Social :



ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก)

24 ก.ย. 59 21:09
ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก)

ภูทอก (วัดเจติยาคีรีวิหาร หรือวัดภูทอก)

ภูทอก เป็นภาษาอีสาน แปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว ตั้งอยู่ในเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง เป็นภูเขาหินทราย ประกอบด้วย ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย  แต่ก่อนเคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยมากมาย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เข้ามาจัดตั้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ภูทอกน้อย หรือวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินเท้าขึ้นสู่ยอดภูทอก โดยเดินตามสะพานไม้เวียนรอบเขาสูงชันจนถึงยอด ซึ่งสร้างจากแรงศรัทธาของพระเณรชาวบ้าน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2512 ใช้เวลานานถึง 5 ปี บันไดขึ้นสู่ยอดภูทอก เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษสู่โลกแห่งโลกุตระ โลกแห่งการหลุดพ้นด้วยความเพียรพยายามมุ่งมั่น 

ภูทอกเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติศาสนกิจของชุมชน บันไดขึ้นภูทอกแบ่งเป็น 7 ชั้น ชั้นที่ 4 เป็นสะพานลอยเวียนรอบเขา มองเบื้องล่างเห็นเนินเขาเตี้ย ๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ชั้นที่ 4 เป็นที่พักของแม่ชี ชั้นที่ 5 มีศาลาและกุฏิที่อาศัยของพระ จากชั้นที่ 6 สู่ชั้นที่ 7 เป็นสะพานไม้ยาว 400 เมตร เวียนรอบเขาหน้าผาสูงชัน สุดทางชั้น 7 เป็นป่าไม้ร่มครึ้ม    

การเดินทาง ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคาย ประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไล มีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคนจนถึงภูทอก เป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร บันไดขึ้นภูทอก


