Social :



วิธีการปลูก และดูแล หัวไชเท้า

17 ม.ค. 62 10:01
วิธีการปลูก และดูแล หัวไชเท้า

วิธีการปลูก และดูแล หัวไชเท้า

วิธีการปลูก  และดูแล  หัวไชเท้า

หัวไชเท้า   เป็นพืชหัวที่อยู่ในตระกูลของผักกาด  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบชายฝั่งทางทิศตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพืชที่มีสายพันธุ์อยู่มากมายกว่า  300  ชนิด

รากหรือหัว
มีลักษณะรูปทรงกระบอกกลม  หรือรูปกรวยยาว  ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์  รวมทั้งสีของหัวที่อาจมีทั้งสีขาวไปจนถึงสีแดงด้วย  บริเวณปลายหัวจะแตกออกเป็นรากฝอยขนาดเล็กจำนวนหลายเส้น

ลำต้น
มีลักษณะเป็นข้อกลมสั้น  แทงออกมาจากบริเวณกลางหัว  ไม่มีการแตกกิ่งก้าน

ใบ
ออกเป็นใบเดี่ยว  มีทั้งชนิดที่ขอบใบเรียบและหยักเว้าลึก  ออกมาจากข้อของลำต้น

ดอก
มีสีขาวหรือสีขาวอมม่วง  ออกมาจากกลางลำต้น มีกลีบดอก  5  กลีบ กลีบเลี้ยงเรียงกัน  2  ชั้นจำนวน  5  กลีบ  เป็นดอกสมบูรณ์เพศ  มีเกสรตัวผู้  6  อัน  เกสรตัวเมีย  1  อัน  มีต่อมน้ำหวานอยู่บริเวณฐานกลีบดอก ก้านดอกยาวประมาณ  50-100  ซม.  ดอกจะเริ่มบานในเวลาตอนเช้า

ฝักหรือผล
มีสีเขียวเข้ม ยาวประมาณ  2-6  ซม.  ฝักแก่จะมีสีน้ำตาลอมเทา  เนื้อภายในฝักค่อนข้างแข็ง  โดยฝักจะเริ่มแก่มาจากด้านล่างไปสู่ด้านบน ปลายฝักเป็นติ่งแหลม  เมื่อฝักแห้งจะไม่แตกออกตามรอยตะเข็บ

เมล็ด
มีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาลไปจนถึงสีน้ำตาลอมแดง  หรืออาจมีสีเหลืองในบางสายพันธุ์ ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดขนาด  3  มม.  อยู่ประมาณ  1-10  เมล็ด


มีการแบ่งหัวไชเท้าออกเป็น  2  กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มยุโรป  (Radish) 
เป็นกลุ่มที่ชอบอากาศหนาวเย็นประมาณ  15  องศาเซลเซียส  หัวมีสีแดงหรือดำขนาดเล็ก  เนื้อภายในมีสีขาวหรือแดง  มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ  20-25  วัน  นิยมปลูกกันมากในเขตอบอุ่นแถบยุโรป  และอเมริกา

2. กลุ่มเอเชีย  (Chinese Radish  หรือ  Japanese  Radish) 
ลักษณะของหัวมีรูปร่างกลมยาว  ขนาดใหญ่  เป็นสีขาวหรือสีแดงตามสายพันธุ์  มีเนื้อภายในสีขาว  พันธุ์เบามีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ  40-50  วัน  พันธุ์หนักมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ  60-70  วัน  นิยมปลูกกันมากในแถบเอเชีย

การเตรียมดิน 
ไถหรือขุดดินให้ลึกประมาณ  20-30  ซม.  แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ  7-15  วัน  เพื่อกำจัดวัชพืช  และแมลงในดิน  ให้ใส่ปูนขาวหรือปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มลงไปหากดินมีสภาพเป็นกรด  หรือเป็นดินเหนียว  ไถพรวนให้เข้ากันดี  ต่อมาอีก  15  วัน  ให้ไถพรวนย่อยดินให้ละเอียดอีกครั้งก่อนทำการปลูก


หัวไชเท้าพันธุ์ที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่มักจะเป็นพันธุ์เบา  โดยปลูกในพื้นที่ลุ่มแบบเป็นร่องในสวน หากเป็นพื้นที่ราบที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้นดีก็มักจะปลูกแบบเป็นไร่  ส่วนการปลูกแบบยกแปลง  หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยแล้วควรยกแปลงให้สูงประมาณ  10-15  ซม.  ใช้แปลงกว้างประมาณ  1-1.5  เมตร  ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่หรือความต้องการ
Lif

การปลูก  :   จะใช้วิธีหว่านเมล็ด หรือวิธีหยอดเมล็ดเป็นแถวบนแปลงที่ยกร่องไว้ก็ได้  ถ้าเป็นพันธุ์เบามักจะใช้ระยะปลูกที่  20×30  ซม.  พันธุ์กลางใช้ระยะ  30×45  ซม.  ส่วนพันธุ์หนักใช้ระยะ  30-45 x  50-75  ซม.

