Social :



‘ทีเอชซีจี’ เผยปลูกกระท่อม 2 ปี ผลยังไม่นิ่ง เข้มมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน เน้นปลอดสาร วอน อย.ปลดล็อก

23 ธ.ค. 64 09:12
‘ทีเอชซีจี’ เผยปลูกกระท่อม 2 ปี ผลยังไม่นิ่ง เข้มมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน เน้นปลอดสาร วอน อย.ปลดล็อก

‘ทีเอชซีจี’ เผยปลูกกระท่อม 2 ปี ผลยังไม่นิ่ง เข้มมาตรฐานเพื่อความยั่งยืน เน้นปลอดสาร วอน อย.ปลดล็อก

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม เวลา 13.30 น. ที่อาคารสำนักงาน บริษัท ข่าวสด จำกัด เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม และบริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด จัดสัมมนาเชิงวิชาการหัวข้อ “อนาคตกระท่อม กับการปลดล็อกสู่พืชเศรษฐกิจ” โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เมื่อกระท่อมไม่ใช่สารเสพติด แต่เป็นพืชเศรษฐกิจทำเงิน”

จากนั้น เข้าสู่การเสวนาโดยในตอนหนึ่ง นางอรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด กล่าวในหัวข้อ “รู้วิธีเพาะ-ปลูก และดูแลพืชกระท่อม” ว่าสนใจพืชกระท่อมเนื่องจากมองเห็นว่าน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่โดยเพาะปลูกทุกอย่างแบบกัญชาทั้งหมด มองถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเพราะคิดว่าไม่ว่าพืชตัวไหนก็แล้วแต่ที่ปลูกลงดิน ดินในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ ไม่มีสารเคมีนั้นหายาก โดยเฉพาะต้นกระท่อมนั้นรากลึกมาก เมื่อลึกมากก็จะยิ่งมีสารเคมีมากยิ่งขึ้น

“เราทำกัญชาและกัญชงอยู่แล้วจึงใช้วิธีปลูกต้นกระท่อมแบบกัญชาและกัญชงคือ เอาเมล็ดมาเพาะในถาดวัสดุโดยไม่ใช้ดิน แต่ใช้วัสดุที่ใช้ปลูกกัญชามาเพาะ มีขุยมะพร้าว มูลไส้เดือน มูลวัว แกบดำ และต้นกล้วยอ่อนสับ รอให้งอก จากนั้นนำไปใส่ถ้วยเพาะอีกรอบหนึ่ง แต่มันโตค่อนข้างช้า ถ้ามองการณ์ไกลไปว่าจะทำให้เป็นพืชเศรษฐกิจนั้น ใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าจะเก็บผลผลิตได้ เลยมองในเรื่องของอนาคตว่าควรทำมาตรฐานในการปลูกก่อนถึงจะยั่งยืนได้ อย่างนักวิจัยที่อยากจะทำ คือใบกระท่อมที่บริสุทธิ์ไม่มีสารเคมีเพื่อนำมาใช้ต่อยอดในงานต่างๆ ได้

ตอนนี้เราเอามาพัฒนาต่อเนื่องจากกัญชาและกัญชงที่ทำอยู่ ก็เรียนรู้วิธีการปลูกว่าจะทำให้ปลอดสารอย่างไรได้บ้าง เวลาปลูกแล้วมีแมลงซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมีแมลงเจาะกินใบ เราใช้วิธีนำยาฉุนของไทยไปแช่น้ำและนำต้นหางไหลไปทุบและหมักกับน้ำ 24 ชั่วโมง จากนั้นนำมาผสมกัน บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล กำลังศึกษาอยู่ แต่มีอีกวิธีที่ใช้ฆ่าไรแดงและแมลงหวี่ขาวคือใช้นมวัวสด 1 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดเข้าไปก็พอกำจัดได้” นางอรพินทร์

นางอรพินทร์กล่าวว่า ทางบริษัทเน้นที่สายพันธุ์ก้านแดงอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้อยากให้กฎหมายช่วยเหลือเกษตรกร โดยอย่าเพิ่งให้มีการนำเข้า ขอให้มีการส่งออกได้ก่อน

