Social :



เทคนิคการเลี้ยงเป็ดแบบมืออาชีพ

31 ก.ค. 62 10:07
เทคนิคการเลี้ยงเป็ดแบบมืออาชีพ

เทคนิคการเลี้ยงเป็ดแบบมืออาชีพ

เทคนิคการเลี้ยงเป็ดแบบมืออาชีพ

ประเทศไทยสามารถผลิตเป็ดได้ไม่ต่ำกว่า  7  ล้านตัวต่อปี  ถึงแม้ การเลี้ยงเป็ด    ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายเท่าการเลี้ยงไก่  แต่เดิมมีการเลี้ยงเป็ดกันมากตามบริเวณชายทุ่งนา  หรือที่มีหนอง  คลอง  บึง โดยให้เป็ดหาอาหารจากเศษข้าวที่ตกในท้องนา  และลูกกุ้ง  ลูกปลา  หอยเล็กๆ  ผู้ที่เลี้ยงเป็ดมีอาชีพจำนวนมากมักอยู่ตามแถบชายทะเล ซึ่งสามารถหาเศษปลาเล็กๆ  ที่เรียกว่า  ปลาเป็ด  ได้ง่ายทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย

จังหวัดที่เลี้ยงเป็ดมา  ได้แก่  สมุทรปราการ  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  สมุทรสาคร  ราชบุรี  นครปฐม  เพชรบุรี  สุราษฎร์ธานี  สุพรรณบุรี  แต่ปัจจุบันวิชาการทางอาหารสัตว์ของประเทศไทยก้าวหน้ามากขึ้น  มีการผลิตอาหารเป็ดโดยเฉพาะอาหารจำหน่ายและมีพันธุ์เป็ดที่จะเลี้ยงมากขึ้นทำให้มีการเลี้ยงตามภาคต่างๆ  เพิ่มขึ้น  เป็ดที่เลี้ยงทั่วไปมีทั้งเป็ดเนื้อและเป็ดไข่  แต่ส่วนมากนิยมเลี้ยงเป็ดไข่มากกว่า  เพราะเมื่อเป็ดหยุดไข่ก็ขายเป็นเป็ดเนื้อได้

- เพื่อให้ไข่ เนื้อเป็นอาหาร  ช่วยเพิ่มรายได้ ประหยัดทุน
- สามารถใช้ที่ดินและแหล่งน้ำให้เป็นประโยชน์มากขึ้น
- ใช้เศษผัก  เศษอาหารและปลาเป็ดให้เป็นประโยชน์ได้
- ได้มูลเป็ดเป็นปุ๋ย

ลักษณะทั่วไปของโรงเรือนเป็ดที่ดี  ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- กันลม  แดด  ฝน  ได้
- อากาศภายในโรงเรือนสามารถระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
- สามารถรักษาความสะอาดได้ง่ายไม่เป็นที่ขังน้ำ
- พื้นควรเป็นพื้นทราย  หรือพื้นซีเมนต์  จะทำให้ทำความสะอาดได้ง่ายและควรปูแกลบเป็นวัสดุรองพื้น
- ในบริเวณที่วางภาชนะให้น้ำควรมีที่ระบายน้ำ  พื้นคอกตรงบริเวณที่ให้น้ำควรใช้พื้นไม้ระแนงหรือใช้แผ่นซีเมนต์แบบเดียวกับที่ปูคอกหมู  ซึ่งเป็นช่องจะสามารถระบายน้ำได้ดี  หรือทำเป็นตะแกรงลวดเพื่อวางที่ให้น้ำ
- สร้างง่าย  ราคาถูก  และใช้วัสดุก่อสร้างที่มีในท้องถิ่น
- หลังคาควรเป็นหลังคาจั่ว  2  ชั้น  เพราะจะช่วยให้ระบายอากาศได้ดี
- ไม่ควรเลี้ยงแน่นจนเกินไป


