Social :



วิธีการปลูก และดูแล ละหุ่ง

29 ม.ค. 62 11:01
วิธีการปลูก และดูแล ละหุ่ง

วิธีการปลูก และดูแล ละหุ่ง

วิธีการปลูก และดูแล ละหุ่ง 

ละหุ่ง   (Castor)   จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในอดีต  เพราะเมล็ดนำมาสกัดน้ำมัน  ซึ่งถูกใช้มากในอุตสาหกรรมต่างๆ  อาทิ  การผลิตน้ำมันหล่อลื่น  สี  หมึกพิมพ์  น้ำมันขัดเงา  สบู่  และลิปสติก  เป็นต้น  รวมถึงใช้กากหลังการสกัดเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์  เพราะมีโปรตีนสูง  แต่ต้องกำจัดสารพิษก่อน  ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง  เพราะมีการใช้น้ำมันจากแหล่งอื่นมาใช้แทน


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ละหุ่ง  เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียวหรือมีอายุข้ามปี  ลำต้นตั้งตรง  สูงประมาณ  2-6  เมตร  ลำต้นแตกกิ่งแขนงออกน้อย  ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง  เปลือกลำต้น  และกิ่งมีทั้งสีเขียว  สีน้ำตาล  สีเหลืองหรือสีม่วงแดง  และอาจมีนวลสีขาวปกคลุม  ซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์  ส่วนแก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน  เปราะหักง่าย

ใบ
ละหุ่ง  เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงใบออกเดี่ยวๆเรียงสลับตามลำต้น ใบมีก้านใบทรงกลมยาวประมาณ  10-30  เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเว้าเป็นแฉกๆคล้ายใบมะละกอ  แต่ก้านใบละหุ่งจะเชื่อมกับแผ่นใบบริเวณตรงกลาง  แผ่นมีขนาดประมาณ  20-60  เซนติเมตร  แต่ขนาดใบจะแตกต่างตามสายพันธุ์  แผ่นใบเป็นแฉกเว้า  ประมาณ  7-11  แฉก  เรียงกันเป็นวงกลม แต่ละแฉกมีโคนเชื่อมติดกัน แผ่นแต่ละแฉกเรียบ ขอบมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย  แผ่นแฉกมีเส้นกลางใบ  และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน  ทั้งนี้ ทั้งก้านใบ แผ่นใบ  เส้นกลางใบจะมีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์  อาทิ  ก้านใบสีม่วงแดง  ก้านใบสีเขียว  เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน  เส้นกลางใบสีม่วงแดง เป็นต้น

ดอก
ละหุ่งออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง  ประกอบด้วยดอกแยกเพศ  แต่จะอยู่บนช่อดอกเดียวกัน  ซึ่งใช้การผสมเกสรด้วยแมลงเป็นหลัก  ประกอบด้วยมีช่อดอกยาวประมาณ  20-40  เซนติเมตร  ช่อดอกมีลักษณะเป็นชั้นๆ  แต่ละชั้นประกอบด้วยดอกออกเป็นกระจุกรวมกันแน่น

ดอกตัวผู้จะอยู่ด้านล่างของช่อดอก  ประมาณ  50-70%  ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ด้านบนของช่อ  ประมาณ  30-50%  โดยดอกตัวผู้จะไม่มีกลีบดอก  มีเพียงกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอับเรณูเอาไว้  เกสรด้านในมีสีเหลือง  ส่วนดอกตัวเมียจะไม่มีกลีบดอก  มีแต่กลีบเลี้ยงหุ้มไว้เช่นกัน  โดยมีด้านล่างเป็นรังไข่  ปลายเกสรมีสีเหลืองแยกออกเป็น  3  แฉก

ผล
ละหุ่งติดเป็นผลเดี่ยวที่รวมบนช่อผลเดียวกัน ผลมีลักษณะทรงกลม  ขนาดผลประมาณ  1.5-3  เซนติเมตร มีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์  เปลือกหุ้มผลหนา  เปลือกหุ้มผลมีหนามปกคุลมทั่วผล คล้ายผลเงาะ ผลอ่อนมีหนามอ่อน ไม่ปักทิ่มร่างกาย แต่หากผลแก่ หนามจะแข็งขึ้น  เมื่อผลแห้ง  เปลือก  และหนามจะแข็ง  และคม  เปลือกผลมีสีน้ำตาลอมดำ  และปริแตกออกเป็นพูชัดเจน จำนวน  3  พู  แต่ละพูมีเมล็ด  3  เมล็ด

