15มิ.ย.คลายเฟส4 ผ่อนปรนกลุ่มเสี่ยงสูงให้นั่งดริงก์ที่ร้านได้
คณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ถกการผ่อนคลายเฟส 4 ฝ่ายความมั่นคงชงทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วันทั่วประเทศ แต่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ หวังสำรวจความพอใจประชาชน ยังไม่อนุญาตให้เปิดผับบาร์ เหตุมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย-เสี่ยงสูง หวั่นซ้ำรอยเกาหลีใต้ คาดสิ้น มิ.ย.เปิดได้ทุกกิจการ "วิษณุ" ยันต้องฟังหมอด้วย ยกในบรรดากฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเหมาะสุดป้องกันโควิด ศบค.พบติดเชื้อ 4 รายอยู่ในสถานที่กักตัวรัฐ เปิดร่างผ่อนคลายระยะ 4 จ่อปลดล็อกขายเหล้าร้านอาหาร ลุ้นหาก ศบค.เคาะ 12 มิ.ย.จะมีผล 15 มิ.ย.นี้ สธ.เตือนอย่าใช้เฟซชีลด์อย่างเดียวใส่หน้ากากป้องกันด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้าวันที่ 10 มิถุนายน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อพิจารณาการผ่อนคลายในระยะที่ 4 ถึงกรณีสนามมวยจะได้รับการผ่อนคลายในครั้งนี้ด้วยหรือไม่ว่า ต้องรอผลประชุมก่อน แต่มีความเป็นไปได้หมดถ้าทุกกิจการ/กิจกรรมมีความพร้อม ส่วนการผ่อนคลายในระยะที่ 4 จะครอบคลุมไปถึงเรื่องเปิดสนามบินด้วยหรือไม่นั้น ในส่วนของการปิดสนามบินจะมีการปิดไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.อยู่แล้ว หลังจากนี้ค่อยว่ากัน ทั้งนี้ 12 กิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับการผ่อนคลายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมในวันนี้ ก่อนจะนำเสนอให้ ศบค.พิจารณาในวันศุกร์ที่ 12 มิ.ย.อีกครั้งหนึ่ง เมื่อถามว่าจะมีการพิจารณาขยายหรือยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่าจะมีการพิจารณาในสัปดาห์หน้า แต่ตอนนี้ขอดูในเรื่องการผ่อนคลายระยะที่ 4 ก่อนว่าเป็นอย่างไร ด้าน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ว่า ในส่วนของความมั่นคงเตรียมเสนอส่วนการทดลองยกเลิกการประกาศใช้เคอร์ฟิว โดยจะเสนอให้ทดลองการยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศเป็นเวลา 15 วัน แต่ยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ เพื่อทดลองว่าประชาชนจะรับได้หรือไม่กับการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ยกเลิกเคอร์ฟิว และจะใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งจะไม่มีด่านความมั่นคง ไม่มีการกำหนดเวลาเข้าออกเคหสถาน เพราะเราต้องการให้ประชาชนเห็นว่าเมื่อมีมาตรการผ่อนคลายสูงสุดจะเป็นเช่นไร หลังจากนั้นก็จะฟังเสียงตอบรับจากประชาชนและสังคม "สาเหตุที่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เพราะกฎหมายปกติไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการในเรื่องที่ฉุกเฉินหากมีการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเข้าไปดำเนินการได้อย่างบูรณาการ มาตรการบางอย่างจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปก่อน แต่ทั้งนี้หลัง 15 วันของการทดลองก็ต้องฟังเสียงประชาชนว่ายังอยากให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือไม่" พล.อ.