Social :



ฝนดาวตกวันแม่ มีมาแน่ๆ แต่ไม่มากเท่าที่คิด

12 ส.ค. 64 17:08
ฝนดาวตกวันแม่ มีมาแน่ๆ แต่ไม่มากเท่าที่คิด

ฝนดาวตกวันแม่ มีมาแน่ๆ แต่ไม่มากเท่าที่คิด

วันที่ 12 สิงหาคม นายวิมุติ วสะหลาย กรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมดาราศาสตร์ไทย เขียนบทความเรื่อง ว่าด้วยฝนดาวตกวันแม่ ในเว็บไซต์ ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย ในบทความมีเนื้อหาดังนี้

วันนี้เป็นวันที่ 12 สิงหาคม ไทยเราถือว่าเป็นวันแม่แห่งชาติ วันนี้ของทุกปีนอกจากจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงความรักและกตัญญูต่อแม่แล้ว ในแวดวงดาราศาสตร์จะมีข่าวหนึ่งที่ปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ ทุกปี นั่นคือ คืนวันที่ 12 นี้จะมีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสให้ชื่นชมกัน เพราะปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 12-13 สิงหาคมของทุกปี จึงเรียกกันติดปากว่า ฝนดาวตกวันแม่

ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ประจำปี ปีนึ่งเกิดขึ้นหลายชุด แต่ละชุดมีความชุกของดาวตกมากน้อยต่างกัน ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสเป็นหนึ่งในฝนดาวตกที่มีอัตราตกสูงที่สุดในรอบปี จึงไม่แปลกที่จะดังเป็นพิเศษ มีการประชาสัมพันธ์กันว่า ฝนดาวตกนี้จะมีอัตราตกสูงสุดถึง 110 ดวงต่อชั่วโมงเลยทีเดียว ลองคิดในใจคร่าว ๆ ก็เฉลี่ยนาทีละสองดวง แค่คิดก็ว้าวแล้ว

แต่ช้าก่อน มีอะไรที่เราต้องมาทำความเข้าใจกันนิดหน่อยเกี่ยวกับฝนดาวตก โดยเฉพาะตัวเลขชวนฝันนี้

ตัวเลขที่เรียกกันว่า อัตราตกสูงสุดนี้ จริง ๆ แล้วมีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า อัตราตกเทียบจุดจอมฟ้า (Zenithal Hourly Rate)

ฟังดูชวนมึน แต่คำนี้ก็มีคำจำกัดความที่ซับซ้อนจนต้องตีความให้ดี มันหมายความว่า อัตราการเกิดฝนดาวตกสูงสุดเมื่อจุดกระจายฝนดาวตกอยู่เหนือศีรษะพอดี และท้องฟ้ามืดสนิทจนมองเห็นดาวที่มีอันดับความสว่างระดับ 6.5 ได้ด้วยตาเปล่า แปลไทยเป็นไทยอีกทีให้สั้นขึ้นไปอีกก็คือ อัตราตกสูงสุดในภาวะอุดมคติ

แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้ดูดาวด้วยภาวะอุดมคติ ไม่แม้แต่จะใกล้เคียง โอกาสจุดกระจายฝนดาวตกจะอยู่เหนือศีรษะพอดีมีไม่มากนัก และโอกาสที่ท้องฟ้าจะมืดสนิทปราศจากแสงรบกวนจนมองเห็นดาวที่มีอันดับความสว่าง 6.5 นั้นยากมาก

Lif
ฟ้าที่มืดจนมองเห็นดาวที่มีอันดับความสว่าง 6.5 มันมืดแค่ไหนกันหรือ หากคุณอยู่ใต้ฟ้าแบบนี้ คุณจะมองเห็นดาวบนฟ้าได้ราว 5,000 ดวงพร้อม ๆ กันเลยทีเดียว สถานที่ที่จะทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ได้ เช่น ชนบทที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมาก ๆ ในป่าใหญ่ หรือทะเลทราย ในความเป็นจริงเรามักไม่มีโอกาสเข้าถึงสถานที่เช่นนั้น ในกรุงเทพหรือในเมืองใหญ่ เราอาจมองเห็นดาวบนฟ้าแค่สองสามร้อยดวงเท่านั้น หากมาดูดาวตกภายใต้เงื่อนไขที่มีแสงรบกวน  จำนวนดาวตกที่จะได้เห็นจริง ๆ ย่อมต่ำกว่าตัวเลขอัตราตกเทียบจุดจอมฟ้าอย่างมาก

แล้วเราจะได้เห็นฝนดาวตกวันแม่มากน้อยแค่ไหน

การจะได้เห็นฝนดาวตกมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยใหญ่ ๆ คือ หนึ่งมีฝนดาวตกบนฟ้ามากน้อยแค่ไหน และสอง ท้องฟ้ายอมให้เราเห็นได้แค่ไหน ปัจจัยข้อแรกพอจะคำนวณได้ไม่ยาก ฝนดาวตกเพอร์ซิอัสมีจุดกระจายอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์ซิอัส ซึ่งในคืนวันแม่กลุ่มดาวนี้จะขึ้นสูงที่สุดช่วงก่อนรุ่งสาง หากคุณสามารถหาสถานที่ที่มืดสนิทและฟ้าเปิดกว้างไร้สิ่งบดบังได้จริง ช่วงเวลานั้นก็จะมองเห็นดาวตกได้ราว 80 ดวงต่อชั่วโมง ถ้าไปดูแถวชานเมือง ก็อาจยังโชคดีได้เห็นได้สัก 20-40 ดวงต่อชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ ก็อย่าฝันว่าจะได้ดูดาวตกฉลองวันแม่ได้เกิน 10 ดวงต่อชั่วโมง

เท่านั้นยังไม่พอ อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยที่สองเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่ เป็นศัตรูของนักดูดาวมาทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ เมฆ ต่อให้ฝนดาวตกจะถล่มมาห่าใหญ่สักแค่ไหน แต่ถ้าฟ้าผิด เมฆบัง ก็เป็นอันจบเห่

เท่าที่ติดตามจากสถานการณ์ด้านฟ้าฝน โอกาสที่เราจะได้เห็นฝนดาวตกวันแม่ปีนี้ริบหรี่เต็มที


ขอบคุณที่มา   ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