Social :



วิธีการปลูก และดูแล อาโวกาโด

12 ก.พ. 62 11:02
วิธีการปลูก และดูแล อาโวกาโด

วิธีการปลูก และดูแล อาโวกาโด

วิธีการปลูก และดูแล อาโวกาโด

ลักษณะทั่วไป  :    อาโวกาโด เป็นไม้ผลยืนต้นที่ไม่ผลัดใบ  มีใบเขียวตลอดปีผลผลิตสามารถรับประทานสด  และแปรรูปนำไปสกัดเป็นน้ำมัน  เนื่องจากมีพันธุ์ที่หลากหลายมาก  จึงมีผลผลิตเกือบตลอดปี  พันธุ์ที่สำคัญได้แก่พันธุ์  Peterson  , Reuhle  ,Buccanear  ,Booth  7  ,Booth  8  ,Hall  และ  Hass


รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ  :  มาตรฐานอาโวกาโดที่มีคุณภาพดีนั้น  จะต้องมีลักษณะของผลตรงตามพันธุ์  ลักษณะผลต้องไม่บิดเบี้ยว  ไม่มีอาการซ้ำ  หรือมีตำหนิที่เป็นแผลแห้ง  ไม่เกิน  5%  ของผล

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด  :  เดือนมิถุนายน-เดือนกุมภาพันธ์

การปลูกและการบำรุงรักษา
ระยะปลูกและการวางผังการปลูก
ระยะปลูกที่เหมาะสมของอาโวกาโดนั้น  ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่จะใช้ปลูก  และความอุดมสมบูรณ์ของดินเพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นอาโวกาโดเจริญเติบโตได้ต่างกันโดยอาโวกาโดบางพันธุ์  เช่น  พันธุ์เบคอนและพันธุ์รูเฮิล จะมีต้นสูงโปร่งจึงอาจปลูกชิดได้มากกว่าพันธุ์ที่มีพุ่มแผ่กว้าง  เช่น  พันธุ์บูช  7  พันธุ์ฮอลล์และพันธุ์โซเควท  โดยทั่วไปการปลูกอาโวกาโดจะใช้ระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวประมาณ  8-12  เมตร  ในการวางผังปลูกนั้นควรให้มีการสลับระหว่างพันธุ์ด้วย

การเตรียมแปลงปลูก
ควรจะเตรียมแปลงที่จะปลูกไว้ล่วงหน้าก่อนปลูก  1  ปี  สำหรับในพื้นที่สูงซึ่งมีความลาดชันควรจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ  เช่น  ทำขั้นบันไดดิน หรือปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดเทของพื้นที่ จากนั้นจึงวางผังปลูกโดยทำการไถพรวนแปลงที่ใช้ปลูก  ปักไม้ตามระยะหลุมระหว่างแถวและระหว่างต้นตามต้องการ  แล้วปลูกพืชคลุมดินในระหว่าแถวของหลุมที่เตรียม  ปลูกไม้บังลมในแนวรอบสวนหรือในแต่ละแนวแปลงย่อย หลังจากนั้นจึงเตรียมหลุมปลูกอาโวกาโด  การเตรียมหลุมปลูกควรมีความกว้างยาว  80  เซนติเมตร  ลึกประมาณ  80  เซนติเมตร  ผสมปุ๋ยคอกประมาณ  1-2  บุ้งกี๋  คลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมาแล้วใส่ลงไปในหลุม  เตรียมไม้ปักผูกยึดต้นกันลมโยก  เตรียมวัสดุคลุมผิวหน้าดินบริเวณหลุมปลูกไว้ซึ่งอาจใช้ฟาง  เศษหญ้าแห้ง  แกลบ  ขี้กบ  ขี้เลื่อย  หรือเปลือกถั่วก็ได้

ฤดูปลูก
อาโวกาโดสามารถปลูกได้ทุกฤดูถ้ามีน้ำเพียงพอ  ในประเทศไทยนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน  ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ  เพราะมีนตกลงมาช่วย  แต่ถ้าฝนตกชุกมากต้องระมัดระวังไม่ให้น้ำขัง  ต้นอาโวกาโดถ้าปลูกในฤดูร้อนก็ต้องตรียมป้องกันแสงแดดเผาส่วนของเปลือกลำต้นหรือกิ่งก้านอาโวกาโดด้วย  ในต่างประเทศจะชุพลาสติกหุ้มป้องกันโคนต้นจากแสงแดดและสัตว์กัดแทะเปลือก