ณัฐพลกล่าวอีกว่า ส่วนสนามมวยที่ประชุมเตรียมไว้ 2 แนวทาง คือเสนอแนวทางที่จะให้เปิดสนามมวยแต่ไม่ให้มีคนเข้าไปชม กับการไม่อนุญาตให้เปิดสนามมวย ซึ่งยอมรับว่าเห็นใจนักมวยที่ขาดรายได้และได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน คณะกรรมการจะมีการพิจารณาใน 2 แนวทางนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุม มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. เป็นประธาน แจ้งว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาและวิเคราะห์ถึงกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า สาเหตุที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดกิจการผับ บาร์ และสถานบันเทิงนั้น เนื่องจากยังติดขัดหรือมีข้อจำกัดเรื่องของกฎหมายที่ยังคงมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวอยู่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งการผ่อนคลายกิจการต่างๆ จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด เพราะกิจการที่ปลดล็อกในเฟส 4 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงยังได้พิจารณาว่าหากสิ้นสุดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้แล้วจะพิจารณาต่อหรือไม่ โดยฝ่ายกฎหมายของ ศบค.ได้หารือในรายละเอียดว่าจะสามารถใช้กฎหมายฉบับอื่นมาทดแทนได้หรือไม่ ในส่วนการยกเลิกเคอร์ฟิวก็จะทำให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนปรนของแต่ละกิจการที่จะเกิดขึ้น คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้น่าจะอนุญาตให้เปิดได้ทุกกิจการ 'วิษณุ' ลั่นต้องฟังแพทย์ รายงานระบุว่า ฝ่ายความมั่นคงพยายามที่จะให้เกิดการผ่อนคลายได้มากที่สุด โดยกรณีผับบาร์นั้น ฝั่งของแพทย์แสดงความเป็นห่วงกลุ่มเหล่านี้ เพราะกิจการผับบาร์มีโอกาสแพร่ระบาดโรคง่ายกว่าร้านอาหารทั่วไป อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หรือในย่านอิแทวอน เกาหลีใต้ ดังนั้น หากเปิดรวดเดียวทั้งหมดอาจเกิดปัญหาตามมาได้ จึงค่อยๆ ให้ทยอยเปิดทีละกิจการ และกิจการสถานบันเทิงในต่างประเทศหลายประเทศเองก็ยังไม่ไว้วางใจ จึงต้องมีมาตรการควบคุม ส่วนเรื่องเคอร์ฟิวยังต้องรอก่อนเพราะต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะทดลองยกเลิกเคอร์ฟิวว่า ตนไม่ทราบ เขาคุยกันและคงนำเรียนนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิ.ย. จากนั้นคงมาเล่าให้ตนฟัง ส่วนจะได้หรือไม่นั้น ด้านที่พิจารณาอยู่ขณะนี้คือทางกฎหมาย แต่ต้องฟังทางด้านสาธารณสุขและแพทย์ด้วย นักกฎหมายก็ดี ใครก็ดี ไปตัดสินไม่ได้ ต้องฟังคณะแพทย์ ส่วนข้อเสนอที่จะให้เปิดสนามมวยนั้น อาจจะเป็นรูปแบบการจัดชกแล้วให้มีการถ่ายทอดผ่านโทรทัศน์ ซึ่งไม่เป็นไร หากคิดว่ามันเหมาะสมสามารถเสนอได้ นายวิษณุกล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และเหมือนที่เคยบอกมาตลอดว่าเรามี พ.ร.บ.โรคติดต่อเป็นหลักอยู่ และยังมี พ.ร.บ.การเดินอากาศ, พ.ร.บ.สาธารณสุข, พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นกฎหมายปกติที่เราใช้ก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็กลับมาใช้กฎหมายปกติ หากมีช่องโหว่และช่องว่างก็ต้องเรียนรู้และแก้ปัญหา ส่วนการใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ปิดช่องโหว่ได้แค่บางส่วน เช่น การบูรณาการระหว่างจังหวัดที่ติดกัน แต่จะไปถึงขนาดกำหนดเคอร์ฟิวไม่ได้ ที่สุดแล้วเรื่องนี้คงออกได้ 3 แนวทาง คือ คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้, ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ผ่อนคลายมาตรการหลายอย่างออกไป อย่างไรก็ตาม หากเราเลิก พ.ร.ก.