Social :



ยธ.ย้ำชัดทีม “บิ๊กจ้าว”เข้าตรวจค้น “จินหลิง” ระบุคำสั่งป.ป.ส.ไม่มีผลห้ามเจ้าของสำนวน

30 ธ.ค. 65 14:12
ยธ.ย้ำชัดทีม “บิ๊กจ้าว”เข้าตรวจค้น “จินหลิง” ระบุคำสั่งป.ป.ส.ไม่มีผลห้ามเจ้าของสำนวน

ยธ.ย้ำชัดทีม “บิ๊กจ้าว”เข้าตรวจค้น “จินหลิง” ระบุคำสั่งป.ป.ส.ไม่มีผลห้ามเจ้าของสำนวน

สืบเนื่องจากวานนี้ (29 ธ.ค.) นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีต ส.ส. ได้เดินทางเข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมกับนายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. ซึ่งเป็นข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ ตู้ห่าว อันประกอบด้วย คลิปวิดีโอ ที่นายตู้ห่าวข่มขู่ผู้รับเหมา 7 ราย มูลค่า 700-800 ล้านบาท ในการก่อสร้างศูนย์ผ้าไหม ศูนย์ยางพาราอพาร์ตเมนต์ และศูนย์ไข่มุก รวม 4 แห่ง เพื่อขอให้ทาง ป.ป.ส. ดำเนินการเข้าตรวจสอบทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงยังนำคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีใจความสำคัญระบุว่า สาเหตุที่คณะสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่นครบาล ไม่สามารถเขาตรวจค้นทรัพย์สินและรถยนต์ภายในอาคารจินหลิง (สถานที่เกิดเหตุ)ได้นั้น เนื่องมาจากมีคำสั่งของเลขาธิการ ป.ป.ส. ลงวันที่ 23 พ.ย.65 เป็นคำสั่ง ตรวจยึดอาคารจินหลิงและบริเวณโดยรอบ จึงทำให้พนักงานสอบสวนของนครบาลเข้าดำเนินการกับทรัพย์สินที่ถูกยึดอายัดไว้แล้วโดยพลการมิได้ เพราะขัดต่อระเบียบของ ป.ป.ส. ทำให้ปรากฏเป็นข่าวว่าของกลางอย่างรถยนต์หรู จำนวน 11 คัน ถูกทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุนานกว่า 2 เดือน อย่างไรก็ตามวานนี้ นายวิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ยังปิดท้ายถึงเรื่องนี้สั้นๆว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวภายในกระทรวงยุติธรรม ว่าจริงๆแล้วในคดีอาญา พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการตรวจสอบสถานที่และทรัพย์สินที่อยู่ภายในบริเวณนั้น แต่การที่ ผบช.น. อ้างว่า “ไม่สามารถตรวจค้นได้ เพราะมีคำสั่งของ ป.ป.ส.” ตรงนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะพนักงานสอบสวนเป็นเจ้าของสำนวน สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังไม่มีระเบียบฉบับใดที่ระบุว่า สถานที่ใดที่ ป.ป.ส. ได้มีคำสั่งยึดอายัดไว้ พนักงานสอบสวนจะไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ และถ้าอ้างว่าติดระเบียบของ ป.ป.ส. ก็ต้องประสานไปทางสำนักงาน ป.ป.ส. และที่สำคัญต้องถามทางผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่า เป็นเพราะคำสั่งของ ป.ป.ส. หรือเป็นเพราะไม่ได้เข้าไปตรวจมากกว่า เพราะก่อนหน้าที่จะมีคำสั่งจากทางเลขาธิการ ป.ป.ส. ลงวันที่ 23 พ.ย.65 ทาง บช.น. ก็ไม่ได้เข้าไปตรวจ และยังปล่อยของกลางทิ้งไว้ในสถานที่เกิดเหตุเช่นนั้น จนนายชูวิทย์ ต้องคอยจี้ไล่เปิดข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข่าว อธิบายถึงหลักการทำงานของตำรวจและ ป.ป.ส. ในกรณีการยึดทรัพย์สิน ว่า สมมติว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการยึดทรัพย์สิน และ ป.ป.ส. ก็ยึดเช่นกันนั้น เวลาจะไปตรวจสอบในคดีอาญาว่ามีการฟอกเงิน มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีนอมินีเกี่ยวข้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์อยู่แล้ว และเมื่อ ป.ป.ส. ยึดทรัพย์สินมาได้ ป.ป.ส. ก็จะต้องไปทำรายการบัญชีว่าสถานที่นั้นๆมีกี่ห้อง มูลค่าเท่าไร โดยต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ได้แม้เป็นสถานที่เดียวกัน เพราะทุกหน่วยงานมีอำนาจตามกฎหมายที่สามารถเข้าดำเนินการต่อทรัพย์สินนั้นได้ อีกทั้งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ตำรวจก็มีอำนาจไม่ต่างจากที่สำนักงาน ป.ป.ส. มี และตำรวจบางส่วนก็เป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ดังนั้น ยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 11/1 ในการเข้าตรวจได้ 