1. เครื่องกกลูกเป็ด
ลูกเป็ดเมื่อยังเล็กๆ  ยังไม่มีความอบอุ่นหรือเครื่องกั้นความหนาวเพียงพอ  เมื่อถูกอากาศเย็นในเวลากลางคืนหรือตอนเช้าๆ  ก็จะหนาวสั่น  ถ้าปล่อยไว้เช่นนี้นานๆ  ลูกเป็ดจะตายหรือแคระแกรนได้  จึงต้องมีเครื่องกกให้ลูกเป็ด

การกกลูกเป็ด  สามารถทำได้  3  ลักษณะคือ  ใช้แม่เป็ดกก  ใช้เครื่องกกที่ใช้ไฟฟ้า  และใช้เครื่องกกที่ไม่ใช้ไฟฟ้า
1.  การกกด้วยแม่เป็ด  เป็นวิธีแบบธรรมชาติใช้ได้สำหรับกรณีที่เลี้ยงเป็ดจำนวนไม่มาก  หรือในการเลี้ยง  แบบหลังบ้าน  มีลูกเป็ดไม่กี่ตัว  วิธีการกกที่นอกเหนือจากการใช้วิธีธรรมชาติ  เป็นการกกที่ต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วย  ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้

2.  วิธีกกลูกเป็นแบบง่ายๆ เป็นการกกที่นิยมใช้ในชนบท  กกโดยไม่ใช้ความร้อนช่วย  โดยแบ่งลูกเป็ดออกเป็นฝูงๆ  ละ  100  ตัว  สำหรับใส่คอกนอนในเวลากลางคืน  คอกนอนต้องปิดมิดชิดพอควรเพื่อกันลมโกรก  ภายในคอกแบ่งออกเป็นช่องๆ  ขนาดกว้าง  1  เมตร  ยาว  2  เมตร  สำหรับเป็ด  100  ตัว  ใช้ไม้กระดานหรือไม้ไผ่กั้น  สูงจากพื้นคอกประมาณ  25-30  เซนติเมตร  ด้านบนที่นอนปิดด้วยกระสอบป่าน  เพื่อเก็บความร้อนจากตัวลูกเป็ด

3.  วิธีกกด้วยถ่านไฟหรือตะเกียงรั้ว   โดยใช้เตาอั้งโล่ใส่ถ่านไฟเป็นแหล่งให้ความร้อนทำให้ภายในคอกอบอุ่น  และต้องมีที่กั้นรอบๆ  เตาเพื่อกันไม่ให้ลูกเป็ดพลัดเข้าไปถูกเตาอั้งโล่  อาจใช้ถังน้ำมันขนาด  200  ลิตร  ตัดให้สูง  20  เซนติเมตร  หรือจะใช้ลวดตาข่าย  หรือไม้ไผ่สานกั้นโดยรอบก็ได้

การใช้ตะเกียงรั้วน้ำมันก๊าดเป็นแหล่งให้ความร้อนในการกกลูกเป็ดก็ได้ผลดี  เพื่อให้เก็บและแผ่กระจาย  ความร้อน  ได้ดีขึ้นควรมีฝาชีสังกะสีหรืออลูมิเนียมครอบ  หย่อนให้ขอบฝาชีสูงจากพื้นประมาณ  20  เซนติเมตร รอบนอกควรมีแผงล้อมกกอีกชั้นหนึ่ง หากปูพื้นคอกด้วยแกลบ ควรมีแผ่นโลหะรองใต้เตาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้

4.  วิธีกกด้วยแก๊ส   เครื่องกกด้วยการใช้แก๊ส  ประกอบด้วยเตา  ฝาชีหรือตัวกกและถังแก๊ส  พร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับควบคุมความร้อน  ในระดับที่ต้องการตามอายุลูกเป็ด

