Social :



วิธีการปลูก และดูแล ถั่วหรั่ง

22 ม.ค. 62 11:01
วิธีการปลูก และดูแล ถั่วหรั่ง

วิธีการปลูก และดูแล ถั่วหรั่ง

วิธีการปลูก  และดูแล  ถั่วหรั่ง  

ถั่วหรั่ง   (Bambarra  Groundnut)  มีชื่อวิทยาศาสตร์  Voandzeia  subterranea  หรือ  Vigna  subterranea  เป็นพืชตระกูลถั่วล้มลุก  มีระบบรากแก้ว  ประกอบด้วยลำต้น  2  ชนิด  คือ  แบบตั้งตรง และเลื้อยขนานไปกับพื้นดิน  บนข้อของลำต้นเลื้อยเป็นที่เกิดของใบ  รากวิสามัญ  รวมทั้งดอกและฝักถั่วหรั่ง  ใบเป็นใบประกอบ  ดอกถั่วหรั่งเกิดตามมุมโคนก้านใบ  สีเหลือง  ฝักและเมล็ดเกิดบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของดอก มีรูปร่างกลมรีเล็กน้อย  เปลือกผลชั้นนอกเชื่อมติดกับชั้นกลาง ส่วนเปลือกชั้นในแยกออกต่างหาก เมล็ดภายในมีหลายสี ขึ้นอยู่กับพันธุ์  เช่น  ครีม  น้ำตาล  แดง  ม่วง  ดำ  หรือ  แดงลาย ขนาดเมล็ด  1.0 x 0.8  ซม.  ความหนาและเหนียวของเปลือกหุ้มเมล็ด (seed coat) ขึ้นอยู่กับพันธุ์เช่นกัน

ถั่วหรั่งเป็นพืชไร่ชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้  เช่น  สงขลา  นราธิวาส  ยะลา  กระบี่  ตรัง  พัทลุง  ปัตตานี  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกัน  เช่น  ถั่วปันหยี  ถั่วไทร  ถั่วเม็ดเดียว  กาแจโป  เป็นต้น  เป็นพืชที่มีความสามารถในการให้ผลผลิตสูง  โดยสามารถให้ผลผลิตถึง  1,200 กก./ไร่  เมล็ดถั่วหรั่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง  โดยมีคาร์โบไฮเดรต  55-72%  น้ำมัน  6-7%  โปรตีน  18-20%   และมีสารเมทไธโอนีน  ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงกว่าถั่วชนิดอื่น


การใช้ประโยชน์   โดยทั่วไปพบในรูปแบบต่างๆ ดังนี้ คือ
1.ถั่วหรั่งต้ม  เป็นการต้มใส่เกลือสำหรับเป็นอาหารว่าง
2.ถั่วหรั่งฝักอ่อน  ใช้เป็นผักในการปรุงอาหารประเภทผัด
3.เมล็ดแห้ง  บดเพื่อทำเป็นแป้งใช้ประกอบอาหาร
4.เมล็ดสดหรือแห้งต้มสุกแกะเปลือก  ใช้ทำอาหารหรือไส้ขนม

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 
ถั่วหรั่ง  สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่  เป็นทรายถึงดินร่วนปนทรายในที่ดอน มีการระบายน้ำและการซึมผ่านของน้ำได้ดีและไม่มีน้ำขัง  ในสภาพดินค่อนข้างเหนียวจะมีปัญหาในการเก็บเกี่ยว เนื่องจากฝักจะขาดติดอยู่ในดินมาก  ทำให้เปลืองแรงงานและเสียเวลาในการเก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น  สามารถให้ผลผลิตได้ดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ  สภาพดินกรดแต่ไม่ทนในดินด่าง  และดินเค็ม ระดับ  pH  ที่เหมาะสม  5.0-6.5

การเตรียมดิน 
ไถ  1  ครั้ง  แล้วพรวนอีก  1  ครั้ง  ในดินมีความร่วนซุยเหมาะในการปลูกและงอกของเมล็ด  หรือหากในพื้นที่เปิดใหม่หรือพื้นที่ปลูกยางทดแทน  หลังจากนำเศษต้นพืชออกแล้วถ้าดินมีความร่วนซุยดี  สามารถปลูกได้เลยโดยไม่ต้องมีการเตรียมดิน

อัตราเมล็ดพันธุ์ 
ใช้เมล็ดพันธุ์ที่กะเทาะเปลือกแล้วประมาณ  4-5  กก./ไร่  หรือเมล็ดแห้งทั้งเปลือกประมาณ  7  กก./ไร่


