Social :



เทคนิคการกรีดยาง แบบละเอียด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

04 ธ.ค. 61 11:12
เทคนิคการกรีดยาง แบบละเอียด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

เทคนิคการกรีดยาง แบบละเอียด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

เทคนิคการกรีดยาง แบบละเอียด 
เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ  

ช่วงเวลาการกรีดยางที่ ต้นยาง ให้ผลผลิตดี จะอยู่ระหว่าง เวลา 03.00 - 06.00 น. การกรีดในช่วงเวลาต่าง ๆ หลัง 06.00 น. จะได้น้ำยางลดน้อยลง ดังนี้
- ช่วงเวลา  06.00 - 08.00  น.  ผลผลิตลดลง  4 - 5 %
- ช่วงเวลา  08.00 - 11.00  น.  ผลผลิตลดลง  16 %
- ช่วงเวลา  11.00 - 13.00  น.  ผลผลิตลดลง  25 %

** การ กรีดยาง ในช่วงเวลา  06.00 - 08.00  น.  แม้ว่าผลผลิตลดลงกว่าการกรีดกลางคืนเล็กน้อย แต่ทำงานได้สะดวก  ไม่เสีย  ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ให้แสงสว่างและไม่สูญเสียวันกรีด จากการที่ฝนตกในตอนกลางคืน เนื่องจากหากฝนตก ในตอนกลางคืน คนกรีดยางจะไม่กรีดยางในวันนั้น การกรีดยางก่อน  06.00  น.  ควรมีอุปกรณ์ที่ให้แสงสว่างอย่างเพียงพอ  เพื่อสามารถเห็นต้นยาง รอยกรีด  ได้ชัดเจน  ต้องไม่กรีดบาดหน้ายาง  และอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ต้องไม่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  เช่น  การใช้แบตเตอรี่แทน  การใช้  แก๊สแคลเซียมคาร์ไบด์  เป็นต้น


วิธีการกรีดยาง :
หลังจากปลูกยางมาแล้วเป็นเวลาหลายปี  ก่อนทำการเปิดกรีดยาง ควรพิจารณา  เรื่องต่างๆ  ดังนี้
1. ขนาดของต้นยาง
ต้นยางพร้อมเปิดกรีดเมื่อวัดเส้นรอบต้นได้  50  เซนติเมตร  ที่ความสูง  150  เซนติเมตรจากพื้นดิน  โดยการเปิดกรีดต้นยาง  ทั้งสวนควรพิจารณา  ดังนี้
1) มีจำนวนต้นยางที่มีขนาดเส้นรอบต้นไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนต้นยางทั้งหมด หรือ 
2) มีต้นยางที่มีขนาดเส้นรอบต้นไม่ต่ำกว่า  45  เซนติเมตร  มากกว่าร้อยละ  80  ของจำนวนต้นยางทั้งหมด  การเปิดกรีดเมื่อต้นยางขนาดเล็กหรือต้นยางที่ยังไม่ได้ขนาดเปิดกรีด  จะได้รับผลผลิตน้อยกว่าต้นยางที่ได้ขนาดเปิดกรีด และยังมีผลทำให้  ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต 

2. ระดับความสูงของการเปิดกรีด
ควรเปิดกรีดที่ระดับความสูง  150  เซนติเมตรจากพื้นดิน แม้ว่าการเปิดกรีดที่ระดับต่ำกว่า  150  เซนติเมตร  จะให้ผลผลิตในรอบ ปีแรกสูงกว่าก็ตาม  แต่ผลผลิตตลอดระยะเวลากรีด  5  ปี  กลับพบว่าการเปิดกรีดระดับที่  150  เซนติเมตร  ให้ผลผลิตสูงกว่า  การเปิดกรีด หน้าแรกไม่ว่าจะเปิดที่ระดับความสูงใดก็ตาม ให้วัดเส้นรอบต้นยางที่ระดับความสูง  150  เซนติเมตรจากพื้นดิน  เมื่อเปิดกรีดหน้าที่สอง ต้องเปิดกรีดที่ระดับความสูง  150  เซนติเมตรจากพื้นดิน

3. ความลาดชันของรอยกรีด
ความลาดชันของรอยกรีดควรทำมุม  30 - 35  องศากับแนวระดับ  เพื่อให้น้ำยางไหลได้สะดวก  ไม่ไหลออก  นอกรอยกรีด ทำให้ได้ผลผลิตเต็มที่และควรรักษาระดับตามลาดชันที่กำหนดไว้  เนื่องจากท่อน้ำยางเอียงทำมุม  2.1 - 7.1  องศากับแนวตั้ง จากขวาลงมาซ้าย  จึงต้องกรีดยางให้รอยกรีดเอียงทำมุมจากซ้ายลงมาขวา  (ในลักษณะหันหน้าเข้าหาต้น ยาง)เพื่อให้ตัดท่อน้ำยาง ได้มากที่สุด


