Social :



เทคนิคการปลูก และดูแล อบเชย เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ

12 มี.ค. 62 14:03
เทคนิคการปลูก และดูแล อบเชย เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ

เทคนิคการปลูก และดูแล อบเชย เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ

เทคนิคการปลูก และดูแล  อบเชย  
เพื่อสร้างรายได้อย่างมืออาชีพ

อบเชย   เป็นสมุนไพรและเครื่องเทศที่คนไทยคุ้นเคยกันมานาน  จนนำมาตั้งชื่อให้ลูกสาวก็มี  ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนก็มีการกล่าวถึงไม้ชนิดนี้

“…อบเชยเผยกลิ่นกลั้วสุกรม   วันนี้ได้เชยชมสมสุขพี่  สายหยุดกุหลาบอาบอวลดี    ขอหยุดชมจูบทีเถิดสาวน้อย… ”

หลายคนจะคุ้นเคยกับกลิ่นอบเชยในพะโล้  แต่คนรุ่นใหม่ไม่น้อยที่ไม่รู้จัก  แต่กลับคุ้นเคยกับคำว่า  Cinnamon   ที่เป็นส่วนประกอบหรือปรุงกลิ่นรสในเค้ก  ซินนามอนโรลล์  ลูกอม ยาสีฟัน หรือในหมากฝรั่ง  หลายคนที่สนใจเรื่องสุขภาพจะทราบสรรพคุณของอบเชยในการรักษาเบาหวาน ชนิดที่ไม่พึ่งอินซูลินซึ่งกำลังเป็นที่สนใจทั่วไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน้าตาของต้นอบเชยเป็นอย่างไร  อบเชยมาจากไหน  มีปลูกหรือไม่  และการผลิตและตลาดอบเชยทำอย่างไรนั้น  จะเป็นที่น่าสนใจเช่นกัน


อบเชย  เป็นเปลือกต้นของพืชในสกุล  Cinnamomum  ในวงศ์  Lauraceae  หลายชนิด  สามารถแบ่งตามแหล่งผลิตและคุณภาพของอบเชยได้  คือ
– อบเชยศรีลังกา  (Cinnamomum  verum  J.  Presl)  หรืออบเชยเทศ  (True  Cinnamon)  ปลูกมากในประเทศศรีลังกา  ตอนใต้ของอินเดีย  หมู่เกาะซิซิลี  และบราซิล อบเชยที่ได้จากศรีลังกามีคุณภาพดีกว่าอบเชยที่ได้จากแหล่งอื่น  เป็นที่นิยมในตลาดโลก
– อบเชยชวา  [Cinnamomum  burmannii  (Nees)  Blume]  หรืออบเชยอินโดนีเซีย  (Indonesia  Cassia)  พบมากแถบเกาะสุมาตรา  เกาะชวา  และทางฝั่งตะวันตกของติมอร์  อบเชยชวาเป็นอบเชยที่จำหน่ายในท้องตลาดบ้านเรา  เพราะมีการนำเข้าเพื่อใช้ในเครื่องแกง
– อบเชยจีน  (Chinese  Cassia)   มีชื่อวิทยาศาสตร์  Cinnamomum  aromaticum  Nees  พบในมณฑลกวางสี  ประเทศจีน  และพม่า  อบเชยจีนมีเปลือกหนาและหยาบกว่า  สีเข้มกว่าอบเชยศรีลังกา
– อบเชยญวน  (Saigon  Cassia)  ได้จากเปลือกที่แห้งแล้วของ  Cinnamomum  loureirii  Nees  มีลักษณะคล้ายอบเชยจีนมาก  หอมไม่มาก  แต่มีรสหวาน
– อบเชยไทย เป็นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ พบตามป่าดงดิบทั่วไป  มี  2  ชนิด  คือ  Cinnamomum  bejolghotha  (Buch.-Ham.)  Sweet  และ  Cinnamomum  iners Reinw.  Ex Blume  มีคุณภาพไม่ดีเท่าอบเชยเทศ

อบเชย  ในสภาพธรรมชาติทรงพุ่มอาจสูงตั้งแต่  10-15  เมตร  เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ  30-50  เซนติเมตร  แต่อบเชยปลูกจะมีการดูแลรักษาโดยตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม ซึ่งมักจะสูงไม่เกิน  2-2.5  เมตร กิ่งอบเชยจะแตกขนานกับพื้นดินหรือโค้งลงหาดิน  เปลือก  ลำต้น  และใบมีกลิ่นหอม ผลอบเชยมีขนาด  1.5-2  เซนติเมตร  อบเชยชอบอากาศร้อนชื้น  ดินร่วนซุยระบายน้ำดี  มีอินทรียวัตถุสูง  ไม่เป็นทรายจัด  ดินเหนียวทำให้เปลือกลำต้นหยาบและหนาทำให้คุณภาพต่ำ