ฤดูปลูก 
1.ปลูกต้นฤดูฝน  คือประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม  หากปลูกหลังจากนี้ถั่วหรั่งจะออกดอกและติดฝักในช่วงที่ฝนตกหนัก  จะทำให้ติดฝักน้อย
2.ปลูกนอกฤดูฝน   เหมาะสำหรับพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้  การปลูกนอกฤดูฝนจะมีผลดีคือจะเป็นโรคภัยน้อยกว่าการปลูกในฤดูฝน

การวางแผนการผลิต  ถั่วหรั่งเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุค่อนข้างยาว  วางแผนการผลิตขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ 
พันธุ์พื้นเมือง  (150-180  วัน)  และพันธุ์สงขลา 1 ( 110-120 วัน)  ถ้าอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวสามารถปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง  เริ่มฤดูกาล  ปลูกในเดือนพฤษภาคม  จนถึงเดือนสิงหาคม  ซึ่งจะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 

ผลผลิตที่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน  จะได้ราคาค่อนข้างสูง(18 -22  บาทต่อกิโลกรัม)  เพราะมีความต้องการสูงขณะผลผลิตยังมีออกมาน้อย หลังจากนั้น ผลผลิตจะเริ่มทะยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นทำให้ราคาเริ่มลดลง จนถึงต่ำสุด  8  บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งปกติราคาโดยเฉลี่ย  10-12  บาท  ต่อ  กิโลกรัม  โดยทั่วไปถั่วหรั่งพันธุ์สงขลา  1  มีราคาสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง  กิโลกรัมละ  1-2  บาท  ที่ตลาดหัวอิฐเป็นแหล่งตลาดใหญ่  พ่อค้ารวบรวมผลผลิตจะรับซื้อ  ถั่วหรั่งจากพ่อค้ารายย่อยในท้องถิ่นจังหวัด ใกล้เคียงร้อยละ  95  ที่เหลือร้อยละ  5  รวบรวมจากแหล่งอื่น

การปลูกถั่วหรั่ง    การปลูกนอกฤดูฝนจะเหมาะกับพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ ช่วงการปลูก  นอกฤดูฝนจะให้ผลดีกว่าเพราะจะมีการระบาดของโรคน้อยกว่าการปลูกในฤดูฝน 

การเตรียมดิน : 
- พื้นที่ร่วนซุยอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นต้องมีการไถเตรียมดิน 
- เมื่อเอาวัชพืชและเศษวัสดุออกจากแปลงแล้ว  สามารถใช้จอบสับ  เป็นหลุมแล้วหยอดเมล็ดปลูกได้ทันที 
- พื้นที่ที่มีวัชพืชมากหรือดินมีความแน่นทึบมาก 
- ควรไถเพื่อกำจัดวัชพืชและปรับสภาพดินให้ร่วนซุยก่อน  เพื่อให้เหมาะกับการงอกของเมล็ด  แล้วตามด้วยการพรวน หรือไถ  2  ครั้ง  หรือไถครั้งเดียว  แล้วใช้จอบแต่งเกลี่ยแปลง  แล้วแต่ความเหมาะสมใน
MulticollaC
การปฏิบัติ

วิธีการปลูกและระยะปลูก 
ในพื้นที่  1  ไร่  จะใช้เมล็ดพันธุ์  ที่กระเทาะเปลือกแล้ว 4-5 กิโลกรัม หรือเมล็ดทั้งเปลือก 7 กิโลกรัม ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ  60 x 60  ซม.  จำนวน  2  ต้นต่อหลุม  ปลูกโดยใช้เสียมเปิดหลุมหรือไม้กระทุ้ง เป็นหลุมแล้วหยอดเมล็ด  2-3  เมล็ดสลับกันแล้วปิดหลุม  ถ้ามีความชื้นเพียงพอเมล็ดถั่วหรั่งจะงอก  ภายใน  8-10  วัน