ปัจจัยที่มีผลต่อการกรีดและผลผลิต : 
1. ความลึกของการกรีดยางการกรีดให้ได้น้ำยางมากจะต้องกรีดให้ใกล้เยื่อเจริญมากที่สุด และควรห่างจากเยื่อเจริญประมาณ  1  มิลลิเมตร 
2. ขนาดของงานกรีดยางขนาดของงานกรีด  หมายถึง จำนวนต้นยางที่คนกรีดยางสามารถกรีดได้ในแต่ละวัน ปกติคนกรีด หนึ่งคนสามารถกรีดยางหน้าปกติครึ่งลำต้นได้วันละ 450 - 500 ต้น กรีดหนึ่งในสามของลำต้นได้วันละ  650 - 700  ต้น  และกรีดหน้าสูงได้วันละ  300 - 350  ต้น
3. ความสิ้นเปลืองเปลือกยาง ความสิ้นเปลืองเปลือกแต่ละครั้งอยู่ระหว่าง  1.7 - 2.0  มิลลิเมตร การกรีดเปลือกหนาหรือบาง  ไม่มีผลกระทบต่อผลผลิต  แต่การกรีดถี่หรือกรีดหนาเกินไปเปลือกยางจะหมดเร็ว เปลือกใหม่งอกไม่ทัน และการกรีดยางที่ดี ควรสิ้นเปลือง เปลือกประมาณปีละ  25 - 30  เซนติเมตร
4. ความคมของมีด  มีดกรีดยางควรลับให้คมอยู่เสมอ เพราะจะทำให้ตัดท่อน้ำยางดีขึ้น  และสิ้นเปลืองเปลือกน้อย 


ระบบกรีดยาง : 
การแนะนำระบบกรีดขึ้นอยู่กับพันธุ์ยาง ภูมิอากาศและความจำเป็นอื่น ๆ  เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของคำแนะนำ  คือ  ไม่แนะนำให้กรีดยางทุกวันและกรีดติดต่อกันนานหลายปี  เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง ระหว่างการกรีดต้นยางจะชะงัก  การเจริญเติบโตมาก  และเสียค่าใช้จ่ายสูงเมื่อคิดผลผลิตที่ได้ต่อการสิ้นเปลืองเปลือกและค่าจ้างคนกรีด  มีต้นยางแสดง  อาการเปลือกแห้งเพิ่มขึ้น และเปลือก งอกใหม่บางไม่สามารถกรีดซ้ำได้  สำหรับระบบกรีดที่แนะนำแบ่งออกเป็น  2  ระดับ  คือ

1. การกรีดยางหน้าปกติ :   การกรีดยางหน้าปกติ คือ การกรีดยางที่ระดับความสูงของหน้ากรีดที่ระดับ  150  เซนติเมตร จากพื้นดินลงมา มีระบบกรีดที่แนะนำ  5  ระบบ  ดังนี้ 
1) กรีดครึ่งลำต้นวันเว้นสองวัน (1/2S d/3)
- ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดดีมาก  ความสิ้นเปลืองเปลือกต่อปีน้อยมาก   (ใช้เวลากรีดแต่ละหน้า  7 –- 8  ปี)  ต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งน้อยมาก
- เป็นระบบที่ใช้ได้ทั่วไปเหมาะกับยางทุกพันธุ์ โดยเฉพาะพันธุ์ที่อ่อนแอต่ออาการเปลือกแห้ง  เช่น  พันธุ์  PB260  และ  BPM 24
- สามารถใช้ระบบกรีดนี้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดได้ หลังจาก 3 ปีแรกของการกรีด สามารถกรีดสายหรือกรีดชดเชย และใช้สารเคมีเร่งน้ำยางได้

2) กรีดครึ่งลำต้นวันเว้นวัน (1/2S d/2) 
- ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดดี  ความสิ้นเปลืองเปลือกต่อปีน้อย  (ใช้เวลากรีดแต่ละหน้า  5 - 6  ปี)  ต้นยางแสดง  อาการเปลือกแห้งน้อย
- เป็นระบบที่ใช้ทั่วไปเหมาะสมกับยางทุกพันธุ์ 
- เมื่อกรีดถึงระยะเปลือกงอกใหม่สามารถกรีดสายหรือกรีดชดเชยและใช้สารเคมีเร่งน้ำยางได้ 
- หากท้องที่ใดมีจำนวนวันกรีดน้อยกว่า  100 
Lif
วันต่อปี หลังจาก  3  ปีแรกของการกรีด สามารถกรีดชดเชย  หรือ กรีดสายได้

