Social :



ณ หาดสองแคว ประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดประทับใจที่ต้อง Share และบอกต่อ

16 พ.ค. 59 12:35
ณ หาดสองแคว ประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดประทับใจที่ต้อง Share และบอกต่อ

ณ หาดสองแคว ประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดประทับใจที่ต้อง Share และบอกต่อ

 

อิ่มไออุ่น ณ หาดสองแคว

ประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดประทับใจที่ต้อง Share และบอกต่อ 

 

ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึง คุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาประสบการณ์แปลกใหม่อยู่ใช่ไหม เพราะการที่คุณได้สัมผัสบรรยากาศแปลกตา อาหารแปลกลิ้น และสูดกลิ่นอายของธรรมชาติอันบริสุทธิ์ หมายถึงการเติมเต็มให้วันหยุดเป็นวันแห่งความสุขที่น่าจดจำ ถ้าคำตอบคือ ใช่ เราขอแนะนำให้คุณ โทร.ไปสอบถามข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะได้รับคำแนะนำดีๆ จากทางเจ้าหน้าที่แล้ว คุณยังจะได้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งรอเพียงให้คุณไปสัมผัสความงดงาม...ด้วยตัวคุณเอง

 

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการท่องเที่ยว เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่หลงรักและหลงใหลในการเดินทางตามหาความอัศจรรย์ทั่วถิ่นไทย ซึ่งหลังจากที่โทรศัพท์ไปสอบถามกับทางเจ้าหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว เราได้รับคำแนะนำว่า ที่ “ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์” มีแหล่งเรียนรู้และเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้อย่างน่าชื่นชม อีกทั้งที่นี่ยังมี “โฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ซึ่งรับรองโดยกรมการท่องเที่ยว” ให้เลือกพักด้วยแล้ว ตัดสินใจได้ไม่ยากเลยว่า สุดสัปดาห์นี้ เราเลือกที่จะไปพักผ่อนเพื่อเติมพลังให้กับกายและใจกันที่นี่ แน่นอน

 

 

 


ในการเดินทางไปยังดินแดนแห่งตำนานอันลี้ลับของเมืองลับแลก็ไม่ยากอย่างในอดีต ด้วยระยะทางประมาณ 490 กิโลเมตร โดยทางรถยนต์นี้ มีถนนสายเอเชียเป็นเส้นทางหลัก ทำให้เราใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง ในการไปถึงแยกน้ำอ่าง แล้วเลี้ยวซ้ายผ่านเรือกสวนไร่นาที่กำลังได้รับการหว่านไถ เปิดกระจกรับลมสูดกลิ่นอายหอมอ่อนของดินใหม่ เพลินใจได้สักระยะก็เข้าสู่ตำบลหาดสองแควอันเป็นที่หมาย

 

ใครก็ตามที่มาเยี่ยมเยือนตำบลแห่งนี้ เมื่อก้าวลงจากรถก็ประทับใจในความสะอาดเรียบร้อย มองไม่เห็นถังขยะเลย จนเมื่อ พี่ตรง ธาตรี โล่วิทยานนท์ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของ อบต.หาดสองแคว ที่เราติดต่อไว้จากไกด์ไลน์ของเจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวเข้ามาทัก พร้อมเฉลยว่า คนหาดสองแควมีระบบบริหารจัดการขยะจากในครัวเรือนที่มีประสิทธิภาพจนไม่จำเป็นต้องมีถังขยะไว้ใช้ ซึ่งความแคลงใจก็ค่อยๆ คลี่คลายและชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เราเที่ยวท่องไป  

 

 


วิถีพุทธ...ทุกๆ เช้า ชาวหาดสองแควจะแต่งกายด้วยชุดลาวเวียงดั้งเดิมออกมาตักบาตรข้าวสวย ก่อนที่จิตอาสาจะหาบสาแหรกมาเก็บสำรับกับข้าวตามไปส่งพระที่วัด

 