เมล็ด
เมล็ดละหุ่งมีรูปรี  และแบนเล็กน้อย ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ  1-1.5  เซนติเมตร ยาวประมาณ  1.5-2.5  เซนติเมตร  เปลือกเมล็ดเรียบ  มีลายสีน้ำตาลดำ  และสีครีมประ  ผิวเป็นมัน  และแข็ง ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อเมล็ด สีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว  ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันจำนวนมาก


การปลูกแปลงเดี่ยว
เป็นการปลูกลงแปลงเป็นผืนใหญ่ ไม่มีพืชอื่นแซม  มุ่งเพื่อเก็บเมล็ดละหุ่งเป็นหลัก อาจปลูกตั้งแต่ไม่ถึงไร่จนถึงเป็นหลายสิบไร่  แต่ละพันธุ์มีระยะปลูกแตกต่างกัน  พันธุ์ต้นใหญ่  (พันธุ์พื้นเมือง) ให้ปลูกห่าง  พันธุ์ต้นเล็ก  (พันธุ์ต่างประเทศอายุสั้น) ให้ปลูกถี่ หากปลูกในหน้าฝนจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ หากปลูกหน้าแล้ง ให้พิจารณาแหล่งน้ำชลประทานหรือสร้างแหล่งน้ำสำรองไว้ เมื่อเก็บผลจนหมดต้นในครั้งแรก ให้ตัดต้นทิ้ง แล้วปลูกใหม่ หรือทยอยเก็บไม่เกิน  2  ปี  หลังปลูก  เพราะผลผลิตละหุ่งจะสูงเฉพาะปีแรก  ปีต่อมาจะลดลงมาก การปลูกใหม่จะได้กำไรคุ้มค่ากว่า

การปลูกแซมพืชอื่น
1. การปลูกแซมข้าวโพด
ในช่วงการปลูกข้าวโพด  ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม  ที่หลังการปลูกข้าวโพดแล้ว  เกษตรกรจะปลูกละหุ่ง  แซมในแถวข้าวโพด  โดยเก็บเกี่ยวข้าวโพดประมาณเดือนพฤศจิกายน  ละหุ่งจะแตกกิ่งก้านสาขา  และพร้อมเก็บเกี่ยวเมล็ดต่อในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
2. การปลูกแซมพริก
หลังการปลูกพริกแล้วประมาณ  3  เดือน  เกษตรกรจะปลูกละหุ่งแซมในแปลง  หลังหลังเก็บเกี่ยวพริกแล้วจึงได้ระยะเก็บเกี่ยวเมล็ดละหุ่งต่อ

การเตรียมดิน
แปลงปลูกละหุ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่  แต่จำเป็นต้องไถพรวนแปลง  และกำจัดวัชพืช  อย่างน้อย  1  รอบ

วิธีปลูก
การปลูกละหุ่ง  เกษตรนิยมปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ด้วยการหยอดเมล็ด เพราะสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด โดยขุดหลุมด้วยเสียมให้เป็นแถวๆ ลึกประมาณ 5-8 เซนติเมตร หรือไถคราดเป็นร่องตื้นๆ  แบ่งการปลูกได้  ดังนี้
Lif
– สำหรับพันธุ์พื้นเมือง  เนื่องจากมีลำต้น  และทรงพุ่มใหญ่  ให้ปลูกแต่ละแถวห่างกัน  ประมาณ  3  เมตร  แต่ละหลุมห่างกันประมาณ  2-3  เมตร  ใช้เมล็ดประมาณ  0.5  กิโลกรัม/ไร่
– สำหรับพันธุ์ต่างประเทศ  หรือพันธุ์อายุสั้น  ให้ปลูกแต่ละหลุม  และแถวห่างกัน ประมาณ  1-2  เมตร ใน  1  ไร่  ใช้เมล็ดประมาณ  2-2.5  กิโลกรัม

จากนั้น  หยอดเมล็ด  หลุมละ  2-3  เมล็ด  ก่อนเกลี่ยหน้าดินกลบ  และปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ


