Social :



‘บิ๊กตู่’ ชง ครม.วันนี้-จัด 7.5 พันล้านเยียวยา แคมป์คนงาน-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง

29 มิ.ย. 64 09:06
‘บิ๊กตู่’ ชง ครม.วันนี้-จัด 7.5 พันล้านเยียวยา แคมป์คนงาน-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง

‘บิ๊กตู่’ ชง ครม.วันนี้-จัด 7.5 พันล้านเยียวยา แคมป์คนงาน-ร้านอาหาร-สถานบันเทิง

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบศ.เพื่อหามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ ภายหลังมีคำสั่งยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งหมดรวม 10 จังหวัด ที่ประชุมรับทราบรายงานจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายหลังรัฐบาลประกาศยกระดับมาตรการ ประเมินว่าจะมีจังหวัดที่ได้รับผล กระทบ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งการพิจารณารูปแบบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการในระบบประกันสังคม เป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 คาดว่าภาครัฐจะพิจารณาให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 1-2 พันบาทต่อเดือน รวมถึงให้กองทุนประกันสังคมจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ในระยะเวลา 1 เดือน ขณะที่ผู้ประกอบการและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าจะเป็นรูปแบบจ่ายค่าทดแทนในสาขาที่ได้รับผลกระทบ

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ขอชี้แจงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศคำสั่งฉบับที่ 25 ที่ประชุมหารือทั้งภาครัฐ กระทรวงที่เกี่ยวข้อง และโรงเรียนแพทย์ ยืนยันว่ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่วนราชการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายนำมาพิจารณาทุกครั้ง วันนี้คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค มีผลกระทบใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯและปริมณฑล จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาตรงนี้ รวมถึงระยะต่อไปเพื่อให้เกิดความทั่วถึงในหลายกิจกรรม อาจจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาอีก อย่างวันนี้ทำโครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะออกไปตามกำหนดการเดิม เป็นมาตรการการเยียวยา



นายกฯกล่าวว่า วันนี้เน้นการลดผลกระทบในระยะเวลา 1 เดือน รัฐบาลเตรียมงบประมาณจากเงินกู้และเงินจากกองทุนประกันสังคมรวมแล้ว 7,500 ล้านบาท ระยะเวลา 1 เดือน เร่งดำเนินการใน 6 จังหวัด รวม 3 หมวด ประกอบด้วย เรื่องของการก่อสร้าง ที่พักแรม บริการด้านอาหาร สถานบันเทิงและนันทนาการ มีผลกระทบจำนวนมากพอสมควร รัฐบาลมีมติจะจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับลูกจ้างในระบบประกันสังคมตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ 2,000 บาทต่อคน และนายจ้างในระบบประกันสังคมตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อคน ไม่เกิน 200 คน สรุปว่ารัฐบาลจะดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผล กระทบในระยะเวลา 1 เดือนที่ได้ประกาศปิดไปแล้ว การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่
MulticollaC
3 จะมีพื้นที่จังหวัดอื่นตามมา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนปัญหาแรงงานทยอยกลับบ้าน สั่งการให้ทหาร ตำรวจ และพลเรือนเข้าดูแลป้องกันการเคลื่อนย้ายกลับบ้าน วิตกว่าจะไปแพร่เชื้อในที่อื่น เชื่อว่าไม่มีใครอยากกลับบ้าน กลับไปต้องถูกพื้นที่ควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและไม่มีงาน แต่วันนี้อยู่ในคลัสเตอร์ที่ควบคุมได้ มีการจ่ายชดเชยแรงงานของกระทรวงแรงงานอยู่แล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ อาหารการกินก็มีให้

“ผมเป็นห่วงในวันนี้คือร้านอาหาร เฉพาะร้านอาหารรายย่อยที่ปกติคนค่อนข้างระมัดระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่แล้ว จึงขอความร่วมมือไปยังสมาคมก่อสร้างกับผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ เพื่อประกอบอาหารและจัดส่งไปยังสถานประกอบการและแคมป์คนงานต่างๆ เพื่อมีรายได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เรื่องนี้ กทม.รับเรื่องไปแล้ว แน่นอนว่าย่อมมีคนไม่สบายใจหรือยังไม่พอใจ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลจำเป็นต้องบริหารงานให้เป็นระบบไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา” นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันจะนำข้อสรุปทั้งหมดนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 29 มิถุนายน นอกจากดูแลลูกจ้างแล้ว จะต้องดูแลนายจ้างด้วย ส่วนนายจ้างที่รายได้ขาดหายไปจะชดเชยตามจำนวนลูกจ้างที่มีอยู่ มีรายละเอียดอีกมากพอสมควร รัฐบาลจะพิจารณารายหัวให้กับลูกจ้าง ผู้ประกอบการจะได้ไปด้วย แต่ต้องไม่เกิน 200 คน ต้องยอมรับว่าใช้เงินมหาศาล ในที่ประชุมคิดอย่างละเอียดรอบคอบกว่า 3 ชั่วโมง ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจบ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่จะได้รับการเยียวยาเข้าข่ายลักษณะใด นายกฯกล่าวว่า กรณีหยุดงานจากเหตุสุดวิสัยจะได้รับเงินเยียวยา 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ รัฐบาลจะเข้าไปสมทบเพิ่มให้อีก ส่วนโครงการคนละครึ่งที่มีข่าวว่าจะเลื่อนนั้น ยืนยันว่ายังไม่เลื่อน รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ไม่ได้มีเลื่อนอะไรทั้งสิ้น

เมื่อถามว่า ผู้ประกอบการถูกคำสั่งไม่ให้นั่งกินในร้าน จะผ่อนปรนให้นั่งกิน 25 เปอร์เซ็นต์ได้หรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องขอเวลาดูก่อน แต่รัฐบาลก็สมทบเงินเยียวยาให้อยู่แล้วในช่วง 1 เดือนนี้ได้หมด ถึงบอกว่าขอดู 1 เดือน และในระยะเวลา 1 เดือน จะดูในช่วงเวลา 15 วันด้วย จะต้องประมาณการว่าหากดีขึ้นจะทำอย่างไร อย่างวันนี้ สถานประกอบการที่มีคนก่อสร้างก็เดือดร้อน ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป กรณีไหนที่หยุดได้ชั่วคราวขอให้หยุดไปก่อน แต่กรณีไหนที่ต้องทำงานต่อทางด้านเทคนิค เช่น การทำอุโมงค์หรือก่อสร้างที่ได้ขึ้นชั้นไปแล้ว ต้องมีเวลาการเซตตัวอะไรประมาณนี้ ต้องขออนุมัติขึ้นมา ศบค.กำลังพิจารณา รู้ถึงความเดือดร้อนไปทั้งหมด พวกเราก็เดือดร้อนไปไม่น้อยกว่า เพราะต้องคิดว่าทำอย่างไรจะให้คนดำรงชีวิตได้ในช่วงนี้ อยากฝากว่าหลายประเทศเดือดร้อนยิ่งกว่าเรา

ขอบคุณที่มา ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