Social :



ผ่าขั้นตอนราชทัณฑ์ หลังรับตัว ‘ทักษิณ’ ยันไม่มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น

27 ก.ค. 66 14:07
ผ่าขั้นตอนราชทัณฑ์ หลังรับตัว ‘ทักษิณ’ ยันไม่มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น

ผ่าขั้นตอนราชทัณฑ์ หลังรับตัว ‘ทักษิณ’ ยันไม่มีสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังรายอื่น

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในวันที่ 10 ส.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นการโดยสารผ่านเครื่องบินส่วนตัว ลงจอดที่ท่าอาอากาศยานดอนเมือง เนื่องด้วยต้องการกลับมาใช้ชีวิตและดูแลบุตรหลานในช่วงบั้นปลาย อีกทั้งยังปรากฏความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลรับผิดชอบสถานที่/กองกำลัง เตรียมพร้อมแนวทาง-มาตรการรับตัว เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรี จะต้องมารับโทษตามคดีที่ถูกพิพากษาไปแล้ว อีกทั้งในเบื้องต้นกรมราชทัณฑ์ยังระบุว่า นายทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุ (ขณะนี้นายทักษิณ อายุ 74 ปี) นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (Standard Operating Procedures for Custodial Measures) ในส่วนการปฏิบัติ-การจัดสวัสดิการต่อผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 พบมีเนื้อหาสาระสำคัญและจำแนกการดูแลผู้ต้องขังสูงอายุที่อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์น่าสนใจ อาทิ นิยามผู้ต้องขังสูงอายุ หมายถึง ผู้ต้องขังที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยขั้นตอนรับตัวกลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ ราชทัณฑ์จะดำเนินการเช่นเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป เริ่มจากจัดทำประวัติ รายละเอียดเกี่ยวกับคดี กําหนดโทษ ประวัติการต้องโทษ ประวัติการรักษาพยาบาล ภูมิลําเนา จํานวนบุตร ตลอดจนความสัมพันธ์ในครอบครัวญาติที่สามารถติดต่อได้ โดยเก็บไว้ในระบบข้อมูลผู้ต้องขัง เพื่อนำไปประกอบการวางแผนปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม


สำหรับแนวการปฏิบัติเมื่อเข้าสู่เรือนจำจะมีการจำแนกลักษณะ ซึ่งผู้ต้องขังสูงอายุสามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ 2.กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุที่มีโรคประจำตัว มีความเสื่อมของร่างกายแต่ยังพอช่วยเหลือตนเองได้บ้างในบางเรื่อง และ 3.กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องการความช่วยเหลือ และเมื่อจำแนกแล้วจะมีการทำแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นรายบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทราบถึงสภาพความต้องการและการดูแลที่ถูกต้อง โดยช่วง 7 วันแรก เป็นช่วงของการทำความเข้าใจกับผู้ต้องขังถึงกฎ ระเบียบวินัย ข้อพึงปฏิบัติ และการปรับตัว โดยเฉพาะผู้ต้องขังสูงอายุที่ต้องโทษครั้งแรก จะต้องการความช่วยเหลือ แนะนำเป็นพิเศษ เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของเรือนจำได้ดี และอาจตกเป็นเหยื่อของผู้ต้องขังอื่นๆ ได้ง่าย

ส่วนการจัดสถานที่และการควบคุมผู้ต้องขังสูงอายุ
MulticollaC
เนื่องด้วยอายุและปัญหาสภาพร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหว การมองเห็น การรับรู้รายละเอียดต่างๆ ในด้านสถานที่ตามมาตรฐานการปฏิบัติฯ จึงมีมาตรฐานการปฏิบัติฯ ที่ควรให้ปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขังสูงอายุ ยกตัวอย่าง อาคารเรือนนอน ควรจัดให้ผู้ต้องขังสูงอายุได้นอนอยู่ชั้นล่างสุดของอาคารเรือนนอน เพื่อความสะดวกในการขึ้น-ลง, ห้องสุขา ควรสร้างห้องสุขาแบบโถนั่ง มีราวพยุง, ห้องเยี่ยมญาติ ควรจัดสถานที่เฉพาะสำหรับผู้ต้องขังสูงอายุ รวมทั้งการอนุญาตให้เยี่ยมแบบใกล้ชิด เพราะการเยี่ยมตามปกติ จะทำให้ผู้ต้องขังสูงอายุเกิดปัญหาทางการได้ยิน เป็นต้น

ขณะที่การจัดกิจกรรมระหว่างต้องโทษให้กับผู้ต้องขังสูงอายุ จะมีกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ โดยคำนึงถึงความถนัดและความสนใจ รวมทั้งศักยภาพแต่ละบุคคล เพื่อให้รู้สึกมีคุณค่า ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ


นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษก ได้เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์มีแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายโดยเท่าเทียมกัน อยู่บนพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกรายจะถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องกักโรค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เป็นเวลา 5 วัน และต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากสถานพยาบาลของเรือนจำฯ ส่วนในกรณีนายทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุและจะแยกควบคุมในห้องกักโรคเฉพาะผู้สูงอายุ หากมีโรคประจำตัวที่จะต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทางกรมราชทัณฑ์จะมีแพทย์ประจำเรือนจำฯ ที่จะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการจำแนกผู้ต้องขัง โดยจะนำตัวไปยังห้องกักโรคของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต่อไป

ทั้งนี้ โฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยอีกว่า ราชทัณฑ์เตรียมความพร้อมเพื่อรับตัวนายทักษิณเช่นเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าผู้ต้องขังรายอื่น ๆ ถึงแม้จะเคยเป็นบุคคลสำคัญทางสังคม มิได้มีห้องพิเศษสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแต่อย่างใด และกรมราชทัณฑ์ก็ได้เตรียมแผนรักษาความปลอดภัย หากมีมวลชนจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจ หรือเข้ามาในเขตพื้นที่บริเวณหน้าเรือนจำฯ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และมิให้เกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป.

ขอบคุณที่มา   ข่าวเดลินิวส์

โพสต์โดย : ปลายน้ำ