5.  การกกด้วยไฟฟ้า   นับว่าเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด  ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องกกแบบฝาชี ใช้หลอดไฟธรรมดาเป็นแหล่งให้ความร้อน  หรือใช้ลวดร้อนเป็นแหล่งให้ความร้อน  หรือจะใช้หลอดไฟอินฟราเรด  2-3  หลอด  แขวนให้สูงจากพื้นคอกประมาณ  18-20  เซนติเมตร  จะเพียงพอสำหรับการกกลูกเป็ดประมาณ  100  ตัว

6.  การกกลูกเป็ดแบบกรง   การเลี้ยงลูกเป็ดสามารถทำอย่างง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่หรือลวดตาถี่ปูพื้น  ถ้าใช้ไม้ไผ่ปูพื้นควรใช้ลวดขนาด  1/2  นิ้ว  ปูทับอีกชั้นหนึ่ง  ลวดที่ใช้ควรเป็นลวดตาสี่เหลี่ยมเพราะไม่คม  ซึ่งอาจตำเท้าลูกเป็ดได้ ถ้าหากไม่ได้ต้องใช้ลวดตาหกเหลี่ยม ควรเป็นลวดขนาดใหญ่  ถ้ามีกรงเลี้ยงลูกไก่อยู่แล้วก็ใช้เลี้ยงลูกเป็ดได้ กรงขนาด  1 x 2 เมตร  เลี้ยงลูกเป็ดได้  50  ตัว  จนถึงอายุไม่เกิน  1  เดือน  หรือจนโตพอที่จะเอาลงเลี้ยงปล่อยฝูงได้

กรงกกควรกั้นทึบ  3  ด้าน  ประมาณ  1  ใน  3  ของกรงด้านใดด้านหนึ่ง  ด้านที่กั้นทึบควรเปิดส่วนบนติดกับขอบกรงลงมาประมาณ  10  เซนติเมตร  เป็นช่องระบายอากาศ  โดยเฉพาะถ้าใช้ตะเกียงรั้วกก  ช่องนี้จะเป็นช่องระบายแก๊สหรือควันเสียออกด้วย

ส่วนอีก  2  ใน  3  ของกรงด้านบนควรเปิดหรือปิดด้วยลวดตาข่าย  เพื่อให้โปร่งด้านข้างจะปิดทึบหรือจะใช้ลวดตาข่ายก็ได้  ด้านหน้าของส่วนที่ใช้กกควรใช้ผ้าหรือกระสอบป่านตัดเป็นริ้ว  ทำเป็นม่านกั้นให้ขอบสูงจากพื้นกรงประมาณ  5  เซนติเมตร  เพื่อเก็บความอบอุ่นภายในกก  ถ้าอากาศหนาวจัดอาจต้องใช้ผ้าหรือกระสอบป่านปิดข้างกรงโดยรอบก็ได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการกกลูกเป็ดนั้น  ควรจะสังเกตจากปฏิกิริยาของลูกเป็ด  เพราะลูกเป็ดจะบอกได้ดีกว่าว่าได้รับความอบอุ่นที่พอดีหรือไม่  ถ้าลูกเป็ดสุมกันเป็นกลุ่มและมีเสียงร้อง  แสดงว่าอุ่นไม่พอต้องเพิ่มความร้อน ถ้าลูกเป็ดกระจายอยู่นอกกกยืนอ้าปากหอบและกางปีกแสดงว่าร้อนเกินไป  ต้องลดความร้อนลง  ถ้าอุณหภูมิกำลังพอดีลูกเป็ดจะนอนราบกับพื้นกระจายอยู่ทั่วไปในกก  และริมกก

ข้อควรพิจารณาในการกกลูกเป็ด
1.  จำนวนลูกเป็ดที่กกต่อครั้ง  หากกกลูกเป็ดจำนวนไม่มาก  อาจใช้ลังไม้ดัดแปลงเป็นกรงกกก็ได้  โดยสุมฟางไว้รอบๆ  ลังไม้  เพื่อให้ลูกเป็ดอบอุ่น  ไม่จำเป็นต้องสร้างกรงกกอย่างมาตรฐาน