ไปแล้วสถานการณ์รุนแรงก็ประกาศใหม่ ไม่ได้ยากอะไร เมื่อถามว่า ไม่มีกฎหมายพิเศษอื่นที่สามารถรองรับสถานการณ์เช่นนี้แล้วหรือ นายวิษณุกล่าวว่ามี แต่หนักกว่า คือกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศไม่ได้ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่เหตุที่จะประกาศไม่ใช่โรคระบาด ต้องเป็นเรื่องสู้รบตบมือ ส่วนกฎหมายพิเศษที่เบากว่านี้ไม่มี จะมีก็แต่กฎหมายปกติคือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 4 ราย ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,125 ราย หายป่วยสะสม 2,981 ราย ซึ่งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่ 1 เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 44 ปี เดินทางมาจากมาดากัสการ์ เป็นพนักงานบริษัท พักอาศัยในแคมป์มีหลายเชื้อชาติ เดินทางถึงไทยวันที่ 3 มิ.ย. และเข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐใน กทม. วันที่ 4 มิ.ย.เริ่มมีอาการป่วย มีน้ำมูก และวันที่ 7 มิ.ย.ตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยรายที่ 2 เดินทางมาจากปากีสถาน เป็นหญิงไทย อายุ 34 ปี สามีเป็นชาวปากีสถาน พักกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีคนในบ้านป่วย 5 คน รวมสามี โดยวันที่ 6 มิ.ย.เดินทางมาถึงประเทศไทย เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐที่ กทม. วันที่ 4 มิ.ย.เริ่มมีอาการไอและมีน้ำมูก และวันที่ 8 มิ.ย.ตรวจพบเชื้อ และผู้ป่วยรายที่ 3-4 เดินทางมาจากประเทศอินเดีย ทั้งคู่เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี โดย 1 รายมีอาชีพพนักงานนวด วันที่ 4 มิ.ย.เดินทางมาถึงประเทศไทย และพักสถานที่กักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี วันที่ 7 มิ.ย.ตรวจพบเชื้อ สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อ 7,318,124 ราย
และเสียชีวิต 413,648 ราย ลุ้น ศบค.เคาะผ่อนคลายเฟส 4 นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ มีการพิจารณากิจกรรมและกิจการในระยะที่ 4 ที่จะผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นฉบับร่างเตรียมจะนำเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ โดยประเภทกิจกรรมและกิจการประเภทกลุ่มสีแดงที่มีความเสี่ยงสูงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ผ่อนผันการใช้อาคาร สถานที่ โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการและหน่วยงานในกำกับของรัฐ สามารถเปิดให้โรงเรียนนานาชาติ และสถาบันกวดวิชาเปิดการเรียนการสอนได้ แต่ให้มีมาตรการเสริมในการจัดระเบียบพื้นที่ให้นักเรียนโดยเว้นระยะห่างกัน 2.กิจกรรมเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ให้ภัตตาคาร สวนอาหาร โรงแรม และร้านอาหาร สามารถจำหน่ายสุราและนั่งดื่มในร้านได้ ส่วนสถานบริการ ผับ บาร์ และคาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตเปิดบริการ และงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เช่น เชียร์เบียร์ เนื่องจากผับ บาร์ คาราโอเกะ จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงมากที่มีรายงานก่อนหน้านี้ถึงการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน เช่น กรณีผับที่ทองหล่อ ขณะที่ร้านอาหารนั้น มีความสำคัญกับการดำเนินชีวิตประจำวัน และผู้มาใช้บริการนิยมไม่นั่งเป็นเวลานานเหมือนผับและบาร์ ดังนั้นการอนุญาตให้จำหน่ายสุราจึงต้องดูตามความเหมาะสมและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สำหรับสถานพัฒนาเด็กประถมวัย ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเล็กรายวัน ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กพิเศษ และสถานดูแลผู้สูงอายุรายวัน สามารถเปิดแบบไปเช้า-เย็นกลับได้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนห้องประชุมโรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์แสดงสินค้า