แต่ก่อนที่จะไปชมฐานการเรียนรู้และวิถีชีวิตของชาวหาดสองแคว ถ้าจะให้การท่องเที่ยวในครั้งนี้ออกรสชาติ เราจะต้องมีต้นทุนความเข้าใจในพื้นที่เสียก่อน เริ่มกันที่ชื่อหมู่บ้านหาดสองแควนั้น ตั้งขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศซึ่งเป็นทางออกของลำน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกัน คือ “แม่น้ำน่าน” กับ “คลองตรอน” ก่อให้เกิดสันทรายยื่นออกมาเป็นแนวหาดทรายขาวสวยงาม จนเรียกขานกันว่า “บ้านหาดสองแคว” ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ คือ “ชาวลาวเวียง” หรือ “ชาวเวียงจันทน์” ที่มาตั้งรกรากทำมาหากินตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ซึ่งคนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์เหล่านี้ยังคงรักษาวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมและภาษาพูดที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

 

แต่ก่อนที่เราจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมลาวเวียง เราได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ตามฐานต่างๆ ดังเช่นคณะศึกษาดูงานที่เดินทางมาที่หาดสองแควไม่ขาดสาย และแม้จะเป็นเพียงไม่กี่ฐาน แต่ก็ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็น ตำบลสุขภาวะ ของหาดสองแควได้อย่างแจ่มชัด ด้วยว่าคนที่นี่มีการนำขยะจากครัวเรือนกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าชื่นชม เช่น กลุ่มเย็บปักถักร้อยที่นำวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปมาเป็นของฝาก ธนาคารขยะรีไซเคิลที่สร้างคุณค่าให้ขยะเป็นดั่งทอง กลุ่มเกษตรกรที่ทำน้ำหมักและปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ลดต้นทุน และที่น่าชื่นชมที่สุด ไม่เพียงบ้านเกือบทุกหลังจะมีการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี บนถนนและพื้นที่สาธารณะยังปราศจากเศษขยะ ทั้งยังน่ามองด้วย รั้วต้นเข็ม ที่ชาวบ้านพร้อมใจกันตัดแต่งเป็นแนวยาวดูงามตา  

 

 

 

ความเรียบง่ายเป็นกันเองและอาหารพื้นบ้านจานเด็ด เป็นที่ประทับใจของผู้มาเยือน

 

 

เพียงสัมผัสแรกที่เรามาเยือนตำบลหาดสองแควก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อย แต่ไม่ทันที่ตะวันจะลับลา เราก็ยิ่งหลงรักชุมชนลาวเวียงแห่งนี้อีกหลายเท่าตัว เมื่อ ป้าณี-อรุณี นันทโชติ เปิดครัวปรุง อั่วบักเผ็ด หรือพริกยัดไส้ อาหารพื้นบ้านจานเด็ดให้แขกผู้มาเยือนได้ลิ้มรส พร้อมๆ กับทำ “แจ่วเอาะ” (น้ำพริก) และ “แกงโอ๊ะเอ๊ะ” (แกงเลียง) อีกอย่างละถ้วย ซึ่งทุกจานมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของปลาร้าที่เคล้าผสมอยู่กับเครื่องปรุงรส ถือเป็นเสน่ห์ของอาหารพื้นบ้านโดยแท้ และยิ่งได้ทานร่วมกับ ผักก้านตง ตำลึงหวาน ผักหวานบ้าน ยอดมะระขี้นก และยอดกระถิน ที่ป้าณีเดินไปเก็บจากสวนปลอดสารหลังบ้านมาเป็นเครื่องเคียง อาหารท้องถิ่นมื้อนี้ก็สร้างความประทับใจให้กับเราเป็นอย่างมาก

 

 

 

อั่วบักเผ็ด หรือพริกยัดไส้ อาหารพื้นบ้านจานเด็ดให้แขกผู้มาเยือนได้ลิ้มรส

 

 

