“นักวิจัย มธ.” หนุนใช้พืชกระท่อมเป็นยา ชี้สรรพคุณแก้ปวด ท้องเสีย บิด ลดน้ำตาลในเลือด แต่ไม่แนะนำกินเป็นอาหาร
หลังจาก “พืชกระท่อม” ถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกไว้เพื่อครอบครอง ซื้อขาย และบริโภคได้โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป และล่าสุด มีการวางจำหน่ายทั่วไปในตลาดออนไลน์นั้น
เมื่อวันที่ 14 กันยายน รศ.อรุณพร อิฐรัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวถึงการบริโภคพืชกระท่อมอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น ว่า กระท่อมเป็นยา ไม่ใช่อาหาร แต่หากบริโภคเกินขนาดก็จะมีผลข้างเคียง และทำให้ติดได้ เนื่องจากในกระท่อมมีสารไมทราไจนีน “Mitragynine” เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ที่มีคุณสมบัติความเป็นด่างมาก มีโทษต่อร่างกายที่ทำให้เกิดอาการหลอน เคลิ้มฝัน มึนงง เหงื่อออก ทนต่อความหนาวไม่ได้ และนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะฝันแบบที่ไม่ควรฝัน
“อย่าง 4×100 ที่ผสมกระท่อมกับน้ำอัดลม ถ้าใช้ในลักษณะนี้คิดว่าจะทำให้มีโอกาสติดได้ง่าย เนื่องจากน้ำอัดลมมีความหวาน มันจะทำให้เกิดการดูดซึมกระท่อมได้อย่างรวดเร็ว” รศ.อรุณพร กล่าว
ทั้งนี้ รศ.อรุณพร กล่าวว่า วิธีการบริโภคกระท่อมที่ถูกต้อง คือ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วนๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ไมทราไจนีนออกมา และไม่ควรกลืนกาก เพราะอาจจะทำให้เกิด “ถุงท่อม” ที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องซึ่งจะทำให้ปวดท้องได้ เพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก หากรับประทานบ่อยๆ อาจจะขับออกไม่หมด จะทำให้ท้องผูกได้
“สำหรับการต้มเพื่อทำน้ำกระท่อม ก็ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เช่นกัน และเมื่อต้มแล้วก็ควรกรอง เอากากออก แต่การต้มควรบีบมะนาวลงไปก่อนกรองกาก เพราะอัลคาลอยด์ในกระท่อมจะกลายอยู่ในรูปของเกลือละลายน้ำได้ แล้วค่อยดื่มน้ำกระท่อมนั้น”
รศ.อรุณพร กล่าวและว่า สมุนไพรหลายอย่างหากใช้ไม่ถูก สมุนไพรนั้นจะก่อให้เกิดอันตรายเหมือนกับกัญชา ดังนั้น ควรใช้ให้เป็น และไม่ควรใช้เป็นอาหารพร่ำเพรื่อ เพราะจะเกิดพิษตามมา
อย่างไรก็ตาม รศ.อรุณพร กล่าวว่า ในส่วนของขนาดที่ใช้กระท่อมเองนั้น ถ้าใช้มากเกิน 10-25 กรัม จะทำให้มีเหงื่อออก มึนงง เคลิ้มฝัน หลอน
ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ แต่จากการติดตามดูการขายกระท่อมในตลาดออนไลน์ น่าเป็นห่วงมาก หากมีการนำมาใช้ผิดวิธี แล้วเกิดอะไรขึ้น เกรงว่าต่อไปกระท่อมจะถูกห้ามใช้อีก
รศ.อรุณพร กล่าวว่า ตามภูมิปัญญาไทย ชาวบ้านจะเคี้ยวใบกระท่อมร่วมกับใบชุมเห็ดเทศ เพราะกระท่อมจะทำให้เกิดอาการท้องผูก ฉะนั้นจึงต้องใช้ใบชุมเห็ดเทศที่มีสรรพคุณเป็นยาถ่าย สำหรับแก้พิษจากกระท่อมที่ทำให้ท้องผูก ส่วนการต้มนั้น สามารถทำเป็นชาได้โดยบีบมะนาวลงไป ซึ่งความเป็นกรดของมะนาวจะทำให้อัลคาลอยด์กลายเป็นเกลือและสามารถละลายน้ำได้ และออกฤทธิ์คล้ายกันคือ เมื่อดื่มเข้าไปจะทำให้รู้สึกมีพลัง ทำงานได้ทน ไม่เหนื่อย และทนแดดได้ แต่จะทนฝนไม่ได้ จะเป็นคนขี้หนาว
“ขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะกินกระท่อมได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจ เพราะฤทธิ์ของกระท่อมจะทำให้ไม่เหนื่อย ซึ่งคนเป็นโรคหัวใจอาจจะไม่รู้ตัวว่าเหนื่อย และอาจจะทำให้ช็อกได้ เช่นเดียวกันกับคนเป็นโรคทางจิตประสาทที่ต้องใช้ยา เนื่องจากกระท่อมส่งผลถึงสมอง ทั้งนี้ ในทางการแพทย์ กระท่อมมีประโยชน์และมีข้อดีอยู่มาก กระท่อมสามารถใช้แทนมอร์ฟีน ลดอาการปวดที่รุนแรงได้ และมีการจดสิทธิบัตรแล้วในประเทศญี่ปุ่น และอาการติดกระท่อมน้อยกว่าการติดมอร์ฟีน ดังนั้น จึงใช้รักษาอาการลงแดง เพื่อทดแทนในผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีน มอร์ฟีน ได้” รศ.อรุณพร กล่าว
นอกจากนี้ รศ.อรุณพร กล่าวว่า กระท่อมยังสามารถลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่ศึกษาไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ว่าเคี้ยวกระท่อมวันละ 1 ใบ จำนวน 41 วัน มันสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ และยังสามารถรักษาอาการท้องร่วง โรคบิด ในยาไทยจึงมียาที่ชื่อว่า “หนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร” ที่ใช้สำหรับการรักษาโรคท้องร่วงอย่างรุนแรง ตำรับยาแก้บิดลงเป็นเลือด ตำรับยาแก้บิดหัวลูก และ ตำรับยาประสระกาฬแดง เป็นต้น
“ส่วนอาการมึนหัวหลังจากกินกระท่อมนั้น จะหายเมื่อดื่มน้ำมากๆ เพราะกระท่อมจะถูกขับออกทางปัสสาวะ จึงไม่ต้องกังวล ถ้าเรากินเป็น เราก็จะไม่ติด” รศ.อรุณพร กล่าวย้ำ
รศ. อรุณพร กล่าวว่า การใช้สมุนไพรมีทั้งข้อดีข้อเสีย เป็นดาบ 2 คม ถ้าคนเข้าใจ นำไปใช้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์ และมีคุณอนันต์ ฉะนั้นจำเป็นต้องเร่งทำการวิจัยแบบปูพรม เพื่อให้มีการพัฒนายาจากสารสกัดกระท่อมให้ใช้เป็นรูปของยาแผนปัจจุบัน ทดแทนยาแก้ปวด ยาเบาหวาน และยาอื่นๆ ที่มีการวิจัย หรืออาจใช้ในรูปแบบของยาแผนไทยที่มียาแก้พิษที่เกิดจากกระท่อมโดยตรง และไม่เห็นด้วยในการนำมาทำเป็นอาหาร และรับประทานกันมากๆ
ขอบคุณที่มา ข่าวมติชน
โพสต์โดย : ปลายน้ำ