- หลังจากงอก  21  วัน  ฉีดสารควบคุมการงอกของเมล็ดวัชพืชอะลาคลอร์ หรือเมทาลาคลอร์  อัตรา  160-320  กรัม  สารออกฤทธิ์ต่อไร่  แล้วใส่  ปุ๋ยเคมีสูตร  12-24-12  หรือ  15-15-15  กิโลกรัมต่อไร่   ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน  โดยหว่านแถวแล้วพูนโคนกลบปุ๋ยเข้าหา  ต้นถั่วหรั่งทั้งสูงข้างเป็นแถวยาว 
- ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสูงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย  แต่ควรพูนโคน  เพราะช่วยให้มีการติดฝักมากขึ้นและสะดวกเมื่อเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยว 
ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
- พิจารณาได้จากอายุเก็บเกี่ยวของทั้ง  2  พันธุ์  ร่วมกับการสุ่มถอนขึ้นมาดู 
- พันธุ์สงขลา  1  ระยะเก็บเกี่ยว  110-120  วันหลังปลูก 
- พันธุ์พื้นเมือง  ระยะเก็บเกี่ยว  140-180  วัน 
- หลังปลูกการผลิตเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์  ควรปล่อยให้เมล็ดแก่จัดเพิ่มขึ้นอีก  10-15  วัน
- หากถั่วหรั่งแสดงอาการทรุดโทรมเนื่องจากเป็นโรคทางใบ  ก็สามารถใช้เป็นตัวกำหนดในการเก็บเกี่ยวได้

วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้มือถอนต้นขึ้นมา  ถ้าเป็นดินค่อนข้างเหนียวการถอน  ฝักจะขาดติดอยู่ในดิน มากกว่าในดินร่วนซุย  จึงเปลืองแรงงานและเวลามาก  ฝักที่ติดอยู่ในดิน  สามารถคุ้ยดินที่มีฝักขาดติดอยู่มาร่อนในตะแกรง หรือภาชนะที่มีรูเล็ก กว่าถั่วหรั่งเล็กน้อย  เขย่าให้ดินร่วงออกไปก็จะได้ถั่วหรั่งทั้งหมด  การปลิดฝักที่ติดอยู่กับต้นที่ถอนขึ้นมาแล้ว โดยใช้มือลูบเบาๆ  ฝักถั่วหรั่งก็จะหลุดออกมาโดยง่าย

การปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว 
ใช้ทำเมล็ดพันธุ์
- เมล็ดถั่วหรั่งควรมีความชื้นประมาณ  10-11% 
- สามารถเก็บไว้ในภาชนะบรรจุถ่ายเทอากาศได้ในสภาพห้องปกติ  เก็บได้นาน  1  ปี   โดยความงอกไม่ลดลง 
- ถ้าหากเก็บไว้ในต้องปรับอากาศอุณหภูมิประมาณ  22  องศาเซลเซียส  ความชื้นสัมพัทธ์  65%  สามารถเก็บได้นาน  6  ปี 
- เมื่อนำมาตรวจสอบความงอกพบว่า  มีความงอกเกินกว่า  90%
- เมล็ดถั่วหรั่งสด  100  กิโลกรัม  เมื่อแห้งดีแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ  30  กิโลกรัม  และเมื่อกระเทาะเปลือกออกจะเหลือน้ำหนักเมล็ดประมาณ  20-21  กิโลกรัม

การลดความชื้น 
เกษตรกรใช้วิธีการผึ่งลมสลับผึ่งแดดใช้เวลา  ประมาณ  12-20  วัน  จนเมล็ดถั่วหรั่งแห้งพอสำหรับเก็บไว้ทำพันธุ์  แต่เมล็ดจะไม่ค่อยแข็งแรง  และมีความงอกต่ำ  ส่วนวิธีการลดความชื้นด้วยลมร้อนอุณหภูมิไม่เกิน  40  องศาเซลเซียส  จะไม่กระทบต่อความงอกและความแข็งแรงของเมล็ด

การแปรรูป 
การแปรรูปอาหารการนำไปบริโภค  สามารถใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ  คือ 
- ถั่วหรั่งต้ม เป็นการต้มใส่เกลือสำหรับกินเล่น  เช่นเดียวกับถั่วลิสง  ซึ่งส่วนใหญ่มักนิยมบริโภคแบบนี้
- ถั่วหรั่งฝักอ่อน  มีรสชาติหวาน  และกรอบใช้เป็นผักในผัดต่างๆ  ได้
- เมล็ดแห้ง  ใช้บดทำแป้งเพื่อประกอบอาหารตามต้องการ
- เมล็ดสดหรือแห้งต้มสุกแกะเปลือก  ใช้ใส่อาหารคาวซึ่งปกติใช้เมล็ดถั่วลิสง  หรือใช้ทำไส้ขนม

การแปรรูปอุตสาหกรรม 
ในลักษณะถั่วหรั่งต้มน้ำเกลือบรรจุกระป๋อง  สำหรับใช้ในการประกอบอาหาร เช่นเดียวกับถั่วลันเตา หรือส่วนประกอบในอาหารกินเล่นหรืออาหารเพื่อ  สุขภาพ


ข้อมูลอ้างอิง  :  https://www.rakbankerd.com/

โพสต์โดย : POK@