2.  ความสะดวกในการใช้ไฟฟ้า  หากบริเวณที่เลี้ยงเป็ดมีไฟฟ้าถึงอาจใช้หลอดไฟฟ้าเป็นแหล่งความร้อนในการกกลูกเป็ดได้  หลอดไฟฟ้า  60  แรงเทียน  2  หลอด สามารถกกลูกเป็ดได้  120-150  ตัว  ถ้าไม่มีไฟฟ้าก็อาจใช้ตะเกียงรั้วแทนหลอดไฟก็ได้  นอกจากนี้แล้วเตาถ่านอั้งโล่  หรือตุ่มเก่า ๆ  ที่ใส่ถ่านไม้ไว้ข้างในก็อาจใช้เป็นแหล่งให้ความอบอุ่นแก่ลูกเป็ดได้ดีเช่นกัน

3.  ฤดูที่เข้าลูกเป็ด   หากเข้าลูกเป็ดในฤดูร้อนก็อาจไม่จำเป็นต้องสร้างกรงกกดีนัก  แต่ถ้าเข้าลูกเป็ดในฤดูหนาว กรงกกลูกเป็ดควรสร้างให้ได้มาตรฐาน  เพื่อให้กรงกกนั้นเก็บความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งจะข่วย  ประหยัดค่าไฟฟ้าาหรือค่าน้ำมันเป็นอันมาก

4.  ภัยอันตรายจากสัตว์อื่น   หากบริเวณที่เลี้ยงเป็ดมีสุนัข  นกฮูก  หนู  แมว  และงูมาก  ควรล้อมกรงกกด้วย  ตาข่ายลวด

5.  เนื้อที่กรงกก ไม่ว่าจะเลือกใช้กรงแบบไหน ควรสร้างกรงกกให้มีเนื้อที่พอเหมาะกับจำนวนลูกเป็ดที่ต้องการจะกก  ในเนื้อที่  1  ตารางฟุต  ไม่ควรกกลูกเป็ดเกิน  7  ตัว หรือ 1 ศอกสี่เหลี่ยมต่อลูกเป็ด  10  ตัว  อัตราส่วนนี้ใช้สำหรับกกลูกเป็ดจำนวนเกิน  100  ตัวต่อครั้ง  ถ้ากกเป็ดจำนวนน้อย เนื้อที่ต้องเพิ่มมากขึ้น  หากเนื้อที่กกแคบไป ลูกเป็ดจะไม่สามารถหนีความร้อนได้  แต่ถ้าเนื้อที่กกกว้างไป  ลูกเป็ดบางตัวอาจหนาวตายเพราะอยู่ไกลจากบริเวณ  ที่ความร้อนไปถึง

2. รางอาหาร
ควรทำ 3 ขนาด คือ ขนาดเล็กสำหรับลูกเป็ด ขนาดกลางสำหรับเป็ดรุ่น และขนาดใหญ่ สำหรับเป็ดไข่ ภายในรางอาหารควรยารอยต่อกันรั่ว เพราะเรานิยมเลี้ยงเป็ดด้วยอาหารเปียก
MulticollaC

3. รางน้ำ
สำหรับลูกเป็ด  ควรใช้แบบกระติกน้ำ ซึ่งหาซื้อได้ในท้องตลาด หากหาซื้อลำบากก็อาจทำรางอาหารขนาดเล็กที่ยารอยรั่วอย่างดีใช้แทนก็ได้ ข้อสำคัญคือ  ต้องมีรางไม้กันไม่ให้ลูกเป็ดลงเล่นน้ำได้ เพราะจะทำให้ลูกเป็ดหนาวตาย  ถ้าบริเวณที่เลี้ยงเป็ดมีต้นไผ่มาก  อาจจะใช้ต้นไผ่ลำโตๆ  ผ่าเป็นร่องแล้วฝังดินใช้เป็นรางน้ำสำหรับลูกเป็ดก็ได้ผลดี  และเป็นการประหยัดด้วย  คอยเติมน้ำสะอาดอยู่เสมอและทำความสะอาดกระถางน้ำวันละครั้ง  ส่วนรางน้ำสำหรับเป็ดใหญ่นั้นอาจใช้อ่างดินเผาหรือกะบะไม้ที่ยารูรั่วไว้เรียบร้อย  ควรมีไม้กันไม่ให้เป็ดลงไปเล่นน้ำได้ ถ้าเลี้ยงเป็ดเป็นจำนวนมากอาจสร้างรางน้ำขนาดใหญ่ด้วยซีเมนต์ แล้วปล่อยให้น้ำไหลผ่าน น้ำจะสะอาดอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้เป็ดจะลงไปเล่นน้ำก็ตาม

