Social :



วิธีการปลูก และดูแล มะยงชิด

26 ธ.ค. 61 11:12
วิธีการปลูก และดูแล มะยงชิด

วิธีการปลูก และดูแล มะยงชิด

วิธีการปลูก และดูแล มะยงชิด

นายจรูญ จ วนเจริญ  ปัจจุบัน  อายุ  62  ปี  อาศัยอยู่บ้านเลขที่  81/1  หมู่  10  ตำบลท่าช้าง  อำเภอเมืองนครนายก  จังหวัดนครนายก   พื้นที่ในการทำการเกษตรทั้งหมด  31  ไร่  ก่อนที่จะมา ปลูกมะยงชิด   และกะท้อนนั้น เคยทำนามาก่อนแล้วเกิดน้ำท่วมในปี 38 ทำให้ผลผลิตนั้นเสียหายไปมาก  กระทั่งได้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างระบบการผลิตการเกษตร (คปร.)  กับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก  และ  ธกส.  โดยจัดทำแผนการผลิตและขอกู้เงินจาก  ธกส.  จำนวน  130,000  บาท  และปรับพื้นที่นา  10  ไร่  ยกร่องปลูกมะปรางหวานมะยงชิด  กระท้อน และเริ่มขยายพันธ์มะยงชิดเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้


สวนมะปรางตาจรูญ  มีต้นมะปรางหวานและมะยงชิดประมาณ  300  ต้น  มีผลผลิตประมาณปีละ  2  ตัน  ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาสวนมะปรางหวาน มะยงชิด  ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร  เพื่อให้บริการความรู้เกี่ยวกับการปลูก  การดูแลรักษามะปรางหวานมะยงชิด แก่ผู้ที่สนใจทำให้ทุกวันนี้สวนตา-ยาย  แห่งนี้มีรายได้จากการให้บริการ  และการจำหน่ายผลผลิต  และกิ่งพันธุ์มะปรางหวานมะยงชิดมากพอสมควร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งผลผลิตและกิ่งพันธุ์ของที่นี่  ไม่จำเป็นต้องนำไปจำหน่ายที่อื่น  เพราะจะมีนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจไปเลือกชม  เลือกชิมและเลือกซื้อกันเองถึงสวน  ซึ่งในปีนี้มะปรางหวานมะยงชิดของที่นี้จะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ความสามารถโดดเด่นของคุณจรูญ  คือเกษตรผสมผสาน  เกษตรทฤษฎีใหม่  ด้านการขยายพันธุ์พืช  (กระท้อน มะยงชิด)  ประดิษฐ์เครื่องห่อกระท้อนแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน  ผลิตน้ำหมักชีวภาพ และฮอร์โมนบำรุงพืชต่างๆ  น้ำหมักหอยเชอรี่เร่งการเจริญเติบโต จัดระบบสวน  ระบบน้ำ  ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อเลี้ยงปลา และศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตร


การทำการเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่เน้นในเรื่องไม้ผลที่เป็นที่นิยมของจังหวัดนครนายกที่สร้างชื่อเสียง  ดังนี้
1. พื้นที่อยู่อาศัย  จำนวน  1  ไร่
2. พื้นที่การทำนา  จำนวน  12  ไร่
3. พื้นที่การทำไม้ผล  มะยงชิด  (ยกร่อง)  จำนวน  9  ไร่
4. พื้นที่การปลูกกะท้อน  และไม้ผลอื่นๆ  (ยกร่อง)  จำนวน  10  ไร่

โดยการปลูกไม้ผลของคุณจรูญนั้นจะเน้นการปลูกมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า (พันธุ์มาจากจังหวัดนนทบุรี)  แบบยกร่อง  และกะท้อนพันธุ์อีล่า  และปุยฝ้ายหวานห่อแบบยกร่อง  ส่วนบริเวณอื่นๆ  ก็จะมีการเลี้ยงปลาเบญจพรรณในร่องน้ำและมีจุดกักเก็บน้ำ  1  จุด  เป็นบ่อลึกสามารถบรรจุน้ำได้ถึง  1,600  ลบ.ม.  ขุดโดยกรมชลประทานทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีอีกทั้งหลังจากที่มีการสร้างเขื่อนนครนายกก็ทำให้พื้นที่บริเวณนี้ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมแล้วทั้งที่เป็นที่ลุ่มสร้างความสะดวกสบายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างมาก