ที่หมายต่อไปของเราคือการมาที่บ้านของ ป้านะ-รัตนะ เสริมมา ที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งการมาชมบ้านหลังนี้ บอกได้เลยว่า ของเก่าที่เจ้าของบ้านตั้งใจเก็บ ทำให้แขกที่เข้ามาเยี่ยมชมและแขกที่เข้าพักต้องแอบอมยิ้ม เพราะไม่ว่าจะเป็นกระป๋องลูกอมย้อนยุค ของใช้สมัยคุณแม่ยังสาว เครื่องครัวรุ่นเก่า อุปกรณ์ไฟฟ้าโบราณ โปสเตอร์โฆษณาในอดีต ฯลฯ รวมถึงเพลงยุค 80 ที่คุณลุงคู่ชีวิตของป้านะเปิดคลอเบาๆ ทั้งหมดเสมือนเป็นสื่อนำให้เราหวนย้อนนึกถึงวันวานเมื่อครั้งยังเยาว์ และแน่นอน เมื่อใดที่ตะกอนความจำในวัยใสถูกกวนให้ตื่น ความสุขเล็กๆ ก็พร้อมที่จะฟื้นขึ้นมาเมื่อนั้น

 

 

 

ป้านะและสามี บอกว่า ความสุขของการทำโฮมสเตย์ คือการทำให้ผู้ที่มาเยือนมีความสุข

Lif
 

 

 


กลุ่มเย็บปักฯ นำโดย คุณป้าสมาน ดีประเสริฐ กับของฝากที่บางชิ้น ทำจากเศษขยะจากครัวเรือน

 

 

หลังจากเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตของคนหาดสองแควมาทั้งวัน สำหรับค่ำคืนนี้เราได้เข้าพักกันที่โฮมสเตย์ของ ลุงจรัญ-ป้าสนิท ดีเพ็ชร์ ทันทีที่เข้ามาสู่รั้วชายคาของลุงกับป้า ทั้งสองท่านก็ให้การต้อนรับเราเหมือนเป็นลูกเป็นหลานตั้งแต่ก้าวแรก

 

 

 


คุณลุงจรัญ และป้าสนิท ในสวนผลไม้หลังบ้านที่ปลูกไว้ให้แขกกินฟรีทุกฤดู

 

 

การใช้บริการโฮมสเตย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว เป็นเครื่องการันตีคุณภาพของการให้บริการ ตามสโลแกนของกลุ่มโฮมสเตย์ตำบลหาดสองแคว ที่ว่า กินอิ่ม นอนอุ่น ก็สร้างความประทับใจให้กับเราเป็นอย่างมาก เพราะทั้งความใส่ใจในการให้บริการ ทั้งอาหารการกิน (โดยเฉพาะเมนูปลาแม่น้ำ) ต้องบอกว่าต่อให้คนมากกว่านี้ก็กินไม่หมด ทั้งการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องที่นอนหมอนมุ้งและห้องน้ำที่สะอาดสะอ้านจนไร้ที่ติ และรวมถึงมิตรไมตรีจิตที่เราได้รับ ต้องบอกว่า คุ้มเสียจนอยากอยู่ยาวเป็นเดือนๆ

 

 

 


นอกจาก ภาษาลาว ภาษาพื้นบ้าน” ที่เราได้ฟังคนที่นี่สื่อสารกันแล้ว หลังนอนฝันดีในโฮมสเตย์ของป้าสนิท เช้าวันต่อมา เราได้รับคำแนะนำให้ตื่นแต่เช้า เพื่อไปดูวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวลาวเวียง นั่นก็คือ ประเพณีตักบาตร หาบจังหัน ศรัทธาบุญที่ยังคงได้รับการสืบสานมานับร้อยๆ ปี

 

ประเพณีตักบาตร หาบจังหัน มีข้อแตกต่างจากการตักบาตรทำบุญของชาวพุทธทั่วไปตรงที่ ชาวบ้านหาดสองแควจะตักบาตรด้วยข้าวสวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ส่วนสำรับกับข้าว ชาวบ้านจะนำออกมาวางไว้ที่แท่นไม้หน้าบ้านของแต่ละคน จากนั้นก็จะมีจิตอาสา หาบสาแหรก มานำอาหารคาวหวานไปถวายพระที่วัด ซึ่งคนหาบสาแหรกมักจะนุ่งซิ่นและแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าชุมชนหาดสองแควยังคงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยแท้จริง