3) กรีดครึ่งลำต้นสองวันเว้นหนึ่งวัน (1/2S 2d/3)
- ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดปานกลาง  ความสิ้นเปลืองเปลือกต่อปีปานกลาง (ใช้เวลากรีดแต่ละหน้า  3 - 4  ปี)  ต้นยางแสดงอาการ  เปลือกแห้งปานกลาง เป็นระบบที่ใช้กรีดกับเปลือกงอกใหม่หรือกับสวนที่มีขนาดเล็กกว่า  10  ไร่

4) กรีดหนึ่งในสามของลำต้นสองวันเว้นหนึ่งวัน (1/3S 2d/3)
- ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดค่อนข้างน้อย ความสิ้นเปลืองเปลือกต่อปีปานกลาง  (ใช้เวลากรีด  3 - 4  ปี  ต่อการกรีดแต่ละหน้า)  ต้นยางแสดงอาการเปลือกแห้งปานกลาง  ไม่ควรเปิดกรีดกับต้นยางที่มีขนาดเส้นรอบต้นต่ำกว่า  50  เซนติเมตร  เพราะให้ผลผลิตน้อยมาก เมื่อกรีดหน้ากรีดที่สาม  ผลผลิตจะลดลงและลดลงมากขึ้นเมื่อกรีดใกล้โคนต้น  การเปลี่ยนหน้ากรีดใหม่ให้เวียนตามเข็มนาฬิกา หรือเวียนทาง  ด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าเข้าหาต้นยาง  เป็นระบบที่ใช้กรีดกับ  เปลือกงอกใหม่ หรือกับสวนที่มีขนาดเล็กกว่า  10  ไร่

5) กรีดหนึ่งในสามของลำต้นวันเว้นวันควบคู่กับการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ความเข้มข้น 2.5 % (1/3S d/2 + ET 2.5%) 
- ให้ผลผลิตต่อครั้งกรีดดี  ความสิ้นเปลืองเปลือกต่อปีน้อย  (ใช้เวลากรีดแต่ละหน้า  5 - 6  ปี)  ยางแสดงอาการเปลือกแห้ง  ปานกลาง  สามารถใช้ระบบกรีดนี้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกรีดได้


2.การกรีดยางหน้าสูง : 
- การกรีดยางหน้าสูง คือ การกรีดยางที่ระดับความสูงกว่า  150  เซนติเมตรจากพื้นดินขึ้นไปหรือระดับที่สูงกว่า  การกรีดยาง หน้าปกติ  สำหรับระบบกรีดที่แนะนำ  แบ่งเป็น  2  ช่วง  ดังนี้
1) การกรีดเพื่อพักหน้ากรีดปกติ
- เนื่องจากเปลือกงอกใหม่ของหน้ากรีดปกติยังบางอยู่  จึงควรกรีดหน้าสูง  เพื่อรอให้เปลือกงอกใหม่มี  ความสมบูรณ์มากขึ้น  และไม่ควรกรีดหน้าสูงบนหน้ากรีดที่สาม  เพราะจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของต้นยาง  เมื่อกลับไปกรีดหน้าล่างอีกครั้ง 
2) การกรีดก่อนโค่น
- เมื่อเปลือกของหน้ากรีดปกติบาง  ให้ผลผลิตลดลง  และประสงค์จะโค่นต้นยางเพื่อปลูกแทนยาง  หรือ ปลูกพืชอื่นแทนยาง  ควรใช้วิธีการกรีดหน้าสูงก่อนการโค่น  1-6  ปี  เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากยางสูงสุด 

3. การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง: 
สารเคมีเร่งน้ำยาง  หมายถึง  สารที่เมื่อใช้กับต้นยางแล้ว จะทำให้เพิ่มการไหลของน้ำยางมากขึ้น คือ ได้ผลผลิตมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการกรีดหรือการเจาะต้นยางในส่วนพื้นที่ที่อยู่ใกล้ ๆ  กับบริเวณที่ใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน  ได้แก่  สารเอธีฟอน (ethephon)  ซึ่งสามารถปล่อยก๊าซเอทธิลีน (ethelene)  ออกมาช้า ๆ  ให้ผลในการเร่งน้ำยางไหลออกได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการอัดก๊าซเอทีลีนโดยตรงเข้าไปในเปลือกยาง  ก็จะทำให้น้ำยางไหลออกได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง  ซึ่งได้มีการนำมาใช้ร่วมกับการใช้เข็มเจาะแทนการกรีดยาง

