Social :



ความเชื่อโบราณ..ประเพณีบุญบั้งไฟ

18 ก.ย. 60 07:09
ความเชื่อโบราณ..ประเพณีบุญบั้งไฟ

ความเชื่อโบราณ..ประเพณีบุญบั้งไฟ

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่วนมากต้องอาศัยฟ้าฝนในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาในภาคอีสาน ดังนั้นจึงมีประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการขอฝน
เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวอีสานที่ผูกพันกับความเชื่อในเรื่องการขอฝนด้วยการทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนฟ้าเพื่อขอฝนจากพญาแถน

ตำนานเรื่องเล่า

ตำนานของประเพณีบุญบั้งไฟ ผูกพันกับนิทานพื้นบ้านสองเรื่องคือเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่ และเรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเลยทีเดียว

ตำนานเรื่องนี้เริ่มจากพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก) อาศัยอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ครั้งนั้น พญาแถน เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน

 


ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้ ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พญาคันคากอาศัยอยู่ ในที่สุดพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์ ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้

พญาแถนจึงให้คำมั่น หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันที และถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน พญาแถนก็บันดาลให้ฝนหยุดตก

ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก จัดเป็นบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำนาโดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ การขอฝน ชาวบ้านในภาคอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่จัดบุญบั้งไฟก็อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติ

เช่น โรคภัยไข้เจ็บ หรือทุพภิกขภัยแก่ชุมชนได้ สำหรับการจัดงานและการละเล่นในประเพณีบุญบั้งไฟนั้น ในวันสุกดิบ ซึ่งหมายถึงวันที่ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่บั้งไฟไปยังศาลปู่ตาของหมู่บ้าน

เพื่อทำพิธีเซ่นสรวง มีการจุดบั้งไฟที่ใช้ในการเสี่ยงทาย เพื่อเสี่ยงทายดูความอุดมสมบูรณ์และความสำเร็จในการทำนาของปีนั้น จากนั้นก็พากันดื่มเหล้าฟ้อนรำรอบศาลปู่ตาเป็นที่สนุกสนาน แล้วก็แห่บั้งไฟไปยังสถานที่จัดงาน หรือหมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟ เพื่อจุดแข่งขันประกวด ประชันกันต่อไป

ในวันแรกของเทศกาลหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า  "วันโฮม"  จะมีการนำเอาบั้งไฟออกมาแห่แหนกันก่อน จนกระทั่งวันที่ 2 ถึงจะนำบั้งไฟไปจุดกันกลางทุ่งนา โดยเฉพาะที่จุดบั้งไฟต้องทำเป็นพะองพาดขึ้นไปบนต้นไม้ใหญ่สูงประมาณ 30 เมตร แล้วจุดชนวนให้ดินปืนเกิดการระเบิด

ปัจจุบันได้มีการประกวดความสวยงามและความสูงของบั้งไฟที่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้าและหากบั้งไฟอันไหนไม่ยอมพุ่งขึ้นเพราะดินปืนด้าน เจ้าของบั้งไฟก็จะถูกจับโยนลงในโคลนตมกลางทุ่งนาเป็นการทำโทษ

Lif

ในปัจจุบันบั้งไฟที่ใช้จุดแข่งขันมีหลากหลายที่นิยมเรียกกัน ได้แก่ บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน ซึ่งมีปริมาณของดินปืนมากน้อย แตกต่างกันไป  "บั้ง"  แปลว่า  "ไม้กระบอก"  บั้งไฟเป็น ดอกไม้ เพลิง ทำจากกระบอกไม้ไผ่ที่อัดดินปืนเพื่อการจุดระเบิดให้พุ่งขึ้นไปในอากาศเป็นการบวงสรวงพญาแถน

"บั้งไฟหมื่น"  บรรจุดินปืนขนาด 12-199 กิโลกรัม

"บั้งไฟแสน"  บรรจุดินปืนขนาด 120-299 กิโลกรัม

"บั้งไฟล้าน"  บรรจุดินปืนขนาด 300 กิโลกรัมขึ้นไป

ถ้าบั้งไฟขึ้นสูงก็เชื่อว่าฝนฟ้า ข้าวปลา อาหารจะอุดมสมบูรณ์ดีชาวบ้านก็จะพากันเลี้ยงฉลองรื่นเริงกันในหมู่ผู้ที่ไปร่วมงาน หากบั้งไฟแตกหรือไม่ขึ้นก็หมายความว่าฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเป็นต้น

พิธีกรรม ประกอบด้วย

- การประกวดขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม

- การประกวดขบวนรำเซิ้ง

- การแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง

- การแข่งขันจุดบั้งไฟแฟนซี (บั้งไฟ แสง สี เสียง)

- การประกวดกองเชียร์บั้งไฟในวันแข่งขันจุดบั้งไฟขึ้นสูง

สรุป

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในชุมชน เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานเอาไว้ให้สืบทอดถึงลูกหลาน และสืบสานประเพณีความเชื่อในเรื่องการขอฝนของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นการตักเตือนให้รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งไม่แน่นอน เกษตรกรไม่ควรประมาท


ขอบคุณข้อมูลจาก:horoscope.sanook

โพสต์โดย : monnyboy