Lif

แหล่งข่าว อธิบายต่อว่า รายการทรัพย์สินเป็นเรื่องที่ตำรวจต้องดูทั้งหมดก่อน เพื่อกรองว่าทรัพย์สินรายการใดเป็นทรัพย์สินที่มาจากการฟอกเงิน ก็จะส่งไปยังสำนักงาน ปปง. และถ้าทรัพย์สินรายการใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็จะถูกส่งไปยังสำนักงาน ป.ป.ส. แต่ถ้าตำรวจไม่เข้าไปตรวจค้นทรัพย์สินของกลางเลย ก็จะไม่ทราบได้ว่าเป็นทรัพย์สินของใคร และในนั้นมีทรัพย์สินรายการใดที่จะต้องยึดหรือไม่ยึด เพราะถ้าทรัพย์สินภายในอาคารจินหลิง เช่น ชุดโต๊ะเก้าอี้มีการเช่าไว้ พวกนี้ก็จะเป็นทรัพย์ของบุคคลภายนอก ไม่เกี่ยวข้อง หรือรถยนต์ที่จอดภายในสถานที่เกิดเหตุ ถ้าเป็นรถยนต์ของคนทั่วไปที่มาจอดไว้ ก็ไม่เกี่ยวข้อง ก็ต้องคืน แต่ถ้าตำรวจเข้าตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นรถยนต์ของกลางที่มีร่องรอยเกี่ยวกับยาเสพติด ก็จะต้องนำเข้าสำนวน หรือถ้าเป็นรถยนต์ของหุ้นส่วน/ผู้ดูแล แต่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ต้องนำส่ง ป.ป.ส. เป็นต้น สาระสำคัญคือตำรวจต้องเข้าตรวจค้นทรัพย์สินทุกรายการที่ปรากฏในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อพิสูจน์ให้ทราบว่าเป็นทรัพย์สินของบุคคลใด เกี่ยวข้องในคดีมากน้อยเพียงใด มิใช่ปล่อยไว้เช่นนั้น 

แหล่งข่าว เผยอีกว่า กรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยนายอุดชัย โลหณุต ผอ.ปปส.กทม. และกองพิสูจน์หลักฐาน ร่วมกันเข้าตรวจค้นผับจินหลิงเพิ่มเติมนั้น เพราะ ป.ป.ส. ออกคำสั่งยึด ดังนั้น ป.ป.ส. จึงต้องไปตรวจสอบทรัพย์สิน ต้องไปรับมอบ ควบคุม ดูแล หรือเคลื่อนย้ายใดๆก็ตาม และรถยนต์ทั้ง 11 คันนั้นก็จะถูกนำไปพิจารณากลั่นกรองต่อว่าใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ หรือเป็นทรัพย์สินที่มาจากการฟอกเงิน แต่ระหว่างนี้ ป.ป.ส. จะมีอำนาจตามประมวลกฎหมายฯ ซึ่งสามารถเก็บไว้ก่อนหรือขายทอดตลาดทันทีก็ได้ เพราะรถยนต์ถือเป็นทรัพย์สินเสื่อมค่า แล้วค่อยนำเงินสดมาเก็บไว้ในกองทุน ป.ป.ส. จากนั้นรอกระบวนการของศาล ดูว่าผู้ต้องหาชนะคดีหรือไม่ ถ้าเขาแพ้คดี ศาลก็จะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ส่วนรายการสถานที่ 4 แห่ง (ศูนย์ผ้าไหม ศูนย์ยางพารา อพาร์ตเมนต์ และศูนย์ไข่มุก) ที่เกี่ยวข้องกับนายตู่ห่าว ซึ่งนายชูวิทย์ได้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมให้นายวิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. นั้น แหล่งข่าว เผยว่า ทรัพย์สินบางรายการ ตนทราบว่าทาง ป.ป.ส. ได้มีการตรวจสอบและได้ยึดอายัดไว้หมดแล้ว ยกเว้นสถานที่ 1 รายการ ซึ่งตั้งอยู่ที่แถวบริเวณภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างมีคำสั่งยึดอายัด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากยึดแล้ว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบสถานที่เหล่านี้ทั้งหมด เพื่อบันทึกภาพทำรายงาน และตนยืนยันคำเดิมว่าตำรวจมีอำนาจหน้าที่ในการเข้าตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยได้ไม่ต่างจากพนักงาน ป.ป.ส. ทั้งนี้ ยอดรวมมูลค่าการยึดทรัพย์ของนายตู้ห่าวและพวก จากทุกหน่วยงานรวมกันทั้งตำรวจ ดีเอสไอ ป.ป.ส. มีจำนวนกว่า 5 พันล้านบาท คาดว่าจำนวนทรัพย์สินจะขยายเพิ่มไปอีกเพราะว่าจะต้องมีคำสั่งยึดอายัดอีกหลายรายการ จำนวนกว่า 400 – 500 ล้านบาท

ขอบคุณที่มา     ข่าวเดลินิวส์

โพสต์โดย : ปลายน้ำ