รางน้ำควรวางให้ห่างจากรางอาหารพอควร  เพื่อบังคับให้ลูกเป็ดได้เดินไปกินน้ำ  และอาหาร  เป็นการออกกำลังกาย


การเตรียมตัว
ก่อนลูกเป็ดมาถึงควรเตรียมตัวในเรื่องต่าง ๆ  ที่จำเป็นไว้ให้พร้อม  ดังนี้
1.  ทำความสะอาดโรงเรือนและอุปกรณ์การเลี้ยง  พร้อมทั้งฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า  7  วัน
2.  ใส่แกลบหรือสิ่งรองพื้นอื่นๆ  ที่ใหม่และสะอาด  รองพื้นคอกให้หนาประมาณ  4  นิ้ว
3.  จัดวางเครื่องกกพร้อมเครื่องให้ความอบอุ่น  เช่น  ตะเกียงรั้ว  หรือหลอดไฟ  และให้เครื่องกกอบอุ่นเพียงพอเมื่อลูกเป็ดมาถึง
4.  มีแผงล้อมเครื่องกก  กันไม่ให้ลูกเป็ดออกห่างจากเครื่องกกมากเกินไป  แผงล้อมเครื่องกกอาจใช้ลวดตาข่าย  ไม้กระดานหรือสังกะสีแผ่นเรียบ  สูงประมาณ  50  เซนติเมตร วางห่างจากเครื่องกกประมาณ  2  ฟุต  ในระยะการกก  2-3  วันแรก
5.  เตรียมที่ให้น้ำและอาหารไว้ให้พร้อม  และมีปริมาณเพียงพอ  มีน้ำสะอาดไว้ให้กิน  วางที่ให้น้ำและอาหารให้ทั่วถึง
6.  เพื่อให้ลูกเป็ดกินอาหารเป็นเร็วขึ้น  ควรปูพื้นบริเวณเครื่องกกด้วยกระสอบป่านเก่าๆ  ที่สะอาด แล้วโรยอาหารให้กิน  อย่าใช้กระดาษปูเพราะกระดาษจะลื่นทำให้ลูกเป็ดขาเสียได้

1.  ลูกเป็ดอายุ  1  วันถึง  3  สัปดาห์  ควรให้ความอบอุ่น  อาจใช้หลอดไฟฟ้ากก  หรือกกด้วยตะเกียงน้ำมันก๊าด
 
2.  อย่าให้ลูกเป็ดเล็กลงเล่นน้ำ  หรือภาชนะใส่น้ำควรมีที่กั้นไม่ให้เป็ดลงไปเล่น เพราะลูกเป็ดเล็กขนเปียกง่ายเพราะยังไม่มีต่อมน้ำมันที่ช่วยให้ขนเป็ดเป็นมันจึงเปียกน้ำได้ง่าย จะทำให้เป็ดหนาวและเป็ดปอดบวมได้ง่าย หรือตายได้

3.  ลูกเป็ดอายุ  1   วัน  อาหารที่ให้ควรเป็นน้ำและกรวดหรือทรายหยาบ และให้กินพวกปลายข้าวละเอียดหรือข้าวโพดป่นบ้าง

