Social :



ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ "ไอเอิร์นโดม" ของอิสราเอลทำงานอย่างไร

16 พ.ค. 64 11:05
ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ "ไอเอิร์นโดม" ของอิสราเอลทำงานอย่างไร

ระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ "ไอเอิร์นโดม" ของอิสราเอลทำงานอย่างไร

ในการสู้รบที่ดำเนินมาร่วมหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์อื่น ๆ ได้ระดมยิงจรวจใส่อิสราเอลกว่า 2,000 ลูก


แต่กองทัพอิสราเอลระบุว่า ราว 90% ของจรวจที่ยิงเข้าไปนั้นถูกสกัดไว้โดยระบบขีปนาวุธป้องกันที่สำคัญของประเทศที่มีชื่อว่า “ไอเอิร์นโดม” (Iron Dome)

Rockets are seen in the night sky fired towards Israel from Beit Lahiya in the northern Gaza Strip (14 May 2021) Getty Images

เส้นแสงบนท้องฟ้าเผยให้เห็นระบบไอเอิร์นโดมขึ้นสกัดจรวจที่ยิงมาจากฉนวนกาซา
  • นาทีอิสราเอลยิงถล่มตึกในฉนวนกาซา
  • อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปะทะดุเดือดในการสู้รบวันที่ห้า
  • ทำความเข้าใจความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์
ไอเอิร์นโดมถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศระยะใกล้ โดยมีจุดกำเนิดมาจากครั้งที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธ “เฮซบอลเลาะห์” ของเลบานอน ในปี 2006 ซึ่งตอนนั้นมีการยิงจรวจโจมตีอิสราเอลหลายพันลูก สร้างความเสียหายรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน และต้องอพยพผู้คนจำนวนมาก

หลังจากนั้น อิสราเอลได้สั่งพัฒนาระบบขีปนาวุธป้องกันภัยขึ้นมาใหม่


ไอเอิร์นโดม พัฒนาขึ้นโดยบริษัทของอิสราเอลคือ Rafael Advanced Defense Systems และ Israel Aerospace Industries โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และเริ่มถูกนำมาใช้งานในปี 2011
Lif

ไอเอิร์นโดม ถือเป็นหนึ่งในระบบป้องกันการโจมตีที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดในโลก ทำงานโดยใช้เรดาร์เพื่อบ่งชี้และทำลายภัยที่เข้ามา ก่อนที่มันจะสร้างความเสียหายขึ้น

ระบบที่สามารถทำงานได้ในทุกสภาพลมฟ้าอากาศนี้ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อต่อสู้กับอาวุธพื้นฐานพิสัยการยิงสั้น คือระหว่าง 4 – 70 กม. เช่น จรวจที่ยิงมาจากเขตฉนวนกาซา

แม้ไอเอิร์นโดมจะมีต้นทุนสูงในการพัฒนา แต่ผู้ผลิตระบุว่ามีความคุ้มค่ามาก เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สามารถแยกแยะได้ระหว่างจรวดที่มีแนวโน้มจะมุ่งเป้าไปยังแหล่งชุมชนที่มีคนอยู่หนาแน่น กับบริเวณที่คนไม่หนาแน่น

ฐานยิงซึ่งมีทั้งชนิดติดตั้งอยู่กับที่ และชนิดเคลื่อนที่ได้นั้นจะยิงขีปนาวุธขึ้นไปสกัดและทำลายสิ่งที่ระบบประเมินว่าเป็นภัยอันตรายเท่านั้น



หนึ่งทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มนำไอเอิร์นโดมออกใช้งาน ปัจจุบันอิสราเอลได้ประจำการกลุ่มอาวุธชนิดนี้ 10 จุดทั่วประเทศ โดยแต่ละจุดมีฐานยิง 4 ฐาน ที่สามารถยิงขีปนาวุธขึ้นไปสกัดได้ 20 ลูก

พันโท โจนาธาน คอนริคัส โฆษกกระทรวงกลาโหมอิสราเอลกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า “จำนวนชาวอิสราเอลที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจะสูงกว่านี้มาก หากไม่มีระบบไอเอิร์นโดม ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยคุ้มครองชีวิตเสมอมา”

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่าการระดมยิงจรวดจากฝั่งฉนวนกาซานั้น บ่งชี้ว่ากลุ่มติดอาวุธกำลังพยายามทำให้ระบบไอเอิร์นโดมเผชิญกับจรวจจำนวนมาก จนอาจสกัดกั้นภัยที่เข้ามาไม่ทัน และทำให้เกิดความกังวลถึงข้อจำกัดของระบบนี้

…….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือระหว่างสององค์กรข่าว



โพสต์โดย : ปลายน้ำ