Social :



‘เรือดำน้ำ’หลายประเทศอาเซียนมี ‘ไทย’ถึงจำเป็นแต่เศรษฐกิจไม่ดีควรซื้อหรือไม่?

23 ส.ค. 63 21:08
‘เรือดำน้ำ’หลายประเทศอาเซียนมี ‘ไทย’ถึงจำเป็นแต่เศรษฐกิจไม่ดีควรซื้อหรือไม่?

‘เรือดำน้ำ’หลายประเทศอาเซียนมี ‘ไทย’ถึงจำเป็นแต่เศรษฐกิจไม่ดีควรซื้อหรือไม่?

กลายเป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อกองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2564 ได้พิจารณาอนุมัติงบจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท


ประเด็นนี้นำมาซึ่งกระแสต่อต้านมากมายทั้งจากฝ่ายค้านและแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ตาม ยังไม่นับการนำไปปลุกกระแสโจมตีการบริหารของรัฐบาลของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายฝ่ายเห็นว่าควรนำงบประมาณไปฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อนดีกว่า อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือนั้นมีมุมมองห่วงใยความมั่นคงทางทะเล ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าไทยมีผลประโยชน์ในส่วนนี้อยู่ไม่น้อย

เว็บไซต์ Global Firepower ซึ่งเป็นเว็บไซต์จัดอันดับแสนยานภาพทางการทหารระดับนานาชาติ ในปี 2563 นี้ได้เผยแพร่รายงาน 2020 Military Strength Ranking โดยมีประเทศเข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 138 ประเทศ โดยการจัดอันดับเฉพาะในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ มีดังนี้ อันดับ 1 อินโดนีเซีย (อันดับ 16 โลก) มีเรือดำน้ำ 5 ลำ อันดับ 2 เวียดนาม (อันดับ 22 โลก) มีเรือดำน้ำ 6 ลำ

อันดับ 3 ไทย (อันดับ 23 โลก) ไม่มีเรือดำน้ำ อันดับ 4 เมียนมา (อันดับ 35 โลก) มีเรือดำน้ำ 1 ลำ อันดับ 5 มาเลเซีย (อันดับ 44 โลก) มีเรือดำน้ำ 2 ลำ อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ (อันดับ 48 โลก) ไม่มีเรือดำน้ำ อันดับ 7 สิงคโปร์ (อันดับ 51 โลก) ไม่มีเรือดำน้ำ อันดับ 8 กัมพูชา (อันดับ 107 โลก) ไม่มีเรือดำน้ำ อันดับ 9 ลาว (อันดับ 131 โลก) ไม่มีเรือดำน้ำ ส่วนบรูไน ไม่ได้เข้าร่วมการจัดอันดับ

ขณะที่ 10 ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงที่สุดในโลก พบว่า อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา มีเรือดำน้ำ 66 ลำ อันดับ 2 รัสเซีย มีเรือดำน้ำ 62 ลำ อันดับ 3 จีน มีเรือดำน้ำ 74 ลำ อันดับ 4 อินเดีย มีเรือดำน้ำ 16 ลำ อันดับ 5 ญี่ปุ่น มีเรือดำน้ำ 20 ลำ อันดับ 6 เกาหลีใต้ มีเรือดำน้ำ 22 ลำ อันดับ 7 ฝรั่งเศส มีเรือดำน้ำ 9 ลำ อันดับ 8 สหราชอาณาจักร มีเรือดำน้ำ 10 ลำ อันดับ 9 อียิปต์ มีเรือดำน้ำ 8 ลำ และอันดับ 10 บราซิล มีเรือดำน้ำ 6 ลำ

