Social :



วิธีการปลูก และดูแล กระเจี๊ยบแดง

01 ก.พ. 62 11:02
วิธีการปลูก และดูแล กระเจี๊ยบแดง

วิธีการปลูก และดูแล กระเจี๊ยบแดง

วิธีการปลูก  และดูแล  กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง   (Roselle)  เป็นพืชล้มลุกอายุปีเดียว  นิยมปลูกสำหรับนำดอกมาใช้ประโยชน์หลัก  ได้แก่  นำดอกมาต้มเป็นน้ำกระเจี๊ยบ  ส่วนอื่นๆ  รองลงมา  ได้แก่  ใบ  และยอดอ่อนนำมาปรุงอาหาร  สีของดอกใช้เป็นสีผสมอาหาร  และเครื่องดื่ม  เป็นต้น


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น  และราก
กระเจี๊ยบแดง  มีลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่ม  สูงประมาณ  1-2.5  เมตร  ขนาดลำต้นประมาณ  1-2  ซม.  แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น  ต้นอ่อนมีสีเขียว  เมื่อแก่  ลำต้น  และกิ่งมีสีแดงม่วง  เปลือกลำต้นบางเรียบ  สามารถลอกเป็นเส้นได้

รากกระเจี๊ยบเป็นระบบรากแก้ว  และแตกรากแขนง  รากอยู่ในระดับความลึกไม่มาก

2. ใบ
ใบกระเจี๊ยบแดง  เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามความสูงของกิ่ง  มีลักษณะคล้ายปลายหอก ยาวประมาณ  7-13  ซม.  มีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนปลายเว้าลึกคล้ายนิ้วมือ  3  นิ้ว หรือเป็น 5 แฉก ระยะห่างระหว่างแฉก  0.5-3  ซม.  ลึกประมาณ  3-8  ซม.  มีเส้นใบ  3-5  เส้น  เส้นใบด้านล่างนูนเด่น มีต่อมบริเวณโคนเส้นกลางใบ  1  ต่อม  มีหูใบเป็นเส้นเรียวยาว  0.8-1.5  ซม.  ใบที่มีอายุน้อย  และใบใกล้ดอกจะมีขนาดเล็กรูปไข่

ใบกระเจี๊ยบแดงบางพันธุ์จะไม่มีแฉก  มีลักษณะโคนใบมน และเรียวยาวจนถึงปลาย  มีก้านใบมีแดงม่วงเหมือนสีของกิ่ง  เส้นใบด้านล่างนูนชัด

3. ดอก
ดอกกระเจี๊ยบแดงออกเป็นดอกเดี่ยว  ดอกแทงออกตามซอกใบตั้งแต่โคนกิ่งถึงปลายกิ่ง ดอกมีก้านดอกสั้น สีแดงม่วง ดอกมีกลีบเลี้ยง  ประมาณ  5  กลีบ  หุ้มดอกบนสุด  มีขนาดใหญ่  มีลักษณะอวบหนา  มีสีแดงเข้มหุ้มดอก และกลีบรองดอก  ที่เป็นกลีบด้านล่างสุด  มีขนาดเล็ก  8-12  กลีบ  มีสีแดงเข้ม กลีบทั้ง  2  ชนิดนี้  จะติดอยู่กับดอกจนถึงติดผล และผลแก่ ไม่มีร่วง ดอกเมื่อบานจะมีกลีบดอกสีเหลืองหรือสีชมพูอ่อนหรือสีขาวแกมชมพู บริเวณกลางดอกมีสีเข้ม  ส่วนของดอกมีสีจางลง  เมื่อดอกแก่กลีบดอกจะร่วง ทำให้กลีบรองดอก และกลีบเลี้ยงเจริญขึ้นมาหุ้ม

4. ผล
ผลกระเจี๊ยบแดงเจริญจากดอก  ถูกหุ้มอยู่ด้านในกลีบเลี้ยง  ลักษณะเป็นรูปไข่  กลมรี  ยาวประมาณ  2.5  ซม.  มีจงอยสั้นๆ มีขนสีเหลืองปกคลุม


พันธุ์กระเจี๊ยบ ที่นิยมปลูก
1. พันธุ์ซูดาน
เป็นกระเจี๊ยบพันธุ์แรกที่มีการปลูกในประเทศ  โดยนำมาจากประเทศซูดาน  ในปี  พ.ศ. 2510  ดังที่กล่าวข้างต้น เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในต่างประเทศ  รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน  มีลักษณะลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่  แตกกิ่งมาก  แต่กิ่งมักไม่เป็นระเบียบ  ดอกมีหลายสี เช่น สีเหลือง  และสีแดง มีกลีบเลี้ยงห่อหุ้มขนาดใหญ่  และให้รสเปรี้ยวจัด