4.  เมื่อลูกเป็ดอายุ  2-6  วัน  ให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่าย  ใช้ข้าวสุก  2  ส่วนผสม  อาหารลูกไก่  1  ส่วน  คลุกน้ำพอหมาดโปรยใส่ถาดให้กิน  หรือจะให้อาหารผสมสำหรับลูกเป็ดกินเลยก็ได้

5.  เมื่อลูกเป็ดมีอายุ  1-4   สัปดาห์  จะเติบโตแข็งแรงควรหั่นผักสดหรือหญ้าขนหั่นฝอยปนด้วย ค่อยลดจำนวนข้าวสุกลง ให้อาหารผสมมากขึ้น หรือจะใช้รำละเอียดต้มกับปลาเป็ดหรือถั่วเขียวต้มหั่นผักผสมคลุกให้กิน

การให้อาหารลูกเป็ดควรให้กินคราวละน้อย ๆ  ในตอนแรก ๆ  เมื่อลูกเป็ดกินอาหารเก่งแล้วให้อาหารทุก  2-3  ชั่วโมง  และต่อไปลดลงให้วันละ  3  ครั้ง  ให้มากพอที่ลูกเป็ดจะกินได้เกือบตลอดเวลาเมื่ออายุได้  1  อาทิตย์ แต่อย่าให้จนเหลือ และต้องคอยดูความสะอาดอย่าให้เศษดินและสิ่งสกปรกลงไปในอาหาร  หรือมดขึ้น

6.  อาหารเป็ดระหว่างอายุ  1-4  เดือน  ระยะนี้เป็นระยะของการเจริญเติบโตเร็ว อาหารที่ให้จะเป็นอาหาร ผสมที่ขายตามร้านขายอาหารสัตว์ก็ได้ หรือจะใช้ปลายข้าวรำหยาบ รำละเอียด  ผัก  เศษปลาต้ม หรือปลาป่นผสมลงไปกับใบกระถินป่นเล็กน้อย คลุกให้เข้ากัน

7.  เมื่อเป็ดอายุ  4  เดือนขึ้นไป  จะสาวเต็มที่และรอการไข่  อายุราว  4 1/2-5  เดือน ควรให้อาหารพวกปลาเป็ด  หอยเล็ก ๆ  รำหยาบ  รำละเอียด  ปลายข้าว  หรือถ้าไม่มีปลาเป็ดก็ใช้ปลาป่นผสมลงไปกับใบกระถินป่นเล็กน้อย



1.  การย้ายเป็ดสาวที่จะเข้าเลี้ยงในคอกเป็ดไข่  ควรย้ายก่อนที่เป็ดจะเริ่มไข่ประมาณ  2-3  อาทิตย์  เพื่อให้เป็ดเคยชินกับคอกใหม่

2.  การให้น้ำเป็ดไข่ควรมีน้ำสะอาด  ให้กินตลอดเวลา  ที่ให้น้ำควรทำเป็นลานคอนกรีต  ป้องกันพื้นคอก  ชื้นแฉะ  เพราะเป็ดเวลากินน้ำชอบใช้ทำให้พื้นคอกเปียก ที่ให้น้ำควรมีที่รองพื้นและมีที่ระบายน้ำได้ดี

3.  การให้อาหาร ถ้าเลี้ยงแบบในน้ำหรือลำคลองเป็ดสามารถหาลูกกุ้ง ลูกปลา และหอยเล็ก ๆ  กินได้  ก็ให้อาหารพวก  รำหยาบ  รำละเอียด  ปลายข้าว  หรือข้าวเปลือกผสมให้กิน  หรือถ้าอยู่ในแหล่งที่มีปลาเป็ด  ใช้ปลาเป็ดต้มหรือสับหรือบดผสมกับรำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าวหรือ  ข้าวโพดให้กิน  หรืออาจจะให้อาหารผสมตามสูตรที่ให้มาก็ได้  หรือซื้อหัวอาหารเป็ดมาผสมกับพวกรำ  ปลายข้าว  ข้าวโพด  ให้เป็ดไข่กินก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ผู้ที่จะเลี้ยง