สถานที่จัดนิทรรศการ โรงมหรสพ งานแสดงดนตรี คอนเสิร์ต สามารถเปิดได้ แต่ต้องลดความหนาแน่น ความไม่มีระเบียบ เช่น งานดนตรี การจัดคอนเสิร์ต เมื่อมีการร้องเพลงตามอาจมีการกระจายของสารคัดหลั่งในน้ำลาย ฉะนั้นผู้จัดงานจะต้องดูแลและงดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ รวมถึงอาจจัดให้มีการเว้นที่นั่ง ขณะที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เช่น ท้องฟ้าจำลอง สามารถเปิดบริการได้ ในส่วนการขนส่งสาธารณะให้นั่งติดกัน 2 ที่นั่งเว้น 1 ที่นั่ง หรือไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของความจุรถ และ 3.กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพหรือสันทนาการ ในส่วนของกิจการถ่ายภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และรายการโทรทัศน์ สามารถเพิ่มจำนวนทีมงานไม่เกิน 150 คน และผู้เข้าชมไม่เกิน 50 คน นอกจากนี้ขอแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัย เพราะที่ผ่านมารายการโทรทัศน์มักจะใส่แต่เฟซชีลด์ ซึ่งไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้เท่าหน้ากากอนามัย สำหรับกิจการสปา ออนเซน อบตัว อบสมุนไพร และอบไอน้ำ สามารถเปิดบริการได้ แต่จำกัดจำนวนผู้ใช้ต่อรอบ และเว้นระยะ 5 ตารางเมตรต่อคน ยกเว้นกิจการอาบอบนวดที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะเดียวกันสวนสนุก สนามเด็กเล่น สระน้ำ และสระว่ายน้ำสาธารณะ สามารถเปิดบริการได้ แต่ต้องมีการอบรมพนักงานดูแลเพื่อให้คำแนะนำผู้ใช้บริการ ส่วนบ้านบอลที่อยู่ในห้างสรรพสินค้ายังไม่ให้เปิดบริการ เนื่องจากเกรงว่าสารคัดหลั่งจะไปอยู่ในอุปกรณ์เครื่องเล่น ทำให้ทำความสะอาดยากและเป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค ด้านสนามกีฬาประเภทกลางแจ้ง โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ โรงยิม และสถานที่ออกกำลังกาย หากจะมีการจัดการแข่งขันต้องไม่มีผู้เข้าชม เช่นเดียวกับสวนสาธารณะ ลานกิจกรรมเพื่อการออกกำลังกายลักษณะเป็นการรวมกลุ่ม เช่น การเต้นแอโรบิก สามารถเปิดได้ แต่ต้องรวมกันไม่เกิน 50 คน และเว้นระยะห่าง 5 ตารางเมตรต่อคน ทั้งนี้ ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และศูนย์คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากเด็กที่มาเล่นจะมีผู้ปกครองมาดูแล และจำกัดเวลา 2 ชั่วโมงต่อคน แต่นอกห้างสรรพสินค้ายังไม่ให้เปิดบริการ "กิจกรรมและกิจการทั้งหมดเป็นฉบับร่าง ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยน ยกเลิก หรือเพิ่มเติมได้ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีการประชุมในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ หากมีการอนุญาตให้เปิดจะเริ่มผ่อนคลายระยะที่ 4 ในวันที่ 15 มิ.ย." โฆษก ศบค.ระบุ เตือนอย่าใช้เฟซชีลด์อย่างเดียว เมื่อถามว่ามีการหารือจะเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวด้านสุขภาพหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เป็นข้อพิจารณา ไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ แต่ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงการจับคู่ประเทศ "ทราเวล บับเบิล" หรือการจับคู่แลกเปลี่ยนทัวริสต์กับประเทศในเอเชีย โดยให้คู่ประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อน้อยเข้ามาก่อน ถ้าปล่อยให้ประเทศหนึ่งเข้ามาอาจคิดว่าทำไมบางประเทศเข้ามาได้ และบางประเทศเข้ามาไม่ได้ โดยเราต้องมีมาตรการดูแล นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเป็นวันที่ 16 แต่การ์ดอย่าตก เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อแล้วแต่ไม่แสดงอาการอยู่ในชุมชนก็ได้ ระยะเวลาปลอดภัยคือ 2 เท่าของระยะฟักตัว ซึ่งระยะฟักตัวยังเป็น 14 วัน ระยะปลอดภัยคือ 28 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าระหว่างนี้เปิดกิจการไม่ได้ เราก็จะทยอยเปิดกิจการอย่างปลอดภัยเช่นนี้ หลายคนคงรอกิจการคลายล็อกในเฟส 4 ว่าเป็นกิจการอะไรบ้าง ซึ่งหลายกิจการ/กิจกรรมค่อนข้างเสี่ยงปานกลางถึงสูง ก็ต้องรอฟัง ศบค.