Social :



ศบค.ล็อกดาวน์ 10 จว. เคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4

10 ก.ค. 64 09:07
ศบค.ล็อกดาวน์ 10 จว. เคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4

ศบค.ล็อกดาวน์ 10 จว. เคอร์ฟิว 3 ทุ่มถึงตี 4

หมายเหตุ – พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.)แถลงมติที่ประชุม ศบค.เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม

วันนี้จึงมีความพยายามตัดสินใจกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งระดับโลก ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศไทยเอง มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง รวมถึงมีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีแนวโน้มมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อรายวันก็เพิ่มขึ้น และยังมีการแพร่ระบาดในภูมิภาคที่เป็นเชื้อสายพันธุ์เดลต้า รวมถึงมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนกลุ่มแรงงานจากกรุงเทพมหานคร ทำให้กระจายเชื้อหลายจังหวัดทั่วประเทศ เกิดการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

“ในที่ประชุมเห็นสมควรให้มีการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 13 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-วันที่ 30 กันยายน โดยจะมีการนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานควบคุมโรคติดต่อสามารถบูรณาการความรับผิดชอบ หน้าที่อำนาจทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเป็นการลดอัตราเสียชีวิต ลดปัญหาขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุข เพื่อการกำกับดูแลกิจการกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และการพิจารณาระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรที่เป็นข้อสรุปของ ศบค.ชุดใหญ่ หลักคิดเบื้องต้นที่สำคัญ คือ 1.การจำกัดการเคลื่อนย้าย และการรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ หลายคนคุ้นเคยกับคำว่า “ล็อกดาวน์” 2.กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว 3.การเร่งรัดมาตรการทางการแพทย์และการเยียวยาให้เร็วที่สุด

มาตรการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีการแบ่งสีของพื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 10 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ สงขลา, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จากเดิม 5 จังหวัดปรับขึ้นเป็น 24 จังหวัด, พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) จากเดิม 9 จังหวัด ปรับขึ้นเป็น 25 จังหวัด, พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิม 53 จังหวัด ลดลงเหลือ 18 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ตอนนี้ไม่มี ซึ่งมีการประกาศทุกจังหวัดตามสี

1.ขอให้มีมาตรการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน

2.ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึง
สถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

4.ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

5.ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดแผนโบราณ สปา สถานเสริมความงาม

6.ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการเวลา 21.00-04.00 น.

7.สวนสาธารณะ เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.

8.ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี เช่น งานศพ จัดได้ ที่รวมกันเกิน 5 คนขึ้นไป

ข้อปฏิบัติสำหรับ 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติม ได้แก่ 1.สถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด อนุญาตตามข้อกำหนดเดิม โดยให้เรียนออนไลน์เท่านั้น 100% 2.ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. โดยเฉพาะกรณีจำเป็น เช่น พบแพทย์ ไปโรงพยาบาล บุคลากรแพทย์ที่จะต้องสับเปลี่ยนขึ้นเวร การซ่อมไฟฟ้าประปา

โดยมาตรการทั้งหมดนี้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นไป ที่ประชุมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการกำกับควบคุมมาตรการ โดยฝากไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ให้ร่วมหารือกับมาตรการที่ประกาศในวันนี้ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ชุดลาดตระเวนเพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เริ่มวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ ได้แก่

1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เรามีการเพิ่มสถานที่คัดกรอง
Lif
เร่งเปิดจุดตรวจให้ประชาชนเข้าถึง เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน และแยกประชาชน ที่ติดเชื้อออกจากชุมชนให้เร็วที่สุด

2.กระทรวงสาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค/โรคเรื้อรัง โดยจะต้องฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายในเวลา 1-2 สัปดาห์

“การจัดสรรวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส จากสหรัฐอเมริกา และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.05 ล้านโดส จากประเทศญี่ปุ่น ที่มาถึงในวันนี้ โดยมุ่งเน้นไปยังผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัว ผู้จำเป็นที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อสรุปให้มีการจ่ายวัคซีนไฟเซอร์ เป็น บูสเตอร์ โดส (booster dose) ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุดด้วย

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเพิ่มความสามารถเพิ่มการรักษาพยาบาลให้เพียงพอ และมีประสิทธิภาพ สร้างไอซียูสนาม โรงพยาบาลสนาม แยกกักในชุมชน (Community isolation) หรือศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ รวมถึงการแยกกักที่บ้าน (Home isolation) และการใช้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร ให้ประชาชนขณะแยกกัก