มะยงชิด  การปลูกมี  2  วิธี  2  สภาพดิน 
การปลูกสภาพดินเหนียวอุ้มน้ำและปุ๋ยดี แนะนำการปลูกในสภาพดินเหนียวก่อน ตัวอย่าง จะต้องปลูกพูนดินแบบหลังเต่า ขุดหลุมกว้าง 30 – 40 เซนติเมตร ลึก  20 – 30  เซนติเมตร  ยิ่งใหญ่ก็ดี  ใช้ผสมมูลวัวแห้งหลุมละ  10  กิโลกรัม  แกลบดิบ  5  กิโลกรัม  คลุกเคล้ากับดินในหลุมให้เข้ากันดีแล้วเอาดินที่คลุกเคล้ากันดีแล้วกลบลงในหลุมให้ตื้นเหลือ  10-15  เซนติเมตร

ข้อดีและเทคนิคการปลูกแบบยกร่อง  :  การปลูกมะปรางหวาน  และมะยงชิดแบบยกร่องสามารถควบคุมความชื้นได้ดี  โดยช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม  เมื่อถึงต้นฤดูหนาว  ก็ระบายน้ำในร่องออกเพื่อให้ดินแห้งเร็ว  จากนั้นก็ตัดหญ้ากำจัดวัชพืช ทำพื้นดินให้แห้ง เมื่อกระทบกับอากาศหนาว มะปรางหวาน  และมะยงชิดก็จะแทงช่อดอกออกมาให้เห็น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวของมะปรางหวาน  และมะยงชิดนับตั้งแต่วันดอกบานจนถึงผลสุกเก็บเกี่ยวได้ จะใช้เวลาประมาณ  75  วัน  ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความชื้น

การดูแล   :  ให้ปุ๋ยเคมีสูตร  15-15-15  หรือ  สูตร  16-16-16  เดือนละครั้งๆ  ละ  1  ช้อนแกง  หรือ  20  วันครั้ง  ทุกครั้งที่มะยงชิดแตกใบอ่อนต้องป้องกันแมลงทำลายใบอ่อนด้วยสารเคมีหรือสมุนไพร ถ้าเคมีใช้  เอส  85  ฉีดพ่น  2  ครั้ง  ห่างกัน  7  วัน  สมุนไพรห่างกัน  3  วันครั้ง
Lif

การให้น้ำ    :  ในระยะแรกปลูก  2-3  เดือน  ควรมีการให้น้ำมะปรางให้ชุ่มอยู่เสมอ โดยให้น้ำวันเว้นวัน เมื่ออายุ  3-6  เดือน ให้น้ำสัปดาห์ละ  2  ครั้ง  เว้นแต่ช่วงฝนตกงดการให้น้ำ  มะปรางที่มีอายุ  1  ปีขึ้นไป  โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งควรมีการให้น้ำ   15-20  วันต่อครั้ง  และหากมีแสงแดดในช่วงระยะปลูกใหม่ๆ ควรมีการใช้วัสดุพรางแสงให้ต้นมะปรางด้วยและทุกครั้งที่เห็นมะปรางแตกใบอ่อนใหม่ๆ ช่วงดังกล่าวควรมีการให้น้ำมะปรางอยู่เสมอ  ใบมะปรางที่ออกมาชุดใหม่จะมีใบสมบูรณ์ ขนาดของใบค่อนข้างใหญ่และมีการแตกกิ่งก้านยอดใหม่ได้ยาวกว่าการไม่มีการรดน้ำในช่วงดังกล่าว เมื่อฝนทิ้งช่วงอากาศร้อนต้องให้น้ำทุกวัน พร้อมทั้งฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราเป็นระยะเวลา  3  ปี  ติดผล  สำหรับมะปรางที่ให้ผลผลิตแล้วการให้น้ำมะปรางมีผลต่อการติดดอกออกผลและคุณภาพของผลมะปรางมาก โดยทั่วๆ ไปแล้วมะปรางจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม ก่อนที่มะปรางจะออกดอกติดผล  2-3  เดือน  ควรงดการให้น้ำมะปรางเพื่อให้มะปรางสะสมอาหารพร้อมที่จะออกดอกได้ดี  ช่วงดังกล่าวถ้ามีการให้น้ำอยู่เสมอมะปรางจะแตกใบอ่อนไม่มีการออกดอกติดผลหลังจากมะปรางออกดอกติดผลแล้ว ควรมีการให้น้ำมะปรางเป็นระยะ โดยให้น้ำมะปรางครั้งละน้อยๆ ก่อน เพื่อให้ต้นมะปรางปรับตัวได้ดี ไม่ควรให้น้ำเป็นปริมาณมากพอทันทีทันใดมะปรางปรับตัวไม่ทันผลร่วงหมด


