Social :



เช็กเงื่อนไข เงินสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนโควิด 3,000 ให้เฉพาะคน “จนมาก ลำบากจริง” ไม่ได้ให้ทุกคน

10 ส.ค. 64 17:08
เช็กเงื่อนไข เงินสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนโควิด 3,000 ให้เฉพาะคน “จนมาก ลำบากจริง” ไม่ได้ให้ทุกคน

เช็กเงื่อนไข เงินสงเคราะห์ผู้เดือดร้อนโควิด 3,000 ให้เฉพาะคน “จนมาก ลำบากจริง” ไม่ได้ให้ทุกคน

ตามที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้เปิดบริการยื่นขอรับเงินช่วยเหลือออนไลน์ หรืออีเซอร์วิส ให้ประชาชนที่รายได้ไม่เพียงพอต่อการครองชีพ ไม่มีงานทำ มีหนี้สิน หรือป่วยเป็นโรคร้ายแรง ตลอดจนเดือดร้อนในสถานการณ์โควิด-19 สามารถขอเงินอุดหนุนสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ประชาชน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมากนั้น

จากข่าว – พม.เปิดช่องทางออนไลน์ ให้ผู้เดือดร้อนโควิด 19 ยื่นขอเงิน 3,000 บาท โอนเข้าบัญชีภายใน 5 วัน

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายสุทธิ จันทรวงษ์ อธิบดีกรม พส. กล่าวว่า อยากย้ำว่าบริการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ พส.ได้ทำอยู่แล้ว เพียงแต่มาปรับรูปแบบการให้บริการ จากเดิมที่ประชาชนต้องวอร์คอินเข้ามาขอความช่วยเหลือกับหน่วยงาน พม. เป็นการให้บริการออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ายื่นคำขอมาแล้วจะได้ทุกคน เพราะจะมีการคัดกรองจากนักสังคมสงเคราะห์ พิจารณาให้เฉพาะผู้มีคุณสมบัติ ได้แก่ เป็นผู้ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ด้วยเหตุที่หัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต ทอดทิ้ง สาบสูญ หรือต้องโทษจำคุก เจ็บป่วยเรื้อรัง หรือพิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ประสบปัญหายากลำบากไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ และคนไร้ที่พึ่ง ช่วยเหลือเงินครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของนักสังคมสงเคราะห์ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย

อธิบดี พส. กล่าวอีกว่า โดยประชาชนสามารถดำเนินตาม 4 ขั้นตอน ดังนี้ 1.กด “ยื่นคำขอรับบริการ” ในเว็บไซต์ http://www.dsdwservice.dsdw.go.th/Petitions/Petition 2.เจ้าหน้าที่โทรกลับ สอบถาม นัดวันลงเยี่ยมบ้าน 3.เจ้าหน้าที่ลงเยี่ยมบ้านตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงตามที่ประชาชนได้กรอกไว้ ตามหลักและกระบวนการสังคมสงเคราะห์ 4.หลังจากเยี่ยมบ้านและตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าคุณสมบัติเป็นไประเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2552 ก็จะโอนเงินให้ภายใน 5 วันทำการ ผ่านระบบ Krungthai Corporate Online


ขณะที่ นางสาวซาราห์ บินเย๊าะ รองอธิบดีกรม พส. กล่าวว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ประชาชน ว่าบริการดังกล่าวหากยื่นคำขอมาจะได้เงิน 3,000 บาททุกคน และยังได้ต่อเนื่องอีก 2
Lif
ครั้ง รวมเป็นเงิน 9,000 บาท พส.อยากปรับความเข้าใจว่าไม่ใช่อย่างนั้น บริการนี้ให้เฉพาะกลุ่มที่มีคุณสมบัติ และอาจได้ 2,000 บาท หรือ 3,000 บาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพความเดือดร้อน อย่างบางคนยื่นคำขอมาแล้วข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีคุณสมบัติ แต่ก็ต้องผ่านการตรวจสอบด้วยการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน มีการสอบถามพูดคุย และพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนักสังคมสงเคราะห์จะแจ้งให้ทราบเลยว่ามีคุณสมบัติหรือไม่ เพราะอะไร และหากได้รับพิจารณา จะได้ 2,000 บาท หรือ 3,000 บาท เพราะอะไร

ทั้งนี้ เป็นบริการที่ใช้งบประมาณปกติ ไม่ได้ใช้งบกลางหรืองบพิเศษอะไร คาดว่าสามารถรองรับการช่วยเหลือประชาชนได้ 30,000 ครอบครัว ภายในปีงบประมาณ 2564

“การพิจารณาจริงๆ ดูกันหน้างาน ตั้งแต่สภาพความเดือดร้อน สภาพที่อยู่อาศัย ซึ่งต้องเป็นคนที่จนมากลำบากจริงถึงจะได้รับ ในส่วนที่เดือดร้อนแต่ยังพอทำมาหากินได้ รายได้ลดลง ก็อาจช่วยเหลืออย่างอื่น เช่น มอบถุงยังชีพ”

รองอธิบดี พส. กล่าวอีกว่า ส่วนคนที่ได้รับพิจารณาในครั้งที่ 1 แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับพิจารณาต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง เพราะเป็นเงินบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่ส่วนผู้ที่จะได้รับพิจารณาต่อเนื่อง 3 ครั้ง ยกตัวอย่างกรณี เช่น เป็นตายายอยู่ด้วยกันลำพัง 2 คน คนนึงป่วยติดเตียง อีกคนต้องดูแลกัน ไม่สามารถออกไปหารายได้ได้ กรณีแบบนี้ต้องช่วยต่อเนื่อง 3 ครั้ง เพราะไม่สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม พส.ได้ลดขั้นตอนการเบิกจ่ายให้ได้รับเงินภายใน 5 วันหลังจากพิจารณา ส่วนจังหวัดนอกเหนือจากนั้น ยังเบิกจ่ายตามระเบียบปกติคือ ต้องผ่านที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นประธาน ซึ่งอาจล่าช้ากว่า

นางสาวซาราห์ กล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ดี หลังจากมีการประชาสัมพันธ์บริการออกไป มีประชาชนให้ความสนใจยื่นคำขอมาจำนวนมาก แต่จากการตรวจสอบพบปัญหาว่า ประชาชนหลายคนกรอกข้อมูลมาไม่ครบ เช่น เบอร์โทรศัพท์ไม่ครบ กรอกที่อยู่ไม่ละเอียด ฯลฯ ฉะนั้นขอให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนส่ง โดยเฉพาะที่อยู่ต้องกรอกละเอียดถึงตรอกซอกซอย จุดสังเกต เพื่อให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไป

ขอบคุณที่มา    ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