มาตรการทั้งหมดนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุม เพื่อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด มาตรการจำกัดการเดินทางนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งรวมๆ มาตรการจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.จังหวัดที่มีการควบคุมเข้มงวดสูงสุด 6 จังหวัด จะมีการปิดกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยง 2.จังหวัดเข้มงวดสูงสุด 10 จังหวัด จะเพิ่มเรื่องของการเดินทางข้ามพื้นที่ แต่ในส่วนของประชาชนที่เดินทางข้ามจังหวัด ประกาศให้มีการเฝ้าระวังตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

เห็นด้วยกับรัฐบาลที่เลือกยกระดับมาตรการควบคุมเพียงบางพื้นที่เสี่ยงสูง 10 จังหวัด กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 6 จังหวัด และภาคใต้อีก 4 จังหวัด ซึ่งตรงกับแถลงความเห็นจากการประชุมร่วมกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 40 คน (40 ซีอีโอ) แต่มีสิ่งที่กังวลคือเรื่องของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ควรนำการตรวจด้วยชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) มาใช้ต่อไป เพื่อเป็นการช่วยเร่งตรวจหาเชื้อในเชิงรุก และให้ประชาชนสามารถตรวจหรือทดสอบอาการด้วยตัวเองได้

หลังจากการประกาศยกระดับมาตรการนั้น รัฐบาลควรรีบออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทันที ไม่เช่นนั้น ประชาชนก็จะวิตกกังวล เรื่องปากท้อง กลัวไม่มีข้าวกิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสังคมด้วย โดยรูปแบบก็จะเป็นการชดเชยเยียวยาจากประกันสังคม ให้กับผู้ประกอบการและลูกจ้าง แม้มาตรการนั้นจะช่วยด้านสาธารณสุขได้ดี แต่ในด้านเศรษฐกิจนั้นจะกระทบอย่างหนัก ปัญหาภาคสังคมก็จะตามมา ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ประชาชนไม่เดือดร้อน สามารถดูแลตัวเองได้

รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ที่ใช้ในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ก็ควรนำออกมาใช้เลยในตอนนี้ เพราะหอการค้าเองก็มีความเห็นตั้งแต่แรกแล้วว่าเงินกู้ดังกล่าวควรนำออกมาใช้ในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้เลยไม่ต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

และถ้าเงินกู้ไม่พอใช้ รัฐบาลก็คงต้องกู้เพิ่ม คิดว่าจากที่เคยจะกู้ 7 แสนล้านบาทนั้น กระทรวงการคลังก็น่าจะเห็นว่ามีที่ว่าง (รูม) ในการที่จะกู้เพิ่มอยู่แล้ว ในการหางบมาใช้เยียวยาประชาชน

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

รัฐบาลต้องเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดให้ได้เร็วที่สุด ต้องเร่งคัดกรอง คัดแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากกลุ่มคนที่ยังไม่ติดเชื้อ เพราะถ้าปล่อยไว้นานจำนวนผู้ติดเชื้อก็ยิ่งจะเพิ่มยิ่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักมากขึ้น อีกทั้งการแพร่ระบาดรอบสามนี้ผลกระทบหนักกว่ารอบที่ผ่านๆ มา และภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลจัดการควบคุมการแพร่ระบาดให้จบโดยเร็ว

ส.อ.ท.มีความกังวลใจและไม่สบายใจเกี่ยวกับภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ไปรอรับการตรวจหาเชื้อตามจุดต่างๆ ของ กทม. หลายๆ แห่งมีผู้คนไปนอนรับการต่อคิวตรวจแบบข้ามวันข้ามคืน ซึ่งห่วงว่าจะยิ่งเป็นการแพร่เชื้อไวรัสได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ส.อ.ท.จึงอยากเสนอให้รัฐบาลอนุมัติ หรืออนุญาต ให้นำชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดแบบเร่งด่วน หรือ Rapid Antigen Test เข้ามาใช้ เพื่อลดความแออัดของคนที่ไปรอรับการตรวจ และจะทำให้การตรวจเข้าถึง ทั่วถึง ทุกกลุ่ม ทุกคนมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเร่งจัดหาวัคซีนและระดมฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดเพราะเป็นทางรอดและทางเดียวของประเทศที่จะฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ยังไม่ถึงครึ่งทาง จึงต้องเร่งทำให้ได้ตามเป้าหมายโดยไว

การล็อกดาวน์รอบนี้รัฐบาลต้องเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่น เพิ่มระยะเวลาการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มนี้สามารถรักษาอัตราการจ้างงานไว้ได้ รวมทั้งกลุ่มลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้ผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์รอบนี้ไม่รุนแรงมาก

ทั้งนี้ ยังไม่รู้สึกกังวลว่าการล็อกดาวน์รอบนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน เพราะกลุ่มนี้สามารถปรับเวลาในการขนส่งสินค้า และการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาก็ไม่ได้จำกัดกลุ่มโลจิสติกส์แต่อย่างใด

ขอบคุณที่มา ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