Social :



ปล่อยไก่ พลีกรรม เครื่องเซ่น โชคลาง ตามวิถีพื้นเมือง

17 ธ.ค. 62 19:12
ปล่อยไก่ พลีกรรม เครื่องเซ่น โชคลาง ตามวิถีพื้นเมือง

ปล่อยไก่ พลีกรรม เครื่องเซ่น โชคลาง ตามวิถีพื้นเมือง




ความเชื่อเกี่ยวกับไก่ ปล่อยไก่ พลีกรรม เครื่องเซ่น โชคลาง ตามวิถีพื้นเมือง

          ดูดวง ปล่อยไก่ พลีกรรม เครื่องเซ่น โชคลาง ตามวิถีพื้นเมือง ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2554

        เครื่องเซ่นสรวงสังเวยให้แก่ผีบรรพบุรุษไปจนถึงเทพยดาต่างๆ ต้องมี “ไก่” เป็นหนึ่งในเครื่องสังเวยหลัก และกลุ่มชนต่างๆก็มักมีความเชื่อที่เกี่ยวกับ “ไก่” แม้ในศิลปกรรมเมื่อหลายพันปีก่อนก็มีการทำรูป ”ไก่” สิ่งเหล่านี้อาจจะบอกคติความเชื่อในสังคมของผู้คนในภูมิภาคนี้ได้ไม่ต่างไปจากตำราหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์

        จากงานวิจัยของ หลิว ซู่ว ตง เกี่ยวกับเรื่องศาสนาและความเชื่อของชาวจ้วง ได้กล่าวถึงว่า ในความเชื่อของชาวจ้วง ไก่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ขจัดสิ่งเลวร้ายและนำเอาสิริมงคลมาให้ ดังนั้นในการเซ่นไหว้พลีกรรมทำพิธีใดๆจึงมักมีไก่ร่วมด้วยอยู่เสมอ นอกจากนั้นไก่ยังถือเป็นอาหารรับแขกอย่างดีอีกด้วย

        มีเรื่องเล่าของชาวจ้วง เล่าว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งท้องฟ้าได้มอบหน้าที่ให้ไก่เป็นผู้บอกเวลา เมื่อไก่ขันเป็นสัญญาณพระอาทิตย์จึงจะขึ้นได้ และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็เป็นการนำแสงสว่างมาให้ ทำให้สิ่งน่ากลัวที่มากับความมืดได้หายไปด้วย

        ความลึกลับของไก่ เป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดความกลัว สมัยก่อนผู้ใหญ่จะฆ่าไก่นั้นต้องพูดว่า “ฟ้าฆ่าเจ้า ดินฆ่าเจ้า ไม่ใช่เราฆ่าเจ้า” จากคำพูดนี้ทำให้รู้ว่าใจของคนนั้นเกิดความหวาดกลัวต่อพลังของไก่มากเพียงใด นอกจากนั้นไก่ยังเกี่ยวข้องกับความเป็นไปในชีวิตของพวกจ้วงอยู่ด้วย เช่น ไก่ร้องผิดเวลา เป็นการบอกลางร้าย ต้องฆ่าทิ้งทันที หรือบางครั้งอาจต้องให้พ่อหมอมาทำพิธีแก้เคล็ดด้วย

       คนสมัยก่อนจึงอาจนับถือไก่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และมีอำนาจในการนำพาและบันดาลให้เกิดเรื่องดีและร้ายได้ด้วย

