Social :



เทคนิคการเพาะเห็ดหลินจือ

10 พ.ค. 62 11:05
เทคนิคการเพาะเห็ดหลินจือ

เทคนิคการเพาะเห็ดหลินจือ

เทคนิคการเพาะเห็ดหลินจือ

เห็ดหลินจือ   (Ling-zhi)   เป็นเห็ดสมุนไพรโบราณที่ถูกใช้เป็นตำรับยารักษาโรคของจีนมานาน  เนื่องจากประกอบด้วยสารสำคัญที่หายาก  และมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย  และป้องกันโรคได้หลายชนิดที่ผ่านการทดสอบ  และยืนยันทางการแพทย์แล้วในปัจจุบัน

เห็ดหลินจือ เป็นสิ่งมีชีวิตพวกยูคาริโอต  (Eukaryote)  จำพวกราขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วโลก  มีชื่อวิทยาศาสตร์  Ganoderma  lucidum  อยู่ในวงศ์  Basidiomycota  จัดเป็นเห็ดกระด้างที่มีลักษณะคล้ายเนื้อไม้  พบได้ทั่วไปตามท่อนไม้ผุที่มีความชื้นสูง  ไม่มีคลอโรฟิลล์  จึงไม่สามารถสร้างอาหารจากการสังเคราะห์แสงได้  แต่ใช้วิธีสร้างเอนไซม์ย่อยสลายเนื้อไม้เพื่อนำมาเป็นอาหารแทน


เห็ดหลินจือ  หรือ  หลิงชิง   เป็นชื่อเรียกในประเทศจีน ซึ่งแปลเป็นไทยหรือได้รับสมญานามว่า  สุดยอดแห่งต้นไม้วิเศษ  ส่วนประเทศไทย  เรียกหลายชื่อ  เช่น  เห็ดกระด้าง, เห็ดแม่เบี้ยงูเห่า  และเห็ดหั้งขอ  เป็นต้น  เป็นเห็ดที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบตำรับยาจีนมาตั้งแต่สมัย  มีสรรพคุณในการป้องกัน  และบำบัดโรคหลายอย่าง  อาทิ  โรคระบบประสาท  และสมอง  โรคระบบหลอดเลือด และหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ  และโรคระบบทางเดินอาหาร  เป็นต้น  โดยพบสารสำคัญที่หายาก  คือ  Germanium (GE) ช่วยให้แลดูอ่อนกว่าวัย  ร่างกายแก่ช้าลง  และ  Polysaccharide  ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคต่างๆ

ชนิดเห็ดหลินจือที่นิยมนำมาใช้ในทางตำรับยามากที่สุด  คือ  Ganoderma  lucidum  มีลักษณะดอกเห็ดที่ขึ้นเงา  มีผิวเป็นประกาย  ดอกเห็ดมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง  หรือที่ชาวจีน  เรียกว่า ชื่อจือ

เห็ดหลินจือแดง หรือสีน้ำตาลแดงมักพบ  ขึ้นอยู่ตามขอนไม้ผุ  ดอกเห็ดเจริญมาจากเส้นใยเล็กๆ  รวมเป็นกระจุกหรือขยุ้มรา  ลักษณะเป็นตุ่มกลมขนาดเล็ก  ต่อมาเจริญแผ่กว้างเป็นหมวกมีลักษณะคล้ายพัด  ดอกอ่อนมีสีขาว  เมื่อแก่จะมีสีแดง  และเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลแดง ผิวด้านบนมีลักษณะเป็นคลื่น  เรียบเป็นมันเงา


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. เส้นใย
เส้นใยเป็นเส้นละเอียดเรียงตัวกันแน่นจำนวนมาก  เส้นใยมีสีขาว  มีผนังกั้น เซลล์มี  2  นิวเคลียส  เมื่อเจริญเต็มที่จะพัฒนาเป็นตุ่มยื่น เรียก  sclerotia/primodia  เป็นส่วนที่พัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป  หากมีการเก็บเส้นใยไว้นาน  จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง  และสีน้ำตาล

2. ดอกเห็ด (cap)
ดอกเห็ดหลินจือมีทั้งแบบดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ดอกเห็ดประกอบด้วยส่วนหมวก และก้าน โดยหมวกเห็ดมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปพัด ขนาดที่พบทั่วไปมีเส้นผ่าศูนย์กลาง  10 – 12  ซม.  หรืออาจมากกว่า  เมื่อเจริญเต็มที่  ขอบหมวกจะงุ้มลง  สีหมวกเข้มขึ้น  ผิวด้านบนหมวกมีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง หรือสีอื่นๆ  ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เป็นมันเงา และมีแถบเป็นวงกลม ไม่สม่ำเสมอ  ด้านล่างหมวกเห็ดมีรูเล็กๆ  จำนวนมาก  ลักษณะคล้ายรูฟองน้ำ  สีเหลืองนวล  ภายในรูเป็นที่เก็บสปอร์  เนื้อเห็ดด้านในมีสีขาวหรือขาวนวล