ใช้การเพาะเมล็ด  โดยให้นำเมล็ดมาเพาะโดยเร็วใน  2-3  วัน  เพราะเมล็ดจะสูญเสียความงอกอย่างรวดเร็ว เมล็ดที่มีความงอกดีจะใช้เวลาในการงอกประมาณ  20-30  วัน ควรเพาะในแปลงที่มีแสงรำไร  ฝังเมล็ดลึกประมาณ  2.5  เซนติเมตร  เมื่อกล้ามีอายุ  4-5  เดือน  สูงประมาณ  15  เซนติเมตร  ให้ย้ายลงถุงและเลี้ยงไว้อีกประมาณ  4-5  เดือน  จึงย้ายลงแปลงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม  การปลูกแบบการค้าควรใช้อบเชยที่ตลาดต้องการและมีคุณภาพดี  เช่น  พันธุ์ศรีลังกา

ประเทศไทยปลูกอบเชยในลักษณะที่มีการตัดแต่งให้ต้นอบเชยแตกกอ มีหลายต้นต่อกอ อบเชยเป็นพืชที่เอาส่วนของเปลือกลำต้น และเปลือกกิ่งมาใช้ประโยชน์  การตัดแต่งกิ่งจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนกิ่งต่อต้นให้มากขึ้น  ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น  2  เมตร และระหว่างแถว  2  เมตร  เมื่ออบเชยมีอายุ  2-3  ปี  ให้ตัดลำต้นออก  ให้เหลือตอสูงจากพื้นดิน  10-15  เซนติเมตร  แล้วกลบดินให้มิดเพื่อเร่งการแตกกิ่งใหม่ เมื่อกิ่งแตกออกมาแล้วให้เลือกกิ่งที่ตรง  และมีการเจริญเติบโตที่ดีไว้เพียง  4-6  กิ่ง  เลี้ยงกิ่งเหล่านี้ไว้จนมีความสูงประมาณ  2-3  เมตร  และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  1-5  เซนติเมตร  จึงเก็บเกี่ยว ในระหว่างนี้ต้องคอยตัดกิ่งข้างออก  เพื่อให้ได้กิ่งกระโดงที่ตรงดี  ทำเช่นนี้ไปจนผลผลิตต่ำลงจึงรื้อแปลงปลูกใหม่

ดูแลรักษาอย่างไร
ควรให้น้ำในฤดูแล้ง  และคลุมโคนเพื่อรักษาความชื้น กำจัดวัชพืชเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะประเภทเถาเลื้อย 
Lif
ให้ปุ๋ยผสม  อัตราส่วน  2:1:1  ในช่วงปีที่  1  ปริมาณ  32  กิโลกรัม ต่อไร่ ปีที่  4  ใช้อัตรา  64  กิโลกรัมต่อไร่  และอัตรา  96  กิโลกรัมต่อไร่  ในปีที่  3  แบ่งใส่  2  ครั้ง  ช่วงต้น  และปลายฤดูฝน และควรใช้ปุ๋ยคอกปีละ  2  ครั้ง  เช่นกัน ข้อควรระวัง  คือหากใช้ปุ๋ยมากเกินไปจะมีผลกระทบต่อกลิ่นของเปลือกอบเชยได้

อบเชย  เก็บเกี่ยวในฤดูฝน  สังเกตใบอ่อนสีแดงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน  ควรตัดกิ่งตอนเช้า  ใช้มีดตัดทดสอบกิ่งดูจะพบว่ามีน้ำเมือกออกมาจากรอยตัด  แสดงว่าเป็นช่วงที่เหมาะสม หรืออาจทดสอบโดยใช้ปลายมีดแงะเปลือกว่าลอกง่ายหรือไม่  กิ่งที่เหมาะสมในการตัดควรมีอายุกิ่งประมาณ  9-12  เดือน  มีเส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งประมาณ  3  เซนติเมตร  มีเปลือกสีน้ำตาลอ่อน มีกระขาวที่เปลือก  ตัดเหนือดินประมาณ  6-10  เซนติเมตร  กิ่งยาวประมาณ  2  เมตร  ลิดกิ่งข้างและใบออก  ส่วนที่ลิดออกสามารถนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหยได้

ลอกเปลือกโดยนำกิ่งที่ตัดมาขูดผิวเปลือกออกด้วยมีดโค้ง  ทำด้วยสแตนเลสหรือทองเหลือง นวดเปลือกที่ขูดผิวแล้วด้วยแท่งทองเหลืองเพื่อให้เปลือกลอกออกจากส่วนของเนื้อไม้ได้ง่าย  และช่วยให้เกิดการแตกตัวของเซลล์เปลือก  ทำให้มีกลิ่นหอม  ใช้มีดควั่นรอบกิ่งเป็นช่วงๆ ด้านบนและล่างห่างกันประมาณ  30  เซนติเมตร แต่ถ้าสามารถลอกเป็นแผ่นยาวได้ตลอด  ก็ไม่ต้องควั่นเป็นช่วง  ใช้ปลายมีดกรีดตามยาวจากรอยควั่นด้านบนมาด้านล่างทั้งสองข้างของกิ่งใช้มีดปลายมนค่อยๆ  แซะเปลือกให้หลุดจากเนื้อไม้  จะได้เปลือกขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า  2  ชิ้น  ทำเช่นนี้จนหมดกิ่ง ในการลอกแต่ละครั้งจะมีเศษของเปลือกซึ่งไม่สามารถลอกให้เป็นแผ่นได้  เช่น  ตามรอยข้อของกิ่งหรือปุ่มปม  ส่วนนี้จะใช้บรรจุอยู่ในเปลือกที่ลอกได้อีกครั้ง  ในการตัดกิ่งแต่ละครั้งควรลอกให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียว  ถ้าทิ้งข้ามวันจะทำให้ลอกเปลือกยาก