2. พันธุ์บราซิล
เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ  พ.ศ. 2518 มีลักษณะลำต้นตรง แตกกิ่งมาก  และเป็นระเบียบ  แต่มีสี  และรสเปรี้ยวที่น้อยกว่าพันธุ์ซูดาน  แต่ให้จำนวนดอกดก  และดอกใหญ่กว่า

3. พันธุ์เอส-2760
เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดานเหมือนกับพันธุ์ซูดาน  แต่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่พัฒนา  และปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกา  ต้นอ่อนมีสีเขียว เมื่อต้นเต็มวัยจะมีลำต้น และกิ่งเป็นสีแดง  ลำต้นไม่มีหนามหรือขน มีลักษณะใบกลมใหญ่  ปลายใบแยกเป็นแฉก  3-5  แฉก  ดอกมีสีเหลืองหรือชมพู  กลีบเลี้ยงใหญ่  อวบหนา  สีแดงสด  มีลักษณะดอกโดยรวมคล้ายพันธุ์บราซิล  และให้รสเปรี้ยวใกล้เคียงกัน  แต่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า

4. พันธุ์เอส 60 – M 35
ลำต้นอ่่่่่่อนมีสีเขียว  ปลายยอกมีสีแดง  เมื่อต้นโตลำต้นทุกส่วนเปลี่ยนเป็นสีแดง ลำต้นไม่มีหนามหรือขน  มีข้อกิ่งสั้น  ใบมีแฉก  ลักษณะใบหนา  กลีบเลี้ยงสีแดงคล้ายพันธุ์เอส -2760  แต่เติบโต และให้ฝักยาวกว่า  ให้ความเปรี้ยวใกล้เคียงกับพันธุ์บราซิล  พันธุ์นี้มีอายุการออกดอก  และเก็บเกี่ยวช้ากว่าทุกๆพันธุ์

MulticollaC

ประโยชน์
1. กลีบเลี้ยงที่มีสีแดงเข้มรวมถึงกลีบดอกนิยมนำมาต้มทำน้ำผลไม้ที่เรียกว่า  น้ำกระเจี๊ยบ  ให้รสเปรี้ยว  ผสมน้ำตาลเล็กน้อย  ดื่ม  ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
2. ดอกอ่อน  นำมาปรุงอาหาร โดยนิยมนำส่วนดอกใส่ในอาหารจำพวกต้มยำเพื่อให้มีรสเปรี้ยว ส่วนใบอ่อน และยอดอ่อนนำมาปรุงอาหารลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงต้มหรือผสมเป็นผักสลัด
3. ดอกนำมาทำขนมหรือของหวาน  อาทิ  แยม  เยลลี่  ไอศครีม
4. สีแดงเข้มของดอก  นำมาสกัดเป็นสีผสมอาหาร  เครื่องดื่ม  หรือสีย้อมผ้า
5. ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกระเจี๊ยบแดง  อาทิ  ซอสกระเจี๊ยบแดง  กระเจี๊ยบผง  ไวน์กระเจี๊ยบ  เป็นต้น
6. เปลือกของกระเจี๊ยบแดงสามารถลอกใช้ทำเป็นเชือกรัดของได้
7. ลำต้นสามารถใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษสาได้
8. สารเพกตินที่พบ ในดอกสกัดนำไปใช้เป็นสารป้องกันการแยกตัว (emulsifier)  ของน้ำมันในเครื่องสำอาง
9. เมล็ดมีน้ำมันสูง  ใช้สกัดสำหรับเป็นน้ำมันประกอบอาหารที่มีกรดไลโนเลอิกสูง  (linoleic acid)
10. เมล็ดใช้ผสมกับสารส้มสำหรับตกตะกอนน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม
11. เมล็ดมีรสขมใช้บดผสมในอาหารเพื่อให้ได้รสขมเล็กน้อย
12. เมล็ดที่มีรสขมเหมือนกาแฟบางประเทศนำมาตากแห้ง และบดชงดื่มแทนกาแฟ
13. ทั้งใบอ่อน  ยอดอ่อน  ดอก  และเมล็ดใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์