– การถอนต้น  หลังหยอดปลูกเมล็ด  ประมาณ  10-15  วัน  เมล็ดจะแทงต้นอ่อนให้เห็น  จากนั้น ประมาณ  15-20  วัน  ให้ถอนต้นกล้าที่มีขนาดเล็กหรือไม่สมบูรณ์ออก  เหลือไว้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง  1  ต้น/หลุม
– การเด็ดยอด  หากปลูกแปลงเดี่ยว  เมื่อต้นละหุ่งสูงประมาณ  1  ศอก  ให้เด็ดยอดทิ้ง หากปลูกแซมในพืชอื่น เมื่อโต  2  ศอก  ค่อยเด็ดยอดทิ้ง  ทั้งนี้ ให้เด็ดยอดในช่วงเย็น ไม่ควรเด็ดช่วงสายหรือกลางวัน  เพราะอากาศร้อนจะทำให้ต้นคายน้ำทางแผลมาก
– การกำจัดวัชพืช กำจัดด้วยจอบถาก ใน  1  เดือน แรกหลังปลูก ให้เริ่มกำจัดวัชพืช ต่อไป ทุกๆ 2 เดือน/ครั้ง ซึ่งอาจใช้สารกำจัดวัชพืชฉีดพ่นก็ได้
– แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ  ได้แก่  หนอนคืบ  หนอนกระทู้  เพลี้ยจักจั่น และไรแดง  แต่ที่พบบ่อย และทำความเสียหายมาก  คือ  หนอนคืบ  และเพลี้ยจักจั่น  เมื่อพบระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

ระยะที่  1 : เมล็ดเริ่มงอก ซึ่งใช้เวลาประมาณ  7-18  วัน เริ่มต้นจากเมล็ดดูดน้ำจนพองบวม รากแทงออกจากเปลือกเมล็ด ลำต้นอ่อนดึงใบเลี้ยงชูขึ้นเหนือผิวดิน
ระยะที่  2 : ใบจริงคู่แรกแตกออก ใช้เวลา  7-17  วัน
ระยะที่  3 : ละหุ่งมีใบจริง  5-6  ใบ และตาข้างเริ่มพัฒนา
ระยะที่  4 : เนื้อเยื่อตายอดพัฒนากลายเป็นตาดอก  ใช้เวลา  7-18  วัน
ระยะที่  5 : เนื้อเยื่อตาดอกเริ่มเจริญ  และพัฒนา ใช้เวลา  10-17  วัน
ระยะที่  6 : การพัฒนาของเนื้อเยื่อเกสร  และรังไข่
ระยะที่  7 : การเติบโตของช่อดอก
ระยะที่  8 : ช่อดอกเจริญพ้นใบที่ห่อหุ้ม  ละอองเกสรแบ่งตัวออกเป็น  2  ลอน
ระยะที่  9 : ดอกบาน  และผสมเกสร
ระยะที่ 10 : การพัฒนาของผลและเมล็ด
ระยะที่ 11 : เมล็ดเริ่มแก่  ใช้เวลา  12-16  วัน
ระยะที่ 12 : เมล็ดแก่ทั้งช่อ  ใช้เวลา  14-18  วัน

เมล็ดละหุ่งพันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์  เมื่อแก่เมล็ดจะปริแตก  และร่วงลงดิน ทำให้เมล็ดเสีย  แต่พันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์  เมล็ดไม่ปริแตก  และไม่ร่วงง่ายทั้งที่แก่แล้ว  ได้แก่  พันธุ์ลายขาวดำ  ส่วนพันธุ์ต่างประเทศ  เป็นพันธุ์อายุสั้น  ลำต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย  อายุเริ่มเก็บเมล็ดประมาณ  4-6  เดือน  เมื่อแก่  เปลือกผลจะไม่ปริแตก  ทำให้เก็บบนต้นได้  แม้ผลแก่จนแห้งก็ตาม

หลังจากเก็บผลละหุ่งแล้ว นำช่อผลละหุ่งมาตากแดด  2-3  แดด  ให้แห้ง  จากนั้น  ให้เด็ดผลละหุ่งออกจากช่อ  แล้ววางบนแผ่นไม้หรือลานปูน  ก่อนใช้ไม้แผ่นตีหรือกดเบาที่ผล  ผลก็จะปริแตก แยกเมล็ดออกมา


ข้อมูลอ้างอิง  :  https://puechkaset.com

โพสต์โดย : POK@