ต้องจัดเตรียมต้นกล้าอาโวกาโดไว้ก่อนล่วงหน้า  โดยคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์และได้ขนาด  เมื่อปลูกให้นำต้นอาโวกาโดลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้  ให้รอยต่อกิ่งหรือรอยแผลติดตาอยู่เหนือระดับดิน  กลบดินรอบๆ  โคนต้นให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม  แล้วทำการคลุมผิวหน้าดินด้วยวัตถุคลุมดินที่เตรียมไว้เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้น ป้องกันเมล็ดวัชพืชงอก และป้องกันความร้อนจากแสงแดด  ปักไม้หลักผูกเชือกยึดติดแน่นป้องกันลมโยก รดน้ำให้สม่ำเสมอจนกว่าต้นจะตั้งตัวได้ ทั้งนี้อาจจะให้น้ำครั้งละ  20-40  ลิตรต่อต้น  ทุก  3-4  วันในระยะ  1  เดือนแรกและควรตรวจดูอยู่เสมอ  ถ้าฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานก็ควรให้น้ำแก้ต้นอาโวกาโดอีก  สำหรับในช่วงฤดูร้อนของปีแรกหลังจากหมดฤดูฝนแล้วควรให้น้ำแก่ต้นอาโวกาโดทุกสัปดาห์ๆ  ละ  40-60  ลิตรต่อต้น  จนกว่าต้นอะโวกาโดจะมีอายุ  1  ปีหลังจากปลูก

MulticollaC

การใส่ปุ๋ย
หลังจากปลูกอาโวกาโดได้  1  เดือน  จะใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มให้กับต้นอะโวกาโด  โดยใส่ไนโตรเจน  ฟอสฟอรัสและโพแตสเซี่ยมอัตราส่วน  3:1:1  ทั้งนี้อาจให้โดยใช้ปุ๋ยสูตร  15-15-15  ผสมกับยูเรีย(46-0-0)  อัตราส่วน  1:1  คลุกเคล้ากันให้ดีแล้วใส่ต้นละ  200  กรัม  แบ่งใส่ประมาณ  3  ครั้งต่อปี  ทุก  3  เดือน  ปีที่  2  จะใส่ปุ๋ยผสมดังกล่าวข้างต้นในอัตรา  300  กรัม  แบ่งใส่ประมาณ  4  ครั้งต่อปี เมื่อต้นอาโวกาโดอายุได้  3  ปี  จะเริ่มให้ผลผลิต  ปริมาณการใส่ปุ๋ยต่อต้นจะเพิ่มขึ้นตามการให้ผล  และปุ๋ยที่ใช้ควรเปลี่ยนไปดังนี้ ในระยะต้นปีที่  3  จะใส่ปุ๋ยเหมือนปีที่  2  แต่ปริมาณปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็นต้นละ  400  กรัม ใส่  2  ครั้งในช่วงต้นฤดูฝนและกลางฤดูฝน พอถึงปลายฤดูฝนราวๆเดือนตุลาคม จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยที่มีฟอสฟอรัสหรือโพแตสเซี่ยมสูง  เช่น  8-24-24  หรือ  9-24-24  ในดินร่วนปนทรายหรือดินทราย  ส่วนดินร่วนเหนียวควรใช้ปุ๋ยสูตร  12-24-12  อัตรา  500  กรัมต่อต้น  เพื่อให้ต้นอาโวกาโดออกดอกดีและเมื่อติดผลแล้วจึงใส่ปุ๋ยอัตราส่วน  3:1:1  ใหม่  เพื่อให้ผลเจริญเติบโตดีและติดผลได้มาก  โดยอาจใส่ยูเรียผสมปุ๋ยสูตร  15-15-15  อัตราส่วน  1:1  เพิ่มขึ้นอีกต้นละ  500  กรัม  ในปีต่อๆไปอาจใช้วิธีวัดระยะจากโคนต้นไปยังชายพุ่มเป็นเมตร  ซึ่งจะเท่ากับจำนวนกิโกกรัมของปุ๋ยที่ใส่ให้ในแต่ละปีก็ได้  ควรมีดารใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้กับต้นอาโวกาโดทุกปี โดยใช้วิธีหว่านคลุมต้นและปล่อยให้ย่อยสลายตัวเอง