 

วิถีชีวิตชาวหาดสองแควยังคงดำเนินไปอย่างเรียบง่าย และเงียบสงบ ซึ่งในขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินไปกับความเป็นชนบทดั้งเดิมอยู่นั่นเอง กลุ่มจักรยานสานฝันฯ ก็ออกมาปฏิบัติการดี โดยมี พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต.หาดสองแคว เป็นหัวขบวน

 

 

พงษ์เทพ ชัยอ่อน นายก อบต.หาดสองแคว กับกลุ่มจักรยานสานฝัน รวมตัวกันออกปฏิบัติการดี (เก็บขยะ)

 

การได้พบเจอกับเด็กๆ กลุ่มจักรยานสานฝันฯ ช่วยตอกย้ำให้เราหมดข้อสงสัยในเรื่องความสะอาดของถนน บ้าน วัด รวมถึงพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ในตำบลหาดสองแควได้เป็นอย่างดี เพราะพวกน้องๆ หนูๆ รวมถึงนายกฯ พงษ์เทพ ต่างขมีขมันในการปั่นจักรยานไล่ล่าเศษขยะทุกชิ้นที่ขวางหน้า ซึ่งชาวบ้านบอกว่าพวกเขาทำอย่างนี้เป็นประจำ เราแอบกระซิบถามน้องหนูหนึ่งในนั้น ที่สละเวลาดูการ์ตูนมาทำเรื่องแบบนี้กัน...หนูได้อะไร เด็กก็ยิ้มแย้มตอบว่า ... หนูภูมิใจที่ได้ทำ

 

หากเป็นที่อื่น การเข้าไปอำลาเจ้าบ้านก่อนเดินทางกลับคงเป็นเรื่องไม่จำเป็นนัก แต่สำหรับทริปนี้ ไมตรีที่คนหาดสองแควหยิบยื่นมา เหนี่ยวนำให้เราย้อนกลับไปเอ่ยคำร่ำลาหลายต่อหลายคน...

 

นั่งรถเปิดกระจกชมทุ่งนาและป่าเขาริมทางสายเก่าที่เรามาเมื่อวาน น่าแปลกที่ความรู้สึกในใจตอนนี้กลับต่างไปอย่างสิ้นเชิง วานนี้ หาดสองแคว เป็นเพียงสถานที่พักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ แต่เพียง 2 วัน วัฒนธรรม วิถีชีวิตและผู้คน ทำให้เรา “รู้สึกผูกพันเสียจนอยากกลับมาสัมผัสอีกครั้ง และอีกครั้ง...”

 

ล้อมกรอบ 1

ปฏิทินท่องเที่ยวหาดสองแคว

นอกจากวัฒนธรรมประเพณีและแหล่งเรียนรู้ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยี่ยมชมที่หาดสองแควได้ทุกวันแล้ว ชาวหาดสองแควยังมีการจัดงานประจำปีอย่างยิ่งใหญ่ 2 งาน คือ งานประเพณีไหลแพไฟและพิธีขอบคุณพืชพันธุ์ธัญญาหารและสายน้ำ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ธันวาคม ของทุกปี และงานย้อนรำลึกเส้นทางประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองตรอนตรีสินธุ์ เมื่อครั้ง ร.ศ. 120 ซึ่งจะมีการจัดงานในวันที่ 22 ตุลาคม ของทุกปี รอให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสและชื่นชม

 

ล้อมกรอบ 2

ไกด์ไลน์กรมการท่องเที่ยว

         สนใจแวะไปชม ติดต่อได้ที่ อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ โทร.055-496-098

สอบถามห้องพัก โทร.055-496-062, 084-505-4672 (ป้าสนิท ดีเพ็ชร์ ประธานกลุ่มโฮมสเตย์ตำบลหาดสองแคว)

 

 

ที่มา: นิตยสารผู้นำท้องถิ่น ฉบับที่ 160 มิถุนายน 2557

 

 

โพสต์โดย : ครองแครง