3. สปอร์ (spore)
สปอร์ใช้เป็นส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศที่ถูกสร้างขึ้น  และเก็บภายในรูใต้หมวกเห็ด มีลักษณะรูปร่างรี  สีน้ำตาล  ปลายด้านหนึ่งตัด  ผนังหนา  มี  2  ชั้น  ผิวชั้นนอกเรียบ  ส่วนชั้นในมีลักษณะคล้ายหนาม  ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยของเห็ดหลินจือ  คือ  การหักของเส้นใย  แล้วเส้นใยที่หักเจริญต่อเป็นเห็ดดอกใหม่
MulticollaC

4. ก้านดอก (stalk)
ก้านดอกเห็ดหลินจือมีลักษณะสั้น  ค่อนไปด้านใดด้านหนึ่งทำให้มีลักษณะคล้ายรูปไตหรืออยู่ตรงกลาง หรือบางดอกอาจไม่พบมีก้านดอกเลย  ก้านนี้ทำหน้าชูดอกเห็ด  และเป็นท่อลำเลียงอาหารให้แก่ดอกเห็ด  สีก้านสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลสีดำ  เนื้อก้านมีสีน้ำตาลอ่อน  ความยาวก้านประมาณ  2-10  เซนติเมตร

5. ฐานดอก
ฐานดอกเป็นจุดรวมของเส้นใยที่พัฒนาเป็นก้านดอก  และดอกเห็ด  ที่ในระยะแรกจะเกิดเป็นตุ่มเล็กๆ  และเจริญกลายเป็นก้านดอกและดอกต่อมา  ส่วนฐานดอกจะแผ่บานออกเล็กน้อย  และยึดเหนี่ยวกับท่อนไม้หรือวัสดุเพื่อเป็นฐานให้แก่ดอกเห็ด


วัสดุ  และอุปกรณ์
– ถุงพลาสติกทนร้อน
– คอรัดพลาสติกสำเร็จรูป  ขนาด  1  นิ้ว
– ตะเกียงแอลกอฮอล์
– ขี้เลื่อยที่หมักแล้ว
– พลั่ว/จอบ
– โรงเรือน  อุปกรณ์ให้น้ำ

เชื้อเห็ด
– เชื้อเห็ดหลินจือสามารถหาซื้อได้ตามโรงเพาะเห็ดหลินจือทั่วไป  หรือ ติดต่อซื้อที่ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย  กรุงเทพฯ

ขั้นตอน
1. นำขี้เลื่อยที่ผ่านการหมักแล้ว  คลุกผสมน้ำ  โดยการกองขี้เลื่อยในภาชนะ  แล้วใช้น้ำฉีดพรม  ใช้จอบหรือพลั่วคลุกผสมให้เข้ากัน  ใช้มือบีบก้อนขี้เลื่อยให้แน่น  หากคลายมือออกก้อนขี้เลื่อยจะจับกันเป็นก้อน  ไม่แฉะหรือไม่มีน้ำไหลออกจะถือว่าใช้ได้
2. บรรจุขี้เลื่อยใส่ถุง  ให้แน่นพอประมาณ และให้เหลือพื้นที่บริเวณคอขวดเล็กน้อย  พร้อมใส่คอรัดถุงพลาสติก  ถุงพับปากถุงลงด้านล่างแล้วใช้ยางรัด  และปิดด้วยฝาปิด
3. นำถุงขี้เลื่อยเข้านึ่งไอน้ำ  ประมาณ  2-3  ชั่วโมง
4. นำเชื้อเห็ดออกจากขวด  โดยผ่านการลนไฟแอลกอฮอล์บริเวณปากขวด  และใส่เชื้อเห็ดในถุงเพาะ  20-30  เม็ด  แล้วนำมาจัดเรียงเป็นชั้นในที่มืดหรือในโรงเรือนที่ปิดแสงได้  ในระยะนี้  1-2  เดือน  เชื้อเห็ดจะกระจายเต็มถุงเพาะ
5. หลังเชื้อเห็ดเจริญกระจายทั่วแล้วจะทำการเปิดปากถุง และให้น้ำ  2-3  ครั้ง/วัน  โดยการฉีดพรมบริเวณพื้นหรือโดยรอบโรงเรือน  ระวังอย่าให้น้ำเข้าถุงเพาะ  หลังจากนั้นประมาณ  1  เดือน  เห็ดจะเริ่มงอกออกบริเวณปากขวด (กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์




ข้อมูลอ้างอิง  :   https://puechkaset.com/

โพสต์โดย : POK@