การตอบสนองของพันธุ์ยางต่อสารเคมีเร่งน้ำยาง : 
- ยางแต่ละพันธุ์ตอบสนองต่อสารเคมีเร่งน้ำยางแตกต่างกัน  ดังนั้นผู้ใช้สารเคมีเร่งน้ำยางควรพิจารณาพันธุ์ยาง ประกอบด้วย  เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการใช้สารเคมีเร่งน้ำยางสูงสุด ดังนี้
- พันธุ์สถาบันวิจัยยาง  251,  สงขลา 36,  PB 255,  PB 260,  PR 255,  RRIC 110,  และ  RRIM 600  ตอบสนองต่อสารเคมี  เร่งน้ำยางในระดับปานกลาง
- พันธุ์  BPM 24  ตอบสนองต่อสารเคมีเร่งน้ำยางในระดับต่ำ

การเพิ่มวันกรีดยาง: 
- การหยุดพักกรีดการกรีดยางติดต่อกันมีผลทำให้ผลผลิตของต้นยางลดลงในเวลารวดเร็วจึงจำเป็นต้องมีการหยุดกรีด  โดยเฉพาะในฤดูผลัดใบ  ซึ่งระยะดังกล่าวแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น  หากมีความจำเป็นต้องกรีดในฤดูนี้  เพื่อเพิ่มจำนวนวันกรีด ควรหยุด กรีดในระยะที่ต้นยางมีการผลิใบใหม่  เพราะถ้ากรีดในระยะนี้จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง
- การเพิ่มจำนวนวันกรีด  จำนวนวันกรีดที่สูญเสียในแต่ละปี  มีสาเหตุจากฝนตก  หยุดกรีดในช่วงแล้งคนกรีดยางหยุดงาน  และ ในภาวะที่มีโรคระบาดรุนแรง  แต่สามารถเพิ่มวันกรีดยางได้  ดังนี้ 
1) การกรีดสาย <คือ การกรีดยางหลังจากเวลากรีดปกติ ซึ่งเวลาดังกล่าวหน้ายางยังเปียกจากฝนตกตอนกลางคืน การกรีดสายสามารถกระทำได้แม้ในเวลาบ่ายหรือเวลาอื่นที่เหมาะสม แต่ไม่ควรกรีดในช่วง  11.00 - 13.00  น.  เนื่องจาก ผลผลิตที่ได้รับ  จะน้อยกว่าปกติมาก  หากใช้ระบบกรีดวันเว้นวัน (d/2)  หรือวันเว้นสองวัน (d/3)  ควรใช้การกรีดสายเพื่อเพิ่ม จำนวนวันกรีด
2) การกรีดชดเชย  คือ  การกรีดซ้ำงานกรีดเดิมในวันถัดไปเพื่อทดแทนวันกรีดที่เสียไปเนื่องจากฝนตก  ในกรณีที่แต่ละวัน  กรีดสลับแปลงกรีด  คนกรีดต้องกรีด  2  แปลงกรีดในวันที่กรีดชดเชยและไม่ควรกรีดซ้ำแปลงเดิมติดต่อกันเกินกว่า  2  วัน
3) การใช้อุปกรณ์กันน้ำฝนคือ   การใช้เสื้อกันฝนกับต้นยางที่มีขนาดเส้นรอบวงไม่เกิน  75  เซนติเมตร  เพื่อป้องกันหน้ายางเปียก  ค่าใช้จ่ายประมาณ  5 – 6  บาทต่อต้น

ข้อควรปฏิบัติสำหรับการกรีดยาง : 
1. ไม่ควรเปิดกรีดต้นยางที่ยังไม่ได้ขนาดเปิดกรีด  เพราะให้ผลผลิตต่ำและต้นยางชะงักการเจริญเติบโต
2. ไม่ควรกรีดยางทุกวันหรือกรีดติดต่อกันหลายวัน  เพราะมีการสิ้นเปลืองเปลือกสูง  มีจำนวนต้นยางแสดงอาการเปลือก  แห้งสูงส่งผลให้ผลผลิตต่ำและต้นยางชะงักการเจริญเติบโต
3. ควรใส่ปุ๋ยสูตร  30-5-18  ปีละสองครั้ง ๆ  ละ  500  กรัมต่อต้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง  กรมวิชาการเกษตร
4. ควรระวัง ป้องกัน  และรักษาโรคเส้นดำ  ตลอดจนอาการเปลือกแห้ง  โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง  กรมวิชาการเกษตร

ข้อควรระวัง :
*** ควรระวังไม่กรีดให้บาดเนื้อไม้ จะทำให้หน้ากรีดเสีย นอกจากเปลือกงอกใหม่เสียหาย ไม่สามารถกรีดได้แล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพ ของไม้ตกต่ำ


ข้อมูลอ้างอิง  :  http://rakbankerd.com

โพสต์โดย : POK@