การบ่ม  และการม้วนเป็นแท่ง (quill)
นำเปลือกที่ลอกได้มามัดเป็นกำและห่อด้วยกระสอบป่านเพื่อเก็บความชื้นและทิ้งไว้ในร่ม  1  คืน  เพื่อบ่มให้เปลือกเกิดการเหี่ยวและหดตัว นำเปลือกที่เป็นแผ่นสมบูรณ์เรียงซ้อนเกยต่อๆ  กัน  โดยใช้ปลายเล็กซ้อนปลายใหญ่  และใช้เศษเปลือกที่ลอกได้ชิ้นเล็กๆ  บรรจุภายในเปลือกเรียงต่อกันไปจนได้ความยาวแท่งประมาณ  42  นิ้ว  ใช้มือคลึงม้วนให้เป็นแท่งตรง  ลักษณะการม้วนตัวของเปลือกแห้งนี้เรียกว่า quill ผึ่งในร่มที่มีลมโกรกดี  และหมั่นนำมานวดคลึงและกดให้แน่นทุกวันจนแห้ง  ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ  5  วัน  อบเชยจึงแห้งสนิท ไม่ควรนำไปตากแดดในช่วงนี้ เพราะจะทำให้เปลือกแห้งเร็วเกินไป  และเกิดการโก่งงอไม่เป็นแท่งตรง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ดี  หลังจากนั้น นำแท่งอบเชยนี้ไปตากแดดอีก  1  วัน  เพื่อให้แห้งสนิท  โดยใช้กระสอบป่านคลุมเพื่อป้องกันความร้อนที่อาจมีผลต่อน้ำมันหอมระเหยได้

ผลผลิตเปลือกอบเชยแห้ง  8-10  กิโลกรัม ต่อไร่  เปลือกที่ลอกออกจากส่วนกลางของลำต้นที่ขึ้นอยู่บริเวณกลางของกอ  จะให้อบเชยแห้งที่มีคุณภาพดีที่สุด

ตลาด  และคุณภาพ
อบเชย  ที่ใช้เพื่อบริโภคในประเทศไทย  ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก  และประเทศอื่นๆ  เช่น  เวียดนาม  เป็นต้น  ในรูปอบเชยไม่บดหรือป่นและอบเชยบดหรือป่น  เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร  ใช้แต่งกลิ่นขนม  เหล้า  เภสัชภัณฑ์  สบู่ ยาขับลม  ยาหอม  ยานัตถุ์

ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีการส่งออกอบเชย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอบเชยบดหรือป่น  ประเทศคู่ค้าหลักคือ  สหรัฐอเมริกา  คุณภาพของอบเชยที่ตลาดต้องการขึ้นอยู่กับขนาด ความยาว  สี  กลิ่น  ความสะอาดปราศจากสิ่งเจือปน แมลง และเชื้อราทำลาย  มีสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอ ไม่ดำคล้ำ แท่งอบเชยควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร มีความหนาเปลือกสม่ำเสมอ  หากเรามีการปลูกอบเชยได้จะสามารถทดแทนการนำเข้าได้หลายสิบล้านบาท ตลาดและผู้รับซื้อในประเทศ  ได้แก่  ตลาดจักรวรรดิ กรุงเทพฯ

การซื้อขายในตลาดโลกนอกจากเปลือกแห้งแล้ว  ยังมีน้ำมันอบเชยเทศ  (Cinnamon  bark oil)  ได้จากเปลือกอบเชยเทศ  นำมากลั่นด้วยไอน้ำ  ให้น้ำมันร้อยละ  0.5-1  ใช้แต่งกลิ่นขนม เป็นยาขับลม น้ำมันใบอบเชยเทศ (Cinnamon  leaf  oil)  ได้จากใบสดกลั่นด้วยไอน้ำใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมและสบู่ เป็นแหล่งที่มาของยูจีนอล (Eugenol)  เพื่อนำไปสังเคราะห์สารวานิลลิน  (Vanillin)  หรือวานิลลาสังเคราะห์

ฝรั่งเชื่อว่า  อบเชย  เป็นเครื่องเทศที่เหมาะแก่การเชื่อมช่องว่างระหว่างรสหวานและรสเปรี้ยว  อบเชยใช้ผสมกับกาแฟ  ช็อกโกแลต  และชงกินเป็นน้ำชาอบเชย  ใส่อบเชยในอาหารหรือเครื่องดื่มบ้าง…ช่วยทำให้รู้สึกมีงานฉลองและหรูหราดี!!



ข้อมูลอ้างอิง  :  https://www.technologychaoban.com/



โพสต์โดย : POK@