ลำปางอ่วม! วันเดียว น้ำป่าทะลักท่วม 87 หมู่บ้าน กระจาย 7 อำเภอ ก่อนเริ่มคลี่คลาย
จังหวัดลำปาง โดยสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ยังคงแจ้งเตือนไปยังพื้นที่ จ.ลำปาง ทั้ง 13 อำเภอ ให้เฝ้าระวังการเกิดฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันได้ในช่วงระยะนี้ หลังจากพื้นที่ จ.ลำปาง เกิดฝนตกสะสมต่อเนื่องมา 3 วันติดแล้ว บางพื้นที่เกิดฝนตกหนักสะสมกว่า 70 – 90 มิลลิเมตร จึงเกรงว่าแหล่งน้ำบนยอดเขาสูงปริมาณน้ำจะเต็ม ซึ่งหากเกิดฝนตกหนักซ้ำลงมา อาจจะทำให้เกิดน้ำป่าทะลักลงมาได้
โดย นายชัยธวัช ศิวบวร หัหน้าสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จากการติดตามในช่วงนี้ พบหลายพื้นที่เกิดฝนตกหนัก ได้แก่ อ.แม่ทะ , อ.เถิน , อ.สบปราบ , อ.เสริมงาม , อ.แม่เมาะ และ อ.ห้างฉัตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่อำเภอทางตอนใต้ของจังหวัด และเป็นพื้นที่ ที่พึ่งประสบภัยทางธรรมชาติไปเมื่อวานนี้ (9ก.ย.64) ที่เกิดฝนตกหนักมากเกือบ 100 มิลลิเมตร อย่างพื้นที่ ต.เสริมงาม อ.เสริมงาม ตกหนักมาก ระดับสีแดง วัดได้ 97.8 มิลลิเมตร , ต.นายาง อ.สบปราบ 91.8 มิลลิเมตร , บ้านแม่ปะแพะ ต.แม่ปะ อ.เถิน 83.5 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดภัยทางธรรมชาติขึ้น
จากการสำรวจผลกระทบเบื้องต้น ในพื้นที่ จ.ลำปาง ที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ จ.ลำปาง เมื่อวานนี้ (9ก.ย.64) มีราษฎรได้รับผลกระทบไปกว่า 400 ครัวเรือน กระจายใน 87
หมู่บ้าน 25 ตำบลของ 7 อำเภอใน จ.ลำปาง ได้แก่ อ.เถิน อ.แม่ทะ อ.สบปราบ อ.เสริมงาม อ.เกาะคา อ.แม่พริก และอ.ห้างฉัตร โดยพื้นที่ อ.เถิน มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกว่า 180 หลังคาเรือน ในหมู่บ้านแม่ปะหลวง ม.1 , บ้านแม่ปะดอย ม.7 และบ้านท่าอุดม ม.9 ต.แม่ปะ เนื่องจากถูกน้ำป่าหลากจากยอดเขาผีปันน้ำ เขตอุทยานห่งชาติเวียงโกศัย หลากท่วมนานหลายชั่วโมง และเป็นบริเวณกว้าง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ประสบภัยต่างๆ ได้คลี่คลายลงแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.เถิน จ.ลำปาง ที่เมื่อวานนี้ น้ำป่าหลากท่วมนานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการเกิดภัยที่หนักสุดในรอบ 20 ปี ที่ท่วมนาน และระดับน้ำสูงที่สุดกว่าทุกครั้ง ซึ่งหลังฝนหยุดตกลงมา ระดับน้ำป่าที่หลากลงสู่ลำห้วยก็ค่อยๆ ลดระดับลง ทำให้วันนี้ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนใน จ.ลำปาง ได้เร่งกระจายกำลังเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยในทุกพื้นที่ เพื่อช่วยทำความสะอาดบ้านเรือน ช่วยเก็บสิ่งของที่ได้รับผลกระทบ และสูบน้ำท่วมขัง เพื่อเร่งฟื้นฟูให้บ้านเรือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงเร่งสำรวจผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่อย่างละเอียด เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือต่อไป ทั้งบ้านเรือน สิ่งสาธารณะประโยชน์ตามหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตร
ขอบคุณที่มา ข่าวมติชน
โพสต์โดย : ปลายน้ำ