Social :



ตัวเลขน่าตกใจ! สธ.เผยผลตรวจ ATK กทม.-ปริมณฑล สะท้อนตกค้างในชุมชนอื้อ

11 ส.ค. 64 16:08
ตัวเลขน่าตกใจ! สธ.เผยผลตรวจ ATK กทม.-ปริมณฑล สะท้อนตกค้างในชุมชนอื้อ

ตัวเลขน่าตกใจ! สธ.เผยผลตรวจ ATK กทม.-ปริมณฑล สะท้อนตกค้างในชุมชนอื้อ

วันที่ 11 ส.ค.64 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลปฏิบัติงานเชิงรุก CCR Team พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์กระทรวงสาธารณสุข ว่า ทีมปฏิบัติการเชิงรุก CCR Team ครั้งล่าสุด คือเมื่อวันที่ 4-10 ส.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 3 มีทีมจากภูมิภาคทั่วประเทศ 41 ทีม รวมผู้ปฏิบัติงาน 400 คน แต่ละทีมประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และสหวิชาชีพทำหน้าที่ร่วมกัน โดยมีการทำงานเชิงรุก 4 ภารกิจหลัก คือ ตรวจ ค้นหา รักษา และฉีดวัคซีน


ทั้งนี้ การตรวจจะใช้ชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิท (ATK) ที่ได้มาตรฐาน ทราบผลเร็วไม่เกิน 30 นาที เมื่อทราบว่าใครติดเชื้อจะติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงร่วมบ้านหรือร่วมชุมชนมาตรวจเพิ่มเติม โดยนำผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าสู่การรักษาพยาบาล โดยแพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการทุกรายและรักษา หากเข้าเกณฑ์จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์จะจ่ายยาทันที หากไม่เข้าเกณฑ์ก็ให้ฟ้าทะลายโจรและคำแนะนำการใช้ชีวิต

โดยทุกคนได้รับการลงทะเบียนเข้าสู่การรักษาที่บ้านของ สปสช. หากผู้ป่วยที่ตรวจ ATK เป็นบวกต้องเข้ารักษาที่ชุมชน (CI) หรือ รพ. จะส่งยืนยันการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR สำหรับผู้ที่ผล ATK เป็นลบ จะประเมินว่าอยู่ในกลุ่ม 608 หรือไม่ คือ ผู้สูงอายุ 60 ปี โรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ จะฉีดวัคซีนทุกราย ซึ่งเราลงไปตรวจถึงบ้านหรือชุมชนในทุกชุมชนแออัด กทม.

นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงาน CCR Team ครั้งที่ 1 วันที่ 14-16 ก.ค. ตรวจ ATK พบบวก 9% ครั้งที่ 2 วันที่ 21-23 ก.ค. ตรวจพบ 16.1% และครั้งที่ 3 วันที่ 4-10 ส.ค. ประชาชนรับการตรวจ ATK รวม 145,566 คน พบผลบวก 16,186
MulticollaC
ราย คิดเป็น 11.1% ซึ่งการตรวจครั้งที่ 3 เป็นการตรวจชุมชนที่หลากหลายกว่า ทั้งในคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัย ชุมชนแออัดทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียนหลายร้อยชุมชน

จึงสะท้อนว่าอัตราการติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑลยังน่าเป็นห่วงและต้องติดตาม จากการประเมินอาการผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีเขียว 11,216 คน คิดเป็น 69.3% ระดับสีเหลือง 4,639 คน คิดเป็น 28.7% และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงระดับสีแดง 331 คน คิดเป็น 2% สะท้อนว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังตกค้างอยู่ในชุมชน และยังเข้าไม่ถึงการตรวจเพื่อวินิจฉัยตัวเองว่าติดเชื้อหรือไม่ จึงต้องได้รับการค้นหาและให้การรักษาโดยเร็ว

“ปฏิบัติการครั้งที่ 3 นี้ได้จ่ายยาให้กับผู้ป่วยโดยตรงทันทีวันเดียวกับที่ทราบผล มีผู้ป่วยรับยาฟาวิพิราเวียร์ 9,343 คน คิดเป็น 57.7% ของผู้ที่มี ATK เป็นบวก รวมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมด 467,150 เม็ด และรับยาฟ้าทะลายโจร 3,614 คน คิดเป็น 22.3% ของผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ส่วนผู้ได้รับบริการฉีดวัคซีนมี 7,761 คน เป็นการเติมเต็มช่องว่างการเข้าถึงคนที่รอฉีดวัคซีนและไม่สามารถออกมารับบริการจุดฉีดใน กทม.ได้” นพ.ยงยศ กล่าว

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า การดำเนินการครั้งนี้ทำให้เห็นว่าสถานการณ์การระบาดในพื้นที่นี้ยังมีความน่าเป็นห่วง ความร่วมมือดังกล่าวทำให้ความหวังในการควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่เป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ แนวคิด CCRT ยังคงมีต่อไป แต่การระดมกำลังจากภูมิภาคมาช่วยกันเช่นนี้จะมีอีกหรือไม่จะมีการพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งหากมีปฏิบัติการเช่นนี้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า การควบคุมโรค การทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเข้าถึงยา จะลดอัตราการเข้า รพ. อัตราการเปลี่ยนสีผู้ป่วย และลดการเสียชีวิต ซึ่งปฏิบัติการนี้ไม่ยุ่งยาก แค่มีคนมาลงมือทำ เรานำ ATK ยา และวัคซีน ไปหาชาวบ้านในจุดที่ออกมาหาเราไม่ได้ ไปให้ถึงชุมชนตามซอกหลืบต่างๆ ใน กทม. ที่เป็นจุดรวมของผู้คนยังเข้าไม่ถึงระบบบริการ ปฏิบัติการ CCRT จำเป็นต้องมี เพื่อให้คน กทม.ปลอดภัย

ขอบคุณที่มา  ข่าวสด

โพสต์โดย : ปลายน้ำ