4.  การให้แสงสว่าง  ในระยะเป็ดไข่  ควรให้แสงสว่างวันละ  16-18  ชั่วโมง  เพื่อช่วยในการทำให้เป็ดไข่ดีขึ้น โดยใช้แสงไฟนีออนหรือหลอดไฟธรรมดา หรือใช้แสงสว่างตามธรรมชาติประมาณ  12  ชั่วโมง  แล้วตอนหัวค่ำเปิด แสงไฟนีออนประมาณ  2  ชั่วโมง  และเช้ามืดเปิดอีก  2-3  ชั่วโมง  หลอดไฟแสงสว่างควรติดสูงจากพื้นดินประมาณ  2.4  เมตร  หรือ  8  ฟุต  ควรแขวนหลอดไฟให้กระจายทั่วคอก

5.  ควรมีรังไข่  ขนาดกว้าง  12 x 14  นิ้ว  สูง  12  นิ้ว  ด้านบนและด้านหน้าเปิด  ใช้ฟางหรือแกลบรองพื้น  รังไข่  ใช้อัตรา  1  รังต่อเป็ด  3-5  ตัว



การเลี้ยงเป็ดเนื้อ  เป็นการค้าเพิ่งเริ่มต้นในประเทศไทยไม่นานมานี้เอง  เดิมนั้นใช้เลี้ยงเป็ดพื้นเมืองหรือลูกผสม  โดยคัดเอาตัวผู้เป็นเป็ดเนื้อส่งตลาด  ปัจจุบันเนื่องจากมีพันธุ์ไฮบริดเข้ามามาก  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายโดยเร็ว  จึงนิยมเลี้ยงกันมากและการซื้อขายปัจจุบันเปลี่ยนแปลงมาจากการขายเหมาตัวแบบสมัยก่อน  มาชั่งขายตามน้ำหนักทำให้ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน

1.  การเลี้ยงดูเป็ดเนื้อ การเลี้ยงดูเป็ดเล็ก ๆ  ในช่วงอายุ  1-4  อาทิตย์ก็เลี้ยงเช่นเดียวกับเป็ดไข่ มีการกก ให้อาหารผสมสำหรับลูกเป็ด (โปรตีน  20-22  เปอร์เซ็นต์)

2.  เมื่อเป็ดเนื้อมีอายุได้  4  อาทิตย์  จึงเริ่มให้อาหารระยะขุน ซึ่งมีโปรตีน  16-18  เปอร์เซ็นต์  อาหารพวกพืชผักสดคงให้กินตามเดิม  อาจจะให้อาหารผสมที่ขายตามท้องตลาด หรืออาหารอัดเม็ดให้เป็ดเนื้อกินก็ได้  เมื่อเป็ดอายุ  6-7  อาทิตย์  จึงจับส่งตลาดได้

3.  ข้อควรระวังสำหรับการเลี้ยงเป็ดเนื้อพวกลูกผสมไฮบริด  เนื่องจากเป็ดพวกนี้โตเร็ว  ควรจะให้แร่ธาตุพวกแคลเซี่ยม  ฟอสฟอรัสผสมในอาหารพร้อมทั้งไวตามินดีให้เพียงพอ หรืออาจจะเพิ่มเปลือกหอยใส่รางแยกให้กินต่างหาก ในระยะขุนเพื่อช่วยไม่ให้เป็ดขาอ่อนหรือขารับน้ำหนักตัวไม่ไหว

4.  การเลี้ยงเป็ดเนื้อ  ควรเลือกพันธุ์เป็ดที่มีขนสีขาว  เพราะสะดวกในการถอนขนและขายง่าย  แต่พันธุ์เป็ดเนื้อปัจจุบันนี้ขนมักจะสีขาวตามความนิยมของตลาดอยู่แล้ว










ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.baanjomyut.com/

โพสต์โดย : POK@