Social :



เทคนิคการปลูก มันเทศเชิงพาณิชย์ ให้ประสบความสำเร็จ

27 ก.ย. 62 13:09
เทคนิคการปลูก มันเทศเชิงพาณิชย์ ให้ประสบความสำเร็จ

เทคนิคการปลูก มันเทศเชิงพาณิชย์ ให้ประสบความสำเร็จ

เทคนิคการปลูก มันเทศเชิงพาณิชย์
ให้ประสบความสำเร็จ

การปลูกมันเทศในเชิงพาณิชย์   จะให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย  เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องมีความรู้  มีการวางแผนและการจัดการที่ดี รวมถึงมีเทคนิค  และการดูแลเฉพาะในแต่ละฤดูปลูกอีกด้วย เพื่อให้การปลูกมันเทศบรรลุเป้าหมายสูงสุด  คือ  “ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด  ได้หัวมันที่มีคุณภาพดี  ปลอดภัยต่อผู้บริโภค  มีต้นทุนในการผลิตต่ำ  และขายได้ราคา”

“สวนคุณลี”  อำเภอเมือง  จังหวัดพิจิตร    ได้คลุกคลีกับการปลูกมันเทศมานานประมาณ  10  ปี  โดยสายพันธุ์ที่นำมาปลูกล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ อาทิ มันเทศเนื้อสีม่วงโอกินาวา  จากญี่ปุ่น  ,มันเทศเนื้อสีเหลืองเบนิฮารุกะ จากญี่ปุ่น (มันหวานญี่ปุ่น), มันเทศเนื้อสีส้ม  จากญี่ปุ่น  ,มันเทศเนื้อสีเหลือง  จากไต้หวัน  ,มันเทศเนื้อสีเหลือง  จากเกาหลีใต้  5  สายพันธุ์  และมันเทศเนื้อสีม่วงสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดจากสวนคุณลี (ที่ได้จากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติในแปลงปลูก  ซึ่งมีรสชาติหวาน  เนื้อละเอียดเนียน  หัวใหญ่  อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เพียง  90-100  วัน  เท่านั้น)

การปลูกมันเทศ ให้ลงหัวได้ดีนั้น   ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ  เรื่องของโครงสร้างของดิน  ถึงแม้ว่ามันเทศจะสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด  แต่ดินร่วนปนทรายมีความเหมาะสมที่สุด

สภาพดินที่ปลูกมีผลต่อการลงหัวของมัน  หรือรูปทรงของหัวมันในสภาพดินปลูกที่มีโครงสร้างของดินแข็ง  ดินแน่น  และมีการระบายน้ำไม่ดี ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะลงมือปลูก  สำหรับพื้นที่ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์  ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก  เช่น  มูลวัว  มูลไก่  ฯลฯ ในอัตรา  1-2  ตัน  หรือใส่ปุ๋ยคอกพร้อมกับการเตรียมแปลงเลย


วิธีการเตรียมแปลงปลูก
ให้ไถดะก่อน  1  ครั้ง  และตากดินไว้ประมาณ  7-10  วัน  จากนั้นไถพรวนแปลง  1-2  รอบ  หรือใช้โรตารี่ติดรถไถตีดินให้ดินมีความละเอียดยิ่งขึ้น  หลังจากนั้นให้ยกร่องแปลงปลูกขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม  กว้างประมาณ  50-80  เซนติเมตร  สูง  30-50  เซนติเมตร (ความสูงของแปลงยิ่งมีความสูงยิ่งส่งผลต่อการลงหัวมันดี)  ส่วนความยาวของแปลงปลูกขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่  อย่างสวนคุณลีนั้นจะปลูกแบ่งเป็นแปลงเล็กขนาด  100-400  ตารางเมตร

เนื่องจากต้องการปลูกมันเทศหลากหลายสายพันธุ์ให้ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง มีช่วงเวลาขายอย่างน้อย  7-15  วันจนหมด  ก่อนที่มันเทศแปลงต่อๆ ไปจะสามารถขุดขึ้นมาขายต่อ เนื่องจากตอนนี้สวนคุณลี เน้นการขายมันเทศผ่านช่องทางสื่อออนไลน์  ซึ่งสามารถจำหน่ายได้ราคา  กิโลกรัมละ  100  บาท  ซึ่งตรงกับคำพูดที่ว่า  “ทำน้อยได้มาก  ทำมากได้น้อย”  เนื่องจากมีเวลาในการเอาใจใส่ดูแลอย่างทั่วถึง ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีนั่นเอง