        ชนชาติต่างๆในจีน และเวียดนาม เช่น จ้วง และชนกลุ่มน้อยบนที่สูงของไทย เช่น ม้ง กะยัน ลาหู่หรือมูเซอดำ เป็นต้น ยังมีพิธีการเสี่ยงทายด้วยไก่ ซึ่งแต่ละท้องที่จะใช้ส่วนต่างๆของไก่ที่แตกต่างกันในการเสี่ยงทาย เช่น กระดูก หัว ลิ้น ตับหรือ ไข่ไก่ เป็นต้น โดยมีวิธีการ เช่น การเสี่ยงทายกระดูกไก่ จะนำไก่มาทำพิธีเซ่นไหว้ พร้อมกับอธิษฐาน แล้วจึงดูว่าตรงกับกระดูกไก่หรือไม่ การเสี่ยงทายเหล่านี้ใช้ได้ในพิธีกรรมต่างๆตั้งแต่การเจ็บป่วย
Lif
การเสี่ยงทายพยากรณ์ หาฤกษ์ยาม โชคลางดีและร้ายในชีวิต

        ร่องรอยการยกย่องไก่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเป็นเครื่องบูชาแด่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของผู้คนในยุคเก่าแก่ มีอยู่ในงานศิลปกรรรมยุคสุวรรณภูมิ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ได้แก่ ไก่สำริด พบที่บ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นอกจากนั้นยังพบภาพเขียนสีบนเพิงผารูปไก่ ที่เขาจันทน์งาม ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา และ ที่เขาปลาร้า อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี

        ในยุคสมัยหลังลงมาความคิดเหล่านี้ก็ยังสืบทอดมาถึง จาก“กฎมณเทียรบาล” ที่เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2011 ระบุไว้ว่า

        “ อนึ่ง วิวาทตบตีฟันแทงกัน ให้โลหิตตกในพระราชวังก็ดี แลหญิงสาวใช้ทาษไทผู้ใด คลอด แท้ง ลูกในพระราชวังก็ดี ท่านให้มันพลีวังท่าน ให้ตั้งโรงพิทธี 4 ประตู ใบศรี 4 สำรับ บัด 5 ชั้น 4 อัน ไก่ประตูละคู่ ให้วงด้าย คา รอบพระราชวังนิมนพระสงฆสวดพระพุทธมนต์ 3 วัน ให้หาชีพ่อพราหมณซึ่งรู้พลีกรรม มากระทำบวงสรวงตามทำเนียม ให้มีระบำรำเต้นพินพาทฆ้องกลองดุรยดลตรี ประโคมทัง 4 ประตู ครั้นเสรจ์การพิทธีแล้ว จึ่งให้เอาไก่นั้นไปปล่อยเสียนอกเมือง ให้มันภาสะเดียดจัญไรไภยอุปัทว ไปให้พ้นพระนครท่าน ”

        ชาวอีสานแต่เดิมก็เซ่นไหว้ศาลปู่ตาหรือผีบรรพชนด้วยไก่ ยังไม่ใช้หัวหมูอย่างในปัจจุบัน

        แม้ไกลไปถึงทางฝั่งตะวันตก เช่น ยุโรป โรมัน เปอร์เซีย “ไก่” ก็ได้ถูกนับถือทั้งในเรื่องการเป็นตัวแทนแห่งรุ่งอรุณและการใช้ไก่เป็นเครื่องบวงสรวงแก่สิงศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงเรื่องโชคลางด้วยเช่นกัน

        ความเชื่อที่เกี่ยวกับ “ไก่” มากมายเหล่านี้ อาจอ้างอิงถึงพื้นฐานของการที่มนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติและกำหนดความเป็นไปในการดำรงชีวิตด้วยอำนาจธรรมชาติ จึงผูกพันความเชื่อเหล่านี้เข้ากับสิ่งรอบตัวที่เกี่ยวข้อง เช่น การนับถือ “กบ” ที่เกี่ยวข้องกับฝนฟ้า หรือ “ไก่” ที่เกี่ยวข้องกับการมาของแสงสว่าง ที่จะขจัดความมืดที่มีสิ่งไม่ดีหรือสัตว์ร้ายแฝงอยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับการเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งเป็นเครื่องอุทิศให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นไปในชีวิต ที่สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติจากยุคดั้งเดิม



ขอบขอบคุณข้อมูลจาก:horoscope.thaiza.com

โพสต์โดย : monnyboy