Social :



ศาลสั่งจำคุก ‘ประหยัด พวงจำปา’ รองเลขาฯป.ป.ช. 4 เดือน จงใจแจ้งทรัพย์สินเท็จ

23 ก.พ. 66 15:02
ศาลสั่งจำคุก ‘ประหยัด พวงจำปา’ รองเลขาฯป.ป.ช. 4 เดือน จงใจแจ้งทรัพย์สินเท็จ

ศาลสั่งจำคุก ‘ประหยัด พวงจำปา’ รองเลขาฯป.ป.ช. 4 เดือน จงใจแจ้งทรัพย์สินเท็จ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดฟังคำพิพากษา ในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 ม.ค .60 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์ควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน 6 รายการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินและหนี้สินในชื่อของนางธนิภา พวงจำปา คู่สมรส เป็นทรัพย์สินในประเทศ 2 รายการ รวม 2,010,000 บาท และทรัพย์สินในต่างประเทศ 4 รายการ รวม 225,383,103 บาท มูลค่ารวม 227,393,103 บาท ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

โดยกรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด โดยส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นฟ้อง โดยในวันนี้จำเลยเดินทางมาศาล

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า จำเลยดำรงตำแหน่งรอง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อยู่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 158 วรรคหนึ่ง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและ หนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยไม่จำต้องส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาก่อนให้อัยการสูงสุด ดำเนินการฟ้องคดี การออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการยื่น บัญชี การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 158 และการดำเนินคดีที่ เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชี พ.ศ. 2561 สอดคล้องสัมพันธ์กับบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับหนังสือแจ้งเบาะแสจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและได้รับข้อมูลจากสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐและรัฐวิสาหกิจว่า นางธนิภาต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ถือว่ามีพฤติการณ์ ที่ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สิน และหนี้สินนั้น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้โอกาสจำเลยยื่นเอกสารหลักฐานประกอบการชี้แจง ชี้แจงข้อเท็จจริงใหม่เพิ่มเติม และพิจารณาเรื่องที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรม ถือว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ โอกาสจำเลยพอสมควรแล้ว มิได้เป็นการดำเนินการอย่างรวบรัด การไต่สวนและตรวจสอบทรัพย์สินของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

สำหรับทรัพย์สินที่ไม่แสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รายการบัญชีเงินฝาก ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ประเภทกระแสรายวันชื่อบัญชี นางธนิภา พวงจำปา คู่สมรสจำเลย นางธนิภามีคำขอผูกบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเข้ากับบัญชีเงิน ฝากออมทรัพย์ ทั้งรายการเดินบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีปรากฏเงินที่โอนเข้าบัญชี เงินฝากกระแสรายวันทุกรายการถูกโอนมาจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อชำระหนี้ตามเช็ค ยอดเงินที่ เคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันทุกรายการปรากฏในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ผูกกันไว้ บัญชีเงิน ฝากกระแสรายวันเปิดมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี เพื่อทำธุรกรรมของกิจการภายในหมู่พี่น้องของนางธนิภา ก่อนที่จำเลยมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ ดำเนินกิจการดังกล่าว ทั้งยอดเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันก็มีเป็นจำนวนน้อย และจำเลยแสดงบัญชีเงิน ฝากออมทรัพย์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จำเลยจึงไม่มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินส่วนนี้

ส่วนเงินลงทุนของนางธนิภาในบริษัทปาล์ม บีช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในขณะที่จำเลยมีหน้าที่ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ปรากฏชื่อนางธนิภาเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนการมีชื่อนางธนิภาในบัญชี รายชื่อผู้ถือหุ้นก่อนและหลังวันที่จำเลยมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการ มีผลขาดทุนมาโดยตลอด และไม่มีการจ่ายเงินปันผล นางธนิภาไม่ได้เข้า ไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการหรือได้รับผลประโยชน์ในบริษัทดังกล่าว ไม่มีมูลเหตุให้จำเลยต้อง ปกปิดการเป็นผู้ถือหุ้นของนางธนิภา เชื่อว่าจำเลยไม่ทราบถึงการเป็นผู้ถือหุ้นของนางธนิภาในบริษัทดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินส่วนนี้

สำหรับบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
Lif
สาขาลอนดอน สหราชอาณาจักร ประเภทกระแสรายวัน ประเภท Deposit Call Account ประเภท Deposit Call Account เลขที่บัญชี ชื่อบัญชี นางธนิภา พวงจําปา และห้องชุดเลขที่ 68 ในอาคารชุด Wolfe House m89Kensington High Street ลอนดอน สหราชอาณาจักร มีชื่อนางธนิภา พวงจำปา เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยมีการกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาลอนดอน นางธนิภาเป็นผู้ริเริ่มติดต่อขอกู้ยืมเงินกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาลอนดอน และเปิดบัญชีเงินฝากทั้งสามบัญชีดังกล่าวด้วยตนเอง เป็นผู้ทำสัญญาในฐานะผู้กู้เพื่อซื้อห้อง ชุดเป็นผู้ชายเงินค่าจอง เงินผ่อนชำระเงิน และรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด นางธนิภาจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุด

ทั้งแจ้งเรื่องการขายห้องชุดให้นายโรเบิร์ต ลี (Mr.Robert Man Fa Li) อีกทั้งเป็นผู้แจ้งปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนอง นางธนิภาย่อมทราบดีว่า วันที่จำเลยมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรรมสิทธิ์ในห้องชุดยังเป็นชื่อของนางธนิภา เมื่อห้องชุดดังกล่าวมีมูลค่าสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินและหนี้สินที่จำเลยแสดงไว้ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จำเลยดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินโดยตรง และรู้อยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับการมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของ คู่สมรสควรต้องตรวจสอบการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวว่ามีผลในทางกฎหมายแล้วหรือไม่ อย่างไร และ ย่อมต้องทราบว่านางธนิกายังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีบัญชีเงินฝากและเงินกู้ในขณะจำเลยยื่น บัญชีฯ การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อัน ควรเชื่อได้ว่าจำเลยมีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินส่วนนี้

พิพากษาว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อัน ควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น กรณีเข้ารับตำแหน่งรองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 40, 41 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 43, 114 วรรคหนึ่ง, 158 มีผลให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย และห้ามมิให้จำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น เวลา 5 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 กับมีความผิดตามมาตรา 119 องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นควรลงโทษจำคุก 4 เดือน และปรับ 1 หมื่นบาท เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมา ก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

นายอเนก คำชุ่ม ทนายความนายประหยัดเปิดเผยว่า หลังจากนี้จะรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมากเพื่อจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องตัดสิทธิการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี โดยแนวทางการต่อสู้คดีก็คงเป็นเรื่องเจตนาที่ทางนายประหยัดไม่ได้มีเจตนาหรือรับทราบการถือทรัพย์สินของคู่สมรส เนื่องจากเมื่อภรรยาแจ้งมายังไง นายประหยัดก็เชื่อไปอย่างนั้น ส่วนประเด็นในศาลปกครองก็คงต้องเตรียมข้อมูลในการชี้แจง หากทางฝั่งคู่ความมีการนำคำพิพากษาในส่วนนี้ไปยื่นเพิ่มเติม ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการ.

ขอบคุณที่มา    ข่าวเดลินิวส์

โพสต์โดย : ปลายน้ำ