โดยปกติทั่วไปสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันเทศทั่วประเทศมักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบน้ำในแปลงปลูก  ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนอาจจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น  ถ้าปลูกในฤดูแล้งอาจจะมีการให้น้ำแบบท่วมแปลงบ้างเท่านั้น แต่การปลูกมันเทศสมัยใหม่ควรจะมีการจัดระบบน้ำที่ดี  ในแปลงปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศของสวนคุณลี  จะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์  ซึ่งมีรัศมีกระจายน้ำได้  3-5  เมตร

เตรียมท่อนพันธุ์มันเทศอย่างไร
ในการตัดท่อนพันธุ์  ควรจะตัดให้มีความยาวราว  30  เซนติเมตร  จะไม่ลิดใบทิ้งหรือลิดทิ้งก็ได้  เนื่องจากยอดมันเป็นพืชที่แตกยอดออกมาใหม่ได้ง่าย  ถ้าลิดใบทิ้งก็จะทำให้เสียเวลา  แต่ยอดมันเทศเมื่อลงปลูกจะตั้งตัวได้เร็วกว่าไม่ลิดใบ

เมื่อตัดท่อนพันธุ์มาแล้วควรจะมัดรวมกันเป็นท่อนหรือเป็นกำ  เอาใบตอง  หรือกระสอบปุ๋ยห่อมัดเอาไว้  ควรนำท่อนพันธุ์แช่น้ำยาฆ่าแมลง  ในกลุ่ม  “คาร์โบซัลแฟน” (เช่น  โกลไฟท์)  จุ่มแช่ไว้นานราว  5-10  นาที  จะช่วยลดเรื่องแมลงที่จะติดไปกับท่อนพันธุ์ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้น  ให้นำมัดท่อนพันธุ์วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำ  เช้า-เย็น  ประมาณ  2-3  วัน  ยอดท่อนพันธุ์ก็จะมีรากงอกออกมาตามข้อ แสดงว่าท่อนพันธุ์พร้อมปลูกลงแปลงแล้ว

ถ้าจะให้ดีท่อนพันธุ์มันเทศที่จะตัด  ควรจะตัดจากต้นที่มีอายุไม่เกิน  45  วัน  หรือก่อนที่จะมีการฉีดพ่นปุ๋ยหรือสารเคมีเพื่อหยุดยอด  ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ  1  ไร่  จะใช้ท่อนมันเทศประมาณ  8,000-16,000  ยอด (ขึ้นอยู่กับระยะปลูก)

ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูก  ควรจะมีการให้น้ำในแปลงปลูกอย่างน้อย  2-3  วัน  เพื่อให้ดินมีความชื้น  และปลูกได้ง่ายและรวดเร็ว วิธีการเตรียมหลุมปลูก  แบ่งได้  3  วิธี คือ  ปลูกแบบใช้จอบขุด  ปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อน  หรือจะปลูกแบบนำท่อนพันธุ์เสียบลงแปลงปลูกเลย

จากการทดลองปลูกทั้ง  3  วิธี  พบว่า  วิธีปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อนได้ผลดีกว่าวิธีการอื่น  เพราะทำได้ง่ายรวดเร็ว  ไม่เสียแรงในการขุดดินและท่อนพันธุ์ไม่ช้ำ

ระยะปลูกระหว่างต้น  ประมาณ  20-30  เซนติเมตร หากใช้จอบขุดปลูกบนสันร่อง หลุมที่ปลูกควรมีความลึกประมาณ  10-15  เซนติเมตร ควรจะวางยอดท่อนพันธุ์ทำมุม  45  องศา  ฝังลึกลงดิน  2-3  ข้อ  ของท่อนพันธุ์มันเทศ  และให้ข้อโผล่พ้นดินขึ้นมา  ประมาณ  2-3  ข้อ หลังจากนั้น  กลบดินให้แน่นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ท่อนพันธุ์โยกคลอน

แต่หากปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำ  จะปลูกท่อนพันธุ์มันเทศให้เป็นคู่บนสันร่องโดยใช้ไม้แหลมกระทุ้งนำไปก่อน  ทำมุม  45  องศา จากนั้นเสียบท่อนพันธุ์ลงดิน  2-3  ข้อ  ของท่อนมันเทศ  ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ  1  ไร่  จะใช้ท่อนพันธุ์มันเทศ  ประมาณ  11,000-12,000  ยอด  ซึ่งพบว่าเป็นจำนวนที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างดี