ว่าจะมีอะไรบ้าง นอกจากนี้วันที่ 1 ก.ค.จะมีการเปิดเทอม ถ้าเตรียมพร้อมป้องกันควบคุมโรคได้ดี โอกาสจะมีเด็กป่วยโควิด-19 ในโรงเรียนก็จะน้อยลงหรือไม่มีเลย "หากติดตามดูประเทศจีน พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมานานพอสมควร มีแต่การนำเข้า แต่ประชาชนก็ยังใส่หน้ากากอนามัย ภาพเหล่านี้คือชีวิตวิถีใหม่ เชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเรานานพอสมควร อาจจะ 1-2 ปี หรือจนกว่าจะมีวัคซีนประสิทธิภาพสูงฉีดให้ประชาชน ตอนนั้นการจะไม่ใส่หน้ากากก็ค่อยว่ากันอีกที แต่ตอนนี้ขอให้ปฏิบัติเข้มข้น เข้มงวด มีวินัยกับตัวเอง ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็สนับสนุนให้ใส่ เพราะมีหลักฐานชัดว่าคนทั่วไปใส่หน้ากากผ้าก็ช่วยป้องกันการแพร่โรค แต่การใส่เฟซชีลด์อย่างเดียวยังไม่มีการพิสูจน์ว่ามีประโยชน์ ดังนั้นไม่แนะนำให้ใส่เฟซชีลด์อย่างเดียว แต่ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันและอาจเสริมด้วยเฟซชีลด์ก็ได้" นพ.อนุพงศ์กล่าว วันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม และไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมา 18 วันแล้ว ส่วนบรรยากาศที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนมาจองตั๋วเดินทางล่วงหน้า หลังจากที่รถไฟสายใต้จะกลับมาเปิดเดินรถอีกครั้งในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ในขณะที่ขบวนรถท้องถิ่นชุมพร-หาดใหญ่เริ่มเปิดเดินรถแล้วเป็นวันแรก โดยมีมาตรการคัดกรองโควิด-19 อย่างเข้มงวด
เมื่อเวลา 11.30 น. ที่บริษัท สยามเดินรถ จำกัด บริษัทได้เปิดเดินรถเส้นทางภาคใต้ทุกเส้นทาง ตั้งแต่วันอังคารที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลัง ศบค.มีการผ่อนคลายการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด และให้ยานพาหนะ ผู้โดยสาร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะที่เป็นการขนส่งคนหรือสินค้าระหว่างจังหวัดที่เริ่มออกเดินทางจากจังหวัดต้นทาง ก่อนเวลา 23.00 น. และถึงจังหวัดปลายทางหลังเวลา 03.00 น.ของวันรุ่งขึ้น สามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดในช่วงเวลาห้ามออกนอกเคหสถานได้
ที่สถานีขนส่งรถโดยสารสาธารณะประจำทางจังหวัดกระบี่ นายอรรถชา บัวจันทร์ หัวหน้าสำนักงานขนส่งจังหวัดกระบี่ นำกำลังเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจการขนส่ง จ.กระบี่ ตั้งจุดคัดกรองเฝ้าระวังป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบ 2 อย่างเข้มข้นและจริงจังกับผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดกระบี่ ซึ่งวันนี้นับเป็นวันแรกและเที่ยวแรกของการเปิดเส้นทาง โดยเจ้าหน้าที่ได้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ให้ผู้โดยสารสแกนคิวอาร์โค้ดหมอไทยชนะ และลงทะเบียนประวัติที่อยู่อาศัยในการเดินทางเข้าและออก ตรวจการสวมใส่หน้ากากอนามัย จากการคัดกรองผู้โดยสารทั้งหมด 90 คน ไม่พบผู้โดยสารมีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปแต่อย่างใด.
ขอขอบคุณข้อมูล- ไทยโพสต์
โพสต์โดย : Ao