สำหรับสวนตาจรูญ  จะแบ่งระยะการดูแลเป็น  3  ระยะ  ระยะละ  4  เดือน ครบ 1 ปีพอดี รวมค่าใช้จ่ายในการดูแล  36,500  บาทต่อปี  ทุกระยะมีเวลาจะเสริมด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพสกัดจากตัวหอยเชอรี่, ปลาและพืชผักผลไม้ตลอดเวลาที่ว่าง โดยพยายามหลีกเลี่ยงสารเคมี การดูแลมะยงชิดของตาจรูญจะเริ่มตั้งแต่หลังจากเก็บผลผลิตหลังเดือนมีนาคมเสร็จ  คือตั้งแต่เมษายนถึงพฤษภาคม จะเริ่มตัดแต่งกิ่งมะยงชิดให้เสร็จ  จากนั้นก็ลงปุ๋ยคอกบำรุงต้นและผล  ต่อมาในช่วงพฤษภาคมถึงกรกฎาคมก็จะเริ่มใส่ปุ๋ยเคมีเดือนละ  1  ครั้ง  การให้ปุ๋ยทางใบจากการหมักปลาก็ต้องให้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมหลังจากที่ตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว  และอีกหนึ่งครั้งในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นการดูแลรักษา ในช่วงฝนเดือนกันยายนถึงตุลาคมก็ต้องมีการระบายน้ำเข้าสู่ร่องน้ำแล้วเสริมด้วยปุ๋ยน้ำชีวภาพที่ทำจากหอยเชอรี่ไปกับน้ำที่ระบายเข้าสู่ร่องน้ำด้วย

ระยะที่  1  ตั้งแต่เก็บผลผลิตหมด คือ สิ้นเดือนมีนาคม พอขึ้นต้นเดือนเมษายนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ระยะนี้เป็นระยะบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงด้วยปุ๋ยคอก(ขี้วัว)  500  กระสอบ  (ราคากระสอบละ 15-16  บาท)  น้ำหนัก 7,500 กิโลกรัม (ราคากิโลกรัมละ  1  บาท)  เป็นเงิน  7,500  บาท  เสริมรากด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 จำนวน 350 กิโลกรัม เป็นเงินประมาณ  5,000  บาท  แล้วเสริมด้วยปุ๋ยน้ำอินทรีย์ชีวภาพ

ระยะที่  2  ระยะสะสมอาหารเพื่อการออกดอก นับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม –  สิ้นเดือนพฤศจิกายนรวม  4  เดือน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  8-24-24  จำนวน  10  กระสอบ  (500  กิโลกรัม เป็นเงิน  7,500  บาท) เสริมด้วยปุ๋ยน้ำอินทรีย์ชีวภาพจากไข่หอยเชอรี่  ฉีดให้ทางใบเพื่อเป็นฮอร์โมนให้พลังงานแก่ไม้ผลก่อนออกดอก

ระยะที่  3   ระยะติดดอก  4  เดือน นับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมถึงสิ้นเดือนมีนาคม เก็บผลขายหมดพอดีใช้ปุ๋ยคอกขี้วัว 50 กระสอบ 7,500 กิโลกรัม (กิโลกรัมละ 1 บาท เป็นเงิน 7,500 บาท) เสริมด้วยปุ๋ยเคมีสูตร  13-13-21  จำนวน  10  กระสอบ  500  กิโลกรัม เป็นเงิน  7,000  บาท  ใช้เพื่อเร่งให้เนื้อแน่นเพิ่มความหวานอร่อย

การป้องกันเชื้อราเข้าไปทำลายต้นมะยงชิด
คุณตาจรูญ จวนเจริญ เกษตรกรมีความเชียวชาญของเกษตรกร เกษตรกรด้านไม้ผล  (มะยงชิดและกะท้อนหวานห่อ)  ได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลต้นมะยงชิดในช่วงฤดูฝน  หรือช่วงที่มีฝนตกชุก  ได้บอกว่า เมื่อฝนตก  การที่เกษตรกรได้ทำการตัดแต่งต้นมะยงชิดนั้นก็เป็นสิ่งที่ดี แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อต้นพืชเช่นเดียวกัน  เพราะจะมีเชื้อโรคหรือเชื้อราที่สามารถเข้าไปทำลายต้นมะยงชิดได้ ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลอย่างดี

คุณตาจรูญ  ได้ศึกษาวิธีการดูแลรักษาต้นมะยงชิดหลายรูปแบบ  จนมาหยุดอยู่ที่การดูแลต้นมะยงชิดด้วยวิธีง่ายๆ  หลังจากที่เกษตรกรตัดแต่งกิ่งต้นมะยงชิดแล้วก็  ให้นำสีน้ำมันมาทาบริเวณที่ตัดกิ่งออกไป  เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าไปทำลายต้น ยิ่งช่วงฝนตกนั้นต้องระมัดระวังเชื้อราที่เข้าไปทำลายกิ่งก้าน  และลำต้นของมะยงชิดด้วย  เป็นการป้องกันแบบง่ายๆและได้ผลอย่างดีด้วย


โพสต์โดย : POK@