การให้น้ำมันเทศ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่ปลูกท่อนมันเทศลงดินไปแล้ว จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ  โดยเฉพาะ  3  วันแรก จะต้องให้ทุกวัน  เช้า-เย็น  ให้ครั้งละประมาณ  1-2  ชั่วโมง (กรณีที่ให้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์) หลังจากนั้น  จะให้น้ำวันเว้นวัน  หรือ  3  วัน  หรือ 5  วัน  หรือ  7  วัน ต่อครั้ง

MulticollaC
แต่การให้น้ำนั้นต้องสังเกตจากความชื้นของดินเป็นหลัก  เนื่องจากสภาพพื้นที่ปลูกในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน  หลังจากมันเทศอายุได้  2  เดือน  ก็จะเริ่มห่างน้ำ เป็นการบังคับทางหนึ่งที่ให้ต้นมันเทศลงหัวได้ดี อาจจะให้เดือนละ  2-4  ครั้ง  ตามความเหมาะสมกับสภาพดินของแต่ละพื้นที่  และควรฉีดปุ๋ยทางใบควบคู่กันไป  เช่น  สูตร  0-52-34  ทุกๆ  10-15  วัน  เพื่อให้การลงหัวดีมากขึ้น

อายุการเก็บเกี่ยวมันเทศ…ความจริงแล้ว  อายุการเก็บเกี่ยวมันเทศเกือบทุกสายพันธุ์ จะเฉลี่ยอยู่ที่  100-140  วัน  หลังจากปลูกท่อนพันธุ์ลงไป  ในขณะเดียวกันมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย  เช่น  ฤดูกาลปลูก  ความสมบูรณ์ของต้น  สายพันธุ์ที่ปลูก  เป็นต้น

จากตัวเลขในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศทุกสายพันธุ์ในแปลงปลูกของสวนคุณลี  ถ้ามีการบำรุงรักษาที่ดี  จะให้ผลผลิตได้เฉลี่ย  3,000-4,000  กิโลกรัม  ต่อพื้นที่ปลูก  1  ไร่


วิธีการปลูกมันเทศในถุงพลาสติกและกระถาง
บริโภคในครัวเรือน  สำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า  ในปัจจุบันนี้  การปลูกมันเทศในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์  ได้มีการนำพันธุ์มันเทศจากต่างประเทศมาปลูกในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น  อาทิ  มันเทศเนื้อสีเหลือง  เนื้อสีม่วงและเนื้อสีส้ม  จากประเทศญี่ปุ่น  ไต้หวัน  เกาหลีใต้  เป็นต้น

โดยแต่ละสายพันธุ์ล้วนมีคุณค่าทางอาหารแตกต่างกัน  จากข้อมูลพบว่า  “มันเทศเนื้อสีส้ม”  เป็นแหล่งของสารเบต้าแคโรทีน  เมื่อรับประทานแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ  จะช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย  เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยบำรุงสายตา  ป้องกันโรคตาบอดกลางคืน  ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง  นอกจากนั้น  ยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

และใน  “มันเทศเนื้อสีม่วง”  จะมีสารแอนโทไซยานินสูง มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ  ชะลอความเสื่อมของเซลล์  ลดอัตราเสื่อมของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตัน  ชะลอความเสื่อมของดวงตา ยับยั้งเชื้ออีโคไลซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษและท้องร่วง ที่สำคัญเป็นมันเทศที่มีรสชาติอร่อย

อย่างกรณีของ มันเหลืองญี่ปุ่น  ปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศและนำมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคคนไทยในราคาไม่ต่ำกว่า  กิโลกรัมละ 100  บาท  ทาง  “สวนคุณลี”  อำเภอเมือง  จังหวัดพิจิตร  ได้นำมันเทศสายพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งจะเน้นสายพันธุ์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้  ประมาณ  10  สายพันธุ์  เข้ามาปลูกในเชิงการค้าในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร  จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ  ให้ผลผลิตและรสชาติหวานตรงตามสายพันธุ์  สามารถจำหน่ายได้  กิโลกรัมละ  80-100  บาท  ออกจากสวน

