Social :



กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียน เฝ้าระวังโรครากเน่า โคนเน่า ต้นทุเรียน

08 เม.ย. 62 11:04
กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียน เฝ้าระวังโรครากเน่า โคนเน่า ต้นทุเรียน

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียน เฝ้าระวังโรครากเน่า โคนเน่า ต้นทุเรียน

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรสวนทุเรียน 
เฝ้าระวังโรครากเน่า โคนเน่า ต้นทุเรียน

ในช่วงเข้าสู่ฤดูร้อนที่ร้อนจัด  โอกาสเกิดพายุฤดูร้อน  ฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในช่วงปลายเดือนเมษายน  2562  ทาง กรมส่งเสริมการเกษตร   ได้เตือนภัย  และให้คำแนะนำในการรับมือแก่เกษตรกรชาว สวนทุเรียน   ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงให้ผลผลิต  ให้เฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน  เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง


เชื้อราสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน   คือ  เชื้อราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา  (Phytophthora  palmivora)  สังเกตลักษณะอาการของต้นที่เกิดโรค  ใบจะไม่เป็นมันสดใส  โดยใบค่อย ๆ เหลืองซีดและร่วง  ใบอ่อนเหี่ยวเหลือง  มีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ  เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ  บริเวณกิ่ง  ลำต้น  และโคนต้น  มีสีของเปลือกเข้มคล้ายถูกน้ำเป็นวงหรือเป็นทางน้ำไหลลงด้านล่างหรือมีรอยแตกของแผล  และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า

เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า  เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล  ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหืน  แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว ต้นที่เป็นโรครุนแรงจะมีน้ำยางไหลออกมา  โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้น  เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ย  มีสีน้ำตาล  และหลุดง่าย กรณีอาการของโรครุนแรงจะเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น  ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย

วิธีป้องกันกำจัดกรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง  ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก  และใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า  ฮาร์เซียนั่ม  (Trichoderma  harzianum) ผสมกับรำข้าว  และปุ๋ยหมัก  ในอัตราเชื้อรา  1  กิโลกรัม รำข้าว  4  กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก  100  กิโลกรัม  คลุกเคล้าให้เข้ากัน  นำไปโรยรอบโคนต้น  ในอัตรา  10-20  กรัมต่อต้น


Lif
แต่หากโรคเข้าทำลายรุนแรง ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา  80-100  กรัมต่อน้ำ  1  ลิตร  เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยทาแผลทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง

หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดโคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม  80%  ดับเบิ้ลยูพี  อัตรา  30-50  กรัมต่อน้ำ  20  ลิตร  หรือเมทาแลกซิล  25%  ดับเบิ้ลยูพี  อัตรา  30-50  กรัมต่อน้ำ  20  ลิตร  โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา  1:1  ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น  ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาว  และตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน



ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.technologychaoban.com/

โพสต์โดย : POK@