ส่วน 10 ประเทศที่มีเรือดำน้ำมากที่สุดในโลก อันดับ 1 เกาหลีเหนือ (อันดับ 25 โลก) มีเรือดำน้ำ 83 ลำ อันดับ 2 จีน (อันดับ 3 โลก) มีเรือดำน้ำ 74 ลำ อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา (อันดับ 1 โลก) มีเรือดำน้ำ 66
Lif
ลำ อันดับ 4 รัสเซีย (อันดับ 2 โลก) มีเรือดำน้ำ 62 ลำ อันดับ 5 อิหร่าน (อันดับ 14 โลก) มีเรือดำน้ำ 34 ลำ อันดับ 6 เกาหลีใต้ (อันดับ 6 โลก) มีเรือดำน้ำ 22 ลำ อันดับ 7 ญี่ปุ่น (อันดับ 5 โลก) มีเรือดำน้ำ 20 ลำ อันดับ 8 อินเดีย (อันดับ 4 โลก) มีเรือดำน้ำ 16 ลำ อันดับ 9 ตุรกี (อันดับ 11 โลก) มีเรือดำน้ำ 12 ลำ และอันดับ 10 โคลัมเบีย (อันดับ 37 โลก) มีเรือดำน้ำ 11 ลำ

สำหรับการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทยต้องบอกว่าเป็นมหากาพย์เพราะยาวนานมาถึง 10 ปี โดยเริ่มมีข่าวตั้งแต่ปี 2554 ช่วงท้ายของรัฐบาลที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าจะมีการซื้อเรือดำน้ำรุ่น U-206A ซึ่งเป็นเรือมือสองจากประเทศเยอรมนี จำนวน 6 ลำ แต่ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็ยังไม่คืบหน้า หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่า เพราะใช้ได้จริง 4 ลำ ส่วนอีก 2 ลำจะถูกใช้เป็นอะไหล่สำรอง 
ในปี 2554 เช่นกัน เมื่อมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งและได้นายกฯ เป็นผู้หญิงคนแรกคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม โครงการเรือดำน้ำเยอรมนีข้างต้นก็ไม่คืบหน้า และท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยให้หลุดมือไปเพราะเกินกำหนดเวลาในการเจรจากับรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งต่อมามีรายงานว่า กองทัพเรือโคลัมเบียได้ซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวไป 4 ลำ แบ่งเป็นเรือใช้งาน 2 ลำ และเป็นอะไหล่อีก 2 ลำ

ครั้นมีเหตุความวุ่นวายทางการเมือง มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม กปปส. ที่ยืดเยื้อแม้ ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภาไปแล้วก็ตาม ทำให้ท้ายที่สุดจบลงด้วยการรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งควบทั้งนายกฯ และ รมว. กลาโหม ในปี 2558 เริ่มมีข่าวว่า กองทัพเรือต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น S-26T จำนวน 3 ลำ จากประเทศจีน

ในวันที่ 18 เม.ย. 2560 รัฐบาลไทยได้สั่งซื้อเรือเรือดำน้ำ S-26T จากจีนจำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 บาท คาดว่าจะได้รับเรือลำดังกล่าวในปี 2567 และล่าสุดวันที่ 21 ส.ค. 2563 ได้อนุมัติวงเงินอีก 22,500 ล้านบาทสำหรับอีก 2 ลำ ซึ่ง ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ฯ มองว่า บันทึกความตกลง (MOU) ที่รัฐบาลไทยทำกับรัฐบาลจีน ไม่ได้ระบุว่าไทยจะต้องซื้อลำที่สองและลำที่สาม มีแต่เพียงว่าหากเกิดปัญหาในข้อตกลง หรือเกิดความขัดแย้งให้เจรจากันอย่างฉันท์มิตร ไม่มีการขึ้นศาลหรือคดีต่อกัน

ล่าสุด ในวันที่ 24 ส.ค.2563 มีรายงานว่า กองทัพเรือจะแถลงข่าวชี้แจงในเวลา 13.30 น.ที่ห้องชมวัง อาคารราชนาวิกสภา ทั้งประเด็นความจำเป็นในเชิงยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณของกองทัพเรือเอง โดยเลื่อนโครงการจัดหาเรือผิวน้ำโครงการจัดหาอากาศยานแล้วนำมาผูกพันงบประมาณในการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมทั้งเรื่องเอกสารข้อกฎหมายในการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อำนาจของ ผบ.ทร.ในการลงนาม

ท้ายที่สุดแล้วกองทัพเรือจะได้จัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่..คงต้องรอดูกันต่อไป!!!

ขอบคุณข้อมูลจาก : globalfirepower.com

โพสต์โดย : Ao