นอกจากการปลูกมันเทศในแปลงที่มีการเตรียมดินและระบบน้ำที่ดี  ได้มีการประยุกต์วิธีการปลูกในรูปแบบใหม่  เพื่อส่งเสริมให้คนไทยปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือน  มีพื้นที่น้อย อยู่ในบ้านจัดสรรหรือปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริม  ด้วยการ  “นำมาปลูกในพื้นที่จำกัด”  เช่น  ถุง พลาสติกดำ  กระสอบปุ๋ยเก่า  ตะกร้าพลาสติก  ยางรถยนต์เก่า  วงบ่อปูน  ฯลฯ  ใช้เวลาปลูกเพียง  3  เดือนครึ่ง  ถึง  4  เดือนครึ่งเท่านั้น (ตามอายุเก็บเกี่ยวแต่ละสายพันธุ์)  สามารถขุดหัวมาบริโภคหรือจำหน่ายได้


สำหรับวัสดุปลูกที่สำคัญคือ  ดินร่วน  แกลบดำ  แกลบดิบ  และปุ๋ยคอกเก่า (หรือประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น)  ในอัตราส่วน  1:1:1:1  ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน  นำวัสดุปลูกใส่ในถุงให้เต็มและอัดให้แน่น  นำถุงพลาสติกไปวางไว้บริเวณกลางแจ้ง  รดน้ำให้ชุ่ม  นำยอดมันเทศที่เตรียมไว้  (ตัดยอด ให้มีความยาว  30  เซนติเมตร)  ใช้ไม้แหลมแทงดินในถุงให้เป็นรู ให้รูเฉียงประมาณ  45  องศา  โดยประมาณ  นำยอดปลูกลงไปให้มีความลึก  ประมาณ  3-5  ข้อ  โดยจำนวนยอดที่จะปลูกลงไป  ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะที่เลือกใช้  เช่น  ถุงดำ  ก็จะใช้ยอดพันธุ์มันเทศราวๆ  3-5  ยอด  กดดินให้แน่นพอประมาณ  ช่วง  7  วันแรก

หลังจากที่ปักยอดมันเทศลงไป  ควรจะรดน้ำเป็นประจำทุกเช้า (ระวังอย่าปล่อยให้ถุงแห้งขาดน้ำ)  หลังจาก  7-10  วัน  จะพบว่า  ยอดมันที่ปักชำลงไปเริ่มแทงรากออกมาให้เว้นการให้น้ำให้ห่างขึ้นเป็นวันเว้นวัน และห่างเป็น  2-3  วันต่อครั้ง ตามความเหมาะสม  เมื่อต้นมันเทศมีอายุต้นได้  45  วัน  และพบว่า  ใบมันเทศไม่มีอาการเหี่ยวให้เห็น  ก็ไม่จำเป็นจะต้องให้น้ำ เนื่องจากการให้น้ำบ่อยๆ  จะทำให้ต้นมันเทศมีอาการบ้าใบและไม่ลงหัว

การปลูกมันเทศในถุงพลาสติกและมีความต้องการให้มีการลงหัวและรสชาติที่ดี  จำเป็นต้องมีการใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง  เพื่อปรับปรุงคุณภาพ  ในช่วงแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ  16-16-16  เพียง  1  ช้อนชา ทุกๆ 15 วัน และโดยเฉพาะเมื่อต้นมันเทศมีอายุครบ  2  เดือน เป็นช่วงของการลงหัว ควรจะใส่ปุ๋ยเคมีที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร  16-16-16  หรือ  สูตร  13-13-21  ฯลฯ  เพื่อให้หัวมันเทศใหญ่  มีรสชาติหวานตามสายพันธุ์ ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตมันเทศ  อายุต้นจะต้องเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง  100-140  วัน  โดยอาจจะสุ่มขุดดูว่าหัวมันเทศมีขนาดที่เราต้องการนำมาบริโภคได้หรือยัง

ปัจจุบัน  “มันเทศ”  จัดเป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพที่ตลาดมีความต้องการมาก  เนื่องจากเป็นมันเทศที่มีปริมาณสารอาหารที่มีประโยชน์สูงมาก  ในบางประเทศส่งเสริมให้รับประทานข้าวในบางมื้อ  หรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ  หุงพร้อมข้าว  








ข้อมูลอ้างอิง  :   https://www.technologychaoban.com/


โพสต์โดย : POK@