การให้น้ำ
ในระยะที่ปลูกอาโวกาโดใหม่ๆ  ควรให้น้ำแก่ต้นอาโวกาโด เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตและมีรากแผ่กระจายลงทางลึกและทางกว้าง ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอให้ดินชุ่มแต่อย่าให้น้ำขัง  เพราะจะทำให้รากเน่าต้นตายได้  การให้น้ำชลประทานไม่จำเป็นต้องให้ทุกวัน ในระยะต้นเล็กควรให้ในปริมาณหลุมปลูกอาทำในวงขังน้ำในบริเวณที่รากจะแผ่ออกไปถึง ต้นอาโวกาโดปลูกใหม่ต้องการน้ำวันละประมาณ  15  ลิตรต่อต้น ถ้าให้เว้นวันอาจให้ครั้งละ  30  ลิตรต่อต้น เมื่อต้นใหญ่ก็ต้องการปริมาณน้ำมากขึ้น  หรืออาจเลือกวิธีการให้น้ำเป็นระบบน้ำหยดหรือมินิสปริงเกอร์บริเวณโคนต้นก็ได้ แล้วแต่ละพื้นที่ปลูกและเงินลงทุน  เมื่อต้นอากาโดถึงระยะที่จะออกดอกควรงดให้น้ำแก่อะโวกาโด  แต่โดยปกติแล้วเป็นช่วงที่สิ้นสุดฤดูฝน  และเข้าฤดูหนาวแล้วและเมื่อเกิดตาดอกที่ยอดซึ่งจะสังเกตเห็นว่าตุ้มตาป้านกลม  และช่อดอกจะเริ่มเจริญออกมาบ้างแล้วจึงเริ่มให้น้ำใหม่


การจัดทรงต้นและตัดแต่งกิ่ง
อาโวกาโดไม่มีระบบการจัดทรงต้น  และตัดแต่งกิ่งที่แน่นอน ต้นอาโวกาโดที่ปลูกใหม่จนถึงระยะก่อนออกดอกและติดผลจะตัดแต่งกิ่งเพียงเล็กน้อย  หรือแทบไม่ต้องตัดแต่งกิ่งเลย  ยกเว้นตัดแต่งกิ่งเอเปลี่ยนแปลงลักษณะพุ่มต้น  เช่น  อาโวกาโดพันธุ์ที่มีพุ่มสูงมักจะตัดยอดลงเพื่อให้แตกกิ่งใหม่เป็นพุ่มแผ่กว้างออก

ก่อนการเก็บเกี่ยวอาโวกาโดต้องตรวจสอบว่าผลแก่เก็บเกี่ยวได้หรือไม่โดยพิจารณาถึงระยะเวลาที่เก็บเกี่ยวของอาโวกาโดแต่ละพันธุ์นั้นๆ จากนั้นทดลองเก็บผลบนต้นในระดับต่างๆประมาณ  6-8  ผลเพื่อผ่าดูเยื่อหุ้มเมล็ด หากเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดก็สามารถเก็บเกี่ยวได้  นอกจากนี้ควรพิจารณาลักษณะภายนอกของผลเพื่อให้มั่นใจว่าผลแก่แล้ว  เนื่องจากบางครั้งในต้นเดียวกันอาจมีการออกดอก  2  ชุด  ทำให้อายุของผลไม่เท่ากัน ในการเก็บเกี่ยวต้องให้มีขั้วผลติดอยู่กับผล  หากขั้วผลหลุดออกจากผลจะทำให้ผลเสียหายได้ง่ายขณะบ่มให้สุก วิธีการเก็บเกี่ยวทำได้โดยเด็ดหรือใช้กรรไกรตัดขั้วผลหลุดออกจากกิ่ง  อาจใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บหรือใช้ตะกร้อที่มีใบมีดตัดขั้ว  สอยให้ติดขั้วหรือใช้กรรไกรด้ามยาวที่มีที่หนีบขั้วผลไว้  ไม่ให้ผลตกเสียหาย ควรระมัดระวังไม่ให้ผิวผลเสียหาย  เมื่อเก็บแล้วให้ใส่ลงในภาชนะที่รองด้วยกระดาษหรือฟองน้ำที่ป้องกันความเสียหายได้  นำไปคัดแยกเอาผลที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดออก  ตัดขั้วผลให้สั้นลงเหลือเฉพาะส่วนฐานของขั้วที่ติดกับผล



ข้อมูลอ้างอิง  :  https://hkm.hrdi.or.th

โพสต์โดย : POK@