    การขึ้นภูทอกนั้น ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้ 
     ชั้นที่ ๑  เมื่อนักแสวงบุญเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่หนึ่งนี้นักแสวงบุญจะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์ 
     ชั้นที่ ๒  เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 (ดูภาพประกอบ) เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก 
     ชั้นที่ ๓  เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง (ดูภาพประกอบ) ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม (ขอแนะนำว่าควรขึ้นทางนี้ แล้วลงทางนั้น(ทางลัด))
     ชั้นที่ ๔  เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ 
     ชั้นที่ ๕  หรือชั้นกลาง เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6) มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6
    พุทธวิหาร แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่ มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
    ในอดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมต่อ บุคคลธรรมดาไม่อาจข้ามมาที่พุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น แต่มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่สามารถปรากฎตัวที่พุทธวิหารได้ คือพระอรหันต์และท่านผู้ทรงอภิญญา ท่านเหล่านี้จะมาพักผ่อนที่พุทธวิหารเองโดยการเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมา เพราะต้องการปลีกวิเวกและไม่ให้ใครมารบกวนได้ ดังนั้น หินประหลาดก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว    
    ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหารแล้วก็ตาม แต่นักแสวงบุญทั่วไปก็ไม่อาจเข้าไปสัมผัสพุทธวิหารใกล้ชิดกว่านี้ได้ เพราะทางวัดปิดประตูไว้ เนื่องจากเทวดาที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุทนเหม็นกลิ่นสาบมนุษย์ไม่ไหว ทางวัดจึงอนุญาตให้นักแสวงบุญมาได้แค่ปากประตูเท่านั้น (แค่นี้ก็ดีแล้ว)
    ความอัศจรรย์ของพุทธวิหาร คือ หินก้อนนี้แยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แล้ว
MulticollaC
แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ข้อนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยสังเกต หากอยากเห็นชัด ๆ ให้เดินมาที่ฐานของพุทธวิหาร จะเห็นได้ชัด หรือสังเกตุดูที่ภาพถ่ายก็ได้ การที่พุทธวิหารตั้งอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาถือได้ว่า น่าอัศจรรย์พอ ๆ กันกับพระธาตุอินทร์แขวน 
    สะพานหิน ยาวทอดตัวออกมาจากภูทอก ยื่นออกมาทางพุทธวิหาร (ดูภาพประกอบ) เมื่อยืนบนสะพานหินจะสามารถมองเห็นภูทอกใหญ่และมองเห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่งได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสูดอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คล้ายกับอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มิปาน
    สะพานไม้ มีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินและพุทธวิหาร เป็นดุจสิ่งที่เชื่อมต่อโลกสวรรค์และแดนนิพพานเข้าด้วยกัน เมื่อยืนอยู่บนสะพานไม้แล้วมองลงไปด้านล่าง จะเห็นแต่ต้นไม้และหุบเหวที่ลึกสุดหยั่ง (คนขวัญอ่อนมิควรมองลงไป) จะทำให้ทราบว่า บุคคลที่สามารถข้ามจากสะพานหินเพื่อไปบำเพ็ญเพียรหรือพักผ่อนที่พุทธวิหารได้ ต้องมิใช่บุคคลธรรมดา 
    เมื่อมาถึงชั้นที่ 5 แล้ว ต้องมาที่สะพานหิน สะพานไม้ และข้ามมาที่พุทธวิหารให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงภูทอก (อย่าลืมถ่ายรูปไว้ด้วย) 
     ชั้นที่ ๖  เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตร เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตุคือมีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ขังอยู่เกือบตลอดปี (ดูภาพประกอบ)    
    การถ่ายภาพพุทธวิหารให้ได้ภาพงดงามที่สุด ต้องถ่ายซูมจากชั้นที่ 6 
     ชั้นที่ ๗   จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผจญภัยดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
    สำหรับชั้นที่เจ็ดบนดาดฟ้านั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นชั้นมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ มีเพียงป่ากับต้นไม้ ส่วนบางคนไม่ประทับใจเลย บอกว่าไม่เห็นมีอะไร ส่วนพวกนักท่องเที่ยวผู้มีตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษก็บอกว่า ต้นไม้บนดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดเป็นวิมานของพวกเทวดาเต็มไปหมด ดังนั้น คนที่ไม่มีบุญหรือบุญไม่พอ จะไม่มีโอกาสได้มาถึงชั้นเจ็ดอย่างแน่นอน ถึงเดินมาก็มาไม่ถึง หรืออาจเดินหลงทางหรือหาทางขึ้นไม่เจอก็เคยมี
    นักท่องเที่ยวผู้มาจากแดนไกล เมื่อมีโอกาสแล้ว ควรหาโอกาสปีนมาให้ถึงชั้น 7 จะได้ไม่คาใจ (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น) 
หมายเหตุ
    ชั้น 3 - 6 สามารถเดินเวียนรอบได้ ส่วนชั้นนที่ 5 - 7 เป็นแดนสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นสูง นักแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวต้องสำรวมระวังกาย วาจา และใจให้มาก ถ้าจะให้ดีกว่านั้นหรือถ้ามาเป็นหมู่คณะ ควรรวมกลุ่มกันสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยให้เหล่าเทพฟังด้วยก็จะดี เป็นการนำบุญมาฝาก 
    ภูทอก คือแดนสวรรค์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ตายจริง 

ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา

     เนื่องจากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร หากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ ผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ
    ๑. ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด 
    ๒. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา
    ๓. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน
    ๔. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
    (อสุภาพสตรี (แปลว่า สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ) นุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)


สาเหตุที่ห้าม
     ๑. เนื่องจากที่แห่งนี้มีนาค (งู) อาศัยอยู่มาก และงูเหล่านี้ถือศีลงดกินเนื้อสัตว์ หากได้กลิ่นอาหารจะทำให้ตบะแตกแล้วเลื้อยออกมาหาอาหาร จะทำให้นักท่องเที่ยวพบสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์และจะเป็นอันตรายสำหรับภิกษุ-สามเณรที่อยู่ประจำ
    ๒. หากอนุญาตให้นำอาหารไปทานบนภูทอกได้ ไม่ช้าภูทอกก็จะเต็มไปด้วยขยะ ระบบนิเวศน์และทัศนียภาพที่สวยงามจะเสียหาย
    ๓. อสุภาพสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ ทำให้บุรุษเพศหรือภิกษุ-สามเณรเห็นแล้วเกิดความกำหนัดคือเกิดกิเลส แม้มนุษย์ด้วยกันจะไม่รู้ แต่เทพยดาที่นี้จะรู้ ดังนั้นจึงได้ห้ามเด็ดขาด


การเดินทาง
     ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร


ที่มา  http://thai.tourismthailand.org

โพสต์โดย : nampuengeiei9760