การรดน้ำ  :  ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เซลล์ของหัวขยายตัวอย่างมีคุณภาพ  ไม่แตก  จนกว่าจะถึงระยะการเก็บเกี่ยว

การใส่ปุ๋ย   :   การให้ปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นหลัก  โดยทั่วไปจะแบ่งใส่เป็น  2  ครั้ง  ซึ่งครั้งแรกจะใส่รองพื้นพร้อมการปลูก  ส่วนครั้งที่  2  ก็จะใส่เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ  20-25  วัน ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นสูตร  13-13-21  หรือสูตรเสมอ  15-15-15  ในอัตราไร่ละ  50-100  กก.  โดยให้โรยข้างลำต้นแล้วใช้ดินกลบ ในระยะแรกของการปลูกควรเร่งการเจริญเติบโตด้วยการใส่ปุ๋ยยูเรีย หรือแมโมเนียมไนเตรตเสริม  ในอัตราไร่ละ  10  กก.  ด้วย

ควรถอนแยกให้เหลือจำนวนต้นและระยะห่างตามที่ต้องการเมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ  2-3  ใบ ในกรณะหยอดเป็นหลุมให้ถอนแยกเหลือเพียงหลุมละ  1  ต้น หากเป็นการหยอดเป็นแถวควรให้มีระยะห่างกันประมาณ  20-30  ซม.  โดยทำไปพร้อมกับการกำจัดวัชพืชด้วย

การพรวนดินควรทำในระยะแรกๆ  ที่พืชกำลังเจริญเติบโต  แต่ให้ทำด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดแผลจนกลายเป็นโรค  หรือแตกแขนงจนได้หัวที่ผิดรูป  และควรทำไปพร้อมกับการใส่ปุ๋ยและกำจัดวัชพืชด้วย  แต่ไม่ควรพรวนดินเมื่อหัวไชเท้าเริ่มมีหัวแล้ว


พันธุ์เบา  มีอายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่เริ่มหยอดเมล็ดประมาณ  40-50  วัน  ส่วนพันธุ์หนักจะใช้เวลาประมาณ  60-70  วัน  หลังการเก็บเกี่ยวควรนำหัวไชเท้าไปทำความสะอาดพร้อมกับคัดเลือกหัวที่มีตำหนิออก  ตัดใบออกให้เหลือกระจุกยาวประมาณ  3-5  ซม.  และส่งจำหน่ายต่อไป  การเก็บหัวไชเท้าไว้ในภาชนะที่เหมาะสมในที่มีอุณภูมิประมาณ  0-1  องศาเซลเซียส  และมีความชื้นสัมพันท์ประมาณ  90-95%  จะทำให้หัวไชเท้ามีความสดใหม่อยู่ได้เกือบประมาณ  1  เดือน

ในหัวไชเท้ามีคุณค่าทางโภชนาการอยู่อย่างมากมาย  ได้แก่  พลังงาน  โปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  เหล็ก  วิตามินต่างๆ  และสารประกอบฟีนอลอีกหลายชนิด  ซึ่งมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร  ย่อยอาหาร  ทำให้ระบาย  ช่วยฆ่าเชื้อรา  ช่วยลดน้ำตาลในเลือด  ทำให้ระบบน้ำดีไหลเวียนดี  ช่วยต้านอนุมูลอิสระ  ต้านการอักเสบ  ต้านการเกิดมะเร็ง ช่วยลดริ้วรอยแห่งวัย  บำรุงผิวให้สดใส ใช้พอกแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยขับปัสสาวะ  ขับลม  ขับเสมหะ

โดยทั่วไปนิยมนำมาใช้ประกอบเป็นอาหารประเภทแกงจืด  แปรรูปเป็นหัวไชเท้าดองเค็ม ดองหวาน  ตากแห้ง  หรือใช้หั่นเป็นแผ่นบางๆ วางบนใบหน้าเพื่อรักษาฝ้า  จุดด่างดำ  ลดริ้วรอย และบำรุงผิวหน้า  สารสกัดจากหัวไชเช้ายังนำมาทำเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหรือยารักษาฝ้า  กระ จุดด่างดำ  ทำให้ผิวดูกระจ่างใส ทั้งใบและลำต้นยังนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก  น้ำหมักชีวภาพ หรือใช้เลี้ยงสัตว์ก็ได้

แต่ในหัวไชเท้าก็มีสารที่ก่อให้เกิดอาการผื่นแพ้บนผิวหนัง  หรือเป็นอันตรายต่อระบบประสาทได้ จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ  และไม่ควรรับประทานแบบดิบๆ


ข้อมูลอ้างอิง  :  http://www.vichakaset.com

โพสต์โดย : POK@