“จะทำอย่างไรให้ของเรามีคุณภาพที่สหรัฐอเมริกายอมรับได้ ตอนนี้ข้อกำหนดเยอะมาก จึงมองว่าถ้าให้เกษตรกรทำอย่างเรา
MulticollaC
ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทุกคนหรือไม่ เราเป็นห่วงตรงนี้มากกว่า สำหรับเรื่องการนำเข้าและส่งออก อยากให้กำหนดเหมือนกัญชาสัก 5 ปี อย่าเพิ่งนำเข้า ให้พวกเราลืมตาอ้าปากได้ส่งออกก่อน กว่าจะปลูกและกว่าจะโตช้ามาก จึงมองเป็นตัวเลือกที่ 3 หลังจากกัญชาและกัญชง ตอนนี้เราได้นำใบกระท่อมมาลองทำสเปรย์ดราย ร่วมกับนักวิจัยท่าน ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ วิทยาลัยแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ท่านก็นำไปสกัดออกมาให้ซึ่งสารก็ยังไม่เป็นที่พึงพอใจตามที่ท่านต้องการ เหมือนว่ายังไม่สะอาดพอ แต่ถามว่าดีไหม ออกมาดี เพียงแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องปลดล็อกให้เราทำได้มากกว่านี้ ต้นน้ำถึงจะไปได้ ถ้าต้นน้ำแข็งแรง กลางน้ำ ปลายน้ำก็ย่อมไปได้”

นางอรพินทร์กล่าวต่อไปว่า ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว 3 ปี ซึ่งทางบริษัทเพิ่งปลูกปีที่ 2 ต้นยังไม่โตพอที่จะนำมาพัฒนา จึงต้องไปซื้อใบกระท่อมจากหลากหลายแหล่ง เวลานำมาทำสเปรย์ดรายผลแตกต่างกันทุกรอบ ยังไม่นิ่ง บางครั้งยังมีสารอื่นเจือปนอยู่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้สหรัฐอเมริกาไม่รับ แต่ทางประเทศไทย ต้องขอให้ อย. กำหนดเลยว่าจะให้เราเดินได้ในลักษณะไหนบ้าง

“หลังจากปลูกมา 2 ปีแล้ว ผลออกมาก็ยังไม่นิ่ง เนื่องจากพื้นดินที่เราทดลองปลูกที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นเนินเขาที่เคยปลูกขิงมาก่อน เมื่อนำดินมาตรวจแล้วไม่ผ่าน จึงนำมาปลูกในกระถาง ก็อยู่ไม่ได้เพราะรากโตเร็ว กลายเป็นว่าเราจะทำอย่างไรให้ปลอดสารให้ได้ เลยจะนำวิธีที่ใช้ปลูกกัญชาและกัญชงมาใช้กับกระท่อม แต่ต้องเรียนรู้ก่อนว่ากระท่อมจะอยู่ในสภาพไหนได้บ้าง การทดลองในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก็ปลูกกันได้ เพียงแต่ว่าความปลอดสารยังไม่มี เคยนำต้นที่ปลูกมาแล้วไปตรวจก็ยังเจอสารอยู่ ทำอย่างไรจะควบคุมการใช้สารเคมี เพื่อต่อยอดไปได้มากกว่านี้ เกษตรกรหลายๆ ท่านก็ยังติดการใช้สารเคมีอยู่

ส่วนวิธีปลูกแบบตอกระทุ่มเสียบยอด เราไม่ทำเนื่องจากอยากทดลองด้วยเมล็ดก่อน เพราะไม่รู้ว่าต้นที่นำมาปักชำเป็นอย่างไร ตอนนี้กำลังสร้างห้อง Tissue culture ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เราทำตัวกัญชาและกัญชงอยู่แล้ว เลยจะลองนำกระท่อมมาทดลองทำและจะเผยแพร่ให้เกษตรกรทราบต่อไปว่าควรจะปลูกกันอย่างไรให้มีคุณภาพ” นางอรพินทร์กล่าว

ขอบคุณที่มา     ข่าวมติชน

โพสต์โดย : ปลายน้ำ