง  ถ้าเพลี้ยไฟเข้าทำลายฝ้ายในระยะต้นอ่อนอย่างรุนแรง อาจทำให้ฝ้ายชะงักการเจริญเติบโตหรือตาย  ควรใช้สารอิมิดาโคลพริด  คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกและฉีดพ่น 
4. แมลงหวี่ขาวยาสูบ  ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบฝ้ายและถ่ายมูลทำให้เกิดราดำ ใบฝ้ายร่วงเร็วกว่าที่ควรและทำให้เส้นใยฝ้ายสกปรก ควรใช้สาร อิมิดาโคลพริด คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกและฉีดพ่น 
5. หนอนเจาะสมอฝ้าย  หนอนกัดกินใบ  ดอก  และสมอฝ้ายทุกขนาด ทำให้ดอกร่วง  หนอนเจาะฐานของสมอเข้าไปกินภายใน  ถ่ายมูลไว้บนสมอและริ้วประดับดอก ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ควรพ่นสาร เบตาไซฟลูทริน 30 มล.น้ำ 20 ลิตร คลอร์ฟลูอาซุรอน  20-30  มล./น้ำ  20  ลิตร  ไซฟลูทริน  20  มล./น้ำ  20  ลิตร  แลมป์ดาไซฮาโลทริน  20-25  มล./น้ำ  20  ลิตร ไทโอดิคาร์บ  60  มิลลิลิตร /น้ำ  20  ลิตร 

การป้องกันกำจัดวัชพืช 
- ไถ  1  ครั้งตากดิน  2-3  สัปดาห์  แล้วพรวนดิน  1  ครั้งคราดเก็บเศษซากรากเหง้าหัว  และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง 
- กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกล  1-2  ครั้งเมื่อฝ้ายอายุประมาณ  3-4  สัปดาห์ 
- ก่อนฝ้ายแตกสมอ  ถ้ายังมีวัชพืชปกคลุมควรกำจัดวัชพืชอีกครั้ง  เพื่อป้องกันเศษใบและดอกของวัชพืชปะปนไปกับปุยฝ้าย 
- ในกรณีที่กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานหรือเครื่องจักรกลไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอควรพ่นสารกำจัดวัชพืช 

การเก็บเกี่ยว 
- เก็บปุยครั้งแรกเมื่อฝ้ายอายุ  120  วัน  หรือสมอฝ้ายชุดแรกแตกปุยเต็มที่  ต่อมาเก็บทุก  7-10  วัน 
- ควรเก็บระยะที่แดดออกหรือไม่มีน้ำค้างเกาะบนปุยฝ้าย  เพื่อป้องกันปุยฝ้ายปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก 
- เลือกเก็บเฉพาะสมอที่แตกปุยเต็มที่และแห้งสนิท 
- ใช้มือเก็บปุยฝ้ายที่ขาวสะอาด ไม่ให้มีสิ่งเจือปน เช่น เศษใบ ริ้วประดับ หรือวัชพืชติดมากับปุยฝ้าย 
- เก็บปุยฝ้าย  แยกระหว่างปุยจากส่วนโคน  กลาง  และยอด  โดยทั่วไปปุยฝ้ายจากส่วนกลางของลำต้นจะมีคุณภาพดีกว่าจากส่วนอื่นๆ 
- ปุยฝ้ายที่เก็บได้จากสมอที่แตกไม่สมบูรณ์  ควรแยกบรรจุถุงไว้ต่างหาก 
- ให้ใช้ถุงผ้าดิบเก็บปุยฝ้าย 


ข้อมูลอ้างอิง  :  http://rakbankerd.com

โพสต์โดย : POK@