กระเจี๊ยบเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อน ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง พันธุ์ที่ปลูกมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ซูดาน พันธุ์เอส-2760  (ให้กลีบเลี้ยงค่อนข้างบาง)  และพันธุ์บราซิล  (ให้กลีบเลี้ยงค่อนข้างใหญ่ หนา)  เป็นต้น  นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน  มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ  120  วัน  กระเจี๊ยบแดงสดที่  8-10  กิโลกรัม เมื่อตากแห้งจะได้กระเจี๊ยบแห้งประมาณ  1  กิโลกรัม

การปลูกกระเจี๊ยบแดงนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น  ฤดูปลูกสามารถปลูกได้ทุกฤดู  แต่ที่นิยมจะปลูกมากในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงปลายฝน  อาจปลูกด้วยวิธีการหว่านหรือหยอดเมล็ดลงหลุมหรือการเพาะเมล็ดในถุงเพาะชำก่อนย้อยลงแปลงปลูก  แต่ทั่วไปนิยมการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ดที่สุด  เพราะสะดวก  และประหยัดเวลา ประหยัดเงินทุนมากกว่า

1. การเตรียมดิน
การปลูกในแปลงดินจำเป็นต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวน และกำจัดวัชพืชก่อน  1-2  ครั้ง  ไถแต่ละครั้งควรตากดิน 3-7 วัน ก่อนปลูก การไถครั้งสุดท้ายก่อนปลูก  อาจหว่านโรยด้วยมูลสัตว์รองพื้นหรือผสมปุ๋ยเคมีสูตร  15-15-15  เล็กน้อย  ทั้งนี้ อาจปลูกแบบยกร่องหรือไม่ต้องยกร่องก็ได้  แต่หากปลูกในฤดูฝนควรไถยกร่องจะเป็นการดีที่สุด  เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ  80-100  ซม.

2. การปลูก
การปลูกในแปลงอาจใช้วิธีการหว่านเมล็ดหรือหยอดเมล็ด  หากหว่านเมล็ดจะใช้ปลูกในแปลงที่ไม่ยกร่อง  ส่วนการหยอดเมล็ดมักใช้กับแปลงที่ยกร่อง

การหว่านเมล็ดจะต้องหว่านให้เมล็ดตกห่างกันมากในระยะประมาณ  80-100  ซม.  ต่อต้น สำหรับการหยอดเมล็ดจากการไถยกร่องจะได้ระยะห่างระหว่างแถวที่  80-100  ซม.  และการหยอดเมล็ดก็เช่นกัน  ควรหยอดให้ห่างกันในแต่หลุมประมาณ  80-100  ซม.  เช่นกัน

3. การดูแล
เนื่องจากกระเจี๊ยบเป็นพืชไร่ชนิดชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องการน้ำมาก การปลูกกระเจี๊ยบส่วนมากจะปลูกในช่วงฤดูฝน  ดังนั้น  การให้น้ำจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำเป็นพิเศษ  ส่วนมากมักจะปล่อยให้เติบโตโดยอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น

ในระยะ  1-3  เดือนแรก  จำเป็นต้องมั่นกำจัดวัชพืชเป็นพิเศษ  เพราะการปลูกในช่วงฤดูฝนหญ้าจะเติบโตเร็วมาก  หากไม่กำจัดออกจะทำให้หญ้าขึ้นคลุมต้นกระเจี๊ยบได้

เนื่องจากดอกกระเจี๊ยบจะออกดอกไม่พร้อมกัน มีการทยอยออกตามความสูงของกิ่งจนถึงปลายกิ่ง  ดังนั้น  เมื่อกิ่งโตยาวเต็มที่แล้ว  และดอกบริเวณปลายกิ่งแทงออกแล้วจะทำการเด็ดยอดในแต่ละกิ่งทิ้ง  เพื่อให้กระเจี๊ยบเติบโตเฉพาะส่วนดอกได้ดี

การเก็บดอกกระเจี๊ยบ  สามารถเก็บได้ทั้งในระยะดอกตูมหรือหลังจากดอกบาน  และร่วงแล้ว  แต่โดยธรรมชาติ  ดอกกระเจี๊ยบในระยะดอกตูมจะให้รสเปรี้ยวน้อยกว่าระยะติดเมล็ดหลังดอกบาน

การเก็บดอกกระเจี๊ยบจะไม่สามารถเก็บในระยะเดียวกันได้พร้อมกันหมด  เนื่องจากแต่ละดอกในกิ่งมีอายุไม่พร้อมกัน  ดังนั้น  ระยะแรกจะเก็บดอกจากโคนกิ่งก่อน


ข้อมูลอ้างอิง  :  https://puechkaset.com

โพสต์โดย : POK@